ถนนคนเดินเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ถนนคนเดินเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่าจัดขึ้นทุกเย็นวันพุธของสัปดาห์บริเวณย่านเมืองเก่า 200 ปี บ้านสิงห์ท่า จุดเริ่มต้นอยู่บริเวณสี่แยกศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่เป็นจุดตัดของถนนอุทัยรามฤทธิ์และถนนนครปทุม โดยถนนคนเดินจะเริ่มจากสี่แยกนี้ไปทางถนนนครปทุม(ที่อยู่ฝั่งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) แล้วไปสิ้นสุดที่สี่แยกถัดไป แต่แผงลอยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้สี่แยกจุดตัดนี้จนถึงกลางทาง จากนั้นแผงจะเริ่มประปรายไปจนถึงสี่แยกถัดไป ขณะเดียวกัน ที่สี่แยกบนถนนอุทัยรามฤทธิ์(ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งจากศาลเจ้าพ่อหลักเมือง)ก็พอมีสินค้าขายบริเวณสี่แยกด้วย แต่จำนวนแผงมีน้อยกว่า และทั้งหมดนี้ก็คือถนนคนเดินสายเล็กๆท่ามกลางบรรยากาศเมืองเก่า

สำหรับแผงลอยมีโต๊ะพับเป็นตัวยืนพื้น ที่เหลือมีรถเข็น กระด้ง และผ้าบลูชีท ส่วนสินค้าบนถนนคนเดินเป็นของกินทั้งหมด เริ่มตั้งแต่กับข้าว อาหารอีสาน อาหารทั่วไป อาหารญี่ปุ่น ผลไม้ ของต้ม ของกินเล่น ขนมไทย ไอศกรีม น้ำอัดลม น้ำแข็งไส ผักสด ผักพื้นบ้าน ของแห้ง ของชำ ของหวาน ผลไม้ดอง ของนึ่ง ของทอด และเครื่องดื่ม

ทั้งนี้จากสี่แยกขึ้นไปบนถนนอุทัยรามฤทธิ์(ที่ติดกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง)จนถึงบริเวณตึกแถว(ที่อยู่ทางซ้าย)และบ้านไม้(ที่อยู่ทางขวา) แต่ยังไม่ถึงหน้าวัดสิงห์ท่า ก็มีสินค้ามาร่วมพื้นที่ด้วย โซนนี้เรียกว่าตลาดประชารัฐ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันพุธต้นเดือนเท่านั้น ทำให้บรรยากาศของถนนคนเดินทั้งสายดูมีสีสันหลากหลายขึ้น โดยสินค้าช่วงแรกบนถนนอุทัยรามฤทธิ์จะอยู่ริมถนนด้านซ้าย(ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) ส่วนริมถนนทางขวาฝั่งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองไม่มีแผงลอยใดๆ เมื่อพ้นศาลเจ้าพ่อหลักเมืองไปแล้ว จะเว้นเป็นเต็นต์กิจกรรม มุมถ่ายรูป และเวทีการแสดง ก่อนจะเป็นโซนสินค้าช่วงที่สองทั้งซ้ายและขวาบนถนนจนถึงตึกแถวและบ้านไม้

สำหรับแผงลอยแถบนี้ ทางซ้ายตลอดแนวเป็นเต็นต์พับทั้งช่วงหนึ่งและสอง ขณะที่ทางขวาช่วงที่สองมีเสื่อ ผ้าฟาง ขาโต๊ะแผงลอย และโต๊ะพับ โดยถนนอุทัยรามฤทธิ์จะโดดเด่นเรื่องสินค้าโอทอป(จาก 9 อำเภอของจังหวัดยโสธร)เป็นหลัก แต่ก็มีของกินด้วย เริ่มจากของใช้มีกระเป๋า เสื้อผ้าชายหญิง ศิลปะพื้นบ้าน เครื่องนอน และภาชนะข้าว ขณะที่ของกินมีผักสด ผักพื้นบ้าน ขนมจีนน้ำยา อาหารอีสาน ของแห้ง ขนมท้องถิ่น ของหวาน ผลไม้ ไข่ ของนึ่ง สัตว์น้ำจืด ของทอด และของหมักดอง



เดินเล่นเมืองเก่า 200 ปีบ้านสิงห์ท่าเมื่อวันก่อน ชาวบ้านแถวนี้กระซิบว่า“ทุกวันพุธมีถนนคนเดินด้วยนะ” ทีมงานเลยถือโอกาสโต๋เต๋ในจังหวัดยโสธรต่ออีกหน่อย แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆกับของกินของใช้ที่พาเหรดกันมา ถึงแม้ถนนคนเดินที่นี่จะไม่ยาวเป็นริ้วขบวน แต่ความเป็นพื้นบ้านก็เผลอทำให้ควักสตุ้งสตางค์ง่ายๆเหมือนกัน
ซ้ายบน – บรรยากาศถนนคนเดินบนถนนนครปทุม แผงลอยจะอยู่ซ้ายขวาของทางเดิน แต่ทางซ้ายจะมีจำนวนแผงที่ยาวต่อเนื่องมากกว่า ขณะที่ผู้คนก็มีทั้งขี่มอเตอร์ไซค์และเดินมา เดี๋ยวเราเข้าไปชำเลืองดูสินค้ากัน โดยแถบนี้มีแต่ของกินทั้งนั้น ใครอยากอิ่ม คงได้เปรมอุรา
ขวาบน – ป้าๆสองสามคนช่วยกันตักกับข้าวจากหม้อที่อยู่หลังแผงใส่ถุง แล้วจัดเรียงบนโต๊ะด้านหน้า ส่วนรายการอาหารทั้งหมดมีพะแนงหมู แกงเขียวหวานปลากราย ผัดกระเพาะหมูใส่เกี่ยมฉ่าย ต้มจืด แกงส้ม แกงขี้เหล็ก กุ้งจ่อม แกงไตปลา ยำปลาทู น้ำพริกไข่เค็ม หลนเต้าเจี้ยว น้ำพริกปลาร้า รวมทั้งขนมชั้น
ซ้ายกลางบน – ส่วนโต๊ะนี้มีลูกชายและแม่ช่วยกันกุมบังเหียน ของกินในหม้อเริ่มตั้งแต่ลาบหมู พะโล้ขาหมู ยำหัวหมู แกงเทโพ ข่าไก่ ไปจนถึงจับฉ่าย ถ้าใครอยากเพิ่มข้าวสวย ร้านนี้ก็พร้อมเช่นกัน
ขวากลางบน – ป้าคนนี้ตั้งแผงน่ารักๆทำข้าวโป่งอยู่
ซ้ายกลางล่าง – เทศกาลแห่งทุเรียนเวียนมาบรรจบ พ่อค้าเลยปอกเป็นพัลวันอย่างที่เห็น ที่มุมไกลยังมีมะม่วงน้ำดอกไม้มาเสริมทีมอีก
ขวากลางล่าง – ใครต้องการความหวานเย็น แม่และลูกสาวแผงนี้จำหน่ายน้ำแข็งไสพร้อมเครื่องดังนี้ ลอดช่อง ลูกชิด ลูกตาล เฉาก๊วย แตงไทย และเผือก ส่วนเครื่องราดคือ กะทิและน้ำเชื่อม ทั้งนี้ใครชอบนมแนว แม่ค้าก็เหยาะให้ได้
- จากถนนคนเดินฟากแรก เรามาถนนคนเดินบนถนนอุทัยรามฤทธิ์ที่เป็นของตลาดประชารัฐบ้าง
ซ้ายล่าง – ผู้คนเดินดูสินค้าช่วงแรกขวักไขว่ไปมา ส่วนเต็นต์พับก็เรียงแถวอยู่ฝั่งตรงข้ามกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองตลอดแนว (จากภาพ โซนนี้เป็นสินค้าโอทอปประเภทของใช้จากอำเภอต่างๆในจังหวัดยโสธร)
ขวาล่าง – มุมนี้จำหน่ายกระติบใส่ข้าวหลากสีสันและขนาด ขณะที่ด้านหลังมีกลุ่มแม่บ้านมานั่งสานให้เห็นกัน



 

เพลินตากับสินค้าต่อ
ซ้ายบน – ซุ้มนี้กำลังทอผ้าไหมแท้ๆเป็นผืนให้คนที่เดินผ่านไปมาชม หลายคนให้ความสนใจทีเดียว สีต่างๆของผ้าไหมก็มาจากธรรมชาติด้วย เช่น สีเหลือง(ของผ้าที่ทออยู่นี้)มาจากกรัก สีน้ำตาลได้จากประดู่ สีชมพูมาจากครั่ง ฯลฯ
ขวาบน – ลุงคนนี้กำลังร่างแบบหัวนาคบนผิวไม้งิ้วสำหรับตัวบั้งไฟ จากนั้นก็ใช้สิ่วตอก และลงสีสันต่อไป
ซ้ายกลางบน – เต็นต์นี้นำหมอนขิด หมอนหนุน หมอนสามเหลี่ยม กระเป๋าผ้าฝ้าย และเสื่อกกมาเชิดหน้าชูตาอำเภออีกหนึ่งผลิตภัณฑ์
ขวากลางบน – สำหรับช่วงที่สองบนถนนอุทัยรามฤทธิ์ยังมีฝูงชนจับจ่ายกันเช่นเคย (จากภาพ ทางซ้ายเป็นแผงของชาวบ้าน ขณะที่ทางขวาเป็นเต็นต์พับ)
ซ้ายกลางล่าง – น้าร้านนี้มีสำรับเวอร์ชั่นอีสานมาเชลล์ชวนชิม เรียงรายกันตั้งแต่ซุปหน่อไม้ แกงเปรอะ ลาบปลา(ตอง) ป่นปลา(แบบไม่เผ็ด) ป่นปลา(แบบเผ็ด) ต้มไก่บ้าน ลาบไก่ ไปจนถึงแกงหวาย รวมทั้งขนุนชิ้น
ขวากลางล่าง – ป้ามุมนี้มีข้าวของมาขายกันชิลๆอีกแผง เริ่มตั้งแต่หน่อไม้ดอง หน่อไม้(ใส่น้ำใบย่านาง) ผักกาดดอง อ่อมหอยขม โหระพา คะน้า พริกแห้ง พริกสด กระเทียม มะม่วงแก้ว ฝรั่ง บวบหอม แตงไทย ตะไคร้ ข่า ผักชีลาว พุทรา มะเขือสีดา ต้นหอม ผักชี มะเขือเปราะ ยอดกระเฉด และแตงกวา
ซ้ายล่าง - ซุ้มนี้มีงานฝีมือจากผ้าฝ้ายหลายแบบมาให้เลือก เริ่มจากผ้าถุง ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ไปจนถึงเสื้อ
ขวาล่าง – นอกจากเวทีร้องเพลงสตริง ซุ้มวาดภาพระบายสี รวมทั้งมุมถ่ายรูปที่ระลึกทุกสัปดาห์แล้ว หนึ่งครั้งในแต่ละเดือนยังมีการแสดงจากเทศบาลให้คนในงานได้ชมด้วย และที่เห็นอยู่นี้คือ รำกลองยาว โดยแถวหน้าเป็นผู้หญิงเสื้อเหลืองต่างวัย(ตั้งแต่รุ่นย่าจนถึงหลาน)กำลังเซิ้งอยู่ ขณะที่ด้านหลังเป็นผู้ชายเสื้อชมพู(ต่างวัยเช่นกัน)กำลังเล่นเครื่องดนตรีพื้นถิ่น (วัฒนธรรมที่งดงามทักทายนักท่องเที่ยวได้อบอุ่นจริงๆ)

TODAY THIS MONTH TOTAL
20 4011 253229
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top