ภูสิงห์

คำอธิบาย


ภูสิงห์อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ปัจจุบันมีพื้นที่ราว 12,000 ไร่ ซึ่งป่าผืนเดียวกันนี้แต่มีชื่อเรียกหลากหลาย ตั้งแต่ป่าดงดิบกะลา ป่าภูสิงห์ ป่าดงสีชมพู ด้วยเหตุผลต่างกันไป เช่น สมัยก่อนเป็นป่าไม้ที่ครอบคลุมพื้นที่นับแสนไร่ จึงเรียกว่า"ป่าดงดิบกะลา" หรือช่วงที่ใบไม้เปลี่ยนสีสมัยก่อน เราจะเห็นใบไม้เป็นสีส้มทั่วบริเวณป่า จึงเป็นที่มาของ"ป่าดงสีชมพู" เป็นต้น

สำหรับเส้นทางจากศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวจนขึ้นภูเขาในช่วงแรกเป็นทางคอนกรีต โดยสถานที่ต่างๆบนภูสิงห์เน้นจุดชมวิวเป็นหลัก ซึ่งเราสามารถเห็นทัศนียภาพของผืนป่าเบื้องล่างได้ไกลสุดตา สำหรับจุดแรกก็คือ จุดชมวิวลานธรรมของวัดจิตตภาวดีคีรีบรรพต จากนั้นเมื่อพ้นเขตวัดไป ถนนคอนกรีตจะกลายเป็นทางลูกรังแทน หลายช่วงของถนนเป็นหลุมเป็นบ่อด้วย แต่ระหว่างนี้ นอกจากเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปในตัว เรายังเห็นเสาและกำแพงหินรูปทรงต่างๆเป็นระยะท่ามกลางต้นไม้นานาชนิด เช่น ประดู่ป่า พะยูง มะค่าแต้ โมกมัน ตูมกา ไผ่ พลวง รวมทั้งดอกไม้ต่างๆ เมื่อถึงสามแยกแรกที่มีป้ายบอกทาง ถ้าเลี้ยวซ้าย จะเป็นทางไปสู่จุดชมวิวอีกหลายสถานที่จนถึงจุดหมายปลายทาง

แต่เรามาเริ่มเลี้ยวขวาเข้าจุดชมวิวส้างร้อยบ่อก่อน และก่อนถึงจุดชมวิวดังกล่าว บริเวณข้างเสาหินริมหน้าผาช่วงหนึ่ง ถ้ายืนจากจุดนี้ หันหน้าไปทางหน้าผา แล้วมองไปทางซ้าย เราจะเห็นสิงห์ตัวหนึ่งยืนตระหง่านมองผ่านหน้าผาออกไปราวกับรูปปั้นไม่มีผิด จุดต่อไปเป็นซอกระหว่างเสาหินสองลูก ซึ่งซอกนี้มีหินคล้ายรูปหัวใจ(หรือหัวใจภูสิงห์)ก้อนหนึ่งวางขัดอยู่ตรงกลาง แล้วถึงเป็นจุดชมวิวส้างร้อยบ่อ (คำว่า“ส้าง”แปลว่า“บ่อน้ำ”ในภาษาอีสาน หรือที่เราคุ้นหูอีกคำก็คือ“โบก”นั่นเอง) ส่วนสาเหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะลานชมวิวดังกล่าวมีหลุมหิน(ที่มีน้ำฝนขัง)อยู่หลายบ่อด้วยกัน โดยมีเสาเหล็กกั้นอยู่รอบจุดชมวิวเพื่อความปลอดภัย

ถ้ามุ่งไปตามทางต่อ เส้นทางนี้จะผ่านดงเสาหินจนเหมือนว่าตัวเราถูกโอบล้อมด้วยช่องเขาอยู่ ส่วนปลายทางก็คือทางกลับสู่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว(ซึ่งเส้นทางนี้เดินเป็นวงกลมกลับไปทางเข้านั่นเอง) แต่ขอเล่าเส้นทางนี้ก่อนเพื่อที่ว่าเส้นทางเลี้ยวซ้ายตรงสามแยกเมื่อสักครู่จะเป็นทางลูกรังสายยาวที่เราจะไปแบบม้วนเดียวจบ (จริงๆแล้ว เราสามารถเที่ยวเส้นทางสายยาวนี้ก่อนก็ได้ แล้วขากลับ ค่อยมาแวะจุดชมวิวส้างร้อยบ่อ)

ทีนี้ถ้าเลี้ยวซ้ายตรงสามแยกที่กล่าวมา สถานที่แรกที่ต้องผ่านคือ หินช้าง บริเวณนี้เป็นหน้าผาโล่งไว้ชมวิว แต่ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปทางขวา เราจะเห็นหินขนาดใหญ่เหมือนศีรษะช้างโผล่ขึ้นมาตามชื่อที่ตั้งไว้เลย สถานที่ต่อไปเป็นจุดชมวิวดานยาว ซึ่งเป็นหน้าผาระยะสั้นที่มีต้นไม้ให้ร่มเงาและมีศาลาอยู่ใกล้ๆ เมื่อไปตามทางลูกรังต่อ เส้นทางจะเริ่มแคบลง จนถึงหัวโค้งช่วงหนึ่งที่มีกำแพงหินขนาดยาวและใหญ่อยู่เบื้องหน้า ซึ่งก็คือ“กำแพงสิงห์”ที่หลายคนมักมายืนถ่ายรูปคู่กัน และทางหลังจากนี้จะเริ่มเห็นป่าไผ่สองข้างทางมากขึ้นด้วย ตรงต่อไป ทางซ้ายมีช่องทางเข้าจุดชมวิวผาน้ำทิพย์ บริเวณหน้าผานี้เป็นจุดชมวิวที่มีเงาร่มของต้นไม้เป็นทางยาวและมีศาลาอยู่ไม่ไกล จากนั้นเดินทางกันต่อ ช่องทางซ้ายต่อมามีทางให้เดินเข้าไปสู่สมรภูมิภูสิงห์(ซึ่งในอดีต บริเวณนี้เคยมีการสู้รบกันของกลุ่มคอมมิวนิสต์) ปัจจุบันสมรภูมิดังกล่าวเป็นป่าเต็งรังที่มีแต่ต้นไม้และหญ้าขึ้นรกทั่วบริเวณ

เมื่อไปตามทางต่อ ทางซ้ายยังมีช่องทางให้เดินเข้าถ้ำใหญ่อีก โดยมีบันไดเดินลงเข้าถ้ำด้วย ภายในเป็นเหมือนช่องว่างที่เว้าเข้ามาแต่ไม่ลึกมาก ส่วนพื้นทางเดินมีก้อนหินน้อยใหญ่ทั่วบริเวณและมีแคร่ไม้ของพระที่เคยมาปักกลดอยู่ จุดเด่นที่น่าสนใจในถ้ำนี้ก็คือเสียงน้ำที่ไหลอยู่ตลอด ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดเล็กที่ไหลมาจากพื้นหินด้านล่าง หลังออกจากถ้ำมา ก็ไปกันต่อ ทางขวายังมีช่องทางให้เดินเข้าสู่จุดชมพระอาทิตย์ตกบริเวณหินหัวช้าง ซึ่งเมื่อมองตรงไป เราจะเห็นลักษณะหินคล้ายศีรษะช้างจากด้านหลัง

จากนั้นก็มุ่งตามทางต่อจนถึงสามแยกบอกทาง ซึ่งเป็นไฮไลต์ของภูสิงห์ที่นี่ นั่นก็คือ หินสามวาฬ บริเวณทางเข้ามีลานดินเป็นจุดจอดรถได้ หินสามวาฬจะอยู่ทางขวามือ แต่ถ้าเดินตรงไปก่อน ก็เป็นจุดชมวิวถ้ำฤาษี(ที่มีศาลาให้นั่งพัก) จุดชมวิวนี้เป็นลานผาหินขนาดใหญ่ที่มองเห็นผืนป่าไกลจนถึงแม่น้ำโขง แต่เราไม่สามารถเห็นถ้ำฤาษี นอกจากต้องเข้าทางหมู่บ้านโนนสว่าง ทีนี้ถ้าเลี้ยวขวาที่ลานจอดรถหรือเดินไปด้านหลังของอาคารแทน จุดนี้คือทางเข้า“หินสามวาฬ”ซึ่งมีแท่งหินขนาดใหญ่สามลูกเรียงขนานกันอยู่ ลักษณะคล้ายวาฬพ่อแม่ลูกว่ายอยู่ใกล้กัน แต่เราไม่สามารถข้ามไปมาได้เนื่องจากร่องเหวระหว่างแท่งหินทั้งสาม จึงต้องเดินย้อนกลับไปเพื่อเข้าทางดินเล็กๆตรงซอกพุ่มไม้แทน แล้วเดินไปแต่ละแท่งหิน สำหรับแท่งหินที่หนึ่งนั้น ลูกนี้มีขนาดใหญ่และอยู่ด้านนอกสุด เปรียบได้กับวาฬพ่อ พื้นทางเดินมีลักษณะออกแนวโค้งมนเล็กน้อย บริเวณปลายแท่งหิน(วาฬพ่อ)เป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ต้องอาศัยความระมัดระวังเพราะด้านข้างและปลายหินของจุดชมวิวจะโค้งลาดลงเหวไปเลย แท่งหินต่อมาเป็นวาฬแม่ ซึ่งอยู่ทางขวาของวาฬพ่อและพื้นทางเดินจะเรียบมากกว่า สำหรับแท่งหินสุดท้าย(ที่อยู่ด้านใน)มีขนาดสั้นและแคบสุด ซึ่งก็คือวาฬลูก

ในการเดินทางขึ้นบนภูสิงห์ เราสามารถนำรถเที่ยวชมเองได้ แต่ต้องเป็นรถที่สมบุกสมบันหน่อยเพราะถนนหนทางบางช่วงก็ไม่เป็นใจสำหรับรถทั่วไปนัก แต่ที่ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวจะมีรถนำเที่ยวพร้อมไกด์เป็นตัวเลือกอยู่ในราคา 500 บาทต่อคัน หรือถ้าใครแข็งแรงพอและอยากเดินขึ้นเขาเพื่อชมวิวไปเรื่อยๆ การศึกษาธรรมชาติสองข้างทางก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งเช่นกัน และจากศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวไปจนถึงหินสามวาฬมีระยะทางทั้งหมด 3.5 กิโลเมตร



ก้อนหินรูปร่างแปลกตาตลอดทางของภูสิงห์เป็นจุดเด่นอย่างแรกที่หลายคนกล่าวถึง อย่างที่สองก็คือ จุดชมวิวมากมายที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสผืนป่าสีเขียวกว้างไกลสุดสายตา แต่ไฮไลต์ที่สำคัญก็คือ หินสามลูกขนาดใหญ่ที่ยื่นเป็นชะง่อนผาออกไปที่เรียกกันว่า”หินสามวาฬ”
ซ้ายบน – หลังจากผ่านจุดลงทะเบียนมาแล้ว ถนนคอนกรีตจะเริ่มเป็นทางขึ้นเนินเขาไปเรื่อยๆ โดยเส้นทางช่วงแรกจะเป็นพื้นคอนกรีตเรียบก่อน (จากภาพ ก่อนจะถึงถนนคอนกรีตนี้ ตรงจุดลงทะเบียนมีบริการรถกระบะขับขึ้นภู รวมทั้งมีคนขับเป็นไกด์พาเดินเที่ยวแต่ละจุดไปในตัวด้วย สนนราคาคันละ 500 บาท นักท่องเที่ยวสามารถจอดรถทิ้งไว้ด้านล่าง แล้วจ้างรถเที่ยว หรือจะขับรถส่วนตัวขึ้นภูเองก็ได้ แต่รถต้องสมบุกสมบัน เนื่องจากเส้นทางบนภูเป็นทางลูกรัง หลายช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือถ้าใครแข้งขาดี อยากเดินขึ้นเองก็ได้อีก แต่คุณต้องเดินในระยะทาง 3 กิโลเมตรกว่าๆกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางและต้องเดินกลับลงมาอีกในระยะทางเท่าเดิม)
ขวาบน – เมื่อถึงเส้นทางบนเขาแล้ว จากถนนผิวเรียบจะเปลี่ยนเป็นทางลูกรังสีแดงอย่างที่เห็น เส้นทางเป็นหลุมบ้าง มีก้อนหินโผล่ขึ้นมาบ้าง
ขวาล่าง – จากเส้นทางเมื่อสักครู่ ทีมงานขอเลี้ยวไป"จุดชมวิวบ่อสร้างร้อยบ่อ"ก่อน และนี่ก็คือเส้นทางที่จะพาทุกคนไปจุดชมวิวดังกล่าว
ซ้ายล่าง – ระหว่างทาง เราจะพบก้อนหินสองลูกตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมหน้าผาตามภาพ
ล่าง – จากหินสองลูกเมื่อสักครู่ ถ้าเราขยับไปอีกฟากของหินก้อนซ้าย แล้วมองเลยหน้าผาออกไป ทุกคนจะพบหินที่ตั้งสูงอยู่ริมหน้าผาที่อยู่ห่างออกไปอีกลูกหนึ่ง ซึ่งลูกนี้มีลักษณะเด่นคือ เหมือนตัวสิงห์กำลังนั่งหมอบอย่างองอาจ แล้วทอดสายตาผ่านหน้าผาออกไป



เดินทางกันต่อ
ซ้ายบน – ไปตามทางดินเพื่อสู่จุดชมวิวแรกดีกว่า
ขวาบน – ก่อนจะถึงจุดชมวิว เราจะพบก้อนหินที่ขวางขัดอยู่ระหว่างซอกก้อนหินใหญ่ ซึ่งก้อนหินตรงกลางนี้ได้รับสมญานามว่า“หัวใจสิงห์”
ซ้ายกลาง – แล้วเราก็มาถึงจุดชมวิวบ่อสร้างร้อยบ่อ บนนี้เป็นพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวยืนชมวิว ซึ่งมีลักษณะเป็นบ่อ(เหมือนสามพันโบกที่อุบลราชธานี)
ซ้ายล่าง – ด้านซ้ายของจุดชมวิวมีก้อนหินริมผารูปทรงแปลกตาอย่างที่เห็น
ขวาล่าง – และจากตำแหน่งยืนชมวิว ถ้านักท่องเที่ยวมองไปเบื้องหน้า เราจะเห็นผืนป่าตามนี้ (จากภาพ จุดชมวิวบ่อสร้างร้อยบ่อจะมีรั้วเหล็กกั้นรอบขอบหน้าผาไว้เพื่อความปลอดภัย)




ชมบรรยากาศไปเรื่อยๆ
ซ้ายบน – จากจุดชมวิวเมื่อสักครู่ ถ้าเราไปตามเส้นทางต่อ แถบนี้จะมีผาหินสูงขนาบข้างทั้งสองฟากราวกับตัวเราอยู่ในซอกของแกรนแคนยอนอย่างนั้นเลย
ขวาบน – หันกลับไปมองเส้นทางที่เราเพิ่งผ่านมาอีกสักครั้ง
ซ้ายกลาง – จากนั้นทุกคนจะผ่านเส้นทางหลักอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ต้องเข้าเส้นทางไปจุดชมวิวบ่อสร้างร้อยบ่อแล้ว ให้เลาะไปอีกทางที่จะไปหินสามวาฬแทน ซึ่งก็คือเส้นทางนี้
ขวากลาง – จุดต่อมาก็คือ"หินช้าง" เมื่อเราเดินผ่านหญ้าเข้ามา ก็จะเจอหินที่โผล่ขึ้นมาบริเวณริมหน้าผาเหมือนหัวช้างตามภาพนี้
ซ้ายล่าง – จุดต่อมาที่อยู่ไม่ห่างกันก็คือ"จุดชมวิวดานยาว" ซึ่งเป็นหน้าผาระยะสั้น เราสามารถเห็นทัศนียภาพได้สุดสายตา
ขวาล่าง – เมื่อชมวิวเสร็จ ให้ไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ต่อ




ยังมีอีกหลายสถานที่ให้เราไปเยือน
ซ้ายบน – ระหว่างทางเราจะพบกำแพงสิงห์ซึ่งเป็นกำแพงหินขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวหลายคนต่างมาเก็บภาพคู่กับกำแพงยักษ์ลูกนี้กัน
ขวาบน – จากเส้นทางหลัก คราวนี้จะมีเส้นทางย่อยให้เราเดินเลี้ยวซ้ายเข้าไปตามภาพ
ซ้ายกลางบน – และสถานที่ต่อมาก็คือ"จุดชมวิวผาน้ำทิพย์" บริเวณหน้าผานี้มีระยะทางยาว โดยมีต้นไม้ปกคลุมตลอดแนวหน้าผา
ขวากลางบน – ส่วนวิวที่เห็นเป็นผืนป่าเขียวขจีอีกครั้ง
ซ้ายกลางล่าง – กลับออกมาเพื่อเข้าสู่เส้นทางใหญ่ ทางดินหลายช่วงเป็นแอ่งและมีน้ำท่วมขัง
ขวากลางล่าง – แล้วเราก็เข้าสู่ทางย่อยเพื่อไป"สมรภูมิรบภูสิงห์" ซึ่งแถบนี้เคยเป็นสนามรบกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ในอดีต แต่ปัจจุบันมีต้นไม้ขึ้นรกทึบไปทั่วบริเวณ
ซ้ายล่าง – กลับเส้นทางหลักต่อ คราวนี้จะมีทางสายเล็กอยู่ทางซ้ายมือให้นักท่องเที่ยวเดินผ่านป่า โดยจะมีบันไดให้เดินลงตามภาพนี้ ซึ่งเส้นทางค่อนข้างรก จุดต่อมานี้ก็คือ"ถ้ำใหญ่"
ขวาล่าง – ภายในถ้ำใหญ่เหมือนเป็นช่องว่างใต้หินที่เว้าเข้าไป แต่ไม่ลึกมากนัก

 



ทุกคนยังอยู่ในถ้ำใหญ่
ซ้ายบน – บรรยากาศอีกมุมของถ้ำใหญ่
ขวาบน – มองออกไปนอกถ้ำก็เห็นแต่ป่า
ขวากลาง - ระหว่างอยู่ในถ้ำใหญ่ เนื่องจากความเงียบ ทำให้ทีมงานได้ยินเสียงน้ำดังอยู่ไม่ไกล ซึ่งก็คือน้ำตกที่ไหลผ่านใต้พื้นหินของถ้ำใหญ่ออกมาเป็นสายน้ำเล็กๆ แม้มีขนาดไม่ใหญ่ แต่กลับมีเสน่ห์ในตัวเองดี
ซ้ายล่าง – กลับสู่ทางสายหลัก จากนั้นทางขวาจะมีช่องให้เดินผ่านป่าไผ่เข้าไปตามภาพนี้
ขวาล่าง – เรากำลังยืนอยู่บน"จุดชมวิวหินหัวช้าง" เมื่อเรามองไปแนวหินที่อยู่เบื้องหน้า รูปทรงจะคล้ายกับเรากำลังอยู่บนหลังช้าง แล้วมองไปที่ท้ายทอยของช้างนั่นเอง
ล่าง – ให้เราเดินไปบริเวณท้ายทอยหรือหัวของช้างได้เลย จุดนั้นก็คือหน้าผาที่ทุกคนจะได้เห็นความงดงามของผืนป่าเขียวชอุ่มไปทั่วอาณาจักรไทย (จากภาพ เราสามารถชมพระอาทิตย์ตกดินจากบริเวณนี้ได้ด้วย)



ออกจากจุดชมวิวหินหัวช้าง แล้วเดินตามเส้นทางหลักต่อ
บน – ขอเปิดภาพด้วยทัศนียภาพของป่าที่ขึ้นเนืองแน่นอยู่เบื้องล่างจาก"จุดชมวิวถ้ำฤาษี" ซึ่งเป็นจุดชมวิวถัดไป ตอนนี้แสงเงาไล่เฉดสีจากก้อนเมฆได้สวยงามจริงๆ
ซ้ายบน – แต่ก่อนจะถึงจุดชมวิวถ้ำฤาษี เมื่อออกจากจุดชมวิวหินหัวช้างมา ภาพนี้ก็คือเส้นทางหลักช่วงท้ายก่อนจะถึงจุดชมวิวถ้ำฤาษีและหินสามวาฬ(ซึ่งก็คือไฮไลต์ของภูสิงห์) ป่ารอบข้างตอนนี้โปร่งและสบายตาขึ้นมาก
ขวาบน – จากเส้นทางหลักเมื่อสักครู่ เราจะเดินผ่านลานกว้างก่อน ถึงจะเป็นลานหินของจุดชมวิวถ้ำฤาษี (จากภาพ จุดชมวิวนี้มีชื่อถ้ำฤาษีอยู่ก็จริง แต่เราไม่สามารถเห็นได้จากลานหินนี้ ต้องเดินทางจากหมู่บ้านโนนสง่าไป จึงจะเห็นถ้ำดังกล่าว)
- จากจุดชมวิวถ้ำฤาษี นักท่องเที่ยวสามารถเดินไป"หินสามวาฬ"ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันได้เลย
ขวากลาง – เดินตามทางหินไปเรื่อยๆ ในที่สุดเบื้องหน้าเราก็คือหินสามวาฬแล้ว โดยวาฬแรกที่เห็นไกลๆก็คือ“วาฬพ่อ”นั่นเอง
ซ้ายล่าง – ตำแหน่งนี้คือตอนที่ทีมงานเดินเข้ามาช่วงปลายของวาฬพ่อ (จากภาพ ยิ่งเดินเข้ามาปลายทางเท่าไหร่ ก็ต้องใช้ความระมัดระวังมากเท่านั้น เพราะรอบข้างเป็นทางโค้งมนลงเหว)
ขวาล่าง – จากตำแหน่งของวาฬพ่อ ถ้ามองไปทางขวามือ เราจะเห็น"วาฬแม่"อยู่ข้างๆ

 



ตอนนี้ทุกคนกำลังอยู่ในไฮไลต์ของหินสามวาฬแล้ว
ซ้ายบน – เราข้ามมาที่วาฬแม่บ้าง จุดนี้เป็นตอนปลายของหินวาฬแม่ (จากภาพ ผิวทางเดินของวาฬแม่ค่อนข้างเรียบกว่าวาฬพ่อ)
ขวาบน – จากวาฬแม่ หันไปทางซ้ายเพื่อชมวาฬพ่อสักหน่อย
ซ้ายกลาง – และจากวาฬแม่อีกครั้ง แต่คราวนี้ลองหันไปทางขวาบ้าง เราจะพบ"วาฬลูก"อยู่ข้างๆ
ขวากลาง – เดินไปที่วาฬลูกกันต่อ วาฬนี้มีลักษณะค่อนข้างเตี้ยและเล็ก ทางเดินเป็นสัน ไม่เหมาะแก่การเดินนัก
ซ้ายล่าง – จากตำแหน่งวาฬลูก มองไปทางซ้าย ทุกคนจะเห็นวาฬแม่ก่อน จากนั้นที่มุมไกลก็คือวาฬพ่อ
ขวาล่าง – แต่ถ้ามองไปทางขวาจากวาฬลูก ด้านล่างเป็นยอดต้นไม้ล้วนๆ
ล่าง – และภาพนี้ก็คือผืนป่าที่นักท่องเที่ยวสามารถเห็นแม่น้ำโขงอยู่ไกลลิบๆ(เหนืออักษร com)จากตำแหน่งของวาฬพ่อนั่นเอง

TODAY THIS MONTH TOTAL
244 5392 248757
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top