อุทยานแห่งชาติออบหลวง

คำอธิบาย


อุทยานแห่งชาติออบหลวงครอบคลุมพื้นที่อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่มในจังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 345,625 ไร่ หรือ 553 ตารางกิโลเมตร สภาพป่ายังคงสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศ ธรรมชาติ คุณค่าทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมของมนุษยชาติในทางธรณีวิทยา

คำว่า"ออบหลวง"เป็นภาษาพื้นเมืองทางภาคเหนือ คำว่า“ออบ”หรือ”อ๊อบ”แปลว่า“ช่องแคบ” ส่วนคำว่า“หลวง”แปลว่า“ใหญ่” รวมความแล้ว จึงแปลว่า“ช่องแคบที่มีขนาดใหญ่” ช่องแคบออบหลวงมีสายน้ำแม่แจ่มหรือแม่น้ำสลักหินที่กัดเซาะจนเป็นรูปร่างและลวดลายที่สวยงามแปลกตา นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากดังนี้ น้ำพุร้อนเทพพนม น้ำตกแม่เตี๊ย น้ำตกแม่จร น้ำตกแม่น้ำเปิน น้ำตกแม่บัวคำ ล่องเรือคายัก ล่องเรือยาง และการเดินป่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์

ในปี พ.ศ.2508 กรมป่าไม้เห็นว่า บริเวณริมถนนในท้องที่ตำบลหางดงของอำเภอฮอดและตำบลบ้านแปะของอำเภอจอมทองมีสภาพภูมิประเทศสวยงามแปลกตาและมีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ประกอบด้วยโขดผาและลำน้ำที่ไหลแรงผ่านโตรกเขาซึ่งชาวเหนือเรียกว่า“ออบหลวง” โดยมีประชาชนไปพักผ่อนและชมธรรมชาติอยู่เป็นประจำ จึงได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบของวนอุทยานเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2509 ภายใต้ความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตเชียงใหม่ วนอุทยานออบหลวงในอดีตยังเคยเป็นสถานที่พักแรมและตั้งปางพักของบริษัทบอร์เนียวที่มีกิจกรรมทำไม้ด้วย

ต่อมากรมป่าไม้ได้โอนความดูแลรับผิดชอบให้กับกองอุทยานแห่งชาติ ในช่วงต้นปี พ.ศ.2531 มีการสำรวจพื้นที่ข้างเคียงรอบอุทยานเพื่อยกฐานะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
ผลสำรวจพบว่า มีสภาพป่าสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศทุกประการ มีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงามหลายอย่าง เช่น น้ำตก บ่อน้ำร้อน ฯลฯ เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำแม่แจ่มและแม่น้ำปิงตอนล่าง จึงเหมาะสมในการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติออบหลวงในราชกิจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2534 บนเนื้อที่ประมาณ 553 ตารางกิโลเมตร



ภาพของผาหินสองฝั่งแนบเข้าหากันกลายเป็นแม่เหล็กที่ทำให้ออบหลวงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ยังมีเรื่องราวอื่นๆที่คอยปิดทองหลังพระอีก นั่นคือ ลำน้ำแม่แจ่มท่ามกลางทิวทัศน์ของช่องเขา ใบไม้ที่พร้อมใจกันเปลี่ยนสี และมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนใครที่ยังไม่เคยมา เมื่อมาถึงแล้ว อาจพูดว่า”รู้อย่างนี้ มาตั้งนานแล้ว”
- หลังจากชำระค่าเข้าอุทยานแห่งชาติออบหลวง ทีมงานก็หันหน้าสู่ธรรมชาติทันที
ซ้ายบน – ตลอดเส้นทางเดินสู่ออบหลวงมีลำน้ำแม่แจ่มที่ไหลลัดเลาะตามโตรกเขาพร้อมใบไม้หลากสี (จากภาพ ลำน้ำแม่แจ่มหรือแม่น้ำสลักหินกำเนิดจากเทือกเขาในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไหลผ่านอำเภอแม่แจ่มและออกสู่แม่น้ำปิงที่อำเภอฮอด เป็นลำน้ำใหญ่ที่ไหลเชี่ยวและคดเคี้ยวไปมาในหุบเขา)
ขวาบน – ทัศนียภาพงดงามตลอดทาง (จากภาพ สายน้ำกำลังไหลสู่"ผาจูบกัน"ที่อยู่เบื้องหน้า)
ซ้ายล่าง – “ผาจูบกัน”สร้างชื่อให้ออบหลวงอย่างมาก ผาหินสองฝั่งแนบชิดเข้าหากันและมีสะพานข้ามอยู่ด้านบน และก็เป็นธรรมเนียมที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องแวะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก (จากภาพ “ออบหลวง”ตรงกับคำศัพท์ทางธรณีวิทยาว่า Gorge (กอร์จ) หมายถึง หุบเขาขนาดเล็ก ซึ่งแคบและลึก ประกอบด้วยผาหินสูงชันและเกิดอยู่ในพื้นที่ภูเขา อาจมีทางน้ำตลอดปีหรือไหลเป็นฤดูกาลในร่องหุบเขาก็ได้ สำหรับ“ออบหลวง”เกิดขึ้นจากการกัดเซาะของทางน้ำในทางลึก ซึ่งเป็นผลมาจากการค่อยๆยกตัวสูงขึ้นของชั้นหินที่ประกอบขึ้นเป็นเปลือกโลก “ออบหลวง”เกิดขึ้นกับหินแปรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศ กล่าวคือ เนื่องจากมีการยกตัวขึ้นของหินแปรอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ลำน้ำแม่แจ่มจึงทำหน้าที่ในการกัดกร่อนตัดผ่านแนวเทือกเขาอินทนนท์-ดอยปุยหลวง ตามเส้นทางที่สามารถกัดเซาะง่าย ซึ่งมักเป็นแนวรอยเลื่อน แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำปิงทางทิศตะวันออก การกัดกร่อนของลำน้ำแม่แจ่มถือเป็นช่วงต้นของพัฒนาการ นั่นคือ เป็นไปในทางลึกอย่างเดียว เมื่อไหลผ่านหินแปรบริเวณออบ หลวงซึ่งเป็นส่วนที่ทนทานและแข็งแกร่งกว่าบริเวณอื่น จึงมีเพียงช่องทางแคบๆที่สายน้ำสามารถตัดผ่านได้ เมื่อการกัดกร่อนในทางลึกเป็นไปอย่างยาวนานจากน้ำและตะกอนที่พัดปะปนมากับน้ำ จึงเกิดเป็นช่องแคบ มีลักษณะเป็นผาลึกและสูงชันตามภาพ)
- หลังจากเดินข้ามสะพานเหนือผาจูบกันมาแล้ว ต่อไปก็คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งมีระยะทาง 1.2 กิโลเมตร เราอาจเดินอยู่บนเขานานหน่อย แต่ทุกอย่างคือ กำไรชีวิต
ขวากลาง – ภาพบางช่วงของเส้นทางศึกษาธรรมชาติดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ (จากภาพ เส้นทางศึกษาธรรมชาติดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์พัฒนาขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเต็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อเป็นสถานที่ศึกษาธรรมชาติและพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เส้นทางนี้มีระยะทางประมาณ 1200 เมตร ระหว่างทาง เราจะได้เรียนรู้ธรรมชาติและประวัติศาสตร์ผ่านสถานีสื่อความหมายจำนวน 10 สถานี)
ขวาล่าง – "หลุมฝังศพสมัยโลหะตอนปลายยุคสำริด" (จากภาพ นายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี กรมศิลปากร พบหลุมฝังศพแห่งนี้และทำการขุดค้นร่วมกับ ดร.มารีแอล ซังโตนิ และดร.จอง ปิแอร์ ปอโตร นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสในโครงการก่อนประวัติศาสตร์ไทย-ฝรั่งเศส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2528 ลักษณะเป็นหลุมร่องยาว ด้านหัวและท้ายมนคล้ายวงรี ขนาด 2.00 เมตร กว้าง 0.85 เมตร และลึกประมาณ 0.40-0.50 เมตร ในหลุมมีโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิง 1 โครง สภาพไม่สมบูรณ์ เหลือเพียงฟัน 32 ซี่ กระดูกแขน และกระดูกขา ส่วนกะโหลกศีรษะ กระดูกส่วนลำตัวผุกร่อนและถูกน้ำเซาะพัดไปหมดแล้ว โครงกระดูกถูกฝังในท่านอนหงาย แขนแนบลำตัว ที่ข้อมือซ้ายสวมแหวนสำริด 9 วง กำไลเปลือกหอยทะเล 1 วง ที่ข้อมือขวาสวมแหวนสำริด 5 วง กำไลเปลือกหอยทะเล 1 วง ที่คอสวมสร้อยลูกปัดเปลือกหอยและหินคาร์นิเลียน บริเวณขาช่วงล่างมีภาชนะดินเผาใส่ไว้ 5 ใบ ส่วนใหญ่ถูกทุบแตก แล้วโรยบนพื้นหลุมฝังศพและบริเวณข้างศพ กลางลำตัวพบกำไลสำริดหักและม้วนงอวางอยู่ 2 วง)




ความเป็นมากำลังรอให้เราศึกษาอยู่ข้างหน้า
ซ้ายบน - "หินแกรนิต" (จากภาพ บริเวณนี้พบหินแกรนิดและหินแร่ต่างๆจำนวนมาก หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า หินเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคอดีต เช่น ขวาน เครื่องมือล่าสัตว์ อาวุธประจำตัว ฯลฯ หินแกรนิตเป็นหินอัคนีแทรกซอนที่เย็นตัวลงในเปลือกโลกอย่างช้าๆ จึงมีเนื้อหยาบ ประกอบด้วยผลึกขนาดใหญ่ของแร่ควอรต์ซสีเทาใส แร่เฟลด์สปาร์สีขาวขุ่น และแร่ฮอร์นเบลนต์ เนื่องจากหินแกรนิตแข็งแรงมาก ชาวบ้านจึงนิยมทำเป็นครก เช่น ครกอ่างศิลา ฯลฯ โดยทั่วไป ภูเขาหินแกรนิตมักเตี้ยและมียอดมน เนื่องจากเปลือกโลกที่เคยอยู่ชั้นบนสึกกร่อนผุพัง จึงเผยให้เห็นแหล่งหินแกรนิตเบื้องล่าง การเกิดหินแกรนิตสามารถเกิดได้สองลักษณะคือ จากการเย็นตัวของลาวาใต้พื้นผิวโลกและจากการปะทุของลาวาบนผิวโลก แล้วเกิดการเย็นตัวอย่างช้าๆ)
ขวาบน – "ผาช้าง" (จากภาพ นายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และเครื่องมือหินกะเทาะที่ทำจากหินกรวดท้องน้ำบริเวณเพิงผาช้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 ต่อมา นายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ ดร.มารีแอล ซังโตนิ และดร.จอง ปอแอร์ ปอโตร ได้ทำการขุดค้นศึกษาบริเวณเพิงผาช้างอีกครั้งในปี พ.ศ.2529 และพบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคหินกลางในสังคมเก็บของป่า-ล่าสัตว์ มีเครื่องมือหินกะเทาะและเศษกระดูกสัตว์เป็นจำนวนมาก จากการกำหนดอายุด้วยวิธีแทนเดอตรอนจากกระดูกสัตว์ที่มนุษย์จับมากิน แล้วทิ้งไว้ที่เพิงผาช้าง พบว่าที่เพิงผาช้างเคยมีมนุษย์เข้ามาพักแรมครั้งแรกเมื่อราว 28,000 ปีมาแล้ว และใช้ประโยชน์ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยโลหะตอนปลายและสมัยประวัติศาสตร์ จึงนับเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยหินกลางที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย)
ซ้ายกลาง – บริเวณผาช้างยังมีภาพจิตรกรรมโบราณด้วย (จากภาพ บนผนังเพิงผาช้างมีการเขียนรูปช้าง รูปคน และรูปสัญลักษณ์ด้วยสีแดงแกมดำเข้มและสีขาว แต่น่าเสียดาย สภาพของภาพเขียนสีแดงเลอะเลือนมาก ไม่สามารถพิสูจน์ได้ คงเหลือเพียงภาพเขียนสีขาวเขียนทับลงบนภาพเขียนสีแดงอีกชุดหนึ่ง ภาพเขียนสีขาวบนผนังนี้ ส่วนใหญ่เป็นรูปช้าง สัตว์ตางๆ และคน สันนิษฐานว่า เป็นภาพเขียนของมนุษย์สมัยหินใหม่และสมัยโลหะที่เข้ามาประกอบพิธีบริเวณเพิงผาช้างเมื่อราว 2,500-3,000 ปี)
- ต่อไปเป็นการออกกำลังวังชาเล็กน้อยเพื่อปีนเขาสู่จุดชมวิวดอยผาช้าง
ขวาล่าง – พื้นที่บางส่วนบนลานจุดชมวิวดอยผาช้าง
ล่าง – ทิวทัศน์ของผืนป่าจากจุดชมวิวดอยผาช้างสวยงามดี สีสันของใบไม้ในป่าเต็งรังเปลี่ยนสีไปตามฤดูกาล (จากภาพ ป่าเต็งรังมีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่นคือ ป่าแดง ป่าแพะ และป่าโคก ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ขึ้นในบริเวณดินที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ยกเว้นบางพื้นที่ที่หน้าดินไม่ถูกรบกวนมากนัก มีไม้ขนาดใหญ่และไม้ขนาดกลางขึ้นอยู่ พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติออบหลวงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เหียง หลวง เต็ง รัง และมะขามป้อม ส่วนพื้นป่าไม่รกทึบจะมีหญ้าเพ็กและไผ่ชนิดต่างๆขึ้นอยู่)



เดินขึ้นๆลงๆบนเขา แต่ไม่มีช่วงไหนน่าเบื่อเลย
ซ้ายบน – "ดินโป่ง"หรือภัตตาคารอาหารของสัตว์ (จากภาพ ดินโป่งคือ ธาตุจำพวกเกลือแร่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของหน้าดินที่ถูกชะล้างมารวมกันโดยน้ำที่ไหลซึมตามผิวดิน เมื่อน้ำระเหย ก็เหลือธาตุเกลือแร่สะสมอยู่ ขณะที่แบคทีเรียได้เจริญเติบโตขึ้น ก็ดึงเอาไนโตรเจนเข้ามา บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งในอดีตมีหมูป่า กวาง วัว และช้าง ก็มากินเกลือแร่ในดินโป่งบริเวณนี้ ชนิดของโป่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมีสองแบบคือ 1.โป่งดินหรือโป่งแห้ง เป็นบริเวณที่สัตว์ลงไปใช้ประโยชน์ มักเป็นเนินเตี้ยๆหรือเป็นหย่อมดินโล่งอยู่กลางบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ เราสังเกตได้จากร่องรอยการใช้ของสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นรอยขุดหรือรอยตีนย่ำ สัตว์มักจะใช้ปากขุดลงไป ปกติจะลึกไม่เกิน 1 เมตรเพื่อกินดินเหล่านั้น โดยเริ่มกินที่ผิวดินก่อน แล้วค่อยๆกินลึกลงไปเป็นบริเวณกว้างไม่เกิน 10 เมตร โป่งดินจะพบตามริมหรือในห้วยที่เป็นที่ราบ แต่ในฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ป่าจะไม่เลียกินดิน แต่จะเลียกินน้ำแทน 2.โป่งน้ำหรือโป่งเปียก ปกติคือแหล่งที่เป็นต้นน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นน้ำซึมหรือน้ำซับหรือน้ำที่ไหลออกจากภูเขาหินปูน หรือจากแอ่งหรือบ่อที่เป็นโป่งดินมาก่อน โดยจะมีน้ำขังตลอดปี เรามักพบโป่งน้ำตามภูเขา)
ขวาบน – “ตาน้ำ” เราจะเห็นตาน้ำเอ่อเป็นบ่อน้ำตื้นๆบนเขา โดยน้ำจะไหลซึมออกมาจากบริเวณอักษร rnd (จากภาพ ตาน้ำเกิดจาก 2 กรณี 1.จากการไหลของน้ำบนผิวดิน 2.จากการคายน้ำของรากต้นไม้และกลายเป็นน้ำใต้ดิน ในการเกิดตาน้ำที่ออบหลวง เป็นลักษณะการคายน้ำของรากต้นไม้ นั่นคือเมื่อมีการอิ่มตัว รากจะคายน้ำออกมารวมกันในลักษณะของน้ำใต้ดิน แล้วไหลซึมอยู่ชั้นใต้ดินเป็นตาน้ำ จากนั้นจึงไหลลงสู่แม่น้ำต่อไป)
- สองภาพต่อไปนี้เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวจะพบความหลากหลายของพันธุ์พืช เพราะในป่ามีพืชพรรณที่อาศัยอยู่หลายชนิด ต่างก็ต้องการอาหาร น้ำ แสงแดด และแร่ธาตุ แต่ละต้นจึงพัฒนาวิธีการของตนเองเพื่อนำปัจจัยเหล่านั้นมาดำรงชีวิต สำหรับบริเวณนี้มีพันธุ์ไม้ที่โดดเด่นกว่าเส้นทางเดินอื่นๆ เราไปชมตัวอย่างกัน
ซ้ายกลาง – “บุกคางคก” บริเวณนี้มีต้นบุกคางคกขึ้นเป็นดงจำนวนมาก (จากภาพ บุกคางคกเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน ลำต้นอวบน้ำ มีหัวใต้ดินเป็นก้อนใหญ่สีน้ำตาล ขนาด 15-30 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยว แผ่นคล้ายร่ม ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉก ผลเป็นผลสด เนื้อนุ่มสีแดง ค่อนข้างกลมและมีจำนวนมาก สำหรับหัวและก้านใบใช้เป็นอาหารได้เนื่องจากหัวมีสารจำพวกแป้งย่อยยากชนิด Glucomannan ซึ่งทำเป็นวุ้นหรือผง ประโยชน์คือ เป็นอาหารช่วยลดน้ำหนักและลดระดับโคเลสเตอรอลในสัตว์ทดลอง)
ขวากลาง – ใบไม้ทุกใบของต้นนี้เปลี่ยนสีได้โดดเด่นตั้งแต่โคนจรดปลาย
- เราไปชมวิวสวยๆต่อ
ขวาล่าง – วิวจาก”จุดชมวิวดอยผาเต่า” ป่าเขามีแต่ความเขียวขจี
ซ้ายล่าง – เส้นทางเดินไปจุดชมวิวออบหลวงมีแต่ดงไผ่ที่กำลังเปลี่ยนสีและมีใบไผ่ปูพรมอยู่ตลอดทางเดิน ทิวทัศน์ร่มรื่นสบายตา (จากภาพ นอกจากป่าเต็งรังแล้ว ป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติออบหลวงยังมีป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบด้วย ซึ่งเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ขนาดกลางและมักมีไม้ไผ่ชนิดต่างๆขึ้นอยู่ประปราย พื้นที่ป่าไม่รกทึบมากนัก พบขึ้นอยู่ตามริมห้วยและริมหุบเขาสองฝั่งของลำน้ำแม่แจ่ม พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ สัก ประดู แดง มะค่าโมง เก็ดแดง เก็ดดำ ขะเจ๊าะ ตะแบก รกฟ้า มะเกลือ และอินทนิน ส่วนพืชชั้นล่างคือ หญ้า กก และไม้ไผ่ชนิดต่างๆ พันธุ์ไม่ไผ่ที่พบมีไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ซาง ไผรวก และไผ่ไร่)



จุดชมวิวออบหลวงจะทำให้นักท่องเที่ยวทุกคนเห็นหัวใจของธรรมชาติที่นี่
ซ้ายบน – แถบนี้คือจุดชมวิวที่มีทั้งช่องเขาและหาดทราย บรรยากาศชวนหลงใหลจริงๆ
ขวาบน – จุดชมวิวนี้ทำให้เราสัมผัสถึงลำน้ำแม่แจ่มที่ไหลผ่านโตรกเขา นักท่องเที่ยวสามารถเห็นช่องเขาแคบๆในระยะใกล้ชิด ธรรมชาติน่าอัศจรรย์มาก (จากภาพ ตามประวัติดั้งเดิม เล่าต่อกันมาว่า ลำน้ำแม่แจ่มสมัยก่อนเรียกว่า“แม่น้ำสลักหิน” เพราะแม่น้ำนี้ได้เจาะภูเขาหินลูกหนึ่งจนทะลุไหลผ่านเป็นลำน้ำ ส่วนคำว่า“ออบหลวง”เป็นช่องแคบเขาขาดที่มีหน้าผาหินขนาบข้างลำน้ำ(ที่ทุกคนกำลังเห็นอยู่ตอนนี้) ทำให้เกิดหุบผาที่มีความลึกประมาณ 32 เมตร ส่วนที่แคบที่สุดคือ 2 เมตร ความยาวของช่องแคบประมาณ 300 เมตร)
ซ้ายกลาง – ลวดลายของผาหินและโขดหินบริเวณจุดชมวิวออบหลวง
- ได้เวลาเดินออกจากจุดชมวิวออบหลวง
ขวากลาง – ทางเดินช่วงท้ายบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติดินแดนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ นักท่องเที่ยวต้องเดินเลาะริมหน้าผาไปเรื่อยๆ
ซ้ายล่าง – "บ่อพักซุง" (จากภาพ เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน การสัมปทานไม้สักบริเวณนี้จะใช้ลำน้ำแม่แจ่มลำเลียงไม้ซุงจากอำเภอฮอดและอำเภอแม่แจ่มเพื่อเข้าสู่แม่น้ำปิงและกรุงเทพต่อไป เมื่อแพไม้ซุงไหลมาถึงออบหลวง ซึ่งเป็นช่องแคบและฤดูแล้งมีน้ำน้อย บริษัทสัมปทานไม้จึงสร้างกำแพงกั้นน้ำไว้ แต่เมื่อถึงฤดูฝนก็เปิดทางน้ำ เป็นการเริ่มต้นการเดินทางของท่อนซุง ซึ่งเราจะเห็นร่องรอยการชักลากไม้อยู่ตลอดลำน้ำและนี่ก็เป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของการชักลากไม้ในอดีต สำหรับบ่อพักซุงนั้น แพไม้ซุงไม่สามารถไหลผ่านไปได้ จึงต้องแก้แพซุงเพื่อให้ไม้สามารถลำเลียงผ่านไปก่อนและมีการนำไม้ซุงมาพักไว้บริเวณนี้เพื่อผูกแพซุงขึ้นใหม่ หลังจากนั้นจึงล่องแพซุงเข้าสู่แม่น้ำปิง)
- ระดับอุทยานแห่งชาติแบบนี้ เรื่องของกินมากันเป็นกองทัพแน่นอน
ขวาล่าง - จุดจำหน่ายสินค้ามีอยู่สองโซนด้วยกัน โซนใหญ่จะอยู่ริมถนนสาย 108 บริเวณปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติออบหลวง สำหรับโซนนี้มีอาคารหลังใหญ่หนึ่งหลัง ภายในอาคารมีร้านอาหารสองร้านพร้อมที่นั่งกินหน้าร้าน นอกจากนี้ยังมีร้านชากาแฟและร้านสินค้าที่ระลึกด้วย ส่วนอีกโซนเป็นร้านสวัสดิการเล็กๆข้างสำนักงานอุทยานแห่งชาติด้านใน จุดนี้จำหน่ายแต่ขนมขบเคี้ยว ของกินเล่น และเครื่องดื่มในตู้เย็น (จากภาพ ภาพนี้เป็นอาคารโซนริมถนนใหญ่ 108 บริเวณปากทางเข้าอุทยาน)
รายการสินค้า - อาหารมีต้มยำปลา ต้มยำไก่ ต้มข่าไก่ แกงจืดเต้าหู้ ต้มแซ่บซี่โครงอ่อนหมู แกงเขียวหวานไก่หรือหมู ปลาผัดขึ้นฉ่าย ไก่หรือหมูผัดขิง ผัดผักรวม คะน้าหมูกรอบ พะแนงหมูหรือไก่ ผัดผงกะหรี่ทะเล ยำไส้ตัน ยำก้านคะน้าทะเล ยำแหนม ยำวุ้นเส้น แกงฮังเล ไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง แกงแค ผัดฟักแม้ว ส้มตำ แกงอ่อมหมู ลาบ ไก่ย่าง คอหมูย่าง หมูมะนาว ปลาเนื้ออ่อนทอด ไก่หรือหมูทอดกระเทียม ผัดซีอิ๊ว ข้าวผัดพริกแกง กะเพราหมูกรอบ ข้าวไข่เจียว ราดหน้า ผัดไทย ข้าวต้มหมูไก่หรือทะเล ผัดขี้เมาหมูหรือไก่ ก๋วยเตี๋ยวต้มยำทะเล ก๋วยเตี๋ยวน้ำไสหรือเย็นตาโฟ และผัดฉ่าหมูไก่หรือทะเล เครื่องดื่มในตู้เย็นมีแบรนด์ซุปไก่ วีต้า(เบอร์รีสกัดและพรุนสกัด) ฉลาม กระทิงแดง เอ็มร้อยห้าสิบ คาราบาว สปอนเซอร์ ลิโพ เนสกาแฟเอสเพรสโซโรสต์ เบอร์ดี้(รสต่างๆคือ เอสเพรสโซ โรบัสตา และแบล็ก) เรดดี้บูต(รสโกจิเบอร์รีและรสองุ่นและทับทิม) มินิทเมดพัลพี สแปลชรสส้ม C-Vittรสทับทิม แมนซั่ม(สูตรต่างๆคือ วิตามินบีรวม แอล-กลูตาไธโอน และไฮไฟเบอร์) ดีไลท์(รสต่างๆคือ ดั้งเดิม เคซีไอ และสตีเวีย) โยเกิรต์ดัชชี่(รสต่างๆคือ ผลไม้รวม สตรอว์เบอร์รี และวุ้นมะพร้าว) แลคตาซอยสูตรออริจินอล โอวัลตินกล่อง ไวตามิลค์สูตรธัญพืชสีดำ ดีโด้รสส้ม น้ำส้มสายน้ำผึ้งภิญญา วิดอะเดย์ ลิปตันไอซ์ที อิชิตัน(รสต่างๆคือ
ต้นตำรับ น้ำผึ้งมะนาว จมูกข้าวญี่ปุ่น และเย็นเย็นสูตรจับเลี้ยง) โออิชิรสน้ำผึ้งมะนาว บีทาเก้น ดัชมิลล์โฟร์อินวัน(รสต่างๆคือ ผลไม้รวม สตรอว์เบอร์รี และเบอร์รีรวม) ดีน่า(รสไรซ์เบอร์รีและรสงาดำสองเท่า) เมจิกฟาร์ม(มีน้ำเฉาก๊วยและน้ำมะพร้าว) ชเวปส์ แฟนต้า(น้ำเขียวและน้ำแดง) เป๊ปซี่ สไปรท์ โค้ก โซดาสิงห์ น้ำดื่มน้ำทิพย์ รวมทั้งไอศกรีมวอลล์และเนสต์เล ขนมขบเคี้ยวมีเลย์(รสต่างๆคือ ไข่เค็ม ซาวครีมหัวหอม เอ็กซ์ตราบาร์บีคิว กะเพรากรอบ เมี่ยงคำครบรส และพริกเผาปรุงรส) ฮานามิ(รสดั้งเดิมและรสฮอตชิลลี่) โดโซะ(รสต่างๆคือ กลมกล่อม คอร์นชีส และซอสเซจจิ) คาราด้ารสปลาหมึก โปเต้ แจ๊กซ์ซอสพริก ตะวันรสต้นตำรับ สแน็กแจ็กซ์รสชิลลี่ซอส มาม่าคัพ(รสหมูสับและรสต้มยำกุ้ง) และยำยำคัพรสต้มยำกุ้ง มุมชากาแฟมีตัวอย่างดังนี้ เอสเพรสโซ โกโก้ อเมริกาโน มอกค่า ลาเต้ น้ำผลไม้สดปั่น ชามะนาว น้ำผลไม้หัวเชื้อปั่น ชานมไข่มุก ขนมปังปิ้ง(เนยนมน้ำตาล แยม ช็อกโกแลต) และแซนด์วิช ส่วนของใช้มีเสื้อที่ระลึกออบหลวง หมวก เสื้อสตรี พวงกุญแจ ของเล่นเด็ก กระเป๋า ถุงเท้า เสื้อชาวเขา และผ้าพันคอ


TODAY THIS MONTH TOTAL
74 3890 253108
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top