วัดเทิงเสาหิน

คำอธิบาย


วัดเทิงเสาหินตั้งอยู่ที่บ้านร่องขามป้อม หมู่ 9 ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย บริเวณวัดพบซากวิหารและเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันและพบชิ้นส่วนเศียรพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ กรมศิลปากรได้ขุดแต่งบูรณะวิหารให้มีสภาพเป็นซากโบราณเรียบร้อยแล้ว

วัดเทิงเสาหินสังกัดธรรมยุตติกนิกาย ปัจจุบันมีพระครูวิโรจน์ธรรมนันท์เป็นเจ้าอาวาส สำหรับชื่อวัดเทิงเสาหินเป็นชื่อที่เรียกขานกันในสมัยใหม่ หลังจากที่พระครูสิริหรรษาภิบาล (เพ็ง พุทธธมโม) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในขณะนั้น ท่านได้บูรณะจนเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนชื่อเดิมในยุคโบราณสมัยขอมเรืองอำนาจมีชื่อว่า“วัดดงแหน” ส่วนคำว่า“เทิง”แปลว่า“ที่สูง” ซึ่งเป็นชื่อเมืองในสมัยโบราณ และคำว่า“เสาหิน”ก็คือ เสาวิหารที่สกัดมาจากหินทั้งแท่ง

เรื่องราวของเมืองเทิงพบในจารึกสมุดข่อยที่วัดพระเจ้าตนหลวง(วัดศรีโคมคำ)ในจังหวัดพะเยา เมืองเทิงเคยรุ่งเรืองในอดีต แต่ร้างราไปเมื่อไรไม่ปรากฏชัด สำหรับวัดดงแหนกลายเป็นวัดร้างไปตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่มีใครทราบเช่นกัน จนกลายมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งก็เมื่อหลวงปู่เพ็ง พุทธธมโม เดินธุดงค์มาถึง แล้วพำนักปักกลดอยู่ จากนั้นจึงตัดสินใจสร้างวัดเทิงเสาหินขึ้นมา วัดเทิงเสาหินในปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ โดยมีซากโบราณสถานที่ยังหลงเหลือไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาอยู่บ้าง เนื่องจากถูกทุบทำลายจากฝีมือชองนักขุดหาของเก่าในอดีต ซากโบราณที่สำคัญได้แก่ เจดีย์และวิหารหลังใหญ่ ตรงกลางวิหารมีพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน แต่ถูกทุบทำลายเสียหายเกือบหมด



ตอนที่ทีมงานเข้ามาในวัด สิ่งที่โดดเด่นเลยก็คือ ซากวิหารโบราณที่มีต้นไม้รายล้อม บรรยากาศเงียบสงบดี ปัจจัยนี้ทำให้สมาธิจดจ่ออยู่กับการเก็บข้อมูลได้เต็มที่ แต่ในความโดดเด่นก็มีความน่าเสียดายเช่นกัน นั่นคือ เศียรพระพุทธรูปของพระประธาน ถ้าองค์พระประธานอยู่ครบสมบูรณ์ล่ะก็ ความงดงามคงไม่ต้องพูดถึง
บน – ซากวิหารโบราณตั้งอยู่เพียงลำพังและรายล้อมด้วยร่มเงาไม้ต่างๆ เช่น ต้นเม็ก ต้นยางนา ฯลฯ (จากภาพ บริเวณอักษร com คือบันไดขึ้นวิหาร อักษร rntang คือลานในวิหาร เหนืออักษร nd คือฐานชุกชีของพระประธาน และถ้าเราสังเกตบนฐานพระจะมีชิ้นส่วนเศียรของพระพุทธรูปอยู่ ส่วนด้านหลังฐานชุกชีบริเวณอักษร ww ก็คือ เจดีย์ซึ่งตั้งอยู่บนวิหารเดียวกัน)

 


ขึ้นไปสำรวจวิหารโบราณ
ซ้ายบน – จากบันไดทางขึ้น เราจะเห็นลานและเสาของวิหารขนาบข้าง ส่วนเบื้องหน้าก็คือ ฐานชุกชีของพระประธาน (จากภาพ เสาของวิหารสร้างด้วยแท่งหินตัน สกัดเป็นแปดเหลี่ยม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 คืบ ยาวแท่งละ 2 ศอก หินแต่ละแท่งหนัก 2-3 ตัน ปลายด้านหนึ่งเจาะเป็นรู อีกด้านหนึ่งสกัดเป็นเดือยสำหรับสอดไปในรูอีกด้านหนึ่ง
มี 39 ต้น แท่งหินเหล่านั้นนำมาตั้งต่อกันเป็นเสาวิหาร สูงประมาณ 7 ศอก เสาวิหารเหล่านี้ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่จากกรมศิลปากร)
ขวาบน – เศียรโบราณของพระประธาน ซึ่งเหลือแต่ส่วนศีรษะ (จากภาพ เศียรของพระประธานขนาดใหญ่นี้เป็นศิลปกรรมแบบล้านนาที่มีอิทธิพลของสุโขทัยเข้ามาปน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21)
ซ้ายกลาง – เศียรโบราณในระยะใกล้ แม้เหลือเพียงชิ้นส่วน แต่ยังทรงคุณค่ามาก
ขวากลางบน – ด้านหลังฐานพระมีชิ้นส่วนลำตัวของพระประธานคว่ำอยู่ ส่วนที่หงายขึ้นคือ ช่วงหน้าอก ส่วนที่คว่ำเป็นฐานคือ ช่วงไหล่ (จากภาพ เราสามารถเห็นด้านหลังเศียรของพระประธาน ซึ่งมีลักษณะก่ออิฐฉาบปูน)
ขวากลางล่าง – แขนของพระประธานที่หักหล่นอยู่ข้างลำตัว
ซ้ายล่าง – เจดีย์ที่อยู่ด้านหลังในวิหารเดียวกัน
- เราไปชมบรรยากาศบางส่วนของวัดเทิงเสาหินบ้าง
ขวาล่าง – ในอดีตวัดดงแหน(หรือวัดเทิงเสาหิน)ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการให้สร้างเป็นวัดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2519 ต่อมามีพระราชโองการโปรดเกล้าให้วัดเทิงเสาหินมีชื่อในบัญชีได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2529 (จากภาพ อาคารขวาสุดที่เห็นเป็นแผ่นกระเบื้องสีอิฐคือ วิหารหลวงพ่อดำ ส่วนผนังด้านหลังสีขาวของอาคารเหนืออักษร tang.com คือศาลาอเนกประสงค์ ซึ่งใช้เป็นโบสถ์ของวัด (แต่ปัจจุบัน กำลังสร้างโบสถ์ใหม่ขึ้นมาทดแทน) สำหรับหลังคาซ้ายสุดคือ ศาลาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)


TODAY THIS MONTH TOTAL
39 3855 253073
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top