ถนนระนอง (เทศกาลถือศีลกินผัก)

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

ช่วงเทศกาลถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ตในเดือนตุลาคม จากวงเวียนสุริยเดชเข้าสู่ถนนระนองเป็นทางตรงจนสุดถนนคนเดินที่สี่แยกจุ๊ยตุ่ยจะมีแผงจำหน่ายอาหาร ของกินเล่น และเครื่องดื่มตลอดถนนทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 9 วัน 9 คืนในทุกปี ท่ามกลางผู้คนที่สวมชุดขาวมาเดินซื้อของกินกันอย่างเนืองแน่น

โดยถนนระนองช่วงแรกทั้งซ้ายและขวาของตึกแถวยังไม่มีแผงใดๆ แต่เมื่อฝั่งขวาของถนนระนองมาถึงปากทางเข้าตลาดดาวน์ทาวน์แล้ว นับจากนี้ไป ริมถนนระนองจะมีเต็นท์พับ ขาโต๊ะแผงลอย และรถเข็นขายของตามหน้าตึกแถวจนหมดระยะแผงฝั่งขวาที่ตึกแถวห้องสุดท้าย จุดนี้ถือว่าเป็นช่วงแรกของแผงสินค้าก่อนเข้าสู่ถนนของกินหลัก

สำหรับฝั่งซ้ายเมื่ออาคารตลาดสดเทศบาลมาถึงสุดอาคาร จะมีตรอกมาคั่นก่อน จากนั้นถึงเป็นบ้านเรือนบนถนนระนองต่อไป ขณะที่ฝั่งขวาเมื่อหมดระยะตึกแถวแล้ว ก็กลายเป็นกำแพงปูนของโรงเรียนและวัดแทน ซึ่งนับจากนี้ ถนนระนองที่มีบ้านเรือนอยู่ฝั่งซ้ายและมีกำแพงปูนอยู่ฝั่งขวา ริมถนนทั้งสองฟากจะกลายเป็นทะเลของกินเรียงยาวไปถึงสามแยกที่เลี้ยวเข้าศาลเจ้าปุดจ้อ แต่แผงของกินไม่ได้เลี้ยวเข้าไป ยังคงตรงต่อไปบนถนนระนองต่อ ซึ่งฝั่งซ้ายถัดจากสามแยกนี้ไปจะเป็นผนังข้างศาลเจ้าปุดจ้อ ก่อนจะเป็นบ้านเรือนอีกครั้ง ส่วนฝั่งขวาหลังจากเลยสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อไป กำแพงปูนก็เปลี่ยนเป็นบ้านเรือน แล้วแผงทั้งซ้ายขวาถึงไปสิ้นสุดที่สี่แยกจุ๊ยตุ่ย รวมระยะทางขายของบนถนนระนองเกือบสามร้อยเมตร หรือพูดง่ายๆก็คือ ถนนของกินสายนี้เป็นเส้นทางตรงนั่นเอง

สำหรับแผงลอยทั้งหมด ริมถนนฝั่งซ้ายเป็นเต็นท์พับล้วนๆ ขณะที่ฝั่งขวาเป็นแผงโครงเหล็กที่สร้างยาวติดกัน แต่ก็มีเต็นท์พับบางช่วงด้วย ส่วนบ้านเรือนทางซ้ายของถนนระนองก็มีหลายหลังเปิดหน้าบ้านจำหน่ายสินค้าและด้านหลังเต็นท์พับทางซ้ายหลายเต็นท์ก็มีหน้าร้านหันเข้าด้านในด้วย ทำให้ทางฟุตบาทที่อยู่หลังเต็นท์ริมถนนทางซ้ายมีอีกหนึ่งเส้นทางเล็กๆให้ผู้คนได้จับจ่ายเพิ่ม สำหรับลานตรงสามแยกศาลปุดจ้อจะเป็นเพิงของกินที่มีซุ้มอาหารหลายเจ้าอยู่ด้านในและมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งพร้อม นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านนำสินค้ามาขายบนถนนอีก ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บริเวณสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อ

ทีนี้เรามาว่าเรื่องของกินของใช้บนถนนระนองกัน เริ่มจากแผงช่วงต้นถนนทางขวามือ(ตรงข้ามกับอาคารตลาดสดเทศบาล)มีเสื้อผ้าชายหญิง กิ๊ฟช็อป ขนมไทย ของทอด ชุดชั้นใน นาฬิกา เครื่องดื่ม ของต้ม ของกินเล่น เครื่องแต่งกาย ชุดขาว(เทศกาลถือศีลกินผัก) และอุปกรณ์มือถือ

ต่อไปก็เป็นเต็นท์และแผงลอยต่างๆทั้งสองฟากของถนนระนอง เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกก่อนถึงสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อ และช่วงที่สองหลังจากเลยสามแยกไปจนถึงสี่แยกจุ๊ยตุ่ย ซึ่งเกือบทั้งหมดมีแต่ของกินสำหรับเทศกาลถือศีลกินผักโดยเฉพาะ ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของเนื้อสัตว์ใดๆมาผสมเลย และข้าวของทั้งหมดก็เริ่มจากขนมไทย ผลไม้สด เครื่องดี่ม ของปิ้งย่าง อาหารทั่วไป ของกินเล่น ผลไม้แปรรูป ขนมชาวจีน อาหารและของกินเล่นญี่ปุ่น น้ำแข็งไส เบเกอรี่ ขนมแฟนซี ก๋วยเตี๋ยว ของกินยามเช้า ของต้ม ชากาแฟ ของทอด ขนมและของกินเล่นภาคใต้ ไอศกรีม ผัดเส้นต่างๆ อาหารเหนือ อาหารอีสาน สมุนไพรจีน ของป่า เครื่องดื่มแช่เย็น ผลไม้ปั่นและคั้น ไปจนถึงของกินของฝาก ส่วนของใช้ก็พอมีบ้าง ได้แก่ เสื้อผ้าชายหญิง ของใช้ส่วนตัว พลุและประทัด ของใช้ในบ้าน นาฬิกา หมวก วัตถุมงคล กระเป๋า ดอกไม้ ของเล่นเด็ก อุปกรณ์มือถือ ชุดขาว(เทศกาลถือศีลกินผัก) ของเล่นเด็ก ผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องครัว งานบริการ และของเก่า

ขณะเดียวกัน ด้านหลังเต็นท์ทางซ้ายขึ้นไปบนฟุตบาทก็มีของกินของใช้จากหน้าร้านและด้านหลังของเต็นท์เช่นกัน อันได้แก่ กับข้าว อาหารอีสาน ก๋วยเตี๋ยว ชุดขาว(เทศกาลถือศีลกินผัก) อาหารตามสั่ง เครื่องดื่ม อาหารทั่วไป อาหารมุสลิม สัตว์เลี้ยง เครื่องสังฆภัณฑ์ไทยจีน ของใช้ในบ้าน ของแห้ง ของชำ ผลิตภัณฑ์ซักล้าง เครื่องดนตรี เครื่องดื่มแช่เย็น สายตา อุปกรณ์มือถือ และขนมปังปี๊บ

อนึ่ง เต็นท์ต่างๆในตอนกลางวัน พ่อค้าแม่ค้าจะมาประจำแผงขายของประมาณ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ของแผงทั้งหมด ซึ่งเราสามารถมาเดินซื้อของกินได้ตลอด ขณะที่ตอนกลางคืนตั้งแต่หกโมงเย็นจนถึงสี่ทุ่มในช่วงปิดการสัญจรทางรถบนถนนระนองเพื่อให้คนเดิน ทุกร้านจะมาเปิดขายกันเต็มพื้นที่



หนึ่งปีมีหนึ่งครั้งกับเทศกาลถือศีลกินผักของจังหวัดภูเก็ต บรรยากาศมีแต่ความครึกครื้น ทุกคนตอบรับประเพณีกันถ้วนหน้า หันไปทางไหนก็มีแต่เสื้อผ้าสีขาว วันนี้เลยอยากชวนทุกคนมากินเจเป็นเพื่อนกันสักวัน ส่วนใครไม่กินเจ แต่อยากมาเดินเป็นเพื่อน ก็ตามมาเลย เผื่อเกิดเปลี่ยนใจ
ซ้ายบน – จากวงเวียนสุริยเดชมุ่งตรงสู่ถนนระนอง ซ้ายมือเป็นอาคารตลาดสดเทศบาลซึ่งไม่มีแผงใดๆ ยกเว้นมอเตอร์ไซค์ที่จอดหน้าอาคาร ส่วนทางขวาถือว่าเป็นแผงออร์เดิร์ฟก่อนเข้าสู่โซนหลัก (จากภาพ ตอนนี้ผู้คนเดินเข้าออกตลอด)
- เราไปดูแผงลอยทางขวาหน้าตึกแถวสักสี่เจ้ากัน
ขวาบน – เพื่อให้เข้ากับเทศกาล ชุดขาวช่วง 9 วัน 9 คืนสำหรับผู้หญิงจึงสำคัญไม่น้อย ร้านนี้เน้นความเรียบหรู ไม่มีตัวอักษรหรือรูปสกรีนใดๆ
ซ้ายกลาง – สินค้าของสาวๆมากันต่อเนื่องกับที่รัดผม ที่คาดผม กรรไกรตัดเล็บ หวี หวีสับ และกิ๊บ (จากภาพ ด้านหลังเป็นตึกแถวที่เปิดหน้าร้านจำหน่ายสลากกินแบ่ง ส่วนโต๊ะพับทางขวาขายสินค้าแช่อิ่มและอบแห้งใส่ห่อซึ่งก็มีสมอ ส้มจี๊ด บ๊วย มะเขือราชินี ขิง กีวี่ รวมทั้งกุนเชียง)
ขวากลางบน – ขณะที่เจ้านี้มีถุงเท้าชายหญิงทั้งแบบสีพื้นและสวดลาย
ขวากลางล่าง – พ่อค้ารถเข็นนำฉ้ายถาวโก้ยทอด(หรือขนมผัดกาดสไตล์ภูเก็ต)และมันทอดร้อนๆมาจำหน่าย
- คราวนี้เตรียมนับหนึ่งสองสาม แล้วฝ่าฝูงชนบนถนนสายตรงนี้ไปพร้อมกัน ทีมงานขอสำรวจของใช้เป็นอันดับแรก โดยเริ่มจากถนนเทศกาลต้นทางไปจนถึงสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อก่อน
ซ้ายล่าง –  เด็กๆและวัยรุ่นสนุกสนานกับแทททูติดตามร่างกาย ตอนนี้มีทั้งฝ่ายให้กำลังใจและฝ่ายเลือกลายเพื่อเป็นรายต่อไป
ขวาล่าง – สำหรับเต็นท์แฟชั่นนี้มีหมวกกับนาฬิกาข้อมือมาให้เลือกซื้อ




ใครมาทีหลัง ติดสอยห้อยตามให้ดีๆ ตอนนี้ยังทัน เพราะอีกสักพัก อาจจะหลงแล้ว
บน – แต่ก่อนจะไปชมของใช้ต่อ เราไปดูคลื่นมหาชนที่ทุกคนต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปกัน อัดแน่นทุกพื้นที่ เห็นแล้วแทบผงะ เพราะเส้นทางนี้คือหัวใจหลักของงานประจำปี ถึงแม้มีแต่คนไทย แต่ชาวต่างชาติก็สอดแทรกมาไม่น้อย เรียกว่าความอร่อยไร้ซึ่งพรมแดนจริงๆ (จากภาพ จุดนี้เป็นใจกลางของถนนระนองช่วงแรกก่อนจะถึงสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อ โดยภาพนี้เป็นการหันหลังกลับไปมองทางที่เราเดินเข้ามา ทำให้เต็นท์พับทางซ้ายในทีแรกมาอยู่ฝั่งขวา ส่วนแผงโครงเหล็กอีกฝั่งก็สลับด้านเช่นกัน)
ซ้ายบน – เต็นท์เสื้อขาวสกรีนลายมังกรและเทศกาลถือศีลกินผักมาแล้ว แต่เสื้อภูเก็ตพื้นขาวก็แอบสมทบด้วย
ขวาบน – เจ้านี้มีสินค้าสร้างความหรรษามาฝาก เริ่มตั้งแต่จรวดวี้ดปั้ง น้ำพุสี พลุกระบอก หวีดหนู ควันสี ไฟเย็น กระเทียม ไข่ไดโนเสาร์ สเปรย์สายรุ้ง บัวสามสี และผึ้งบิน
ซ้ายกลาง – แผงนี้จำหน่ายของเก่าและของสะสมมากมาย ที่โดดเด่นคือ ที่เคาะประตูหัวสิงห์ สินค้าอื่นๆก็เช่น ลูกคิด หยก ตาชั่ง พัดจีน พู่กันจีน หล่อรูปเหมือน ลูกประคำ กระถางธูป ฯลฯ
- ตัวอย่างของใช้แนะนำพอเป็นสังเขปแล้ว ก็ถึงเวลาตื่นตาตื่นใจกับ“ความเป็นเจ”เสียที
ขวากลาง – ใครอยากกินเย็นตาโฟ บะหมี่น้ำ บะหมี่แห้ง ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ หรือเกาเหลา ตบเท้าเข้ามาเลย
ซ้ายล่าง – ยำผลไม้ทรงเครื่องที่ทำให้หลายคนเปรี้ยวปากมีองุ่นเขียว องุ่นแดง พุทรา มะม่วงเบา มะม่วงเปรี้ยว มะม่วงมัน สละ กระท้อน มะกอกน้ำ ฝรั่ง มะขาม มะยม และมะกอกฝรั่ง
ขวาล่าง – พ่อค้าแผงนี้ผัดยากิโซบะที่กำลังร้อนได้ที่




ตอนนี้แค่อุ่นเครื่องเฉยๆ ไม่มีการปราชัยเด็ดขาด ไปกันต่อ
ซ้ายบน – คนขายช่วยกันทำยำวุ้นเส้น ยำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยำเห็ด ลาบเห็ด แกงเห็ด แกงลาว และยำรวม ใครอยากกินอะไร ท่องเมนูเหล่านี้ให้ขึ้นใจ
ขวาบน – ชูชิก็เจกับเขาได้เช่นกัน
ซ้ายกลางบน – คนขายคีบข้าวเหนียวปิ้งกลับไปกลับมาไม่หยุดตั้งแต่เปิดร้าน ส่วนไส้ก็มีเผือก กล้วย มะพร้าว และข้าวโพด
ขวากลางบน – ร้านนี้มาพร้อมเบเกอรี่สูตรเจ ไล่กันตั้งแต่เค้กส้ม ช็อกโกแลต บลูเบอร์รี แอปเปิล ตามมาด้วยทาร์ต พาย และคุกกี้
ซ้ายกลางล่าง – แผงนี้น่าจะเป็นเจ้าแรกที่เปิดขายกันแต่เช้ามืดและกลับก่อนใครประมาณหนึ่งทุ่ม และของกินที่เห็นเต็มแผงก็คือ อาหารเหนือนั่นเอง ทั้งหมดที่ทำมาวันนี้มีข้าวซอย เห็ดเผาะ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ห่อหมกเห็ด แกงเปรอะ ผัดหน่อไม้ ยำหน่อไม้ ผัดหน่อไม้ดอง ยำปลีกล้วย แกงปลีกล้วย แกงแค แกงขนุน แกงเห็ดสามอย่าง จอผักกาด น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม ผักลวก รวมทั้งข้าวเหนียว
ขวากลางล่าง – ป้ากำลังปรับไฟเพิ่มความกรุ่นของปอเปี๊ยะทอด เท่าที่เห็นมีไส้งาดำ ถั่วเหลือง เผือก และถั่วดำ
ซ้ายล่าง – ของกินบนใบตองนี้คือ ก๋วยเตี๋ยวหลอด ไส้สี่อย่างที่จัดไว้แล้วมีมันแกว เห็ดรวม ผักรวม และหน่อไม้
ขวาล่าง – พ่อค้าเต็นท์นี้เป็นชาวไต้หวันที่มาทำหมูทอดโดยเฉพาะ ทั้งทอดทั้งขาย ทำกันอุตลุต




ถนนปราบเซียนสายนี้ยั่วยวนจนทีมงานยั้งมือไม่ได้จริงๆ ขอต่ออีกหนึ่งชุดคอมโบเซ็ตแล้วกัน
ซ้ายบน – ของกินขึ้นชื่อของชาวภูเก็ตอีกอย่างก็คือ โอวต้าว ตอนนี้พ่อค้ารัวตะหลิวทีเดียว
ขวาบน – แม่ค้าร้านนี้ขายก๋วยจั๊บพร้อมที่นั่งหน้าร้าน
ซ้ายกลางบน – ขนมลูกเต๋าเจ้านี้ปั้นกันวันหนึ่งไม่รู้กี่ลูก ขายเทน้ำเทท่าจริงๆ
ขวากลางบน – เต็นท์นี้ทอดเนื้อกะลอจี๊ได้เนียนตาดี
ซ้ายกลางล่าง – มุมนี้มีโอเลี้ยง ชาเขียว ชาดำเย็น ชามะนาว กาแฟโบราณ ชาเย็น โอวัลติน โกโก้ น้ำผลไม้ติ่งฟง(รสต่างๆคือ บลูเลมอน สตรอว์เบอร์รี แคนตาลูป และมะนาว) เฮลซ์บลูบอยรสสละ และเป๊ปซี่มาเติมความสดชื่น
ขวากลางล่าง – โรตีแฟนซีแผงนี้ท็อปปิ้งหน้ากันตั้งแต่กล้วย ช็อกโกแลต ลูกชิด มะพร้าว ข้าวโพด เรนโบว์สปริงเคิล มาร์ชแมลโลว์ เชอร์รี่แดง และอัลมอนด์
ซ้ายล่าง – น้ากำลังทอดขนมสี่ขาอยู่ คนยืนต่อคิวซื้อเพียบ
ขวาล่าง – ขอทิ้งท้ายถนนระนองช่วงแรกกับลุงและป้าที่ช่วยกันทอดสิ่งเหล่านี้ เกี้ยน ปอเปี๊ยะ โลบะ(หรือไส้พะโล้) เต้ากั้ว และเต้ากั้วจี่


 

ทีนี้พอมาถึงสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อ บริเวณนี้มีจุดสังเกตหนึ่งอย่างคือ เป็นที่รวมพลของแผงลอยขาจรทั่วไป เดี๋ยวเราไปดูสินค้าบางเจ้ากัน
บน – บรรยากาศสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อ จำนวนผู้คนไม่มีทีท่าว่าจะล่าถอยแม้แต่น้อย (จากภาพ ถ้าเลี้ยวไปทางซ้ายคือไปศาลเจ้า แต่ถ้าตรงไป เต็นท์ซ้ายขวาเบื้องหน้าบนถนนระนองช่วงที่สองกำลังอ้าแขนรอเราอยู่)
ซ้ายบน – ป๋องแป๋งมังกรทองปักขายอยู่ที่ซุ้มนี้ งานนี้มีแต่เฮงเฮงเฮงและก็เฮง(ตามที่ป้ายคนขายบอกไว้)
ขวาบน – ใครอยู่เกาะภูเก็ตคงรู้ดีว่า พรุ่งนี้เช้ามีความสำคัญเช่นไร ทำไมถึงมีคนมาเดินขายที่อุดหูและผ้าปิดจมูกอย่างที่ผู้หญิงคนนี้มายืนถือป้าย เฉลยเลยแล้วกัน ก็เพราะว่า พรุ่งนี้จะมีการจุดประทัดนับหมื่นนับแสนขณะแห่ม้าทรงรอบเมืองนั่นเอง ทั้งกลิ่นฉุนคละคลุ้งทั้งเสียงสนั่นปฐพี จึงเป็นที่มาของสินค้าสองชนิดนี้
- ตอนนี้ยังไม่ขอเข้าช่วงที่สองของถนนระนอง แต่ขึ้นไปเดินบนฟุตบาทก่อน เนื่องจากของกินโซนนี้ไม่ออมมือเช่นกัน
ซ้ายล่าง – แม้ฟุตบาทจะแคบเพียงไร แต่คนก็แน่นตลอด (จากภาพ ทางซ้ายคือด้านหลังของเต็นท์พับริมถนนระนอง ซึ่งด้านหลังนี้มีบางเต็นท์เปิดหน้าร้านหันเข้าฟุตบาทด้วย ขณะที่ทางขวาคือหน้าร้านของบ้านเรือนต่างๆ)
- ต่อไปนี้ไปดูตัวอย่างบ้านที่เปิดหน้าร้านกัน
ขวาล่าง – หลังนี้ขายเครื่องสังฆภัณฑ์ไทยจีนมากมาย เช่น ดีวีดีบทสวด ธูปเทียน โคมไฟ กระดาษเงินกระดาษทอง ลูกประคำ ตี่จู่เอี๊ย เชิงเทียน พวงมาลัยดาวเรืองพลาสติกแบบยาว พระพุทธรูป ฯลฯ



ยังคงวนเวียนกับหน้าร้านตามบ้านเรือนก่อน
ซ้ายบน – พ่อค้าแม่ค้าคนไหนเกิดเสบียงหมดดื้อๆ สามารถไหว้วานร้านนี้ได้ เพราะของแห้งของชำครบครัน เริ่มตั้งแต่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ ลูกอม พริกไทยดำ พริกป่น อบเชย น้ำมันพืช ซีอิ๊วขาว น้ำจิ้มไก่ น้ำปลา ผงชูรส กะทิกล่อง เต้าเจี้ยว น้ำหวานเข้มข้น เหล้าขาว วุ้นเส้น เกลือ ทิชชู่ นมข้นจืด น้ำยาล้างจาน น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้าขาว นมข้นหวาน สเปรย์กำจัดแมลง ซอสมะเขือเทศ น้ำส้มสายชู ใยขัด รวมทั้งเสื้อกันฝน ส่วนในตู้เย็นมีน้ำมะเขือเทศดอยคำ แบรนด์ โค้ก อิชิตัน(รสต่างๆคือ องุ่นเคียวโฮผสมวุ้นมะพร้าว ต้นตำรับ และน้ำผึ้งมะนาว) โค้ก แฟนต้า(น้ำเขียว น้ำแดง และน้ำสม) มินิทเมดพัลพี สแปลชรสส้ม เพียวริคุรสเก๊กฮวยขาว เรดดี้บูตรสโกจิเบอร์รี น้ำผลไม้กาโตะ(รสต่างๆคือ ส้ม สตรอว์เบอร์รี และสับปะรด) เย็นเย็น(สูตรจับเลี้ยงและสูตรเก็กฮวยผสมน้ำผึ้ง) ไมโล หนองโพ โอวัลติน โคโคแมกซ์ ไวตามิลค์ ดีน่าสูตรงาดำสองเท่า เนสกาแฟ(เอ็กซ์ตราริชและดาร์กโรสต์) เบอร์ดี้(เอสเพรสโซและโรบัสตา) ลิโพ คาราบาว เอ็มร้อยห้าสิบ เบียร์ช้าง เบียรลีโอ เบียร์สิงห์ เบียร์ไฮนาเกน น้ำดื่มเนสเลย์ โซดาสิงห์ Spy(รส Red และรส Classic) เกเตอเรด และฮอลล์รสน้ำผึ้งมะนาว
- นอกจากนี้หลายหลังเปิดหน้าร้านขายแกงราดข้าวด้วย กับข้าวจะคล้ายๆกันทุกร้าน เช่น ปลาซาบะสามรส ไข่เจียว แกงส้ม(ภาคใต้) ไก่ผัดขิง ผัดถั่วงอก จับฉ่าย ผัดผัก ปลาสามเหลี่ยม คั่วกลิ้ง แกงเลียง ผัดผักบุ้ง แกงเทโพ คะน้าน้ำมันหอย ฟักทองผัดไข่ ผัดบวบ หมูกระเทียม ผัดเปรี้ยวหวาน แกงจืดเต้าหู้สาหร่าย ผัดวุ้นเส้น แกงหน่อไม้ ไก่ผัดเผ็ด ผัดหมี่ ต้มเกี่ยมฉ่าย แกงเขียวหวาน หมูแดงทรงเครื่อง ผัดมะระ ฯลฯ เราไปดูตัวอย่างสักสองร้าน
ขวาบน – ร้านนี้มีคนเดินเข้าออกเป็นว่าเล่น กับข้าวอยู่ทั้งซ้ายและขวามือ
ซ้ายกลาง – ร้านนี้ก็พลุกพล่านเช่นกัน ส่วนกับข้าวอยู่ทางขวาเป็นหลัก
- จากนั้นเป็นตัวอย่างหน้าร้านจากสามเต็นท์ที่หันเข้าฟุตบาทบ้าง
ขวากลาง – มาเทศกาลนี้ทีไร เราเจอลุงคนนี้ก้มหน้าก้มตาม้วนปอเปี๊ยะสดทุกครั้งไป
ซ้ายล่าง – ใครอยากกินอะไรเพื่อสุขภาพหรือระบายอะไร เต้าฮวยน้ำขิง บัวลอยน้ำขิง เต้าทึงร้อนเย็น เต้าหู้ทรงเครื่อง น้ำเต้าหู้ และน้ำขิง น่าจะเป็นแนวทางได้
ขวาล่าง – เดินมาเรื่อยๆ ก็เจอถาดของกินเจ้านี้ ขอร่ายให้ฟังเลย ทั้งหมดมีน้ำพริกตะไคร้ น้ำพริกมะขาม น้ำพริกเผา ไก่บ้านเจ ปลาหวาน เป็ดเจ หมูแดงเจ ปลาเค็ม หมูหวาน โปรตีนเจ และปลาผัดพริก
ล่าง – จากรายละเอียดเส้นทางที่เกริ่นไว้ บริเวณสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อด้านที่ติดกับฟุตบาทยังมีเพิงโครงเหล็กขนาดใหญ่ซึ่งมีร้านค้าอยู่รอบเพิงและด้านในมีที่นั่งมากมายคล้ายฟู้ดคอร์ต ยิ่งตอนนี้กลายเป็นทำเลทอง ใครมาใหม่คงต้องรอคิวนั่งสักพัก (จากภาพ แสงไฟและไออาหารจากร้านรอบข้างลอยไปทั่วท่ามกลางบรรยากาศคุยไปกินไป)




จากเพิงอาหารบริเวณสามแยกศาลเจ้าปุดจ้อ เราไปดูข้าวของรอบเพิงติดกับฟุตบาทสักสองร้านกัน
ซ้ายบน – แม่ค้าร้านนี้ทำราดหน้าและผัดเส้นต่างๆ
ขวาบน – น้าคนนี้กำลังยกแก้วน้ำไปเสริฟลูกค้าที่โต๊ะ เครื่องดื่มก็มีลำไย มะพร้าว สับปะรด ชาดำเย็น และน้ำแดงเม็ดแมงลัก ส่วนเก๊กฮวยหมดเสียก่อน
- จากหน้าร้านและแผงขายของบนฟุตบาท คราวนี้ไปต่อช่วงที่สองของถนนระนองจนสุดถนนที่สี่แยกจุ๊ยตุ่ยกัน แผงลอยซ้ายขวามีมากมายเหมือนเดิม
กลาง – ภาพนี้เป็นบรรยากาศผู้คนบริเวณถนนระนองช่วงที่สองเมื่อมองจากสี่แยกจุ๊ยตุ่ยเข้าไป ไม่ว่าแห่งหนตำบลไหนก็คลาคล่ำไปด้วยคน ร้านค้าเลยพลอยได้อานิสงค์
ซ้ายล่าง – แม่ค้าขนมบ้าบิ่นคนเดียวเอาไม่อยู่ ต้องสามคนมะรุมมะตุ้มถึงจะทันออเดอร์
ขวากลาง – แผงนี้ก็เป็นโดนัทสูตรเจ ภรรยาเป็นคนขาย สามีทอดอยู่ข้างๆ
ขวาล่าง – เครื่องดื่มแช่เย็นมีมาให้ดับกระหายต่อเนื่อง ทั้งแฟนต้า(น้ำแดง น้ำเขียว และน้ำส้ม) สไปรท์ และโค้ก (หรือจะใส่แก้วพร้อมน้ำแข็งก็ได้) นอกจากนีัยังมี
เรดดี้บูตรสโกจิเบอร์รีและน้ำดื่มเนสเลย์



 

ถนนเทศกาลนี้น่าเพลิดเพลินอีกหนึ่งถนนจนไม่อยากให้จบ ถ้าเดินครบเก้าวัน น้ำหนักจะขึ้นไปถึงไหน
ซ้ายบน – แม่ค้าส้มตำโต๊ะนี้มีเมนูแนะนำคือ ตำไทย ตำปลาร้า ตำแตง ตำข้าวโพด ตำมะม่วง ตำผลไม้ รวมทั้งลาบหมูเจและลาบเห็ด
ขวาบน – ผลไม้ปั่นสำหรับคนรักสุขภาพ เริ่มตั้งแต่แอปเปิลเขียว แตงโม กล้วยหอม แก้วมังกร ส้ม ไปจนถึงสับปะรด ทั้งยังมีน้ำทับทิมสดด้วย
ซ้ายกลาง – ใครนึกอยากกินข้าวมันไก่ตอนและไก่ทอด แม่ค้าหั่นรอแล้ว
ขวากลางบน – ตัวแทนสมุนไพรจีนมาแล้วกับน้ำหล่อฮั้งก้วย ขณะที่ชาวสงขลาน่าจะรู้จักเมนูข้างๆเป็นอย่างดี นั่นคือ มันเดือย
ขวากลางล่าง – มุมนี้มีขนมจีโจ้ไส้ถั่วเหลืองกับถั่วแดง ตามด้วยขนมไข่นกกระทา และขนมด้วง
- ส่งท้ายของใช้อีกสองแผงเป็นอันจบบริบูรณ์
ซ้ายล่าง – น้าแผงนี้นำของเล่นมาตั้งขายบริเวณสี่แยกจุ๊ยตุ่ยทางเข้าถนนเทศกาลพอดี ตัวอย่างล่อใจเด็กก็เช่น รถแข่ง ชุดแพทย์ ตุ๊กตา หุ่นยนต์ ปืน ฯลฯ ส่วนที่ลอยอยู่เป็นลูกโป่งฟอยล์
ขวาล่าง – เครื่องประดับเหลืองทองอร่ามไปทั้งร้าน เริ่มตั้งแต่กำไล สร้อย แหวน ปิ่นปักผม กิ๊บ และต่างหู แถมแต่ละอย่างก็มีหลายแบบด้วย ยกเว้นสิ่งที่แตกต่าง นั่นคือพวงกุญแจ

TODAY THIS MONTH TOTAL
90 3906 253124
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top