พระธาตุยาคู

คำอธิบาย


พระธาตุยาคู เดิมเรียกว่า ธาตุใหญ่ เป็นสถูปเจดีย์ในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15) มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาโบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง คำว่า“ยาคู”หรือ“ญาคู”เป็นคำพื้นถิ่นอีสาน ใช้เรียกพระเถระที่มีจริยวัตรงดงามน่านับถือ ดังนั้นพระธาตุยาคูจึงอาจเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุพระเถระรูปสำคัญก็ได้

มีการพบหลักฐานการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกันคือ ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ สร้างในสมัยทวารวดี แผนผังสถูปองค์เดิมเปรียบเทียบได้กับศาสนสถานแบบทวารวดีที่พบทางภาคกลาง รูปทรงขององค์เจดีย์เปลี่ยนแปลงไปในสมัยหลัง กลายเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม สร้างซ้อนทับบนฐานสี่เหลี่ยมเดิม ซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอด ต่อเติมให้สูงขึ้นภายหลังโดยช่างชาวญวนในสมัยรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรทำการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2526 และครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ.2539 รอบๆองค์พระธาตุพบใบเสมาหินทรายแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นเรื่องพุทธประวัติ และยังปรากฏซากฐานเจดีย์ขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐอีก

พระธาตุยาคูได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2480 มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน




ตอนที่เมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดสงยางทิ้ง เหลือแต่พระธาตุยาคูแห่งเดียวที่ไม่ถูกทำลาย และในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ชาวบ้านจะจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อเป็นการขอฝนและนำความร่มเย็นมาสู่หมู่บ้านด้วย ทีมงานเลยขอเก็บข้อมูลส่วนอื่นๆมาเสริมให้
บน – พระธาตุยาคูตั้งโดดเด่นอยู่กลางลานสีเขียว

 


เรียนรู้เรื่องราวของพระธาตุยาคูไปด้วยกัน
ซ้ายบน – พระธาตุยาคูเป็นเจดีย์ทรงบัวแปดเหลี่ยม ก่ออิฐไม่สอปูน (จากภาพ ด้านนี้เป็นด้านหน้าและหันไปทางทิศตะวันออก)
ซ้ายกลาง – ฐานตอนล่างย่อมุมไม้ยี่สิบ เดิมมีลวดลายปูนปั้นประดับในสมัยทวารวดี ปัจจุบันหลุดออกหมด
ขวาบน - ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงเรียงลดหลั่นกัน 5 ชั้น รับบัวแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ซ้อนกัน บัวแปดเหลี่ยมแต่ละชั้นแต่งเป็นกลีบบัวประดับที่ฐานโดยรอบ และถัดขึ้นไปอีกเป็นบัวแปดเหลี่ยมขนาดเล็กรับปลียอด
ขวากลาง – ทิศใต้ของพระธาตุยาคูพบซากฐานเจดีย์ขนาดเล็ก 5 ฐาน เรียงตามแนวทิศเหนือใต้ แต่ละฐานมีส่วนล่างสุดเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส เหนือฐานขึ้นไปมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น บางองค์เป็นฐานย่อมุมไม้ยี่สิบหรือฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกอซุ้มในตอนกลางของแต่ละด้าน บางองค์เหนือขึ้นไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส บางองค์ที่มุมทั้งสี่จะก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนทับให้เหลื่อมกัน (จากภาพ ตัวอย่างซากฐานเจดีย์จากห้าฐานที่ค้นพบ)
ซ้ายล่าง – ซุ้มสักการะพระธาตุยาคู
- ใกล้กับพระธาตุยาคูมีโซนสินค้าซึ่งสร้างเป็นเรือนเกย ที่หน้าเรือนเกยแต่ละหลังจะตั้งซุ้มจำหน่ายสินค้าติดๆกัน เริ่มจากสินค้าอุปโภคก็มีเสื้อผ้าพื้นเมืองชายหญิง แหวน กำไล สไบ หมวก ต่างหู ตุ๊กตาเซรามิก ผ้าขาวม้า และกระเป๋าผ้า ส่วนของบริโภคมีผลไม้หั่นชิ้น(เช่น มะม่วงมัน มันแกว สับปะรด ฝรั่ง ฯลฯ) ลูกชิ้นนึ่ง ไส้กรอกนึ่ง น้ำอัดลมใส่น้ำแข็ง น้ำดื่ม รวมทั้งชานมไข่มุกไต้หวัน(ที่มีรายการเครื่องดื่ม เช่น นมสดไข่มุก ดาร์กโกโก้นมสด ชาเขียวมัทฉะ มันม่วงลาเต้ บราวน์ชูการ์นมสด เมล่อนโซดา บลูพาราไดซ์โซดา พีชโซดา ฯลฯ)
ขวาล่าง – และตัวอย่างสินค้าที่ทีมงานยังไม่ได้เอ่ยถึง ขอเป็นร้านนี้แล้วกัน นั่นคือ สาด ตะกร้าสาน กระเป๋าสาน ปิ่นปักผม และเครื่องสักการะที่ใช้ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาหรือขบวนแห่(ที่แขวนอยู่)นั่นคือ ธุงหรือตุง


TODAY THIS MONTH TOTAL
65 2749 251967
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top