ตลาดน้ำวัดตะเคียน

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ถ้าหันหลังให้ผนังข้างโบสถ์(หรือตำแหน่งที่ตั้งหุ่นยนต์ในอดีต) แล้วมองไปเบื้องหน้า เราจะเห็นอาคารโครงเหล็กหลังใหญ่(หลังแรก)เป็นทางเข้าตลาดน้ำเบื้องหน้า

สำหรับแผงลอยในตลาดน้ำแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นเคาน์เตอร์(ยกเว้นบริเวณริมคลองด้านในที่แตกต่างออกไป) ที่เหลือมีโต๊ะพับ เก้าอี้ ชั้นวาง ลังพลาสติก และซุ้มสินค้า

ทีนี้เมื่อมองทางเข้าจากด้านหน้านี้ ซ้ายมือจะมีโซนสินค้าให้เราสำรวจก่อน โดยโซนนี้มีทางเดินแนวลึกทั้งหมดสี่ช่อง และมีหนึ่งช่องทางเดินแนวขวางที่พาดกลางทางเดินแนวลึกสอง สาม และสี่ ยกเว้นทางเดินแนวลึกที่หนึ่งจะติดทางเข้าออกตลาดน้ำ
โดยช่องทางเดินที่สอง สาม และสี่มีแผงประกบซ้ายขวาหมด (แต่แผงขวามือของช่องทางเดินที่สี่เป็นลักษณะผนังราวแขวนโชว์สินค้า) ขณะที่เคาน์เตอร์(ของทางเดินแนวลึกที่หนึ่ง)มีเฉพาะซ้ายมือและเป็นแผงเดี่ยวที่หันหน้าไปทางเข้าออกตลาดน้ำ ไม่มีทางเดินแนวขวางตัดผ่าน ส่วนด้านหลังแผงเคาน์เตอร์แถวเดี่ยวนี้หันหลังชนกับแผงเคาน์เตอร์ขวามือของช่องทางเดินที่สอง ถัดเข้าไปก็เป็นช่องทางเดินที่สาม และสุดกำแพงที่ช่องทางเดินที่สี่ด้านใน แต่ละช่องทางเดินแนวลึกจะไม่ยาวมาก

ทั้งนี้ทางเดินแนวลึกที่สอง สาม และสี่ยังไปบรรจบกับทางเดินแนวขวางบริเวณด้านท้ายอีกเส้นด้วย ซึ่งทางเดินแนวขวางด้านท้ายนี้ก็มีแผงลอยเช่นกัน สำหรับเส้นทางด้านท้ายนี้สามารถเดินออกไปทางซ้ายหรือขวาต่อก็ได้

คราวนี้มาดูข้าวของกันก่อน โดยช่องทางเดินที่สี่(ติดกำแพง)ขายแต่วัตถุมงคลล้วนๆ ขณะที่ช่องทางเดินหนึ่ง สอง และสาม(รวมทั้งแผงทางเดินแนวขวางด้านท้าย)จำหน่ายขนมไทย เครื่องดื่ม ชากาแฟ เสื้อผ้าสตรี พันธุ์ไม้ อาหารทั่วไป พระเครื่อง ผลไม้ ผักสด ของทอด วัตถุมงคล ของเล่นเด็ก ผลไม้แปรรูป เครื่องครัว ของปิ้งย่าง ของกินเล่น เครื่องดื่มแช่เย็น กระเป๋า สมุนไพร หมวก และเครื่องประดับ

และอย่างที่บอกไว้ว่า ทางเดินแนวขวางด้านท้ายสามารถเดินไปทางซ้ายหรือขวาต่อก็ได้ ดังนั้นถ้าเราไปทางขวา ก็มาเจอทางเข้าออกตลาดน้ำทันที แต่ถ้าไปทางซ้าย ก็เจอแผงตู้โชว์รอบฐานพระพิฆเนศต่อ ซึ่งโซนตู้โชว์สินค้านี้เน้นไปที่พระเครื่อง แต่ก็มีเครื่องประดับ(เกี่ยวกับพระเครื่อง) วัสดุทางการเกษตร และพันธุ์พืชด้วย มุมนี้สามารถไปทางเข้าออกประตูหน้าวัดหรือไปห้องน้ำต่อก็ได้

จากนั้นกลับมาที่ทางเข้าออกตลาดน้ำ(ตอนที่เราหันหลังให้ผนังข้างโบสถ์)ครั้งแรก จากปากทางนี้ ด้านซ้ายเป็นโซนที่อธิบายไปแล้ว แต่เมื่อเดินตรงและเลยโซนฝั่งซ้าย(หรือช่องทางเดินที่หนึ่ง)เข้าไป ซ้ายมือจะมีศาลาการแสดงของนักเรียนและทางเข้าออกห้องน้ำ โดยด้านซ้ายตลอดแนวนับจากนี้เป็นแผงขายของยาวจนสุดอาคารโครงเหล็กที่ศาลาริมคลอง(หลังที่สอง)ด้านในเลย ส่วนฝั่งขวา(ด้านตรงข้าม)ก็มีแผงขายของบริเวณจุดทำสังฆทานและพิธีสะเดาะเคราะห์อีก แต่แผงด้านขวามีระยะสั้นกว่าแผงทางซ้าย

เรามาดูแผงฝั่งซ้ายก่อน ข้าวของก็มีของกินเล่น ผลไม้ เครื่องดื่ม ของหมักดอง ขนมไทย ผักสด ของแห้ง ของปิ้งย่าง ของทอด สมุนไพร ผักพื้นบ้าน ไข่ไก่ กับข้าว ดอกไม้และพวงมาลัย สมุนไพร สัตว์น้ำจืดแห้ง พืชไร่ และอาหารทั่วไป

ขณะที่แผงฝั่งขวามีขนมไทย เครื่องดื่ม เครื่องประดับสตรี ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลไม้แปรรูป ของกินเล่น ไอศกรีม ชากาแฟ และน้ำแข็งไส

คราวนี้เมื่อเดินผ่านหอไหว้สรีระหลวงปู่แย้มเข้าไปด้านใน เราจะเจออาคารโครงเหล็กหลังใหญ่(หลังที่สอง)อยู่ขวามือ ซึ่งโครงอาคารนี้จะลึกขนานไปกับศาลาริมน้ำ(ทางซ้าย)และผนังกุฏิเจ้าอาวาส(ทางขวา) และลานกลางอาคารเป็นโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกินมากมาย ขณะที่ด้านข้างทั้งสองฝั่งของลานเป็นเคาน์เตอร์ขายของตลอดแนว โดยแผงฝั่งขวาอยู่เลียบผนังด้านหลังกุฏิเจ้าอาวาส ส่วนแผงฝั่งซ้ายอยู่เลียบศาลาริมน้ำตั้งแต่ศาลาที่ 2 ถึงศาลาที่ 5 (ส่วนศาลาแรกจะอยู่ติดสะพานข้ามคลองบางคูเวียง)

สำหรับศาลาริมน้ำที่ 2 (หรือศาลาสุดทางของแผงฝั่งซ้ายตอนเดินเข้าตลาดน้ำมา)จนถึงศาลาที่ 5 มีพื้นที่ว่างระหว่างศาลาทุกระยะ และทุกระยะนี้จัดเป็นมุมโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกินตลอด เมื่อถึงศาลาที่ห้า ศาลานี้มีพื้นที่ว่างจนสุดที่กำแพงวัดด้วย ซึ่งมุมนี้ก็เป็นลานให้นั่งกินเช่นกัน และมีแผงขายของเลียบกำแพงวัดอีก

คราวนี้เรามาดูข้าวของเคาน์เตอร์ทางซ้ายเลียบศาลาริมน้ำก่อน ซึ่งก็มีอาหารปักษ์ใต้ ขนมไทย อาหารทั่วไป ไอศกรีม อาหารญี่ปุ่น ของกินเล่น ชากาแฟ ของทอด ผลไม้ เครื่องดื่มแช่เย็น ผลิตภัณฑ์จากงานไม้ เสื้อผ้า ของปิ้งย่าง และผักพื้นบ้าน

ส่วนสินค้าต่างๆบนเคาน์เตอร์เลียบผนังด้านหลังกุฏิเจ้าอาวาสเริ่มจากผลไม้แปรรูป ขนมไทย ของกินเล่น ของเล่นเด็ก สัตว์เลี้ยง เสื้อผ้าเด็ก เครื่องดื่ม กับข้าว ขนมหวาน ผลไม้ พืชไร่ ผักพื้นบ้าน ไปจนถึงพันธุ์ไม้

ขณะที่เคาน์เตอร์เลียบกำแพงวัดด้านในสุดยังมีเครื่องดื่ม น้ำแข็งไส อาหารทั่วไป ขนมไทย ของกินเล่น รวมทั้งโซนเครื่องเล่นเด็ก

แล้วเราก็มาถึงจุดสำคัญของตลาดน้ำ นั่นก็คือ ทางเดินไม้ริมน้ำ โดยด้านหนึ่งของทางเดินไม้ติดกับคลองบางคูเวียง ส่วนอีกด้านติดกับศาลาริมน้ำทั้ง 5 ศาลา โซนนี้มีพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านพายเรือมาจอดริมคลอง แล้วจำหน่ายกันในเรือเลย รวมทั้งนำข้าวของขึ้นมาวางขายบนทางเดินไม้ด้วย
ลักษณะแผงลอยบนทางเดินไม้ก็มีโต๊ะเตี้ย ถาด กระจาด กระด้ง ตะกร้า ลังพลาสติก และเคาน์เตอร์ ขณะที่สินค้าที่นำมาจากทางบกก็มีเช่นกันสำหรับแผงลอยทั้งหมดขายเลียบริมคลองเท่านั้น ไม่ได้ขายด้านศาลาริมน้ำ ยกเว้นพื้นยกระดับระหว่างศาลาริมน้ำที่หนึ่งและศาลาริมน้ำที่สองเท่านั้นที่มีที่นั่งกินและของขายบางส่วน

สำหรับข้าวของบริเวณทางเดินไม้ทั้งหมดก็มีดังนี้ ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม อาหารทั่วไป ชากาแฟ ผลไม้ ของหมักดอง อาหารปลา ผักสด ของทอด พันธุ์ไม้ ผักพื้นบ้าน ของนึ่งต้ม ของกินเล่น ขนมไทย ไข่ พืชไร่ อาหารตามสั่ง ของแห้ง ผลไม้พื้นบ้าน ไอศกรีม และของปิ้งย่าง



จากถนนพระราม 5 หรือถนนนครอินทร์เข้าซอยมาประมาณหนึ่งกิโลเมตร ก็จะเจอวัดตะเคียน แต่คราวนี้เราไม่เดินลอดใต้โบสถ์หรือถ่ายรูปคู่หุ่นยนต์(ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว) แต่ขอไปอิ่มหนำสำราญกับบรรยากาศตลาดน้ำแห่งนี้กัน ยิ่งวันอาทิตย์เป็นวันที่คึกคึกที่สุด รายการอาหารที่ลิสต์ในหัวตีกันยุ่งเลย
บน – จุดนี้เป็นทางเข้าตลาดน้ำ ถ้าดูจากเส้นทางเกริ่นนำ เราต้องหันหลังให้หุ่นยนต์ที่อยู่นอกโครงหลังคาหลังแรกนี้ก่อน แล้วมองจากด้านนอกเข้ามา แต่ถ้าเป็นภาพนี้มองออกไป นอกจากหุ่นยนต์ที่อยู่ลิบๆ ตรงศาลาที่มีหลอดไฟติดบนหลังคา(หรือใกล้ร่มตลาดนัดสีเขียว)ทางขวา บริเวณด้านหลังศาลาและร่มตลาดนัดไปทางขวาก็คือ โซนสินค้าทางซ้ายจากคำอธิบายเกริ่นนำนั่นเอง ซึ่งภาพนี้มองไม่เห็นโซนดังกล่าวเพราะโดนศาลาบังไป ต่อมาเมื่อมองแผงลอยเลียบหน้าต่างทางขวาของภาพเข้ามา ตรงนี้คือ แผงลอยทางซ้ายจากคำอธิบาย รวมทั้งแผงลอยทางซ้ายของภาพนี้ก็คือแผงลอยทางขวาจากคำอธิบายเช่นกัน ดังนั้นเรายังอิงคำอธิบายเกริ่นนำดังเดิม (จากภาพ ลานตรงกลางมีเก้าอี้ให้นั่งพักและโต๊ะเก้าอี้ไว้นั่งกินอาหารและเครื่องดื่มด้วย)
- เริ่มจากโซนสินค้าทางซ้ายบริเวณทางเข้าก่อนเลย
ซ้ายบน – คนในร้านช่วยกันทำขนมปังเนยอบกรอบจากเตา แล้วแพ็กใส่ถุงและกล่อง
ขวาบน – น้องผู้หญิงกำลังทำขนมนางเล็ด(สูตรน้ำแตงโม)ให้ทันกับออเดอร์
ซ้ายกลาง – เคาน์เตอร์มุมนี้ขายไก่บาร์บีคิว ตะโก้สาคู บัวลอยมะพร้าวอ่อน วุ้นเป็ด และปลากริมไข่เต่า
ขวากลาง – แถบนี้มีของกินเล่นอยู่มากมาย ใครชอบเม็ดบัว มะขามป้อมสด มะขามป้อมแช่อิ่ม มะตูมเชื่อมแห้ง ลูกไข่เน่า มะม่วงกวน มะขามคลุกน้ำตาล กล้วยเล็บมือนางตากแห้ง พุทราจีนเชื่อม มะขามแช่อิ่ม และอินทผาลัมอบแห้ง บอกได้คำเดียวว่าเจอกัน
ซ้ายล่าง – ส่วนแม่ค้าแผงนี้จำหน่ายข้าวเหนียวหมูฝอย ขนมเปี๊ยะ ไข่หงส์ และกะหรี่ปั๊บ
ขวาล่าง – นอกจากของกินแล้ว แผงปิดท้ายด้านหลังยังมีเสื้อผ้าคนสูงวัย พระเครื่อง และกระเป๋ากิ๊ฟช็อปเป็นตัวเลือกอีก



เรายังอยู่ในโซนสินค้าทางซ้าย
ซ้ายบน – อย่างที่บอกไปว่า ด้านที่ติดกำแพงในสุดมีแผงวัตถุมงคล เครื่องราง ดวงชะตา และความเชื่อต่างๆหลายเจ้า เช่น พระพุทธรูป ไฉ่ซิงเอี๊ยะ วัตถุแก้ปีชง เจ้าแม่กวนอิม ฤาษีหน้าวัว พระศิวะ พระพิฆเนศ กุมารและเสื้อผ้ากุมาร ฤาษีตาไฟ ยันต์ หลวงปู่ทวด ฮกลกซิ่ว ปี่เซียะ กบคาบเหรียญ ตุ๊กตามงคล โมบาย ลูกแก้วคริสตัล ฯลฯ
- จากด้านหลังของโซนทางซ้าย ถ้าไปทางซ้ายต่อ ยังมีข้าวของอีกเล็กๆน้อยๆ
ขวาบน - บ้านไหนมีพื้นที่เหลือ ลองนำเมล็ดพืชผักสวนครัวหรือดอกไม้ร้านนี้ไปปลูกก็ได้ นอกจากนี้ยังมีปุ๋ยอินทรี น้ำยาเร่งรากและดอก และสารกำจัดมดแมลง
- จบจากโซนทางซ้าย เราเดินเข้าตลาดน้ำอย่างไว แต่ระหว่างทางเข้าด้านใน ยังมีแผงลอยทั้งซ้ายและขวาขนาบตัวเราอยู่ ถ้าอย่างนั้นเริ่มจากทางซ้ายก่อน
ขวากลางบน – แผงนี้มีใบเตย น้ำผึ้งป่าขวด หอมแดง กระเทียม ตำลึง ชมพู่ ตะไคร้ สะเดา ขี้เหล็ก ดอกแค มะเขือพวง ใบชะพลู ชะอม ผักบุ้งไทย มะละกอ กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม
ซ้ายกลาง – ซุ้มนี้จำหน่ายผลไม้คัดเกรด เริ่มตั้งแต่ทุเรียนพันธุ์นกกระจิบ แตงโม ส้ม ทับทิม มะละกอ ไปจนถึงเงาะ
ขวากลางล่าง – เจ้านี้ขายมะพร้าวลูก น้ำตาลมะพร้าว น้ำมะพร้าวอ่อน ถั่วแระ ไข่ไก่ ไข่เป็ด และกะปิคลองโคน
ซ้ายล่าง - กับข้าวที่แม่ค้ามัดใส่ถุงขาย มีแกงส้ม แกงเขียวหวาน คั่วกลิ้ง ผัดหมี่ และกุนเชียง
ขวาล่าง - พ่อค้ากำลังทำข้าวโพดคั่วโบราณ มีทั้งรสหวานและเค็ม ข้างๆยังมีข้าวเกรียบว่าวด้วย




แผงลอยฝั่งซ้ายเกือบจะสมบูรณ์แล้ว
ซ้ายบน – สินค้าสมุนไพรโชว์สรรพคุณอยู่บริเวณนี้ เริ่มตั้งแต่ยาหม่องสูตรต่างๆ(เช่น ลำไย เสลดพังพอน ตะไคร้หอม ฯลฯ) น้ำหอมกันยุง ยาหอม แคปซูลสมุนไพรต่างๆ(เริ่มจากขี้เหล็ก เพชรสังฆาต กระชาย ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน มะรุม รางจืด ว่านชักมดลูก ปอกะบิด ใบขี้เหล็ก ส้มแขก ไปจนถึงเมล็ดหมามุ่ย) น้ำมันเหลือง สมุนไพรลดน้ำหนัก สบู่สมุนไพร(ที่มีส่วนผสมให้เลือกดังนี้ มังคุด เต้าหู้ ฟักข้าว ส้ม น้ำนมข้าว ขมิ้น แคร์รอต และกาแฟ) แชมพูมะกรูด จนไปสิ้นสุดที่ครีมนวดผมอัญชัน แถมด้านล่างสุดยังมีมะนาว พริก อ้อย และกล้วยหักมุกเป็นกองหนุน
- เดินชมแผงลอยฝั่งซ้ายเพลินแล้ว ลองสุ่มตัวอย่างฝั่งขวาบ้าง
ขวาบน - ถึงแม้จะอยู่ใต้โครงหลังคา แต่ความร้อนก็ไม่เคยปราณีใคร แม่ค้าเลยเตรียมน้ำแข็งไสไว้ให้ มีทั้งมัน สับปะรด วุ้น เฉาก๊วย ถั่วแดง ฟักทอง เผือก ข้าวโพด ลูกชิด ข้าวเหนียวดำ สาคู ขนมปัง น้ำหวานเข้มข้น ไปจนถึงลอดช่องสิงคโปร์
ขวากลางบน - มุมนี้มีของเล่นมากมายให้เด็กๆเลือก เช่น โมเดลรถซูเปอร์สปอร์ต ซูเปอร์กัน ชุดทำแซนด์วิช เจ้าหญิง ฟิกเกอร์(จากภาพยนตร์ต่างๆ เช่น ซูเปอร์แมน ฮัลก์ ไอรอนแมน เอลซ่า กัปตันอเมริกา ฯลฯ) จูราสิกปาร์ก เดอะคาร์ ตุ๊กตา Angry Birds ชุดทำกับข้าว ปืนของเล่น ฯลฯ
- เส้นทางเดินเข้ามาเคลียร์ครบ คราวนี้ก็เป็นโซนโครงหลังคาหลังที่สองด้านใน

กลาง - วินาทีที่เข้ามา แล้วเลี้ยวขวา เราจะเห็นของกินซ้ายขวาทั้งสองฟาก โดยมีลานโต๊ะเก้าอี้อยู่ตรงกลาง ขณะที่ด้านในสุดเป็นกำแพงที่มีแผงขายของเช่นกัน ตอนนี้ผู้คนกินไปคุยไป ส่วนคนเดินช้อปก็สวนกันไปมา
- มาเริ่มแผงทางซ้ายของภาพก่อน
ซ้ายล่าง - กระเพาะปลาร้านนี้มีทั้งแบบธรรมดาและพิเศษ อยากใส่หรือไม่ใส่หน่อไม้กับเลือด หรืออยากเพิ่มไข่ยางมะตูมกับน่องไก่ตีนไก่ ก็บอกคนทำได้
ขวาล่าง - เจ้านี้จำหน่ายราดหน้า




ขอสำรวจแผงฝั่งซ้ายให้หนำใจไปเลย
ซ้ายบน –
ป้าคนนี้ทำอาหารใต้เป็นกิจวัตร ที่เห็นบนโต๊ะมีน้ำพริกมะขาม ไตปลาแห้ง คั่วกลิ้งหมู และน้ำพริกกะปิ
ขวาบน - พ่อครัวทุกคนกำลังสาละวนกับเตาร้อนๆของไส้กรอกอีสาน รสชาติก็มีเปรี้ยว ไม่เปรี้ยว และวุ้นเส้นซ้ายกลางบน – แผงนี้เน้นขนมบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อน ในภาพมีอยู่สามสีคือ แป้งข้าวเหนียวขาว แป้งข้าวเหนียวดำ และใบเตย
ขวากลางบน - ใครชอบกินขนมเบื้อง ไส้หวานไส้เค็มพร้อมแล้ว
- ถัดไปคือฝั่งขวา
ซ้ายกลางล่าง - แม่ค้ามาพร้อมขนมไทยดังนี้ ขนมถ้วยมะพร้าวอ่อน เต้าห้วยนมสด เต้าส่วนลูกเดือย เต้าส่วนถั่วเขียว แปะก๊วยมะพร้าวอ่อน ปลากริมไข่เต่า บัวลอย และขนมเทียน
ขวากลางล่าง - ขณะที่ของกินเล่นโต๊ะนี้จัดวางเป็นสองชั้นอันได้แก่ ขนมปังเนยงา ขนมปังกระเทียม ปลาหวาน มะยมแช่อิ่ม กล้วยฉาบ ฟักทองฉาบ เค้กสี่รส ขาไก่ พายกรอบ ขนมไข่ ขนมผิง หมี่กรอบ โรตีกรอบ ไปจนถึงสาลี่มะพร้าว
ซ้ายล่าง - สำหรับคนรักธรรมชาติ ซุ้มนี้มีชบา ฟอร์เก็ตมีน็อต พริก หงอนไก่ กุหลาบ ชวนชม ดาวเรือง กล้วยไม้ เบญจมาศ และโป๊ยเซียน
- จากแผงฝั่งขวา ทีมงานขอชมข้าวของริมกำแพงด้านในสุดต่อ
ขวาล่าง – ร้านนี้จำหน่ายกุยช่าย ส่วนสี่ไส้ที่ยืนพื้นคือ มันแกว ผัก หน่อไม้ และเผือก




ชมตัวอย่างแผงเลียบกำแพงอีกประเดี๋ยว
ซ้ายบน – แถบนี้ขายข้าวหลาม มีทั้งข้าวเหนียวดำและขาวให้เลือก ส่วนไส้มีสองอย่างคือ สังขยาและถั่วดำมะพร้าวเผือก
ขวาบน – แม่ค้าสองคนช่วยกันทำทองม้วนสดใบเตยมะพร้าวอ่อนแบบเปิดปิดฝากันไม่หยุด
ซ้ายกลาง – โซนเด็กเล่นก็มีเช่นกัน ตอนนี้ผู้ปกครองนั่งรอบุตรหลานอยู่นอกกำแพงสวนสนุก ขณะที่กลุ่มเด็กกำลังเฮฮากับเครื่องเล่นปีนป่าย สไลเดอร์ และม้วนตัวไปกับลูกบอล
- ทุกคนดิ่งตรงสู่ไฮไลต์ของตลาดน้ำได้เลย นั่นคือแผงลอยริมคลองบางคูเวียงและในเรือ
ขวากลางบน – บรรยากาศเนืองแน่นของผู้คนบนทางเดินแผ่นไม้ริมคลอง ทางซ้ายจะเห็นพ่อค้าแม่ค้านั่งขายบนพื้นไม้เลียบคลอง ขณะที่เรือลอยลำอยู่ด้านหลัง
ซ้ายล่าง – สินค้าของพ่อค้าแม่ค้าจำหน่ายเป็นทางยาวตลอดแนวคลองของวัด โซนนี้มีผักสด ผักพื้นบ้าน และผลไม้มากมาย สำหรับสินค้าใกล้ภาพทั้งหมดมีดังต่อไปนี้ ใบขี้เหล็ก ใบกระเพรา ยอดมะรุม บวบเหลี่ยม กล้วยน้ำว้า ถั่วฝักยาว ขึ้นฉ่าย คะน้า ชะอม ยอดสะเดา กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง ฟักทอง มะเขือเปราะ ดอกขจร เห็ดหูหนู มะเขือยาว กะหล่ำดอก ยอดมะกอก มะเขือสีดา และผักบุ้งนา
ขวากลางล่าง – ป้าร้านนี้ขนกล้วยมาให้ลิ้มลอง เริ่มจากกล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหักมุก ไปจนถึงปลีกล้วย ส่วนไม้ประดับมีมะละกอ ตะลิงปลิง แตงกวา แตงร้าน ถั่วแระ และพริก
ขวาล่าง – ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวมะม่วงพอดี เราเลยเห็นลูกสาวของแม่ค้ามานั่งขายมะม่วงนานาพันธุ์ บนสุดไล่มาก็มียายกล่ำ อกร่องเขียว มหาชนก กาละแม และน้ำดอกไม้   




นอกจากผักผลไม้แล้ว เรามาดูของกินอย่างอื่นบนทางเดินไม้บ้าง
ซ้ายบน – แม่ค้ายำมะม่วงร้านนี้มียำปูจืด ยำปูเค็ม ยำปูม้า ยำกุ้งสด ยำหอยนางรม ยำหอยดอง ยำปลากรอบ และยำไข่เค็ม
ขวาบน – ส่วนใครชอบของเชื่อมพร้อมน้ำกะทิโรยหน้า ถาดเหล่านี้มีสาเกเชื่อม มันเชื่อม เผือกเชื่อม ฟักทองเชื่อม กล้วยไข่เชื่อม และมันสำปะหลังเชื่อม
ซ้ายกลางบน – ลุงแผงนี้มีข้าวต้มมัด ขนมใส่ไส้ ขนมตาล และขนมกล้วยมาจำหน่าย (จากภาพยังเห็นกล้วยทอดแผงถัดไปอยู่ในเฟรมด้วย)
- คำว่าตลาดน้ำจะไม่สมบูรณ์ทันทีถ้าเราไม่เห็นวิถีชีวิตของพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านที่พายเรือมาขายในคลอง แล้วให้ลูกค้าบนบกสั่งซื้อ
ขวากลางบน – ป้าสองคนช่วยกันปรุงผัดไทยไม่พักหายใจเนื่องจากใบสั่งซื้อจากฝั่งมีมาเรื่อยๆ
ซ้ายกลางล่าง – เป็ดพะโล้มาเสริมสีสันอีกแรง ส่วนเครื่องในและน้ำจิ้มมีครบถ้วน
ขวากลางล่าง – ใครยังไม่อิ่ม แม่ค้าในเรือมีก๋วยจั๊บมาฝาก ขณะที่เต้าหู้ หนังหมู ไส้ ตับ เนื้อหมู เลือดหมูและไข่รอลงชามเป็นเพื่อน
ซ้ายล่าง – ทีมงานในเรือและบนฝั่งกำลังวุ่นวายกับก๋วยเตี๋ยวเรือเพราะลูกค้าสั่งกันไม่ขาดตอนจริงๆ
ขวาล่าง – เราบ๊ายบายตลาดน้ำแห่งนี้กับลุงที่พายเรือมาขายชากาแฟและโอเลี้ยง (ซึ่งลุงยึดอาชีพนี้มาตั้งแต่หนุ่มแล้ว)

TODAY THIS MONTH TOTAL
123 3746 252964
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top