วัดพระแก้ว

คำอธิบาย


วัดพระแก้วตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงาย เดิมชื่อวัดศรีบุญยืน วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่และเป็นวัดคู่เมืองเชียงของมาช้านาน ตามประวัติศาสตร์สร้างในปี พ.ศ.1241 รวมอายุพันกว่าปีแล้ว ในสมัยก่อนเคยมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถไหลทะลุหากันได้ระหว่างวัดพระแก้วและวัดหลวง จึงเปรียบเสมือนวัดพี่วัดน้อง

วัดพระแก้วได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2405 มีพื้นที่ตั้งของวัด 2 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา


วัดพระแก้วแห่งเมืองเชียงของเป็นวัดที่ค้นพบพระแก้วมรกตที่ชาวไทยรู้จักกันดี องค์พระแก้วมรกตได้รับอัญเชิญให้ไปประดิษฐานอยู่หลายสถานที่ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงอัญเชิญองค์พระแก้วมรกตให้มาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(หรือวัดพระแก้ว)บริเวณท้องสนามหลวง
บน – วัดพระแก้วมีบรรยากาศเงียบสงบและสะอาดตา (จากภาพ ตอนนี้ทีมงานยืนอยู่บริเวณลานคอนกรีตที่ติดกับแม่น้ำโขง เมื่อหันหน้าเข้าวัด ซ้ายมือตรงอักษร www ก็คือ อุโบสถ ขวามือบริเวณอักษร tang.com คือ วิหาร ส่วนด้านหลังวิหารเหนืออักษร rn คือ พระธาตุเจดีย์)




ได้เวลาสำรวจรายละเอียดปลีกย่อย
ซ้ายบน – วิหารศิลปะล้านนาหลังนี้สร้างมาประมาณ 300 ปีแล้ว ประตูวิหารทั้งสองข้างตกแต่งเป็นรูปเทวดา ลิง และพญานาคสะดุ้งถูกกลืน
- เข้าไปชมวิหารด้านในต่อ
ขวาบน – บรรยากาศภายในวิหาร
ซ้ายกลาง – พระประธานเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางมารวิชัยลงรักปิดทอง ประดิษฐานบนฐานชุกชี(ที่ก่อด้วยอิฐถือปูน หักเหลี่ยมมุมสลักด้วยลวดลายเครือเถาว์ ประดับกระจกสี สูง 5 ศอก ยาว 8 ศอก) ด้านซ้ายและขวาของพระประธานมีพระพุทธรูปข้างละองค์(ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเห็นพระพุทธรูปองค์ซ้ายได้บริเวณหน้าอักษร w ตัวแรก) ส่วนด้านหน้าพระประธานเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ 3 องค์ สร้างเมืองปี พ.ศ.2330 (จากภาพ ด้านหน้าสุด เราจะเห็นพระพุทธรูปหินหยกเขียวโขงสามฤดู สร้างด้วยหินหยกสีเขียวจากแม่น้ำโขง ขนาดหน้าตัก 29 นิ้ว สูง 38 นิ้ว ทรงเครื่อง 3 ฤดู ประดิษฐานบนแท่นรองจากพระประธาน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2550 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา)
ขวากลาง – พระธาตุเจดีย์ (จากภาพ ตำนานของสถูปโบราณองค์นี้ย้อนกลับไปตั้งแต่ครั้นพุทธกาลในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังท่องเที่ยวโปรดเวไนยสัตว์อยู่ในชมพูทวีป ครั้งหนึ่งพระองค์พร้อมกับพระสาวกได้เสด็จมายังริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่า“ขรนที” เมื่อมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ทรงประทับอยู่ใต้ร่มต้นขนุนและหันพระพักตร์ไปทิศตะวันตก จากนั้นเสด็จไปสรงน้ำริมแม่น้ำโขง เมื่อพระพุทธองค์สรงน้ำเสร็จ ก็กลับมาประทับอยู่ที่ใต้ต้นขนุน ระหว่างนั้นมีนายบ้านและชาวบ้านเข้าเฝ้า พระองค์ได้ถามถึงชื่อหมู่บ้านและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน นายบ้านก็เล่าว่า ข้าเป็นนายบ้านชื่อ"ตำมิละ" หมู่บ้านในตำบลผีจิ๋วนี้มีชื่อว่า"บ้านตำมิละ" ชาวบ้านทำมาหากินด้วยการตกปลาล่าเนื้อ ค้าขาย ทำไร่ทำสวน นับถือผีปู่ผีย่า ผีป่าผีไร่ผีสวน พวกท่านพากันมาถึงที่นี่มีประสงค์อะไร พระพุทธองค์ตรัสว่า เรามาโปรดสัตว์ทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในความดี ละเว้นการทำชั่ว นายตำมิละจึงขอให้พระองค์สั่งสอนคนทั้งหลาย ซึ่งพระองค์ได้เทศนาสั่งสอนจนชาวบ้านตำมิละมีความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอน ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จจากไป นายตำมิละขอให้พระองค์มอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เพื่อสักการะบูชา พระองค์ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นลูบพระเศียร มีพระเกศาติดพระหัตถ์มา 2 เส้น จึงประทานแก่นายตำมิละ แล้วรับสั่งว่า ให้นำเกศาไปใส่ในผอบ ผอบละ 1 เส้น แล้วให้วัดระยะจากที่พระองค์ประทับอยู่ไปทางขวาและซ้ายมือให้มีระยะห่างเท่าๆกัน จากนั้นขุดหลุมฝังผอบไว้ แล้วเอาก้อนหินมาก่อทับให้สูงพ้นพื้นขึ้นมาเพื่อเป็นที่สักการะบูชาต่อไป หลังจากพระพุทธองค์และพระสาวกจากไป นายตำมิละได้ให้ช่างทองทำผอบด้วยทอง 2 ลูก เป็นทองคำลูกละ 5 บาท เพื่อบรรจุพระเกศา และให้ทำเรือด้วยทองคำ 2 ลำ ทองคำหนักลำละ 25 บาท แล้วนำผอบใส่ลงเรือ ลำละ 1 ผอบ จากนั้นวัดระยะทางจากต้นขนุนที่พระพุทธองค์ประทับไปทางซ้ายและขวาเท่าๆกัน จึงขุดหลุมที่ปลายทางข้างละ 1 หลุม หลุมลึก 9 วา แล้วนำเรือวางไว้บนหลัก ใช้หินก่อทับ 2 รอบ แล้วคละด้วยหินสูง 2 เท่า ปากบ่อให้สูงพ้นระดับดินและก่อเป็นรูปสถูป จากนั้นให้ช่างนำแผ่นกระดานหินกว้าง 1 ศอก สูง 2 ศอก มาจารึกคำทำนายของพระพุทธเจ้าลงในแผ่นหิน แล้วนำไปปักไว้ข้างสถูป แท่งละ 1 หลัก กาลเวลาผ่านไป หมู่บ้านตำมิละกลายเป็นเมืองใหญ่ตามคำทำนายของพระพุทธองค์ มีชื่อว่า“ขรราชนตร”ตามชื่อแม่น้ำ“ขรนที” ซึ่งคนรุ่นหลังมาเรียกว่า“น้ำของ” และเมืองขรราชนตรก็เรียกเป็น"เมืองเชียงของ" สถานที่ที่นายตำมิละและชาวบ้านได้ฝังผอบและทำสถูปไว้ ก็มีผู้มาสร้างวัดวาอารามถวายแก่พระสงฆ์ วัดที่อยู่ทางขวาของต้นขนุนมีชื่อว่า"วัดศรีบุญยืน" วัดที่อยู่ทางซ้ายของต้นขนุนมีชื่อว่า"วัดไชยสถาน" ต่อมาในสมัยพระเจ้าอริยะ(ซึ่งสืบเชื้อสายเจ้าเมืองเชียงแสน)ได้มาปกครองเมืองเชียงของ ก็ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดทั้งสองแห่ง แล้วเปลี่ยนชื่อวัดศรีบุญยืนเป็น"วัดพระแก้ว" ส่วนวัดไชยสถานเปลี่ยนชื่อเป็น"วัดหลวง"มาถึงทุกวันนี้)
ขวาล่าง – เรื่องราวของพระแก้วมรกตที่ถูกค้นพบจากสถูปโบราณองค์นี้ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.1979 ขณะนั้นเกิดอัศนีบาตฟาดใส่สถูปของวัดศรีบุญยืน เมื่อปูนที่หุ้มสถูปกะเทาะออกมา มีผู้พบพระพุทธรูปปิดทององค์หนึ่ง กาลเวลาผ่านไป รักปิดทองหลุดลอกจนเห็นพระพุทธรูปสีเขียวมรกตปรากฏแก่สายตา ความทราบไปถึงพระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ จึงมีรับสั่งให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงรายมาประดิษฐาน ณ นครนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ระหว่างที่ขบวนแห่ผ่านเมืองเขลางค์นคร(หรือเมืองลำปาง) ช้าง(ที่อัญเชิญพระแก้วมรกต)ไม่ยอมเดินทางสู่เมืองเชียงใหม่ แม้หมอควาญพยายามบังคับช้างอยู่หลายหน ช้างเชือกนั้นก็จะเดินวนกลับไปเมืองลำปางทุกที เจ้าหมื่นโลกพระนคร(ซึ่งเป็นพระญาติของพระเจ้าสามฝั่งแกนและเป็นเจ้าเมืองลำปาง)จึงทูลขอพระแก้วมรกตจากพระเจ้าสามฝั่งแกน ซึ่งพระองค์ก็ทรงอนุญาต พระแก้วมรกตจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้าจนถึงปี พ.ศ.2011 นานถึง 32 ปี ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ.2093 นานถึง 32 ปี ต่อมาในปี พ.ศ.2102 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เชื้อพระวงศ์แห่งกรุงล้านช้าง ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปนครหลวงพระบาง น่าจะอัญเชิญมาทางเมืองเชียงของและข้ามลำน้ำโขงโดยทางชลมารถ ระหว่างนั้น อาจมีการแวะค้างแรม โดยพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีในอุโบสถของวัดศรีบุญยืนอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งพระแก้วมรกตได้ประดิษฐาน ณ เมืองหลวงพระบาง กรุงล้านช้าง เป็นเวลา 12 ปี ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาย้ายจากเมืองหลวงพระบางไปอยู่ที่นครเวียงจันทร์ จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วยและประดิษฐานอยู่ที่นครเวียงจันทร์จนถึงปี พ.ศ.2321 นานถึง 214 ปี ในปี พ.ศ.2321 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกกองทัพไปตีนครเวียงจันทร์และได้ชัยชนะ จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับสู่อาณาจักรไทยและนำไปประดิษฐานในโรงพระแก้ว ใกล้กับอุโบสถวัดอรุณราชวรารามบริเวณพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี จากนั้นในปี พ.ศ.2427 สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระอารามหลวง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในอุโบสถตราบถึงทุกวันนี้
ซ้ายล่าง - อุโบสถหลังนี้สร้างแทนหลังเก่าเมื่อปี พ.ศ.2512

TODAY THIS MONTH TOTAL
28 3844 253062
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top