ตลาดน้ำไทรน้อย

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ตลาดน้ำไทรน้อยอยู่เลียบริมคลองพระพิมลราชาและริมคลองเจ้าบริเวณวัดไทรใหญ่ รวมทั้งริมคลองพระพิมลราชาและริมคลองห้าร้อยใหญ่ของชุมชนตลาดเก่าเจ้าพ่อจุ้ย โดยเปิดเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ตั้งแต่แปดโมงเช้าเป็นต้นไป

ที่นี่แบ่งเป็นสามโซนด้วยกัน โซนที่หนึ่งแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงแรกคือโครงอาคารหลังคาสูง สำหรับล็อกขายของในอาคารเป็นเคาน์เตอร์เกือบทั้งหมด ที่เหลือมีโต๊ะพับ โต๊ะไม้ ตะแกรง เก้าอี้ โต๊ะเหล็ก และราวแขวน เริ่มจากริมซ้ายสุดในอาคารมีสองช่องทางเดิน โดยแบ่งทางเดินเป็นแบบหลวมๆ แถบนี้เน้นเสื้อผ้าสตรีและพระเครื่อง แต่สินค้าอื่นๆก็มีคือ เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของเล่นเด็ก เครื่องประดับ เสื้อผ้าเด็ก อุปกรณ์มือถือ ของใช้ในบ้าน พันธุ์พืช ไปจนถึงเครื่องนอน เมื่อขยับไปทางขวา ก็เป็นช่วงกลางอาคารที่มีสามช่องทางเดิน ซึ่งทุกช่องมีแผงประกบซ้ายขวาหมด สินค้ามีทั้งของกินและของใช้ โดยของที่ขายมีผลไม้ ของทอด ของปิ้งย่าง เครื่องดื่ม ผลไม้อบแห้ง ขนมไทย ของชำร่วย เสื้อผ้าสตรี ของตกแต่ง พืชไร่ เครื่องประดับสตรี สมุนไพร ของเล่นเด็ก วัสดุงานเกษตร ของแห้ง ไอศกรีม พันธุ์ไม้ และเครื่องสำอาง จนมาถึงช่องทางเดินที่หกบริเวณขวาสุดของอาคารซึ่งเป็นมุมอาหารและเครื่องดื่ม ริมขวาจะเป็นแผงอาหารเรียงติดกันตลอดแนว ขณะที่แผงฝั่งซ้ายของช่องทางเดินคือเครื่องดื่มและของกินเล่น โดยมีที่นั่งกินอยู่กลางช่องทางเดิน

ทีนี้ถ้าเดินลึกเข้าไปอีก จะเป็นช่วงท้ายของอาคาร ซึ่งมีอยู่หนึ่งช่องทางเดินและเรียงแถวเป็นแนวขวางปิดท้ายอาคาร สำหรับของกินมีผักสด ของกินเล่น ผลไม้ เบเกอรี่ เครื่องดื่ม และน้ำพริก ส่วนของใช้มีงานบริการ สายตา และของใช้ในบ้าน

เมื่อพ้นท้ายอาคารไปก็เข้าสู่ทางเดินริมน้ำ ซึ่งถือเป็นช่วงที่สองของโซนหนึ่งและจัดเป็นไฮไลต์ของตลาดน้ำแห่งนี้ด้วย ตลอดทางสายยาวนับจากจุดออกตัวไปตามเส้นทางตรงใต้หลังคาริมคลองพระพิมลราชา ผ่านเขตวัดไทรใหญ่ จนสุดปลายทางที่สะพานแขวนมงคลประชารัฐ เราจะเห็นของกินประกบซ้ายขวาไม่ขาดสาย ส่วนของใช้ก็มีแซมเป็นระยะเช่นกัน โดยของกินมีขนมไทย ของแห้ง ของปิ้งย่าง ขนมจีนน้ำยา อาหารปักษ์ใต้ ของทอด น้ำพริก ผักสด กับข้าวภาคกลาง เครื่องดื่ม ชากาแฟ ผลไม้ ของชำ ของหวาน ของกินเล่น พืชไร่ ผักพื้นบ้าน น้ำผลไม้ปั่นและคั้น ของยำ ขนมชาวจีน ของนึ่งต้ม รวมทั้งอาหารเม็ดและขนมปังสำหรับปลาสวายในคลอง ส่วนของใช้มีเสื้อผ้าชายหญิง งานไม้แกะสลัก ของเล่นเด็ก ชุดชั้นใน เครื่องหนัง เครื่องมือซ่อมบำรุง ของใช้ในบ้าน เครื่องประดับสตรี พระเครื่อง เครื่องครัว พันธุ์ไม้ ของแต่งรถ และเครื่องสำอาง

จากนั้นก็เป็นช่วงที่สาม นั่นคือแพอาหารและเครื่องดื่มพร้อมที่นั่งในคลองพระพิมลราชา ซึ่งมี 6 แพติดกัน สำหรับสะพานลงแพจากทางเดินริมคลองจะมีอยู่เป็นระยะ แต่ละแพมีทางเดินเชื่อมถึงกันด้วย โดยของกินในแพเริ่มตั้งแต่อาหารทั่วไป อาหารอีสาน ชากาแฟ อาหารตามสั่ง ของปิ้งย่าง ขนมจีนน้ำยา ของกินเล่น ก๋วยเตี๋ยว ไปจนถึงเครื่องดื่ม (ส่วนอีกสองแพถัดขึ้นไปเป็นแพให้อาหารปลาและปล่อยสัตว์)

ต่อไปก็เป็นโซนที่สอง ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามคลองพระพิลมราชาบริเวณย่านชุมชนตลาดเก่าเจ้าพ่อจุ้ย โดยเราสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างสองโซนได้จากสะพานทุ่นลอยน้ำในคลองพระพิมลราชาที่เชื่อมกับแพอาหารเครื่องดื่มหรือจากสะพานแขวนมงคลประชารัฐก็ได้ แต่ถ้าเริ่มเดินข้ามจากสะพานแขวนมา โซนสองนี้จะมีแผงสินค้าทั้งฝั่งริมคลองห้าร้อยใหญ่และฝั่งคลองพระพิมลราชา

เรามาเริ่มต้นจากทางเดินริมคลองห้าร้อยใหญ่ก่อน สำหรับทางซ้ายริมคลองเป็นซุ้มอาหารและเครื่องดื่มพร้อมที่นั่งตลอดแนว โดยมีของใช้เล็กน้อย ส่วนทางขวามีบ้านตึกที่เปิดหน้าร้าน ซุ้มร้านค้า และแผงลอยริมทาง ซึ่งมีทั้งของกินและของใช้ ขณะที่ช่วงต้นทาง(หลังจากลงมาจากสะพานแขวนมา)ยังมีแผงลอยสองแถวหันหลังชนกันและแต่ละแถวหันหน้าแผงเข้าช่องทางเดินตนเองด้วย สำหรับช่องทางเดินจะเปิดโล่ง โดยสินค้าตามทางที่กล่าวมา ก็ได้แก่ ไข่ รองเท้า ของกินเล่น ขนมของเด็ก ของเล่นเด็ก ผลไม้ ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ชากาแฟ เครื่องดื่ม ของปิ้งย่าง อาหารอีสาน ขนมจีนน้ำยา เสื้อผ้ามือสอง พันธุ์ไม้ สัตว์เลี้ยง เครื่องนอน ผักสด ผักพื้นบ้าน ผลไม้ดอง ของตกแต่ง นาฬิกา กระเป๋า เครื่องประดับและเครื่องแต่งกายสตรี รวมทั้งเสื้อผ้าสตรี

คราวนี้ถ้าเดินลงสะพานแขวนไป แล้วเลี้ยวขวาเข้าริมคลองพระพิมลราชาไปทางอาคารโครงเหล็กเลย แถบนี้เป็นโซนสองอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่าทางเดินเปิดโล่งที่เราเพิ่งเดินมา สำหรับฝั่งนี้แบ่งเป็นช่องทางเดินซ้ายและขวา โดยซ้ายสุดเป็นบ้านเรือนที่เปิดหน้าร้านครบทุกร้าน ส่วนขวาสุดเป็นที่นั่งกินริมคลองตลอดแนว ถัดจากที่นั่งกินเข้ามาก็เป็นแผงสินค้าตลอดแนวคลอง ขณะที่ทางเดินปูนตรงกลางมีสองช่องทางเดิน โดยช่วงกลางเป็นแผงสองแถวหันหลังชนกัน แต่ละแถวหันหน้าแผงออกช่องทางเดินตนเอง สำหรับแผงลอยแถบนี้มีเคาน์เตอร์ โต๊ะวาง และราวแขวน โดยมีของกินกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือของใช้ และของกินทั้งหมดมีอาหารมุสลิม ปลาน้ำจืดแห้ง ขนมไทย อาหารอีสาน ผักสด ผลไม้ ก๋วยเตี๋ยว ผักพื้นบ้าน ของกินเล่น พืชไร่ เครื่องดื่ม ขนมหวาน ของแห้ง อาหารทั่วไป ของทอด น้ำพริก ไอศกรีม อาหารเพื่อสุขภาพ เบเกอรี่ ของปิ้งย่าง กับข้าว ผลไม้ปั่นและคั้น ผลไม้อบแห้ง อาหารตามสั่ง ของหมักดอง ไข่ และอาหารญี่ปุ่น ขณะที่ของใช้มีสมุนไพร เสื้อผ้าเด็ก ของตกแต่ง งานแกะสลักไม้ เสื้อผ้าชายหญิง
ของเล่นตอกแผง เครื่องสำอาง เสื้อผ้ามือสอง เสื้อที่ระลึก“ตลาดน้ำไทรน้อย” อุปกรณ์ร้านค้า ของเล่นเด็ก กระเป๋า รองเท้า มุมเด็ก พันธุ์ไม้ ของใช้ส่วนตัว ดอกไม้พลาสติก ของชำร่วย สายตา เครื่องประดับและเครื่องแต่งกายสตรี กระเป๋า เครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน วัตถุมงคล เสื้อผู้สูงวัย และงานบริการ

จากนั้นให้เราข้ามสะพานแขวนมาฝั่งโซนหนึ่งอีกครั้ง แต่แทนที่จะเลี้ยวซ้ายไปทางเดินริมคลองของโซนหนึ่ง ให้เดินตรงไปแทน และเส้นทางนี้ก็คือโซนสามนั่นเอง (หรือถ้ามาจากทางเดินริมคลองโซนหนึ่งจนสุดทางที่สะพานแขวน ไม่ต้องข้ามสะพานแขวน ให้เลี้ยวซ้าย แล้วตรงไปเลย) สำหรับโซนสามนี้เป็นทางเดินริมคลองเจ้าสายตรงตลอดทาง รวมทั้งมีแพอาหารและเครื่องดื่มพร้อมที่นั่งในคลองเจ้า เริ่มต้นที่แผงสินค้าบนทางเดินริมน้ำก่อน แผงลอยจะอยู่ฝั่งซ้ายของทางเดิน ส่วนฝั่งขวามีแผงลอยประปราย สำหรับโซนนี้มีของใช้มากกว่าของกิน และสินค้าทั้งหมดก็ได้แก่ผักพื้นบ้าน เสื้อผ้าผู้สูงวัย
งานแฮนด์เมด ชากาแฟ เครื่องดื่ม ของกินเล่น ของตกแต่ง ของมีคม ไอศกรีม รองเท้า พันธุ์ไม้  ขนมไทย เสื้อผ้าพื้นเมือง ของกินของฝาก เสื้อผ้ามือสอง หนังสือเก่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิว น้ำพริก สายตา ชุดชั้นใน เสื้อผ้าชายหญิง ผลไม้ ภาชนะนึ่งข้าว ของปิ้งย่าง เครื่องแต่งกาย พันธุ์พืช หมวก สินค้ามือสอง ขนมปัง และอุปกรณ์การเกษตร ขณะที่ในแพ(ซึ่งทำเป็นสามแพติดกัน)มีของกินดังนี้ ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง เครื่องดื่ม ของกินเล่น และอาหารทั่วไป



จากปีแรกที่ย้ายมาจัดที่วัดไทรใหญ่ ทีมงานเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มแรกมีเพียงโซนหนึ่งในอาคารและริมคลอง จากนั้นโซนสองฝั่งชุมชนตลาดเก่าเจ้าพ่อจุ้ยก็เริ่มก่อตัว จนในที่สุดก็เต็มพื้นที่ ต่อมาโซนสองฝั่งคลองห้าร้อยใหญ่ก็เริ่มขยับขยาย แล้วยาวออกไปอย่างทุกวันนี้ และในที่สุดเราก็มีโซนสามเข้ามาอีกคน
บน – ขอเริ่มจากอาคารโครงเหล็กโซนแรกก่อน ภายในมี 6 ช่องทางเดินด้วยกัน โดยซ้ายมือของภาพเป็นช่องทางเดินที่สี่ ห้า และหก ส่วนแสงสว่างด้านนอกก็คือทางเข้าอาคารนี้ และถ้าเลยหลังกล้องที่ทีมงานยืนไปข้างหลัง ก็เข้าสู่ทางเดินริมคลองต่อไป (จากภาพ แผงขวดโหลแก้วใกล้ภาพคือผลไม้อบแห้ง ซึ่งอยู่ในช่องทางเดินที่สาม ตัวอย่างก็เช่น บ๊วยเค็ม ท้อสามรส มะม่วงหยี มะม่วงหวาน สับปะรดอบแห้ง เชอร์รี่แดง บ๊วยซากุระ มะม่วงบ๊วย ลูกพรุนอบแห้ง พุทราสามรส มะละกอสามรส กีวี่อบแห้ง บ๊วยน้ำผึ้ง มะนาวหวาน มะม่วงสามรส ฯลฯ)
- แผงลอยพร้อมเสริฟแล้ว จากนี้มาชมตัวอย่างเล็กๆน้อยๆของแต่ละช่องทางเดินดีกว่า ช่องทางเดินที่หนึ่งและสองจะแบ่งแบบหลวมๆ โดยแผงแถวกลางหันหน้าแผงเข้าช่องทางเดินที่หนึ่ง
ซ้ายบน – ร้านนี้จำหน่ายเสื้อสตรี ลวดลายเน้นวัยผู้ใหญ่หน่อย
ขวาบน – อย่างที่บอกตอนเกริ่นนำ ช่องทางเดินนี้มีพระเครื่องหลายเจ้าให้เช่ากันตามอัธยาศัย
ซ้ายกลาง – ทีมงานเห็นร้านนี้ทุกครั้งที่มา สินค้าสีหวานๆที่แม่ค้านำมาจำหน่ายทั้งหมดมีหมอนหนุน ลิ้นชัก ชั้นวาง พัดสาน เบาะรองนั่ง รองเท้าแตะในบ้าน หมอนรองคอ พรมเช็ดเท้า ผ้าห่ม กล่องใส่ทิชชู่ นาฬิกาแขวน ตุ๊กตาเซรามิกโชว์ กรอบรูป เสื่อพับ ผ้ากันเปื้อน และถ้วย
- ช่องทางเดินที่สาม
ขวากลาง – แม่ค้าตะโก้ห่อใบเตยประจำการอยู่ที่เดิมเสมอ
- ช่องทางเดินที่สี่
ซ้ายล่าง – ใครอยากซื้อผลไม้ ช่องนี้ก็มี แต่ตอนนี้เป็นฤดูของสละพอดี
ขวาล่าง – เครื่องประดับบนแผงเริ่มจากต่างหู สร้อยคอ สายข้อมือ กำไล แหวน และกรอบพระ

 


เข้าสู่ช่องทางเดินที่ห้ากัน
ซ้ายบน – นอกจากต้นแคกตัสแล้ว พ่อค้ายังมีกระถางปูนเปลือยจำหน่ายด้วย
- ช่องทางเดินที่หก
ขวาบน – ทั้งสองฟากของช่องทางเดินนี้เป็นของกินล้วนๆ โดยทางซ้ายเป็นแผงเครื่องดื่มและของกินเล่น ส่วนขวามือริมอาคารคือแผงกับข้าวกับปลาหลายเจ้า เริ่มตั้งแต่อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำใส ส้มตำ ข้าวราดแกง ข้าวมันไก่ ไปจนถึงเมี่ยงปลาเผา
- แล้วเราก็มาถึงช่องทางเดินแนวขวางปิดท้ายอาคาร
ซ้ายกลาง – แม่ค้าสองคนช่วยกันทำข้าวเกรียบว่าวโบราณอยู่
ขวากลาง – ป้าแผงนี้นำผักสดมาวางบนแผงรูปทรงเรือ สินค้าทั้งหมดก็มีมะเขือเปราะ สายบัว แตงกวา มะเขือพวง ผักกาดหอม ขิง หน่อไม้ มะระ มะละกอ ฟักทอง น้ำเต้า แคร์รอต ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี คะน้า มะเขือเทศ บวบเหลี่ยม ใบบัวบก ยอดกระเจี๊ยบ ขึ้นฉ่าย ใบชะพลู หัวไช้เท้า กะเพรา กระเจี๊ยบเขียว ใบขี้เหล็ก และผักโขม
- และนับจากนี้ขอนำทุกคนเข้าสู่ไฮไลต์ทางเดินริมน้ำ ของกินเรียกว่าเจิดจรัสเลย แต่ของใช้ก็พอมี
กลาง – การจราจรของนักท่องเที่ยวบนทางเดินริมคลองติดขัดตามสภาวการณ์จริงๆเนื่องจากแผงลอยถาโถมตัวเราทุกทิศทาง แต่ละเจ้าต่างงัดกลยุทธิ์มามัดใจลูกค้า ถ้าอย่างนั้นรีบไปดูของใช้เบิกฤกษ์ก่อน (จากภาพ ซ้ายมือคือคลองพระพิมลราชา ขณะที่ทางขวาคือรั้ววัดไทรใหญ่)
ซ้ายล่าง – ใครชอบงานไม้ คงต้องแวะร้านนี้แล้ว สินค้าทั้งหมดมีโมบาย ป้ายไม้บ้านเลขที่หรือหน้าห้อง ของตั้งโชว์ ที่ใส่ข้าวของ โคมไฟ และพวงกุญแจ
ขวาล่าง – ลุงร้านนี้มีเครื่องมือเครื่องไม้ในบ้านมาจำน่ายเพียบ เริ่มจากไขควง ที่หนีบเสื้อ มีด หัวต่อก๊อกน้ำใบพัด เทปกาว ตลับเมตร คีมแต่งกิ่งไม้ ยางรัดของ ชุดกุญแจ สายเอวี ไฟแช็ก ตะขอ โซ่ล็อกล้อ กรรไกร ที่ปอกเปลือกผลไม้ ตัวขูดมะพร้าว ไม้แขวนเสื้อ ราววงกลมหนีบผ้า แปรงขัดพื้น ฝอยสแตนเลส ถ่านไฟฉาย ทัพพี ประแจ คีม ไฟฉาย คลิปหนีบกระดาษ และไม้ตียุง




ยังมีของใช้ให้เลือกต่ออีกหน่อย
ซ้ายบน – สินค้าเด่นของแม่ค้าเจ้านี้คือกางเกงใน ของผู้ชายเป็นผ้าคอตตอน มีทั้งขอบยางยืดและขอบผ้ายืด ส่วนของผู้หญิงมีแบบเอวสูง ลูกไม้ ยางพาราเก็บพุง ขอบไลครา และไซส์คนตัวใหญ่ ทั้งนี้ยังมียกทรงสตรีและกางเกงในสำหรับเด็กด้วย
ขวาบน – ใครอยากทำบุญใส่บาตรหรือเข้าวัดเข้าวา แล้วต้องการดอกไม้ ป้าแผงนี้มีครบ ตั้งแต่ดอกบัว ดอกไม้ไหว้พระ พวงมาลัย และหมากพลูไหว้ศาลตายาย
- และแล้วสำรับคาวหวานมากมายก็กรีฑาทัพเข้ามา
ซ้ายกลางบน – พี่แผงนี้มีอาหารใต้มานำเสนอ รสชาติจัดจ้านมีดังนี้ แกงไตปลา แกงไก่ใส่ขนุน ผัดเผ็ดปลากระเบน แกงส้ม(ภาคใต้) คั่วกลิ้ง รวมทั้งพะแนงหมู แกงส้ม(ภาคกลาง) ต้มข่าไก่ และหมูทอดกระเทียม
ขวากลางบน – ใครสนใจปลาทูต้มเค็มก้างนิ่มหม้อนี้ ก็ขอเชิญ
ซ้ายกลางล่าง – สี่เมนูบนเคาน์เตอร์นี้มีหมูย่าง หมูกรอบ หมูทอดกระเทียม และหมูทอดนมสด
ขวากลางล่าง – ปลาทับทิมนึ่งร้อนๆโรยผักชีเพิ่งขึ้นมาจากซึ้ง
ซ้ายล่าง – ป้าๆร้านนี้มีขนมจีนน้ำยาหลายสูตร เริ่มจากกะทิหมู ป่าปลาแดง น้ำพริกกุ้งสด และซาวน้ำ ส่วนใครอยากได้ไข่ต้มเพิ่ม ก็ช่วยบอกด้วย
ขวาล่าง – ริมคลองแห่งนี้มีแผงผักหลายร้าน ตัวอย่างเจ้านี้มีใบมะกอก เผือก มันเทศ กะเพราแดง โหระพา ยอดกระเจี๊ยบ ผักบุ้งนา และผักบุ้งไทย ขณะที่ด้านหลังมีกล้วยไข่เข้ามาสอดแทรก




คิดว่าหลายคนยังไม่ซึ้งใจพอ ถ้าอย่างนั้นชิมกันต่อ
ซ้ายบน – เป็ดย่างเป็นตัว เป็ดพะโล้เป็นตัว เครื่องในเป็ด คอเป็ด และเนื้อเป็ดประดับร้านได้เฉิดฉายมาก
ขวาบน – มุมนี้เป็นหน้าที่ของไก่อบและไก่ย่าง พร้อมข้าวเหนียวร้อนๆ
ขวากลางบน – ป้าโต๊ะนี้มีกับข้าวห้าอย่างมาอวดโฉมอันได้แก่ กบย่าง ฉู่ฉี่ปลาหมอ ผัดปลาไหล ผัดเนื้อหนูนา และผัดเผ็ดปลาดุก
ซ้ายกลาง – น้องคนนี้ทำบ้าบิ่นกันเป็นกุรุส ใครชอบแบบข้าวเหนียวดำหรือข้าวเหนียวขาว ก็ชี้ได้เลย
ขวากลางล่าง – สองสามีภรรยาช่วยกันทำเผือกฉาบ ฝ่ายชายคลุกเคล้า ฝ่ายหญิงราดน้ำตาล
ซ้ายล่าง – เจ้านี้กำลังทำฝอยทองกันเป็นแพๆ
ขวาล่าง – แม่ค้านำข้าวโพดต้ม(สดจากไร่)มาให้ลิ้มลอง




ไม่ขอยกธงขาวกับทางเดินสายยาวริมน้ำเด็ดขาด
ซ้ายบน – ป้าและผู้ช่วยจำหน่ายของหวานมากมาย ทั้งครองแครงกะทิสด ลูกเดือยเปียกธัญพืช ปลากริมไข่เต่า ถั่วเขียวต้มน้ำตาล สาคูเปียกราดน้ำกะทิ ข้าวเหนียวเปียกมะพร้าวอ่อน และเต้าส่วน
ขวาบน – กล้วยทอด เผือกและมันทอด รวมทั้งข้าวเม่าทอดสูตรโบราณ ทุกอย่างเตรียมรับมือไว้แล้ว
ซ้ายกลางบน – สีสันโดดเด่นกองนี้คือแห้วต้ม
ขวากลางบน – ในที่สุดก็มาถึงตัวอย่างรั้งท้ายของทางเดินริมน้ำกับแผงมาการอง คอร์นเฟลกส์คาราเมล เค้กส้ม ช็อกโกแลตเม็ด เมอแรงก์ และเยลลี่
ซ้ายกลางล่าง – เรามาสู่ช่วงที่สามกับสินค้าในแพบ้าง ภาพนี้เป็นบรรยากาศบางส่วนของแพหลังที่ใกล้กับอาคารโครงเหล็ก ซึ่งมีแผงสินค้าและที่นั่งครบ เดี๋ยวเราไปดูตัวอย่างตามแพกัน
ขวากลางล่าง – ใครอยากกินอาหารรสแซ่บ เจ้านี้มีน้ำตก ลาบ ปลาดุกย่าง ไก่ย่าง ซุปหน่อไม้ ตำป่า และตำข้าวโพด
ซ้ายล่าง – ส่วนแพอีกหลังเห็นคนนั่งกินเยอะ เลยเดินมาดู ที่แท้ก็เป็นก๋วยเตี๋ยวเรือ
ขวาล่าง – เครื่องดื่มของพ่อค้าซุ้มนี้มีคาปูชิโน เอสเพรสโซ อเมริกาโน ลาเต้
ชาดำเย็น มอกค่า ชานม นมเย็น โกโก้ โอวัลติน ชาเย็น  ชาเขียว น้ำแดงมะนาวโซดา และน้ำดื่ม




ตอนนี้ขอให้ทุกคนข้ามสะพานแขวนมงคลประชารัฐเพื่อไปโซนสองต่อ
บน – บรรยากาศในอาคารโครงเหล็ก ซ้ายสุดคือคลองพระพิมลราชา ขวาสุดคือบ้านไม้ชุมชนตลาดเก่าเจ้าพ่อจุ้ย ส่วนช่องทางเดินมีทั้งซ้ายและขวา โดยกลางภาพเป็นแผงสองแถวหันหลังชนกันและหันหน้าแผงเข้าช่องทางเดินตนเอง สำหรับบ้านไม้ต่างก็เปิดหน้าร้านหรือไม่ก็นำสินค้ามาตั้งแผงหน้าบ้าน ขณะที่แผงริมซ้ายก็ยาวเลียบช่องทางเดินซ้ายเช่นกัน (จากภาพ ถ้ามองไปซ้ายมือ เราจะเห็นกันสาดสีเขียวอยู่ ตรงนั้นคือที่นั่งกินริมคลองของนักท่องเที่ยวที่ยาวตลอดแนวคลอง และถ้ามองตามแนวบ้านไม้ขวามือไปถึงหัวมุมไกลสุด ตรงนั้นคือทางที่ทุกคนที่ข้ามสะพานแขวนจะต้องเดินผ่านหัวมุมทางนั้นเข้ามา ทำให้ช่องทางเดินซ้ายมือและขวามือของภาพตอนนี้สลับด้านกันเพื่อให้ตรงกับเนื้อหาของบทเกริ่นนำ)
- เริ่มต้นด้วยของกินก่อน
ซ้ายบน – ประเดิมทางเข้าอาคารโครงเหล็กด้วยอาหารมุสลิม ลุงและป้าสองคนมีลิสต์อาหารดังนี้ ซุปเนื้อ สตูลิ้นวัว แกงเขียวหวานเนื้อ มะระยัดไส้ไก่
ข้าวหมกเนื้อ ข้าวหมกไก่ แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย และก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นกับเนื้อสด
ขวาบน – เครื่องของก๋วยจั๊บน่าจับตาทีเดียว ทั้งเต้าหู้ ตับ หัวใจ ไส้ เลือดหมู ผักชี หมูกรอบ และไข่
ซ้ายกลาง – ใครชอบหอยทอดร้อนๆ เชิญร้านนี้ได้
ซ้ายล่าง – เจ้านี้เปิดที่นั่งในบ้านขายเมนูก๋วยเตี๋ยวหลายอย่าง ทั้งก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวปลา และก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ นอกจากนี้ยังมีข้าวหน้าเป็ดและปลาลวกด้วย
ขวาล่าง – คนขายตั้งตาทำสเต็กไม่หยุดมือ รายการอาหารมีสเต็กไก่ ปลา หมู แฮมหมู และพอร์กชอป ที่เหลือยังมีสปาร์เก็ตตี้ซอสหมูและนักเก็ตไก่




เดินช้อปให้พุงกางไปเลย
ซ้ายบน – เหลือบไปเห็นน้ำพริกแผงนี้ ตัวเลือกประดังเข้ามามากมาย เริ่มจากน้ำพริกแมงดา น้ำพริกเผาสามรส น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกกากหมู น้ำพริกนรกปลาสลิด น้ำพริกกากหมูกรอบ น้ำพริกนรกกุ้ง น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาช่อน น้ำพริกกุ้งกรอบ น้ำพริกไข่เค็ม และน้ำพริกแมงดาปลาช่อน
ขวาบน – แม่ค้ามีสินค้าแดดเดียวมาฝาก ตั้งแต่ปลาสลิด ปลาช่อน และปลาดุก
ซ้ายกลาง – ทุกครั้งที่เดินผ่านขนมเบื้องของป้า ทีมงานได้อารมณ์ชาววังแบบบอกไม่ถูก
ขวากลางบน – ขนมมุมนี้เป็นกิจการในครอบครัว ซึ่งมีโก๋อ่อน คอเป็ด ถั่วตัด ก้านบัว งาดำ งาขาว ลูกเต๋า และขนมเปี๊ยะ สนใจก็สอบถามแม่ค้าได้
ขวากลางล่าง – ถ้าใครเดินข้ามคลองผ่านทุ่นลอยน้ำมา ร้านแรกๆที่ต้องประจันหน้าคือ กล้วยปิ้ง มันปิ้ง และเผือกปิ้งเตานี้
ซ้ายล่าง – เปียกปูนใบเตยเป็นอย่างไร ทำเช่นไร พ่อค้าเผยเคล็ดลับกวนให้ดูในหม้อร้อนๆเลย
- ถึงทีของสินค้าอุปโภคบ้าง
ขวาล่าง – บ้านหลังนี้มีข้าวของสัพเพเหระให้เลือกมากมาย ที่เด่นสุดคงเป็นของเล่นตอกแผง ตัวอย่างที่เหลือมีถุงหิ้ว ถุงร้อน ตะกร้า ถังขยะ เหยือกน้ำ ไม้ตียุง ถุงผ้าใส่ของ แก้วพลาสติกใส จาน กระเป๋า แบบเรียนภาษาอังกฤษ ทิชชู่ และลังใส่ของ




มองหาสินค้าถูกใจกันต่อ
ซ้ายบน – ของเล่นร้านนี้เน้นฟิกเกอร์จากซูเปอร์ฮีโร่ภาพยนตร์ โมเดลรถสปอร์ต และตัวไดโนเสาร์กับสัตว์ต่างๆ
ขวาบน – ตัวอย่างสินค้าขนาดกระทัดรัดที่ตั้งโชว์ก็มีลำโพงบลูทูธ ไฟโซลาเซลล์สีส้ม หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย เครื่องทำโดนัท หลอดไฟมินิ กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี เลนส์กล้อง พัดลมพกพา แบตเตอร์รี่ จอทัชสกรีน และกล้องบันทึกหน้ารถกับหลังรถ
ซ้ายกลางบน – พี่คนนี้อาสารับวาดภาพเหมือนและภาพล้อเลียน สนนราคาเป็นเช่นไร เข้าไปถามเลย
ขวากลางบน – บ้านหลังนี้เปิดโอกาสให้เด็กๆได้จินตนาการสีสันอย่างเต็มที่บนปูนปลาสเตอร์และบนผ้า
ซ้ายกลางล่าง – ฝั่งริมคลองห้าร้อยใหญ่ก็เริ่มไม่น้อยหน้ารุ่นพี่ในอาคารแล้ว บริเวณนี้เป็นช่วงต้นทาง หากเราเดินลงจากสะพานแขวนมงคลประชารัฐมาโซนสอง ต้องปะทะก่อนใคร ซ้ายก็มีแผง ขวาก็มีแผง โดยช่วงต้นทางมีข้าวของตรงกลางด้วย
ขวากลางล่าง – คอนเซ็ปต์ร้านนี้คือ ข้าวหลามในกะลามะพร้าว ใครชอบหน้าไหน ก็เล็งไว้ได้
ซ้ายล่าง – อาหารอีสานยกพลมาที่นี่เช่นกัน รายชื่อของกินก็มีก๋วยจั๊บญวน ก๋วยจั๊บหม้ออวย ไข่ลวก ไข่กระทะ แหนมเมือง ลาบขนมจีน เส้นหมี่ซี่โครง หมูยอทอด ยำหมูยอ ขนมปังหน้าหมู หมูกระจก กล้วยทอดอินโด ปังด็อง และน้ำมะพร้าว
ขวาล่าง – เดินไปจนสุดทาง เราจะเห็นชาวบ้านปลูกผักสารพัด แล้วนำมาจำหน่ายด้วยตัวเอง บนโต๊ะตอนนี้มีชะอม ยอดกระทกรก ใบบัวบก ใบตำลึง กะเพรา แตงไทย กล้วยน้ำว้า มะเขือเปราะ มะเขือพวง พริก มะขามอ่อน ถั่วฝักยาว ข่า และบวบเหลี่ยม




โซนสองเสริมได้อีกหน่อย
ซ้ายบน – หน้าบ้านหลังนี้จำหน่ายสินค้าแฟชั่นหลายแบบ เริ่มจากที่คาดผม ยางรัดผม โบว์มัดผม ตาข่ายดักความฝัน พวงกุญแจ ผ้าเช็ดหน้า ทิชชู่ ไปจนถึงต่างหู
ขวาบน – ขอทิ้งท้ายโซนนี้ด้วยปลาสวยงามอีกสักแผง
- จากนั้นให้ข้ามสะพานแขวนมงคลประชารัฐกลับมาฝั่งโซนสามเลย
ซ้ายกลางบน – โซนนี้เป็นทางเดินเลียบคลองเจ้าเหมือนกับทางเดินริมคลองของโซนหนึ่ง เพียงแต่ฝั่งซ้ายเป็นแผงสินค้าตลอดแนว ส่วนฝั่งขวามีแผงสินค้าเล็กน้อย โดยเน้นเก้าอี้นั่งพัก ขณะที่ผู้คนเดินเลือกชมและซื้อสินค้าตามภาพ
ขวากลางบน – เสื้อลูกไม้และผ้าถุงสำเร็จรูปแผงนี้มีแม่ค้าเสื้อแดงเป็นคนดูแล
ซ้ายกลางล่าง – สำหรับหนอนหนังสือ ซุ้มนี้มีหนังสือเก่ามากมายมาให้อ่าน เช่น เศรษฐกิจ พระเครื่อง การ์ตูน นิยาย คอมพิวเตอร์ ตกแต่งบ้าน เพลง ทำอาหาร ท่องเที่ยว สัตว์เลี้ยง แบบเรียน ฯลฯ
ขวากลางล่าง – พ่อค้าบนโต๊ะนี้มีเครื่องมือเรือกสวนไร่นามาฝาก เช่น มีดแต่งกิ่งไม้ เคียว ฉมวก ชะแลง มีดโต้ มีดพก มีดปอก พร้า กรรไกรตัดกิ่งไม้ หัวคราด หัวขวาน มีดเหรียญ เสียม ฯลฯ
ซ้ายล่าง – รองเท้าผ้าใบมือสองจากประเทศเวียดนามกำลังขนลงจากท้ายกระบะให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อพร้อมเสียงประกาศตามสาย
ขวาล่าง – ทุกต้นของซุ้มนี้เตรียมผลิดอกออกผลอยู่แล้ว เริ่มจากละมุด พริกไทยซีลอน มะยงชิด มะม่วงแรด องุ่นแบล็กโอปอล ฝรั่งสายน้ำผึ้ง ฝรั่งกิมจู มะพร้าวแกง เงาะโรงเรียน  โกสน มะกรูด ทุเรียนองุ่นเขียว ชมพู่มะเหมี่ยว มะม่วงแรด มะม่วงมันขุนศรี ส้มโอไร้เม็ดไต้หวัน กระท้อนปุยฝ้าย ลิ้นจี่จักรพรรดิ มะม่วงสามฤดู มะม่วงเบา มะพร้าวน้ำหอม ไปจนถึงฝรั่งขี้นก



 

ช่วงสุดท้ายยังมีอะไรให้น่าสำรวจอีก
ซ้ายบน – แม่ค้าทำขนมถ้วยที่นึ่งร้อนๆจากซึ้งมาจัดจำหน่าย
ขวาบน – ใครชอบกินผลไม้ ด้านนี้ยังมีลำไย เงาะ มังคุด และทุเรียนให้ติดไม้ติดมือกลับบ้าน
ซ้ายกลางบน – เดินกันมาร้อนๆ จิบเครื่องดื่มสักหน่อยก็คงดี เมนูวันนี้มีน้ำผึ้งมะนาวโซดา น้ำเขียวน้ำแดง กาแฟโบราณ ชาเขียว โกโก้ นมเย็น ชาเย็น บ๊วยมะนาวโซดา ชาดำเย็น โอเลี้ยง โอวัลติน หรือถ้าใครชอบสไตล์ภูเขาไฟ ก็สอบถามแม่ค้าได้
- จากนั้นเราไปต่อกับของกินในแพคลองเจ้าบ้าง
ขวากลาง – บรรยากาศในแพ ด้านติดทางเดินริมคลองเป็นแผงอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนด้านคลองเจ้าเป็นที่นั่งกิน
- ชมตัวอย่างข้าวของในแพกัน
ซ้ายกลางล่าง – ร้านนี้มีอาหารตามสั่งและผัดไทยห่อไข่
ซ้ายล่าง – ลุงกับป้าสองคนช่วยกันปิ้งหมูสะเต๊ะ จากนั้นก็จัดเป็นชุดใส่จานอย่างสวยงาม
ขวาล่าง – ทิ้งท้ายด้วยภาพสะพานแขวนมงคลประชารัฐที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินเชื่อมทั้งสามโซนในหนึ่งสะพานและบนกลางสะพานยังเห็นคลองพระพิมลราชา คลองห้าร้อยใหญ่ และคลองเจ้ามาตัดกันเป็นวิวคลองสี่แยกด้วย

TODAY THIS MONTH TOTAL
10 4227 253445
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top