วัดถ้ำผาจรุย

คำอธิบาย


(คำเตือน คำบรรยายและภาพรูปปั้นเตือนใจช่วงท้ายอาจมีเนื้อหารุนแรงไปบ้าง โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม)

วัดถ้ำผาจรุยตั้งอยู่หมู่ที่ 16 ตำบลป่าแงะ อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย วัดแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงรายไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 60 กิโลเมตรและอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอป่าแดด
วัดถ้ำผาจรุยสังกัดนิกายธรรมยุตและเป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไป มีพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ โดยรอบมีถาวรวัตถุมากมาย เช่น มณฑปพระบรมสารีริกธาตุ โบสถ์ สระน้ำ ศาลา กุฏิ โรงเรียนปริยัติธรรม เจดีย์หลวงปู่เผด็จ ฯลฯ

ส่วนถ้ำผาจรุย(หรือถ้ำพระอภิรมย์)อยู่ทางทิศใต้สุดของภูเขา

ปัจจุบันมีการสร้างเจดีย์สำหรับหลวงปู่เผด็จ ปภัสสโร ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาจรุยและเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป ประวัติคร่าวๆมีดังนี้ พระครูปภัสสราธิการ (เผด็จศักดิ์ ปภัสสโร) เกิดวันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2483 ที่ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ตอนเด็กได้รับการอุปถัมภ์จากหลวงปู่บัว เตมิโย วัดหลักศิลา อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม นำท่านมาชุบเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ส่งเสียเรียนหนังสือจนจบการศึกษา ม.ศ.8 และรับราชการเป็นครูที่อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม หลวงปู่เผด็จบอกว่า สมัยหนุ่ม ท่านเป็นคนหัวรุนแรง ในตอนเป็นฆราวาส ท่านเคยรักใคร่อยู่กับสาวพยาบาลคนหนึ่ง แต่ท่านขอบวชก่อน 1 พรรษาที่วัดป่าบ้านนาเหมือง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร โดยมีหลวงปู่คำมีเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังออกพรรษา ท่านมาลาสึกกับหลวงปู่คำมี แต่หลวงปู่คำมีขอให้ท่านอยู่ช่วยงานครูบาอาจารย์อีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากพระสมัยก่อนไม่ได้เรียนสูง ท่านเป็นผู้ที่เคยเรียนและรับราชการมา จึงอยากให้ท่านเป็นเลขาของหลวงปู่คำมีไปก่อนเพื่อรอพระรูปอื่นที่กำลังฝึกฝนอยู่ หลังจากนั้นหลวงปู่คำมีได้ส่งท่านเข้าร่วมดูแลอุปัฏฐากหลวงปู่ฝั้น อาจาโรที่วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ตอนที่อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่ฝั้น ท่านบอกว่า เราภาวนาจิตสงบ ท่านจึงตัดสินใจลาออกจากราชการครูและบอกเลิกสัญญาใจกับพยาบาลสาว หลังจากบวชมาได้ห้าพรรษา ท่านประสบอุบัติเหตุจนกระดูกสันหลังเดาะ จึงตัดสินใจสึกเพื่อรักษาตัวและกลับมาบวชอีกครั้งตอนอายุ 40 ปีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2522 ณ วัดเม็งรายมหาราช ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย โดยมีพระครูศีลคุณากรเป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นท่านก็มาจำพรรษาที่วัดถ้ำผาจรุยตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ตามคำบอกของพระอาจารย์สวัสดิ์ ปภาโส ขณะนั้นหลวงปู่หลวง กตปุญโญ ผู้สร้างวัดถ้ำผาจรุยเป็นรูปแรก ก็บอกให้ท่านอยู่ที่วัดถ้ำผาจรุยตลอดไป ท่านก็รับปากหลวงปู่หลวงและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาจรุยเมื่อปี พ.ศ.2528 หลวงปู่เผด็จเล่าว่า ผู้คนในละแวกมิได้สนใจอะไรในตัวท่านนัก ตอนนั้นยังศรัทธาอดีตเจ้าอาวาสรูปเก่า(พระอาจารย์สวัสดิ์)ที่เพิ่งลาสิกขาไป ความศรัทธาในวัดถ้ำผาจรุยก็เริ่มซบเซา แต่ความสนใจในตัวท่านและความศรัทธาที่มีต่อวัดกลับมาอีกครั้งเนื่องจากควายแม่ลูกสองตัวของชาวบ้านถูกโจรลักขโมยไป แจ้งความตำรวจและผู้ใหญ่บ้านแล้ว ก็หาไม่เจอ แต่หลวงปู่เผด็จก็ช่วยตามหาจนเจอ นอกจากนี้ หลวงปู่เผด็จยังเป็นเจ้าคณะอำเภอป่าแดด-เทิง-พญาเม็งรายของฝ่ายธรรมยุติด้วย ท่านเป็นพระป่าที่ครูบาอาจารย์ขอให้ออกมาปกครองดูแลพระเณรฝ่ายธรรมยุติ หลวงปู่เผด็จเป็นมือไม้ให้ครูบาอาจารย์ประสานรอยร้าวความขัดแย้งของฝ่ายธรรมยุติและมหานิกายที่มีต่อกันตั้งแต่อดีตให้จบได้ในยุคของท่าน จนพระเณรครูบาอาจารย์สายมหานิกายจังหวัดเชียงราย-พะเยาต่างยอมรับ การปกครองของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในปี พ.ศ.2560 หลวงปู่เผด็จเริ่มมีอาการอาพาธ จึงไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพ และได้รับการผ่าตัดกระดูกต้นคอ จากนั้นกลับมาพักฟื้นที่วัดถ้ำผาจรุยต่อ แต่ยังมีอาการอาพาธอยู่ และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์อีกหลายครั้ง วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 หลวงปู่เผด็จมีอาการหายใจติดขัด จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโอเวอร์บรู๊คและพบว่า มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดและหัวใจล้มเหลว ท่านมรณภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ.2561เวลา 04.47 นาฬิกา สิริอายุรวม 77 ปี 39 พรรษา



มนุษย์เราทุกคนมีความผิดชอบชั่วดี ผิดบ้างถูกบ้าง ปนเปกันไป ในเรื่องศีลห้าก็เช่นกัน ยิ่งถ้าเรายึดมั่นได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น ที่เกริ่นมาแบบนี้ ก็เพราะตอนที่ทีมงานเดินสำรวจวัดอยู่ด้านหน้า แล้วพอจะไปถ้ำผาจรุยที่อยู่ด้านหลัง พลันต้องชะงักกับบาปบุญคุณโทษที่มากันแบบขนลุกขนพอง
- ขอพานักท่องเที่ยวทุกคนชมบรรยากาศด้านหน้าภูเขาก่อน
ซ้ายบน – ด้านหน้าของวัดถ้ำผาจรุยมีบันไดขึ้นอยู่ บันไดสีขาวแดงเป็นทางขึ้นสู่มณฑปพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนบันไดปูนซ้ายมือเป็นทางขึ้นไปสถานที่อื่นๆบนเขา แต่จริงๆทั้งสองบันไดจะเชื่อมถึงกันบริเวณด้านหลังมณฑป ดังนั้นเราสามารถเลือกเดินได้เลย (จากภาพ ดอยที่เห็นเป็นฉากหลังเป็นที่ตั้งของถ้ำผาจรุย ดอยนี้เป็นภูเขาที่ตั้งโดดเด่นและแยกตัวจากภูเขาลูกอื่น ตัวดอยยาวประมาณ 1.8 กิโลเมตรและสูงประมาณ 80-90 เมตร วางตัวตามแนวนอนทิศเหนือ-ใต้ ภายในประกอบด้วยภูเขาเล็กๆสลับซับซ้อนและมีถ้ำกระจัดกระจายทั่วไป โดยเป็นเขาหินปูนและมีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม เช่น ไม้ลุง ไม้ตะแบก ต้นจันผา ไม้เนื้ออ่อนอีกหลายชนิด สำหรับถ้ำผาจรุย ให้เดินไปทางขวาของภาพ)
ขวาบน – “มณฑปพระบรมสารีริกธาตุ”
ขวาลางบน – คราวนี้ขึ้นจากบันไดปูนบ้าง บริเวณนี้คือ ทางเดินบนเขา
ซ้ายกลาง – แต่ก่อนอื่น จากทางเดินบนเขานี้ ทีมงานขอหันไปมองพื้นด้านล่างสักหน่อย (จากภาพ อาคารสีแดงทางขวาคือ ศาลาอเนกประสงค์ และถ้ามองไปด้านไกล ทุกคนจะเห็นสระน้ำของวัด ซึ่งมีปลาตะเพียนอยู่มาก ทางวัดมีตู้หยอดเหรียญ 10 บาทเพื่อกดให้อาหารปลาบริเวณศาลาอเนกประสงค์ด้วย โดยจะมีถังเล็กๆวางไว้ให้ เราก็แค่หยอดเหรียญ แล้ววางถังในตำแหน่ง อาหารปลาก็จะหล่นใส่ถัง ทั้งนี้ยังมีศาลากลางสระน้ำที่สร้างโดยคณะศิษย์หลวงพ่อเกษม เขมโก ขณะที่โบสถ์จะอยู่ทางขวาของศาลาอเนกประสงค์ออกไป)
- เราไปชมตัวอย่างที่จะเห็นบนเขาดีกว่า
ขวากลางล่าง – “ถ้ำฤาษีนารอด” (จากภาพ ถ้าเราสังเกตใต้พื้นด้านล่าง จะเห็นช่องของถ้ำอยู่ อยากจะบอกว่า ลมที่พัดออกมาเย็นสบายมาก แถมพัดออกมาตลอดเวลาด้วย)
ซ้ายล่าง – “กุฏิเก่าหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต” ท่านเคยมาบำเพ็ญภาวนาเมื่อปี พ.ศ.2468
- จากบนเขา คราวนี้เราเดินไปด้านข้างของเขาผาจรุยกัน
ขวาล่าง – “ถ้ำผาจรุย” (จากภาพ ตัวถ้ำอยู่ระดับเดียวกับพื้นราบ ปากถ้ำกว้างประมาณ 7 เมตร ลึกประมาณ 25-30 เมตร  ไม่มีโพรงอากาศและไม่มีหินงอกหินย้อย แต่มีน้ำหยดลงมาจากเพดานถ้ำ 2-3 แห่ง แม้ว่าไม่มีโพรงอากาศ แต่ก็ไม่มืดเนื่องจากเป็นถ้ำไม่ลึก พื้นถ้ำมีการลาดด้วยซีเมนต์ ภายในมีพระประธานก่ออิฐถือปูนพร้อมทั้งอัครสาวกซ้ายขวาอยู่บนฐานชุกชีและพระพุทธรูปองค์อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีค้างคาวอาศัยอยู่ด้วย)

 


ใกล้ๆกับปากถ้ำผาจรุยมีบันไดปูนให้เราขึ้นผาจรุยอีกจุด
ซ้ายบน – เมื่อขึ้นมาแล้ว เราจะพบทางเดินธรรมชาติที่เป็นพื้นหินให้เดินขึ้นเขาต่อ (จากภาพ ถ้าเราสังเกตที่ป้ายสีเหลืองทางซ้าย เหนือป้ายขึ้นไปจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนฐานก้อนหิน)
- บนผาจรุยด้านบนมีทั้งหมดสองถ้ำคือ ถ้ำพระและถ้ำฤาษี สำหรับถ้ำพระไม่มีทางเดินเข้าถ้ำ เป็นแค่ช่องมืดซึ่งเป็นเหวดิ่งลงด้านล่าง ส่วนถ้ำฤาษีอยู่ในภาพต่อไปนี้
ขวาบน – “ถ้ำฤาษี”มีทางเดินในถ้ำเป็นช่วงสั้นๆ เราสามารถมุดลอดเข้าไปได้ เมื่อเข้ามาและเงยหน้าไปตามแสง ก็จะพบโพรงถ้ำ ถ้านักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปตามภาพ ก็จะมีทางเส้นทางต่อเนื่องไปถ้ำเล็กถ้ำน้อยด้านบนอีก
ซ้ายกลางบน – โบสถ์ของวัดถ้ำผาจรุย
- คราวนี้มาถึงไฮไลต์ของวัดที่ทีมงานเล่าไว้ตั้งแต่ตอนต้น นั่นคือ รูปปั้นเตือนใจในธรรมสำหรับประชาชนทั่วไป ที่ต้องชื่นชมก็คือ ฝีมือการแต่งสีหน้าของรูปปั้น และแม้ไม่มีใครเคยเห็นขุมนรก แต่ที่รู้ๆก็คือ เราจะได้รู้จักนายนิรยบาลหรือผู้คุมนรกกับหน้าที่เพชฌฆาตกัน หากต้องลงสู่อเวจี
ขวากลาง – นายนิรยบาลหรือผู้คุมนรกมีหน้าที่ลงโทษผู้ก่อกรรมทำเข็ญ สีหน้าและแววตาอำมหิตและเหี้ยมเกรียมมาก นักท่องเที่ยวจะได้เห็นอารมณ์ชวนสยองนี้จากผู้คุมนรกทุกคน ทีมงานขอคัดบางช่วงมาให้ชมกัน วิธีการทรมานในฉากนี้คือ การเอาคีมกดลงปลายลิ้น แล้วดึงลิ้นของผู้ทำบาปออกมาให้สุด ตอนนี้ก็ได้แต่ระวังคำพูดคำจาหรือคำโกหกที่สร้างความเดือดร้อนไว้ให้ดี
ซ้ายกลางล่าง – ในกระทะทองแดงนี้ก็ไร้ความปราณี คนบาปทุกคนต่างทุรนทุรายในกระทะต้มเดือดและพยายามจะขึ้น แต่เจอนายนิรยบาลเอาคมหอกทิ่มแทงลงไป และไม่ใช่การแทงขู่เฉยๆ แต่เป็นการแทงแบบเจ็บซ้ำสอง ผู้ทำกรรมบางคนถูกคมหอกแทงทะลุเบ้าตา บางคนโดนแทงทะลุกลางอก บอกกันตรงนี้เลยว่า คำวิงวอนไร้ผล
ซ้ายล่าง – ฉากนี้คงเคยอ่านหรือได้ยินกันบ่อยๆ นั่นคือ ต้นงิ้ว แค่ปีนขึ้นไป แล้วเจอหนามของต้นงิ้วบาดก็เจ็บแล้ว แต่ยังมีนายนิรยบาลคอยถือกระบองหนามอันใหญ่แทงสวนจากด้านล่างขึ้นไปอีก ถ้าสังเกตคนบาปซ้ายมือ เขาโดนแทงทะลุรูทวารอย่างแสนสาหัส ขณะที่คนทางขวาโดนคมเขี้ยวสุนัขไล่งับ เลยต้องปีนหนี แต่กลับเจอจะงอยอีกายักษ์แทงทะลุดั้งเข้าโพรงจมูก กรรมแบบนี้คงหนีไม่พ้นการข่มขืน ผิดลูกผิดเมีย หรือคบชู้สู่ชาย
ขวาล่าง – ในบรรดาผู้ทำกรรม ทีมงานฟันธงว่า มนุษย์คนนี้คงฆ่าสัตว์ตัดชีวิตระดับใหญ่หลวง ถึงขนาดต้องมีนายนิรยบาลสองคนช่วยกันประหัตประหาร เริ่มจากขาที่โดนแท่งเหล็กใหญ่ปักทะลุหัวเข่า ขณะที่มือของผู้ทำกรรมวางไว้บนหน้าท้อง แล้วโดนผู้คุมนรกเลื่อยสดๆ มือขาด ท้องฉีก ส่วนที่เห็นกองสีขาวคือ ไส้ที่ทะลักออกมา เท่านั้นไม่พอ ด้านบนยังถูกใบมีดหั่นคอด้วย ฉากนี้เรียกว่า หนังเรื่อง Saw ยังต้องขอก๊อปสำหรับทำภาคต่อไป ซาดิสต์สุดๆ


TODAY THIS MONTH TOTAL
184 3029 252247
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top