พระธาตุนาดูน

คำอธิบาย


ปี พ.ศ. 2522 กรมศิลปากรได้ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุจากเนินดินที่เป็นซากโบราณสถานในบริเวณที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา ราษฎรบ้านนาดูน ท้องที่หมู่ 1 ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม บริเวณนี้มีพระพิมพ์ต่างๆเป็นจำนวนมากและพบสถูปพระบรมสารีริกธาตุมีสัณฐานดังเกล็ดแก้วประดิษฐานในผอบ 3 ชั้น ชั้นในเป็นทองคำ ชั้นกลางเป็นเงิน ชั้นนอกเป็นสำริด สวมซ้อนกันตามลำดับ ทั้งหมดบรรจุอยู่ในสถูปจำลองอีกชั้นหนึ่ง เป็นสถูปโลหะทรงกลมสูง 24.4 เซนติเมตร ถอดออกเป็น 2 ส่วน ส่วนยอดสูง 12.3 เซนติเมตร ส่วนองค์สถูปสูง 12.1 เซนติเมตร นอกจากนี้ ด้านหลังพระพิมพ์บางองค์ยังจารึกภาษาขอมโบราณและมอญโบราณ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 13-15 ในสมัยทวาราวดี

สำหรับโบราณวัตถุที่เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่นขุดพบเมื่อปี พ.ศ.2522 มีดังนี้
1. พระพิมพ์ดินเผา มีลักษณะสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์รวมกันประมาณ 1000 ชิ้น (โดยมีที่สมบูรณ์ 887 ชิ้น)
2. ยอดสถูปสำริด 1 ชิ้น
3. เศษแผ่นทองคำ 2 ชิ้น
4. แม่พิมพ์ดินเผาชำรุด 1 ชิ้น
สำหรับจารึกที่อยู่ด้านหลังพระพิมพ์ดินเผาบางชิ้นมีลักษณะการเขียน 2 แบบคือ จารึกตัวอักษรด้วยการขีดลงบนแผ่นดินเผาและเขียนตัวอักษรด้วยสีแดง

ลักษณะสถูปสำริดและการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แยกออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. ตัวสถูปหรือองค์ระฆัง ทำด้วยสำริด มีลักษณะคล้ายระฆังหรือโอคว่ำ สูง 12.1 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนตัวสถูปหรือองค์ระฆัง ซึ่งเป็นส่วนที่บรรจุพระอังคาร (ขี้เถ้า) เทียนและดอกไม้ ส่วนคอสถูปหรือคอระฆัง เป็นส่วนที่บรรจุผอบพระบรมสารีริกธาตุ
2. ส่วนยอด ทำด้วยสำริดกลมตัน ทำเป็นปล้องไฉน ลูกแก้ว และปลียอด ตอนต้นทำเป็นเกลียวสามารถปิดประกบกับส่วนตัวองค์สถูปได้พอดี มีความสูง 12.3 เซนติเมตร เมื่อนำส่วนยอดมาปิดประกบกับตัวองค์สถูปแล้ว จะมีความสูงรวมจากฐานถึงยอด 24.4 เซนติเมตร ผอบ(ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ)ประกอบด้วยผอบ 3 ชั้นคือ ผอบชั้นที่ 1 ทำด้วยสำริด สูง 1.4 เซนติเมตร เส้นรอบวง 4.1 เซนติเมตร ผอบชั้นที่ 2 ทำด้วยเงิน สูง 1.1 เซนติเมตร เส้นรอบวง 3.4 เซนติเมตร ผอบชั้นที่ 3 ทำด้วยทองคำ เป็นชั้นในสุด สูง 1 เซนติเมตร เส้นรอบวง 2.5 เซนติเมตร ภายในผอบมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ 1 องค์ มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่นขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารหักครึ่งหล่อเลี้ยงไว้ด้วยน้ำมันจันทน์ เมื่อเปิดออกจะมีกลิ่นหอมมาก ผอบทั้งสามชั้น จะบรรจุซ้อนกันอยู่คือ ผอบทองคำจะซ้อนอยู่ในผอบเงิน ผอบเงินซ้อนอยู่ในผอบสำริด ทุกผอบมีฝาปิดอย่างมิดชิดและรวมบรรจุอยู่ในส่วนคอระฆังขององค์สถูป

รัฐบาลได้เห็นความสำคัญของศิลปะโบราณวัตถุเหล่านี้ จึงดำเนินการก่อสร้างพระธาตุนาดูนขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบนเนื้อที่ 902 ไร่ โดยบริเวณนี้ถือเป็นโบราณคดีที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เนื่องจากเคยเป็นที่ตั้งของนครจำปาศรีมาก่อน

พระธาตุนาดูนเป็นปูชนียสถานที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกขานกันว่า เป็นพุทธมณฑลแห่งอีสาน นับเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวมหาสารคาม


เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2522 ชาวนาดูน 11 คนมาขุดเนินดินในที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา และพบพระพิมพ์ดินเผามากมาย เมื่อข่าวนี้ก็กระจายไป ผู้คนต่างก็มาขุดกัน ซึ่งนายทองดีไม่เคยรู้เลยว่า ที่นาของตนเป็นพื้นที่โบราณสถานมาก่อน จนเมื่อกรมศิลปากรเข้ามาดูแลพื้นที่ แล้วพบพระบรมสารีริกธาตุเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2522
บน – พระธาตุนาดูนโดดเด่นมาแต่ไกล (จากภาพ สถานที่ตั้งพระธาตุนาดูนตั้งอยู่บริเวณโคกดงเค็งบนพื้นที่ป่าสาธารณะ ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม มีเนื้อที่ 902 ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ขุดพบไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาดูนไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร เหตุผลที่ไม่ก่อสร้างบริเวณที่ขุดพบก็เพราะเป็นที่นาของราษฎร(นาย ทองดี ปะวะภูตา)และมีเนื้อที่เล็ก พื้นที่เป็นที่ลุ่ม อีกทั้งต้องซื้อที่ดินเพิ่มและถมที่ดินอีก ส่วนพื้นที่แห่งใหม่นี้เป็นที่เนินสูง เนื้อที่กว้างขวางเหมาะที่จะตั้งพระธาตุและขยายหน่วยงานของราชการได้)



 

เดี๋ยวเราเดินจากระยะไกลเข้าไปชมพระธาตุนาดูนกัน
ซ้ายบน – เส้นทางจากด้านหน้าหรือทิศตะวันออกมายังพระธาตุนาดูนมีทัศนียภาพเรียบร้อยและสะอาดตา

ขวาบน – องค์พระธาตุนาดูนเมื่อเดินเข้ามาใกล้ สวยงามจริงๆ
ซ้ายกลาง – พระธาตุนาดูนด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
ขวาล่าง – โครงสร้างของพระธาตุนาดูนจำลองแบบมาจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฐานประยุกต์แบบศิลปะทวารวดี ฐานกว้าง 35.70 x 35.70 เมตร มีความสูงจากฐานถึงยอด 50.50 เมตร ฐานรากและโครงสร้างทั่วไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ผนังภายนอกพระธาตุส่วนใหญ่ทำด้วยหินล้างเบอร์ 4 บางแห่งฉาบปูนเรียบสีขาว มีลวดลายลวดบัว เสาบัวจำลองแบบพระเครื่องพิมพ์ต่างๆที่ขุดพบจำนวน 32 รูป และมีมารแบกปั้นเป็นแบบนูนสูงประดับที่ฐานจำนวน 40 ตัว ตัวองค์พระธาตุแบ่งออกเป็น 16 ชั้น ภายในโปร่ง จากฐานรากขึ้นไปถึงชั้นที่ 1 สูง 3.70 เมตร
- ชั้นที่ 1 คือฐานรากมีจำนวนฐานทั้งหมด 105 ฐาน มีเสาขึ้นจากฐานทั้งหมด 144 ต้น ส่วนฐานที่เป็นองค์พระธาตุมีลักษณะกลม มีเสาทั้งหมด 16 ต้น ชั้นที่ 1 มีพื้นทางเดินโดยรอบ และมีซุ้มประตูลายปูนปั้น 4 ประตูประจำทิศ ผนังประดับด้วยกระเบื้องด่านเกวียนศิลปะของภาคอีสาน พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
- ชั้นที่ 2 สูงจากชั้นที่หนึ่ง 5 เมตร โครงสร้างมีเสาทั้งหมด 86 ต้น มีพื้นโดยรอบสำหรับก่อสร้างเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเหนือทั้ง 4 และพระพุทธรูปประจำซุ้ม 4 องค์ ผนังประกอบด้วยปูนปั้นเป็นเสามีบัวเหนือเสา พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้างและประดับกระเบื้องด่านเกวียน
- ชั้นที่ 3 สูงจากชั้นที่สอง 4.80 เมตร โครงสร้างมีเสาทั้งหมด 44 ต้น มีพื้นโดยรอบสำหรับก่อสร้างเจดีย์องค์เล็กประจำทิศเฉียง 4 องค์เช่นเดียวกับชั้นที่ 2 พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิก 6 เหลี่ยม ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
- ชั้นที่ 4 สูงจากชั้นที่สาม 1.60 เมตร ประกอบด้วยฐาน 8 เหลี่ยม เป็นชั้นเริ่มต้นของตัวองค์พระธาตุ โครงสร้างประกอบด้วยเสาทั้งหมด 24 ต้น ผนังทั่วไปทำด้วยหินล้าง
ชั้นที่ 5 สูงจากชั้นที่สี่ 1 เมตร ประกอบด้วยฐานบัวกลม โครงสร้างประกอบด้วยเสาทั้งหมด 16 ต้น ผิวภายนอกทำด้วยหินล้าง ชั้นที่ 5 ถึงชั้นที่ 10 มีความสูง 11.0 เมตร เป็นตัวองค์ระฆังของพระธาตุ โดยเฉพาะชั้นที่ 8 จะเป็นชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โครงสร้างประกอบด้วยเสาทั้งหมด 16 ต้น จนถึงชั้นที่ 9 ส่วนชั้นที่ 10 ลดเหลือเสา 9 ต้น ลักษณะองค์ระฆังภายนอกทำด้วยหินล้างทั้งหมด
- ชั้นที่ 11 เป็นชั้นบัลลังก์ ลักษณะโครงสร้างมีเสาทั้งหมด 5 ต้น ผนังทำด้วยหินล้าง ชั้นที่ 11 ถึงชั้นที่ 14 มีความสูง 4.60 เมตร เป็นชั้นบัลลังก์ ประกอบด้วยลักษณะทรงกลม มีลายปูนปั้นเป็นกลีบบัว โครงสร้างประกอบด้วยเสา 5 ต้น ผนังทำด้วยหินล้างทั้งหมด
- ชั้นที่ 14 ถึงชั้นที่ 16 มีความสูง 6.80 เมตร เป็นชั้นปล้องไฉน มีทั้งหมด 6 ปล้อง โครงสร้างประกอบด้วยเสาแกนต้นเดียว ปล้องไฉนทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวทำด้วยหินล้าง
- ชั้นที่ 16 ถึงยอดคือ ปลียอด มีชั้นปลี ชั้นลูกแก้ว และชั้นฉัตรยอด โครงสร้างประกอบด้วยเสาแกนต้นเดียว ผนังผิวทำด้วยหินล้างโดยรอบ ส่วนฉัตรยอดบุด้วยโมเสกแก้วสีทอง (จากภาพ เราสามารถเดินเข้าจากประตูทางทิศใต้ได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อเข้ามาแล้ว พื้นที่หน้าพระธาตุทางทิศใต้จะมีศาลาดอกไม้ธูปเทียน อาคารถวายสังฆทาน บริจาคทำบุญ มุมสักการบูชาพระธาตุนาดูนของพุทธศาสนิกชนทั่วไปตามภาพ และสามารถ
ลงชื่อบนผ้าห่มพระธาตุได้ นอกจากนี้ประชาชนยังมาเดินเวียนรอบพระธาตุนาดูนอีกด้วย)
- ได้เวลาเดินออกนอกรั้วกำแพงพระธาตุนาดูนไปชมข้าวของมากมายกัน
ซ้ายล่าง – ถนนนอกกำแพงรั้วพระธาตุนาดูน(ตั้งแต่ทางเดินเข้าด้านทิศตะวันออกไปถึงประตูทางเข้าทิศใต้)มีร้านค้าอยู่ริมถนน(ฝั่งตรงข้ามกำแพง)มากมาย เริ่มจากลานจอดรถ(ใกล้ทางเข้าทิศตะวันออก)เป็นลานซุ้มไม้ แต่ละซุ้มของโซนนี้จำหน่ายสินค้าแตกต่างกันไป มีทั้งของกินและของใช้ จากนั้นเมื่อเดินออกจากลานซุ้มไม้มาที่ริมถนน จะมีรถพ่วงข้างมาจอดเรียงติดกันจำหน่ายของกินเล่นและเครื่องดื่มอยู่ริมถนนฝั่งซ้าย และนับจากนี้ ริมถนนซ้ายมือตลอดขึ้นไปจะมีอาคารหนึ่งชั้นเป็นทางยาวไปจนถึงพื้นที่ตรงข้ามกับประตูทางเข้าพระธาตุด้านทิศใต้ โดยอาคารนี้แบ่งเป็นห้องๆ แต่ละห้องก็จำหน่ายสินค้าต่างกัน ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งนี้เมื่อมาจนสุดอาคารแล้ว พื้นที่ริมถนนที่พ้นอาคารออกไป(ซึ่งอยู่ตรงข้ามประตูทางเข้าทิศใต้)ยังมีแผงลอยอีกจุดด้วย ส่วนริมถนนฝั่งขวาหรือฝั่งกำแพงรั้วพระธาตุนาดูน(บริเวณประตูทางเข้าทิศใต้และบริเวณใกล้ทางเดินเข้าทิศตะวันออก)ก็มีแม่ค้าจำหน่ายแผงสลากกินแบ่งอยู่ (จากภาพ จากแผงลอยซ้ายมือใกล้ภาพ แล้วเลยเข้าไปด้านหลังก็คือ ลานซุ้มไม้(ซึ่งไม่เห็นในภาพนี้) ส่วนริมถนนซ้ายมือจะเห็นรถพ่วงข้างกางร่มตลาดนัดเรียงขึ้นไปอยู่หลายเจ้า จากนั้นจึงเป็นอาคารหนึ่งชั้นหลังคาสีขาวยาวเข้าไปตลอดแนวถนนจนถึงริมถนนด้านใน(ตรงข้ามกับประตูทางเข้าด้านทิศใต้) ในอาคารมีทั้งของกินเล่น ของใช้ เครื่องดื่ม และอาหารตามสั่งพร้อมที่นั่ง ส่วนขวามือของภาพจะติดกับกำแพงรั้วพระธาตุนาดูน และภาพนี้ก็อยู่ใกล้กับประตูทางเดินเข้าทิศตะวันออก เราจึงเห็นร่มตลาดนัดของแม่ค้าสลากกินแบ่ง)
รายการสินค้า – อาหารมีต้มยำรวมมิตร แกงจืด ผัดฉ่า ผัดผงกะหรี่ ข้าวผัด ผัดผัก ผัดซีอิ๊ว คะน้าหมูกรอบ
ผัดไทย ราดหน้า ผัดพริกแกง(หมู ไก่ ทะเล) ผักพริกหยวก(หมู ไก่ ทะเล) กะเพรา(หมู ไก่ ทะเล หมูกรอบ) ก๋วยเตี๋ยว ตำไทย ตำลาว ตำป่า ตำทะเล ตำถั่ว ตำแตง ตำผลไม้ ตำกุ้งสด ตำลูกยอ ตำรวมมดแดง ไก่ย่าง ลาบ ต้มแซบ น้ำตก อ่อมหมู ข้าวเหนียว และอุเพี้ย เครื่องดื่มในตู้เย็นมีคาราบาว เอ็มร้อยห้าสิบ ลิโพ โสมอินซัม กระทิงแดง โสมเกาหลีตังกุยจับ สปอนเซอร์ C-Vitt วู้ดดี้ซีล็อก แรงเยอร์ VITA-ONE กาแฟสมุนไพรตราหมอเส็ง เนสกาแฟ เบอร์ดี้ ไมโล ไทยเดนมาร์ก ดีน่า แลคตาซอย นมตราหมีกล่อง โฟร์โมสต์ โอวัลติน โออิชิ น้ำส้มสุวณีเบอร์รี สแปลช เอสเพลย์ โซดาร็อกเมาเท่น ยันฮีวิตามินซีวอเตอร์ เป๊ปซี่ แฟนต้า(น้ำแดง น้ำเขียว น้ำส้ม) โค้ก ไวตามิลค์ อิชิตัน เย็นเย็น บีทาเก้น ดัชชี่(รสต่างๆคือ วุ้นมะพร้าว มิกซ์เบอร์รี และสตรอว์เบอร์รี) แบรนด์ มินิทเมดพัลพี น้ำชาเขียวซากุระ น้ำดื่มคริสตัล น้ำดื่มสิงห์ รวมทั้งไอศกรีมเนสต์เลและไอศกรีมกะทิสด ขนมขบเคี้ยวมีเลย์ ตะวัน Ri-O ฮอลล์ คลอเร็ต เดนทีน รวมทั้งยำยำคัพ ขนมและของกินเล่นมีขนมจีบ ซาลาเปา ลูกชิ้นทอด ขนมตาล ขนมครก ข้าวเกรียบ ขนมนางเล็ด ขนมบ้าบิ่น ข้าวโพดคั่ว ข้าวต้มหัวหงอก ข้าวต้มมัด ขนมถ้วย และไข่ทรงเครื่อง เครื่องดื่มปรุงที่ร้านมีกาแฟร้อนเย็น กาแฟโบราณ มอกค่า อเมริกาโน เอสเพรสโซ คาปูชิโน โอเลี้ยง ชาเย็น ชามะนาว ชาดำเย็น ชาเขียว นมเย็น นมสด โกโก้ แดงโซดา โอวัลติน อิตาเลียนโซดา ช็อกโกแลต เผือกหอม แคนตาลูป แตงโม บลูเบอร์รี น้ำมะพร้าว และน้ำมะพร้าวปั่นนมสด ผลไม้มีมะม่วงหาวมะนาวโห่และบักค้อ ของใช้มีกระติบ กระเตียวมวย มวย หวด กระจาด กระด้ง ตะกร้า ไม้กวาด รองเท้าแตะ เปลญวน หมวกชาวนา ร่ม งอบ ง่ามยิงนก ทัพพีไม้ โหวด แคน ถุงมือ สไบ แมสก์ ผ้าขาวม้า ของเล่นเด็ก(เช่น ชุดทำกับข้าว รถแข่ง แต่งตัวตุ๊กตา หุ่นยนต์ รถเครน ฯลฯ) เสื่อพับ รถเครน ถุงเท้า ดาบไม้ อุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพ กระบวย จักจั่นของเล่น งูยาง ไม้เท้า ครกสาก(หินและไม้) พิณ เสื้อที่ระลึกพระธาตุนาดูน เสื้อคนแก่ เสื้อผ้าพื้นเมือง ทิชชู่ ผ้าถุง เสื้อลูกไม้ ชุดแซก เสื้อชาวเขา ผลิตภัณฑ์จากกก ย่าม พัด เสื้อเด็ก รวมทั้งบริการนวดและหมอดูไพ่ยิปซี หมวดสมุนไพรต่างๆก็เช่น หญ้ารีแพร์ รากสามสิบ รากเจ็ดพังคี ข้าวเย็นใต้ หญ้าหนวดแมว ยากำเย็น โลดทะนงแดง แห้ม ผัวหลง ฯลฯ รวมทั้งต้นกระบองเพชรและสลากกินแบ่ง 

TODAY THIS MONTH TOTAL
33 2717 251935
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top