ทุ่งโปรงทอง

คำอธิบาย


ทุ่งโปรงทองอยู่ในป่าชายเลนปากน้ำประแส(หรือป่าชายเลนแสมผู้) เป็นทุ่งกว้างที่มีต้นโปรงแดงขึ้นทั่วบริเวณ ต้นโปรงแดงมีลักษณะใบสีเขียวอมเหลือง ยามโดนแสงแดดส่องมากระทบจะเป็นประกายระยิบระยับคล้ายแสงทอง นอกจากนี้ยังมีทางเดินไม้ในป่าชายเลนและการนั่งเรือชมทิวทัศน์ในคลองแสมผู้อีกด้วย


ตามปกติ ป่าชายเลนจะมีต้นโกงกางใบเล็กและต้นโกงกางใบใหญ่เป็นหัวเรือ แต่ที่ทุ่งโปรงทองกลับเป็นต้นโปรงแดงที่เป็นเจ้าถิ่นไปเฉยเลย การแย่งซีนนี้ถือว่าได้อานิสงค์ทุกฝ่ายจริงๆเพราะลานโปรงแดงช่วยเรียกแขกเหรื่อได้มหาศาล แถมทางเดินไม้ในป่าชายเลนแสมผู้ก็วัดกำลังขาคุณด้วยเพราะมีความยาวเกือบสามกิโลเมตร
-
ทางเดินเข้าออกทุ่งโปรงทองมีอยู่สองเส้นทางคือ ฝั่งชุมชนปากน้ำประแส(หรือบริเวณวัดตะเคียนงาม)และฝั่งเรือรบประแส ทั้งสองเส้นทางสามารถเชื่อมกันด้วยทางเดินไม้ในป่าชายเลนที่ยาวถึง 2.7 กิโลเมตร แต่ด้านที่คึกคักจะอยู่ฝั่งชุมชนปากน้ำประแส(หรือบริเวณวัดตะเคียนงาม) ตลอดเส้นทางมีเรือจอดอยู่ตามท่าน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่อยากเดินย้อนกลับหรืออยากเปลี่ยนไปนั่งเรือชมวิว แต่ถ้าใครเดินจากฝั่งหนึ่งไปออกอีกฝั่งหนึ่งแล้ว รถซาเล้งบริเวณทางออกก็มีให้บริการทั้งสองฟากเพื่อพานักท่องเที่ยวกลับมาตำแหน่งเดิมเช่นกัน ทั้งนี้ยังมีศาลาไม้ให้นักท่องเที่ยวนั่งพักอยู่เป็นระยะด้วย
-
ตอนนี้ทีมงานขอเริ่มจากซอยทางเข้าข้างวัดตะคียนงามก่อนเลย
บน – จากจุดตั้งต้นของทางเดินไม้มาไม่ไกล นักท่องเที่ยวก็จะพบลานโปรงแดงสุดลูกหูลูกตาจนดูคล้ายต้นไม้ที่ขึ้นบนพื้นดิน แต่จริงๆแล้ว ด้านล่างคือน้ำทะเลแฉะๆ เวลานี้มองไปทางไหนก็มีแต่ความสวยสดงดงาม ยิ่งแสงแดดเป็นใจด้วยแล้ว จากสีเขียวๆของใบไม้กลายเป็นสีเหลืองอร่ามคล้ายสีทองจนเป็นที่มาของคำว่า“ทุ่งโปรงทอง”นั่นเอง
กลาง – ไม่ว่าเราจะกวาดสายตาไปทิศไหน ก็เพลินตาทั้งนั้น
ซ้าย – ภาพนี้ทำให้เราเห็นความหนาแน่นของต้นโปรงแดงซึ่งเป็นตัวชูโรงอย่างชัดเจน (จากภาพ ต้นโปรงแดงเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 7-15 เมตร โคนต้นมีพูพอนเล็กน้อยและมีรากค้ำจุนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นรากหายใจรูปทรงคล้ายเข่าอ้วนกลม ยาว 12-20 เซนติเมตรอยู่เหนือผิวดิน มีสีน้ำตาลอมชมพู ทรงพุ่มกลมสีเข้มกึ่งสีเขียว มีช่องอากาศเล็กๆ เปลือกต้นมีชมพูเรื่อๆหรือน้ำตาลอ่อน และผิวเรียบถึงแตกเป็นสะเก็ด ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้ามและสลับทิศทาง เป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง แผ่นใบชี้ไปทางปลายกิ่ง ใบมีรูปไข่กลับแกมขอบขนานถึงรูปไข่กลับ กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร ปลายใบป้านมนหรือเว้าตื้นๆ ฐานใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบหยักเป็นคลื่น ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่างซีด ก้านใบยาว 1.5-4 เซนติเมตร หูใบยาว 1-3 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบ แต่ละช่อมี 4-8 ดอก ก้านช่อดอกเรียวยาว 1-1.5 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยสั้น วงกลีบเลี้ยงยาว 0.5-0.7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงหยักลึก 5 กลีบ เป็นรูปไข่และยาว 0.4-0.5 เซนติเมตร แผ่บานออก ปลายโค้งเข้าหาผล ใบประดับเชื่อมติดกันที่โคนหลอดกลีบเลี้ยง ส่วนกลีบดอก 5 กลีบเป็นรูปขอบขนาน ผลเป็นรูปแพรกลับ ยาว 1-3 เซนติเมตร เป็นผลแบบงอกตั้งแต่ยังติดอยู่บนต้น ลำต้นใต้ใบเลี้ยงหรือ“ฝัก”มีรูปทรงกระบอก กว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร ยาว 15-35 เซนติเมตร ปลายเล็กขยายใหญ่ไปทางส่วนโคน แล้วสอบแหลม มีสันแหลมตามยาว ผิวขรุขระ ผลอ่อนมีสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ผลห้อยลงในแนวดิ่ง ออกดอกและติดผลเกือบตลอดปี)
ขวาบน – ทางเดินไม้ในทุ่งโปรงทองเสมือนตัวเราโดนต้นโปรงแดงโอบกอดเอาไว้ไม่มีผิด
ขวาล่าง – จุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวต้องขึ้นไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึก



จากทุ่งโปรงทอง ขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมกับเส้นทาง 2.7 กิโลเมตร
ซ้ายบน – ทางเดินไม้ท่ามกลางต้นโกงกางในช่วงต่อมา
ขวาบน – บรรยากาศของป่าชายเลนแสมผู้
ซ้ายกลาง – เส้นทางเดินริมน้ำที่ติดกับฝั่งทะเล
ขวากลาง – อีกหนึ่งไฮไลต์ก็คือ ต้นแสมยักษ์(ที่นักท่องเที่ยวต้องหยุดถ่ายรูปก่อน)
ซ้ายล่าง – ต้นไม้ตามรายทางมีสรีระแปลกตาอยู่หลายจุด
ขวาล่าง – บรรยากาศป่าชายเลนแสมผู้ริมทะเล



 

เดินไปให้สุดทาง
ซ้ายบน – ทางเดินไม้ในป่าโกงกางช่วงท้าย
- นอกเหนือจากธรรมชาติในป่าชายเลนแล้ว ทีมงานยังมีบรรยากาศเก็บตกมาฝากด้วย
ขวาบน – คลองแสมผู้มีวิวงดงามและอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ที่ไหนๆ
ขวากลาง – ราวเดือนสิงหาคม ค้างคาวแม่ไก่จะบินมาอาศัยบนยอดสูงของต้นสนบริเวณปากน้ำประแส จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ก็จะจากไป วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ
กลาง – ภาพของทางเดินไม้สายยาวจากมุมไกลและท่าเทียบเรือริมทะเลพร้อมป่าชายเลนแสมผู้เป็นฉากหลัง
ซ้ายล่าง – ศาลเจ้าพ่อแสมผู้ (จากภาพ ศาลเจ้าพ่อแสมผู้ในทุ่งโปรงแดงถือเป็นจุดกำเนิดของทางเดินศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลนเลย สำหรับประวัติความเป็นมา ได้รับการเล่าขานจากนายชโลม วงศ์ทับทิม อายุ 70 ปีว่า เดิมเป็นศาลไม้เสาต้นเดียว จากนั้นลุงชโลมและชาวบ้านในชุมชนแสมผู้ได้ช่วยกันปรับปรุงศาลใหม่แทนศาลเก่า ลุงเล่าว่า ศาลที่เห็นในปัจจุบันนี้ ผู้ก่อสร้างคือ นายปรีชา อุตส่าห์ เป็นชาวบ้านตำบลประแส ได้มาบนศาลเจ้าพ่อแสมผู้ โดยขอให้ออกเรือประมงจับปลาได้จำนวนมาก เมื่อจับปลาได้ตามที่ขอไว้ จึงกลับมาสร้างศาลเป็นปูนซีเมนต์หลังคามุงกระเบื้องและสร้างสะพานปูนพร้อมกันเพื่อไว้เป็นท่าเทียบเรือเวลามากราบไหว้สักการะ โดยสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2529 ลุงเล่าให้ฟังต่อว่า นายชู พิรุญจิต เคยเห็นเจ้าพ่อแสมผู้ ลักษณะที่เห็นเป็นคนจีน รูปร่างใหญ่ ผิวดำ สวมเสื้อกุยเอ๋ง กางเกงขาก๊วย สวมหมวกกุ๋ยเล้ยหรือกุ้ยเลีย ผมสั้นเกรียน ซึ่งในขณะนั้นลุงชโลม มีอายุ 14-15 ปี ด้วยความที่เป็นเด็กวัยรุ่น ก็ไม่เชื่อว่า เจ้าพ่อแสมผู้มีตัวตนอยู่จริง ต่อมาไม่นาน ลุงก็เห็นเจ้าพ่อแสมผู้ จึงทำให้ลุงเชื่อว่า เจ้าพ่อแสมผู้มีอยู่จริง จึงเป็นที่เล่าขานสืบมาและเมื่อประมาณปี พ.ศ.2551 ลุงชโลมได้รับเงินบริจาคจากนายนพรัตน์ เอื้อตระกูล อดีตประธานสภาบริหารจังหวัดระยองและชาวบ้านในตำบลปากน้ำประแสให้มาบูรณะปรับปรุงซ่อมแซมศาลเจ้าพ่อแสมผู้เพื่อเป็นสถานที่สักการะของชาวบ้านแสมผู้และบริเวณใกล้เคียง)
- ไปสำรวจข้าวของที่จำหน่ายตรงทางเข้าสักหน่อย
ขวาล่าง - จากที่บอกไว้ว่า ทางเดินเข้าออกทุ่งโปรงทองมีอยู่สองเส้นทาง แต่ด้านที่คึกคักคือ ฝั่งชุมชนปากน้ำประแส(หรือบริเวณวัดตะเคียนงาม) ซึ่งจากปากซอย(ข้างวัดตะเคียนงาม)เข้ามาอีก 1.2 กิโลเมตร ก็จะพบทางเข้าเป็นศาลาท่าเทียบเรือบ้านแสมผู้ ตัวศาลามีลักษณะเป็นเพิงโครงเหล็ก ที่หน้าศาลาจะมีรถซาเล้งให้บริการรับส่งมากมาย ส่วนในศาลานั้น ทางซ้ายจะเป็นห้องน้ำ ส่วนทางขวาเป็นแผงเคานเตอร์จำหน่ายของกินและของฝากติดกันหลายเจ้า
รายการสินค้า - เครื่องดื่มแช่น้ำแข็งมีโค้ก แฟนต้า(น้ำส้ม น้ำแดง และน้ำเขียว) สไปรท์ โออิชิ(รสข้าวญี่ปุ่นและรสต้นตำรับ)
สแปลชรสส้ม น้ำดื่มน้ำทิพย์ และน้ำอ้อยขวด รวมทั้งน้ำกระเจี๊ยบและน้ำลำไยในโหลแก้วตักใส่แก้วน้ำแข็ง ผลไม้สดมีมะพร้าวสดและมะพร้าวเผา ของกินและของฝากอื่นๆมีกะปิ ชาใบขลู่ ลูกชิ้นทอด เกี๊ยวทอด ไส้กรอกทอด แหนมเอ็นไก่ ผลไม้จิ้มพริกเกลือ(คือ มะม่วงมัน มะกอกดอง องุ่นดอง กระท้อน สละ และฝรั่ง) ปลาข้าวสารแห้ง และปลาอินทรีแดดเดียว ส่วนของใช้มีผ้าเย็น

TODAY THIS MONTH TOTAL
164 3787 253005
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top