ขั้นตอนปอกมะพร้าวห้าว

คำอธิบาย


ผลมะพร้าวห้าว(ทำน้ำกะทิ)ที่เก็บจากสวนมะพร้าวจะมีวิธีการปอกอยู่สองแบบคือ

1. ฉีกกาบมะพร้าวออกเพื่อนำลูกมะพร้าวไร้กาบส่งขาย
2. จากขั้นตอนที่หนึ่ง นำกะลามะพร้าวที่เสร็จจากข้อหนึ่งไปแกะเนื้อมะพร้าวที่อยู่ด้านในเพื่อจำหน่ายต่อ

ทั้งสองขั้นตอนเริ่มต้นด้วยแผนกฉีกกาบมะพร้าวเหมือนกัน ซึ่งผู้ที่ฉีกกาบมะพร้าวจะนำผลมะพร้าวมาเจาะลงฐานใบมีดที่ตั้งฉากอยู่ เพื่อฉีกกาบมะพร้าวออก (ในส่วนนี้ ถ้าใครมีความคล่องตัว ก็สามารถฉีกกาบมะพร้าวได้หลายผลต่อวัน) เมื่อฉีกกาบมะพร้าวออกแล้ว ก็นำส่งขายร้านค้าได้ โดยกะลามะพร้าวต้องห้ามแตกจนน้ำมะพร้าวไหลออกมาเด็ดขาด เพราะเนื้อมะพร้าวด้านในจะเสียเร็วและออกรสเปรี้ยว

แต่ยังมีอีกขั้นตอนหนึ่งก็คือ ไม่ได้นำลูกมะพร้าวห้าวไร้กาบส่งร้านค้าเพื่อทำน้ำกะทิทันที แต่จะแยกเฉพาะเนื้อมะพร้าวส่งโรงงานเพื่อทำน้ำกะทิบรรจุกล่องแทน ซึ่งแผนกต่อไปหลังจากฉีกกาบมะพร้าวแล้ว จะทำหน้าที่แยกเนื้อมะพร้าวต่อ โดยเริ่มจากกะเทาะกะลามะพร้าว(ที่ติดเยื่อกาบมะพร้าวอยู่)ออกจากเนื้อมะพร้าวก่อน โดยพยายามไม่ให้เนื้อมะพร้าวด้านในแตกระหว่างกะเทาะกะลา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้น้ำมะพร้าวด้านในไหลออกมา จากนั้นนำเนื้อมะพร้าวทรงกลม(ที่กะเทาะกะลาออกแล้ว)มาเหลาเยื่อกะลามะพร้าว(ที่ยังติดกับเนื้อมะพร้าว)ออกเพื่อให้เนื้อมะพร้าวเป็นสีขาวล้วน (ส่วนน้ำมะพร้าวที่ยังอยู่ในเนื้อมะพร้าว ก็เฉาะทะลุเนื้อมะพร้าวให้น้ำมะพร้าวไหลออกมาในขั้นตอนนี้) จากนั้นทำการปาดเนื้อมะพร้าวที่เหลาสะอาดออกเป็นชิ้น แล้วแช่น้ำไว้ไม่ให้เนื้อมะพร้าวเปลี่ยนสี เพื่อรอส่งโรงงานต่อไป

อนึ่ง สิ่งที่หลงเหลือจากมะพร้าวหนึ่งลูกในทุกขั้นตอนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้หมด ไม่ว่าจะเป็นกาบมะพร้าว กะลามะพร้าว หรือน้ำมะพร้าวก็ตาม



อำเภอทับสะแกขึ้นชื่อเรื่องมะพร้าวจริงๆ ดินทรายที่นี่ก็มีส่วนสำคัญด้วย แต่ไม่ใช่กับมะพร้าวน้ำหอมหรือมะพร้าวเผาที่เรากินกันอย่างเอร็ดอร่อย แต่สำคัญกับมะพร้าวห้าวที่เอาไปคั้นน้ำกะทิ(เพื่อทำอาหารหรือขนม)ต่างหาก ตอนนี้ขอเข้าสวนมะพร้าวไปพิสูจน์ความจริงประกอบฉากก่อน
ซ้ายบน – ต้นมะพร้าวขึ้นสูงระหงไปทั่ว มองไปทางไหนก็มีแต่มะพร้าว
ขวาบน – ภาพนี้เป็นกองมะพร้าวห้าวที่เพิ่งสอยมาจากสวน เดี๋ยวเราไปดูขั้นตอนการปอกมะพร้าวดีกว่า
ขวากลางบน – ใบมีดคมตั้งฉากเป็นฐานเพื่อใช้ฉีกกาบมะพร้าว (จากภาพ ใบมีดเหล่านี้ เมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องคอยลับคม ไม่ให้ทื่อ)
ซ้ายกลาง - เริ่มต้นจากการนำผลมะพร้าวมาเจาะลงใบมีดเพื่อทำให้เกิดร่องในผลก่อน (การโน้มตัวกดช่วย จะทำให้การเจาะร่องง่ายขึ้น)
ขวากลางล่าง - เมื่อเกิดร่องแล้ว ก็ออกแรงฉีกแยกกาบมะพร้าว จากนั้นก็ทำการเจาะร่องและฉีกแยกกาบในมุมอื่นของผลมะพร้าวต่อ
ขวาล่าง - เราเจาะไม่กี่มุมและฉีกแยกกาบไม่กี่ครั้ง ก็ได้ลูกกะลามะพร้าว (จากภาพ ลูกกะลามะพร้าวโผล่มาให้เห็นครึ่งค่อนใบแล้ว)




เห็นแต่ลูกกะลามะพร้าว แล้วจะคั้นน้ำกะทิได้อย่างไร เราไปค้นความจริงกันต่อ
ซ้ายบน – กองกาบมะพร้าวที่ฉีกแยกออกมาเรียบร้อย
ขวาบน – ลูกกะลามะพร้าวที่ยังมีเนื้อมะพร้าวกับน้ำมะพร้าวอยู่ข้างใน
ซ้ายกลาง – ลูกกะลามะพร้าวส่วนหนึ่งจะเข็นมาที่แผนกคัดแยกเนื้อมะพร้าว ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไปไหนนั้น เดี๋ยวมาเฉลยในตอนท้าย
ขวากลางบน – ขั้นตอนนี้เป็นการกะเทาะกะลาออกมาให้เหลือแต่เนื้อมะพร้าว แต่พยายามไม่ให้เนื้อมะพร้าวปริแตกเนื่องจากน้ำมะพร้าวจะไหลทิ้ง (จากภาพ หน้าที่กะเทาะนี้ มีหลายคนช่วยกันทำ)
ขวากลางล่าง – ภาพของเนื้อมะพร้าวเป็นลูกๆหลังจากกะเทาะกะลาออกมา โดยเนื้อมะพร้าวส่วนใหญ่ยังติดเยื่อกะลามะพร้าวอยู่ และน้ำมะพร้าวยังอยู่ครบ
ซ้ายล่าง – จากนั้นก็นำลูกมะพร้าวเหล่านี้มาเหลาด้วยมีด(เหมือนปอกเปลือกมะม่วง)เพื่อให้เยื่อกะลามะพร้าวหมดไป จนเนื้อมะพร้าวมีสีขาวล้วน
ขวาล่าง – คนเหลามะพร้าวก็มีหลายคนเช่นกัน ซึ่งน้องเสื้อแดงก็ทำหน้าที่นี้ด้วย แต่จะสังเกตว่า น้ำมะพร้าวยังคงอยู่ในลูกมะพร้าวเนื้อขาว ฉะนั้น หลังจากเหลาเสร็จ ก็ต้องเฉาะเนื้อเพื่อให้น้ำมะพร้าวไหลออกมาใส่ถังตามภาพ (จากภาพ น้ำเหล่านี้สามารถทำเป็นวุ้นมะพร้าวต่อได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตอนกะเทาะกะลามะพร้าว จึงไม่ควรทำให้เนื้อมะพร้าวแตก) จากนั้น ก็ทำการปาดเนื้อมะพร้าว(ที่เหลาและเฉาะน้ำแล้ว)ออกเป็นชิ้นๆ แล้วก็วนกลับไปเหลาลูกต่อไป




ขบวนการคั้นน้ำกะทิใกล้จะสัมฤทธิ์ผล สืบสวนให้จบ
ซ้ายบน – หลังจากปาดเนื้อมะพร้าวเป็นชิ้นๆ ก็จะได้เนื้อมะพร้าวขาวสะอาดอย่างที่เห็น
ขวาบน – อ่างน้ำนี้ไว้สำหรับแช่เนื้อมะพร้าวที่ปาดเป็นชิ้นเรียบร้อย ในกรณีที่ต้องรอ(โรงงานหรือพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อ)นานนับชั่วโมง อาจต้องแช่เนื้อมะพร้าวไว้ก่อนเพราะถ้าปล่อยให้เนื้อมะพร้าวโดนอากาศนานไป ผิวจะไม่สวยและอาจเสียเร็ว
ซ้ายกลาง – กองกะลามะพร้าวที่กะเทาะออกมาในตอนแรก
ขวากลาง – กองเนื้อมะพร้าวพร้อมเยื่อกะลามะพร้าวที่เหลาออกมาในตอนหลัง
ซ้ายล่าง – ลองกลับไปสังเกตฐานที่คนกะเทาะกะลามะพร้าวกำลังกะเทาะเมื่อสักครู่ เราจะเห็นว่าเขานำต้นมะพร้าวมาทำเป็นฐาน ทุกอย่างของมะพร้าวล้วนมีคุณอนันต์จริงๆ นอกจากน้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าว(ที่ปาดออกมา) กองกะลามะพร้าว กองเนื้อมะพร้าว(ที่เหลาออกมา) และกองกาบมะพร้าวก็มีคนมารับซื้อไปทำประโยชน์ในแต่ละด้านต่อทั้งหมด
ขวาล่าง – แล้วก็มาถึงคำเฉลยว่า ลูกกะลามะพร้าวอีกส่วนหนึ่ง(ที่ไม่ผ่านขั้นตอนการกะเทาะและเหลาเพื่อปาดเนื้อมะพร้าวเป็นชิ้น)ไปอยู่ที่ไหน ที่แท้ก็ขนมาที่รถบรรทุกเลย เพราะมีหลายที่มาซื้อลูกกะลามะพร้าว(แยกเฉพาะกาบ)ไปจัดการแปรรูปเอง ทั้งนี้จะมีแผนกบรรจุขึ้นรถบรรทุกโดยเฉพาะ ที่สำคัญ ระหว่างที่โยนขึ้นทีละลูก ก็มีการขานนับจำนวนลูกไปด้วย

TODAY THIS MONTH TOTAL
94 3910 253128
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top