วัดพุทธนิมิต (วัดภูค่าว)

คำอธิบาย


วัดพุทธนิมิต(หรือวัดภูค่าว)ตั้งอยู่บนยอดเขาภูค่าวที่มีบรรยากาศร่มรื่น ภายในวัดมีศาสนสถานที่สำคัญคือ
- โบสถ์ไม้ ซึ่งทำจากไม้ทั้งหลัง รอบโบสถ์แกะสลักเรื่องราวพุทธประวัติอย่างสวยงาม
- เจดีย์พุทธนิมิต(หรือพระมหาธาตุเจดีย์พุทธนิมิต) ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจากห้าประเทศ
- วิหารสังฆนิมิต เป็นสถานที่เก็บรักษาพระพุทธรูปและพระเครื่องจำนวนมาก
ที่สำคัญก็คือ บริเวณยอดเขาด้านทิศตะวันตกมีพระนอนโบราณแกะสลักอยู่บนเพิงผาหินอายุนับพันปี ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวกาฬสินธุ์



นอกจากภาพแกะสลักนูนต่ำบนเพิงผาหินอายุนับพันปีที่ดึงดูดให้ประชาชนแวะเวียนมากราบไหว้แล้ว ศาสนสถานอื่นๆบนยอดภูค่าวก็มีหลายประเด็นให้พูดถึงเช่นกัน รวมทั้งนกยูงพันธุ์ไทยและพันธุ์อินเดียรอบลานที่เดินอวดโฉมไปมา
- จากด้านหน้าวัด ทีมงานขอเลี้ยวซ้ายขึ้นบันไดไปโบสถ์ไม้ก่อนเลย
ซ้ายบน – โบสถ์ไม้ (จากภาพ โบสถ์ไม้หลังนี้เป็นอาคารไม้ทรงไทย สร้างจากไม้ใต้เขื่อนลำปาว เช่น ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้เต็ง ฯลฯ สำหรับโครงสร้างโบสถ์ตั้งอยู่บนฐานลูกบัวปูนปั้น หลังคาจั่วซ้อนกันสามชั้นและมีชายคาปีกนกทั้งสี่ด้าน)
ขวาบน – รอบโบสถ์ไม้แกะสลักลวดลายเป็นภาพสามมิติและภาพนูนต่ำ เนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และพระเวสสันดรชาดก (จากภาพ หน้าบันแกะสลักรูปพระพุทธเจ้าประทับในป่าทึบแวดล้อมด้วยสิงสาราสัตว์ ส่วนบานประตูและหน้าต่างแกะสลักเรื่องราวพุทธชาดก ประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาทั่วโบสถ์)
กลาง – ภายในโบสถ์ไม้มีความวิจิตรงดงามและกว้างขวาง
ซ้ายล่าง – “พระมงคลชัยสิทธิ์โรจนฤทธิประสิทธิพร”เป็นพระประธานปางตรัสรู้หรือปางสมาธิสีทองอร่าม (จากภาพ บนเพดานเหนือองค์พระประธานตกแต่งด้วยประติมากรรมไม้แกะสลักนูนต่ำทาสีทอง เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ)
ขวาล่าง – เจดีย์พุทธนิมิต(หรือ“พระมหาธาตุเจดีย์พุทธนิมิต”)เป็นเจดีย์ที่มียอดทองคำหนัก 30 กิโลกรัม (ยกเว้นปล้องไฉนที่ไม่ใช่ทองคำ) ในเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อให้เคารพสักการะและเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน




ตอนนี้ทีมงานอยู่ในเจดีย์พุทธนิมิตแล้ว
ซ้ายบน – ภายในบุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจาก 5 ประเทศ(ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา เนปาล พม่า) พระอรหันตธาตุ และพระธาตุของอริยสงฆ์ รวมทั้งพระพุทธนิมิตเหล็กไหล(องค์สีดำ)ที่ประดิษฐานอยู่บนฐาน สำหรับบุษบกมีทั้งหมด 4 ทิศ ซึ่งหมายถึงอิทธิบาท 4 ขณะที่รอบอาคารเจดีย์มีรูปทรง 8 เหลี่ยม อันหมายถึง มรรคมีองค์ 8 (จากภาพ ในเจดีย์มีเสาใหญ่ 32 ต้น พื้นทั้งหมดปูด้วยแผ่นไม้ สำหรับไม้นำมาจากประเทศลาวและพม่า)
ขวาบน – พื้นที่ในเจดีย์พุทธนิมิตใหญ่โตและกว้างขวาง
ขวากลาง – ประตูทางเข้าเจดีย์พุทธนิมิตเป็นแผ่นไม้แกะสลักลวดลายงดงาม ประตูนี้มีชื่อว่า“ประตูบรรพตพรหมจรรยา” ผนังด้านข้างประดับลวดลายนูนต่ำ พระพุทธรูปด้านล่างคือ“พระพุทธชานวัยตัก” ส่วนด้านบนคือ“พระพุทธชานเรินเมย์” ทั้งนี้ประตูแต่ละบานและผนังแต่ละด้านก็มีชื่อแตกต่างกันไป
ซ้ายกลาง – ผนังรอบข้างรายล้อมด้วยพระพุทธรูปหินทรายจำนวน 129 องค์
ซ้ายล่าง – ลานพระพุทธรูป 4 อิริยาบถ ได้แก่ ยืน เดิน นอน และนั่ง
- เราไปชมสักสองอิริยาบทกัน
ขวาล่าง – พระนอนปางไสยาสน์

 


อีกหนึ่งอิริยาบถ
ซ้ายบน – พระนั่งปางสมาธิ
- จากฝั่งโบสถ์ไม้และเจดีย์พุทธนิมิต คราวนี้เราเดินไปอีกฟากหนึ่ง
ขวาบน – ระหว่างเส้นทางเป็นป่าร่มรื่นบนเขา พันธุ์ไม้ก็ย่อมมีมากตาม เช่น ต้นประดู่ ต้นเต็ง ต้นมะพอก ต้นเหมือดแอ่ ต้นคำรอก ฯลฯ
ขวาล่าง - วิหารสังฆนิมิต ภายในวิหารเก็บรักษาพระพุทธรูปหลายขนาดจำนวนมาก ตั้งแต่พื้นล่างขึ้นไปถึงผนังจรดเพดานมีพระเครื่องนับพันองค์ประดับอยู่รอบทิศ
- ห่างจากวิหารสังฆนิมิตไม่ไกล เราก็มาถึงไฮไลต์สำคัญของวัดพุทธนิมิต(หรือวัดภูค่าว)แล้ว
ซ้ายล่าง – ประชาชนกำลังกราบไหว้พระพุทธรูปแกะสลักโบราณบนเพิงผาหินอายุนับพันปี
ล่าง – บนยอดเขาภูค่าวพบภาพสลักนูนต่ำใต้เพิงผาหินและปิดทองคำเปลวทั้งองค์ เป็นภาพพระพุทธรูปประทับนอนโดยฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสานสมัยทวารวดี ตามตำนานกล่าวว่า แกะสลักขึ้นพร้อมกับการสร้างองค์พระธาตุพนม โดยกลุ่มคนที่เดินทางไปร่วมสร้างองค์พระธาตุพนมราวปี พ.ศ.8 แต่ไปไม่ทันเนื่องจากองค์พระธาตุสร้างเสร็จก่อน จึงช่วยกันสลักพระพุทธรูปใต้เพิงผาหินนี้ขึ้นแทน ต่อมาในปี พ.ศ.2484 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) สังฆนายกไปตรวจสังฆมณฑลอีสาน ทรงเดินทางไปนมัสการพระพุทธรูปที่วัดภูค่าว เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพ ก็ขอให้อธิบดีกรมศิลปากรดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งแรกในจังหวัดกาฬสินธุ์ สำหรับปฏิมากรรมแกะสลักหินนูนต่ำที่วัดภูค่าวนั้น เป็นภาพพระพุทธรูปแสดงอิริยาบถนอนตะแคงซ้าย มีพระเศียรหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระกรซ้ายรองรับพระเศียร พระกรขวาทอดยาวไปตามพระวรกาย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรปิด พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระเกศาเรียบ ไม่มีขมวดพระเกศา ไม่มีอุษณีษะและพระรัศมี แต่มีประภามณฑลเป็นวงกลม ครองจีวรห่มดองบางแนบพระวรกาย สังฆาฏิเป็นแผ่นแบนยาวจรดพระนาภี พระบาทวางซ้อนเหลื่อมกันเล็กน้อย ด้านล่างมีแท่นหินยาวรองรับคล้ายแท่นบรรทม กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนภาพสลักนูนต่ำพระพุทธรูปประทับนอนวัดภูค่าวในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2491 (จากภาพ ตามตำนานกล่าวว่า ภาพสลักนูนต่ำนี้เป็นลักษณะของพระโมคคัลลานะ พระสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว ความยาวตลอดองค์คือ 2 เมตร พระนอนแกะสลักนูนต่ำนี้เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป โดยทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระนอนในวันที่ 19 เมษายนของทุกปี)
- ขณะเดียวกัน บริเวณลานจอดรถจะมีรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างสองสามคันมาจอดจำหน่ายของกินเล็กๆน้อยๆด้วย เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ไข่ทรงเครื่อง ไอศกรีม ฯลฯ


TODAY THIS MONTH TOTAL
241 5389 248754
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top