สถาปัตยกรรมบ้านเรือนในกาดกองต้านับย้อนกลับไปเป็นร้อยปีแล้ว บ้านเรือนต่างๆผสมผสานรูปแบบยุโรปและเอเชียเข้าด้วยกันจากผู้ออกแบบหลายเชื้อชาติ เนื่องจากในอดีตที่นี่เคยเป็นย่านการค้าตลาดจีนและเป็นเมืองท่าสำคัญที่เชื่อมโยงการค้าระหว่างเมืองปากน้ำโพและภาคเหนือตอนบน โดยมีแม่น้ำวังเป็นแม่น้ำสายสำคัญ การทำมาหากินของชาวลำปางแต่เดิมเป็นเพียงเพื่อยังชีพ สินค้าส่วนใหญ่คือ พืชไร่และผลผลิตจากป่า ซึ่งเป็นการค้าระหว่างเมืองในเขตภาคเหนือ ส่วนการค้าทางบกเป็นการค้ากับเมืองใกล้ชายแดน เช่น ยูนนาน รัฐฉาน มะละแหม่ง เชียงตุง ฯลฯ สำหรับการค้าทางบกเริ่มต้นประมาณปี พ.ศ. 2372
ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2420 เส้นทางการค้าได้เปลี่ยนเป็นทางน้ำระหว่างกรุงเทพและเชียงใหม่ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปากน้ำโพ เนื่องจากการทำป่าไม้สักส่งออกได้เปลี่ยนเส้นทางจากแม่น้ำสาละวินมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา(ปิง วัง ยม น่าน)แทน การขนส่งทางบกจึงค่อยๆลดความสำคัญลงไป แม่น้ำวังกลายเป็นแม่น้ำสำหรับการล่องซุงไม้สักออกจากลำปางเพื่อไปรวมกันที่เมืองปากน้ำโพ แล้วผูกเป็นแพซุงล่องสู่กรุงเทพต่อไป ชุมชนตลาดจีนในช่วงนั้น นอกจากคนเมืองแล้ว ยังมีคนไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน ชาวพม่าที่มาทำป่าไม้และค้าขาย และชาวอังกฤษที่ได้รับสัมปทานป่าไม้ ซึ่งส่วนใหญ่รวมตัวกันอยู่บริเวณตลาดจีนเพราะเป็นท่าจอดเรือเนื่องจากแม่น้ำวังบริเวณนี้มีเกาะกลางแม่น้ำ(ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเกาะในปัจจุบัน)และแบ่งแม่น้ำวังเป็นสองสาย แต่ด้านที่ติดกับฝั่งชุมชนตลาดจีนเป็นช่องแคบและตื้น จึงเหมาะเป็นที่จอดเรือและกลายเป็นแหล่งชุมชนที่มีคนมาขนถ่ายสินค้าขึ้นลง รวมทั้งเป็นที่จอดของกองคาราวาน(หรือกองเกวียน)จากต่างถิ่นที่มารอรับสินค้าไปขายต่อ ประการสำคัญคือ ที่นี่เป็นท่าน้ำที่รวบรวมไม้ซุงจากป่าต่างๆเพื่อล่องไปยังเมืองปากน้ำโพต่อ ชาวพม่าที่เป็นหัวหน้าควบคุมการล่องซุงและดูแลกิจการอยู่ จึงปลูกสร้างอาคารขึ้นมาเพื่อเป็นสำนักงานและเป็นที่อาศัย รวมทั้งใช้เป็นที่พักรับรองตัวแทนบริษัททำไม้ต่างชาติที่มาตรวจงานป่าไม้ด้วย
เมื่อการคมนาคมทางน้ำมีความสำคัญมากขึ้น พ่อค้าชาวจีนจึงเริ่มเดินทางเข้ามาพร้อมเรือสินค้าและเป็นกุลีรับจ้าง เมื่อพบทำเลที่เหมาะสม ประกอบกับความขยันขันแข็งและมีหัวการค้า จึงเริ่มเข้าครอบงำและมีบทบาททางการค้า จนชาวไทใหญ่และพม่าค่อยๆเลือนหายไปจากย่านการค้า พ่อค้าจีนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนไหหลำและจีนแคระที่นิยมถักผมเปียยาว เมื่อมีช่องทางทำมาหากิน จึงชักชวนกันมาจากแผ่นดินใหญ่มากขึ้นจนมองไปทางไหนก็มีแต่คนจีนที่ทำมาค้าขายทั้งนั้น จึงเรียกย่านการค้าที่นี่ว่า ตลาดจีน นั่นเอง
ปัจจุบันเรายังเห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองได้จากบ้านทุกหลังบนถนนตลาดเก่าในกาดกองต้า ซึ่งปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ตลอดเวลา
ตอนที่ทีมงานเดินเที่ยวถนนคนเดินกาดกองต้า สายตาเหลือบเห็นสถาปัตยกรรมบ้านเรือนข้างทางมากมาย ดูก็รู้ทันทีว่า กาดกองต้าต้องมีเรื่องราวในอดีตแน่ๆ เลยกะมาดูเต็มๆในตอนกลางวันอีกครั้งยามไร้ผู้คน จะได้เดิน ชมไป หวนอดีตไป
บน – ภาพเบื้องหน้าคือ ถนนตลาดเก่า ทั้งสองฟากเป็นบ้านไม้และบ้านคอนกรีต แต่ทุกหลังต่างมีเรื่องราวของตนเอง บ้านไม้ก็มีประวัติ บ้านคอนกรีตก็มีเรื่องเล่า ทุกอย่างมีความทรงจำที่ควรค่าเก็บเข้าแฟ้มข้อมูล
เรามารำลึกอดีตไปพร้อมๆกัน
ซ้ายบน – บ้านหม่องโง่ยซิ่นดูคลาสสิกตั้งแต่แรกเห็นตอนเที่ยวถนนคนเดินแล้ว วันนี้ได้มาชมอีกครั้ง ทีมงานขอเห็นเต็มๆแบบครบทุกชั้นเลย (จากภาพ บ้านหม่องโง่ยซิ่นสร้างในปี พ.ศ.2451 โดยช่างชาวพม่า รูปแบบเป็นเรือนขนมปังขิง หลังคาทรงมะนิลา ขนาดสองชั้นครึ่ง กึ่งปูนกึ่งไม้ ประดับด้วยกระจกสี และมีบันไดลับซ่อนอยู่ในตู้ที่ชั้นสอง ความพิเศษอยู่ที่ลายฉลุไม้ ลายพรรณพฤกษา ลายก้านขด ลายประดิษฐ์ และลายสัตว์ อาคารหลังนี้เคยเป็นร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด เป็นที่พัก และบาร์รับรองของพวกฝรั่งทำไม้ โดยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ.2550 ประเภทอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมล้านนาจากกรรมาธิการล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์)
ขวาบน – บ้านหลังต่อไปคือ บ้านคมสัน บ้านนี้มีกำแพงกั้นอยู่ แต่ยังสามารถเห็นโครงสร้างอาคารได้ (จากภาพ บ้านคมสัน สร้างในปี พ.ศ.2460 เจ้าของเดิมคือ ป้าน้อย ย่าลางลาด คมสัน อาคารเป็นแบบเรือนปั้นหยา โดยมีฝรั่งจากบริษัททำไม้ช่วยกันออกแบบ และช่างชาวเซี่ยงไฮ้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง สร้างโดยการหล่อคอนกรีตผสมกรวดแม่น้ำวัง ทำให้อาคารแข็งแรงมาก ลักษณะพิเศษของอาคารคือ ใต้ถุนสูงเท่าระดับสะพานแม่น้ำวัง ทำให้ไม่เคยมีน้ำท่วมถึงเลย)
ขวากลางบน – อาคารนี้โดดเด่นและย้อนวันวานได้เช่นกัน หลังนี้มีชื่อว่า อาคารเยียนซีไท้ลีกี (หรือตึกฝรั่งหัวใจจีน) (จากภาพ อาคารเยียนซีไท้ลีกีสร้างในปี พ.ศ.2456 มีนายจิ้น เหยียน (ชาวจีน) เป็นเจ้าของ แต่เดิมเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในตลาดจีน โดยมีการประดับตกแต่งแบบตะวันตกชนิดเต็มรูปแบบ มีการใช้ทั้งไม้ฉลุและปูนประดับ และยังมีตู้เซฟโบราณเจาะฝังเข้าไปในกำแพงคล้ายกับห้องลับขนาดเล็กด้วย)
ซ้ายกลาง – บ้านอีกหนึ่งหลังที่สะดุดตาก็คือ บ้านสินานนท์ (จากภาพ บ้านสินานนท์สร้างในปี พ.ศ.2462 โดยนายกิมเฉียน แซ่อึ้ง ชาวจีนกวางตุ้ง เป็นบ้านพักอาศัยหลังแรกที่ก่อสร้างแบบตะวันตก คือ คอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นศิลปะแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ตัวอาคารมีลายปูนปั้นลวดลายแบบยุโรป ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีบนบานไม้สัก บ้านสินานนท์ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทเคหะสถานและบ้านเรือนเอกชนจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ขวากลางล่าง – ปัจจุบันบ้านหลังนี้เป็นคาเฟและโฮสเทล แต่โครงสร้างอาคารยังคงเด่นชัด อาคารหลังนี้มีชื่อว่า อาคารฟองหลี (จากภาพ อาคารฟองหลีสร้างในช่วงปี พ.ศ.2434-2444 โดยชาวจีน อาคารมีศิลปะลายฉลุแบบขนมปังขิงและมีเสาเรียงรายด้านหน้า ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก มีความโดดเด่นเฉพาะเท้าแขนตรงมุมหัวเสาและลายช่องลมโค้ง อาคารหลังนี้มีการบูรณะโดยใช้เวลา 2 ปี จากนั้นจึงได้กลับมาอวดโฉมความงดงามอีกครั้ง ทั้งยังได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นในปี พ.ศ.2551 ประเภทอาคารพาณิชย์จากสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์)
ซ้ายล่าง – บ้านไม้อีกหนึ่งหลังที่ขอนำมาเล่าสู่กันฟังก็คือ บ้านทนายความ (จากภาพ บ้านทนายความสร้างในปี พ.ศ.2471 อาคารทรงมะนิลารูปตัวแอล ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ด้านหน้าเรือนเป็นแบบบานเกล็ดไม้ ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก หน้าจั่วเรือนประดับไม้เสากลึงหรือสรไน(อ่านว่า สะระไน) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเรือนที่เห็นได้ทั่วไปตามรูปแบบสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ)
ขวาล่าง – นอกจากนี้บ้านเรือนของประชาชนทั่วไปหลังอื่นๆก็ยังแฝงความงดงามในอดีตเช่นกัน อย่างเช่นบ้านไม้สองชั้นหลังนี้
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
220 | 2216 | 279122 |