วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

คำอธิบาย


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เดิมเป็นวัดสำคัญและเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ก่อนถูกทิ้งร้างไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 จากนั้นมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งในสมัยรัตนโกลินทร์

ประวัติการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ปรากฏในจารึกบนแผ่นลานทองที่พบจากกรุพระปรางค์และยอดนภศูลในปี พ.ศ.2456 ข้อความในจารึกระบุถึงการสร้างพระสถูป (องค์พระปรางค์) ของพระมหากษัตริย์และการปฏิสังขรณ์โดยพระราชโอรสในสมัยต่อมา ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างอาจหมายถึง สมเด็จพระนครินทราธิราชหรืออาจหมายถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) จึงนำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสถาปนาขึ้นช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาระหว่างรัชกาลใดรัชกาลหนึ่งดังกล่าว กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นโบราณสถานสำคัญเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หลังจากนั้นมีการดำเนินงานขุดศึกษาทางโบราณคดีและบูรณะโบราณสถานเป็นระยะ จนเมื่อปี พ.ศ.2555 สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรีได้ดำเนินงานขุดศึกษาทางโบราณคดีอย่างต่อเนื่องอีกครั้งพร้อมทั้งบูรณะโบราณสถานและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2562



วัดเก่าแก่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้นแห่งนี้มีโบราณสถานมากมายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมและถ่ายรูปกลับไป นอกจากนี้ยังโด่งดังมากเรื่องพระผงสุพรรณและพระพิมพ์ต่างๆสำหรับเซียนพระทั่วประเทศ ความเป็นมาของทั้งสองประเด็นจึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาตลอดวัน
บน - บรรยากาศของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (จากภาพ แผนผังสถาปัตยกรรมของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุประกอบด้วยเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งเป็นปรางค์ประธานของวัด ด้านข้างมีปีกปรางค์หรือปรางค์ขนาดเล็กขนาบข้างปรางค์ประธานทั้งสองด้านและมีระเบียงคดล้อมอยู่โดยรอบ ด้านนอกระเบียงคดมีวิหารหลวงอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออกและอุโบสถอยู่ด้านหลังทางทิศตะวันตก โดยสร้างอยู่ในแนวเดียวกันกับปรางค์ประธานตามความนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายนอกระเบียงคดโดยรอบยังมีวิหารรายและเจดีย์รายอีกหลายองค์ด้วย)
ซ้ายบน – พระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก่อด้วยอิฐสอดิน ผิวด้านนอกฉาบปูน ส่วนฐานทำเป็นฐานบัวลูกฟักสี่เหลี่ยมย่อมุมซ้อนลดหลั่นขึ้นไป 4 ชั้นเพื่อรองรับเรือนธาตุ ลักษณะมุมมีมุมประธานซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง มุมย่อยซึ่งมีขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง และมุมย่อยที่มีขนาดเล็กกว่าขนาบทั้งสองข้าง องค์เรือนธาตุสอบโค้งเข้าหาส่วนบน ย่อมุมรับกับส่วนฐาน และมีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน เฉพาะด้านทิศตะวันออกทำเป็นคูหาสำหรับประดิษฐานพระปรางค์จำลองและพระบรมสารีริกธาตุ ผนังในคูหาทั้ง 3 ด้านฉาบปูนเรียบ เพดานบุด้วยแผ่นไม้กระดาน และมีบันไดขึ้นสู่คูหาเพียงด้านเดียว หน้าบันของเรือนธาตุทำเป็นซุ้มลดหลั่นซ้อนกัน 2 ชั้น ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นรูปมกรและนาค บริเวณชั้นบัวรัดเกล้าปรากฏรูปเทพพนมระหว่างมกรและนาค บริเวณชั้นบัวรัดเกล้าปรากฏลวดลายปูนปั้นเป็นรูปอุบะและกลีบบัว อันเป็นรูปแบบนิยมสมัยอยุธยาตอนต้น(ซึ่งสามารถเทียบได้กับชั้นบัวรัดเกล้าของพระปรางค์ในวัดราชบูรณะที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เหนือขึ้นไปเป็นชั้นเชิงบาตรครุฑแบกและยักษ์แบก แต่ปัจจุบันปรากฏเพียงปูนปั้นรูปยักษ์บริเวณมุมย่อยเท่านั้น นอกจากนี้บริเวณหน้ากระดานของวิมานชั้นแรกยังปรากฏลวดลายปูนปั้นเป็นรูปหงส์และรูปใบไม้ในกระจกอีกด้วย ส่วนยอดพระปรางค์ประกอบด้วยชั้นวิมานจำลองซ้อนลดหลั่นขึ้นไป 7 ชั้น โดยสอบโค้งเข้าหาปลาย บริเวณมุมและด้านข้างประดับด้วยกลีบขนุนและซุ้มบันแถลง ยอดพระปรางค์ประดับด้วยนภศูล
ขวาบน – ทิวทัศน์ด้านหลังพระปรางค์ (จากภาพ ใต้อักษร w ตัวแรกลงมา เราจะเห็นปีกปรางค์หรือปรางค์ขนาดเล็กด้านทิศเหนือด้วย)
ซ้ายล่าง – พระบรมสารีริกธาตุบนองค์พระปรางค์
ขวาล่าง – นักท่องเที่ยวต่างเดินขึ้นบันไดไปกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุบนองค์พระปรางค์ นอกจากนี้ วิวบริเวณบันไดก็กลายเป็นจุดเช็กอินที่หลายคนต้องถ่ายรูปคู่ไปโดยปริยาย



ค่อยๆเดินชมวัดกัน
ซ้ายบน – เจดีย์ราย(ที่อยู่รอบวัด)
ขวาบน – พระนอน (จากภาพ พระนอนมีทั้งหมดสององค์ แต่ละองค์จะประดิษฐานอยู่ในศาลา ซึ่งมีทั้งหมดสองศาลา)
ซ้ายกลางบน – วิหารราย(ที่อยู่รอบวัด)
ขวากลาง – วิหารหลังเก่า(เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว)
ซ้ายกลางล่าง – บริเวณนี้คือ แท่นพระ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระศรีรัตน ขณะที่อาคารด้านหลังคือ วิหารหลวง
ขวาล่าง – ภายในวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อดำ ในอดีตเคยมีหลวงพ่อดำอยู่สององค์ โดยทั้งสององค์ประดิษฐานหันหลังชนกัน แต่องค์ด้านหลังพังทลายลงไป สำหรับวิหารหลวงนี้เป็นอาคารที่สร้างครอบทับวิหารเดิมในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ เหตุที่ทราบว่า สร้างครอบทับวิหารเดิมก็เพราะมีการขุดค้นพบฐานวิหารเดิมอยู่ด้านล่าง
ซ้ายล่าง – พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงเหล่านี้ เดิมเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่รอบพระปรางค์ จากนั้นได้นำมาเก็บรักษาภายในวิหารหลวง ซึ่งพระพุทธรูปส่วนใหญ่ชำรุดไปตามกาลเวลา ประชาชนจึงร่วมกันบูรณะพระพุทธรูปเหล่านี้ แล้วใส่อัฐิของญาติไว้ เมื่อถึงเทศกาล เช่น วันพระใหญ่ จะมีการเปิดวิหารหลวงให้ญาติได้เข้ามากราบไหว้



 

ศึกษาข้อมูลต่อ
ซ้ายบน – อุโบสถหลังเก่า (จากภาพ อุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นใหม่เนื่องจากอุโบสถหลังเดิมทรุดโทรมไปตามกาลเวลา)
ขวาบน – หลวงพ่อโต (จากภาพ
ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ในครั้งแรกที่ทำการสำรวจวัด องค์หลวงพ่อโตเหลือแต่เพียงเศียร ส่วนลำตัวพังทลายไป กรมศิลปากรจึงตกแต่งลำตัวขึ้นใหม่เพื่อประกอบให้เป็นองค์พระประธานที่สมบูรณ์)
ซ้ายกลางบน – อุโบสถหลังใหม่
ซ้ายกลางล่าง - วิหารพระผงสุพรรณ
ขวาล่าง – พระผงสุพรรณ ภายในวิหารประดิษฐานพระผงสุพรรณที่ใหญ่ที่สุดในโลก (จากภาพ พระผงสุพรรณเป็นพระประธานในวิหารเพื่อให้ประชาชนเข้ามากราบไหว้ สำหรับประวัติความเป็นมาของพระผงสุพรรณก็คือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นต้นกำเนิดของพระเครื่องหนึ่งใน“เบญจภาคี”อันเลื่องชื่อ ในอดีต พระอารามนี้เคยถูกทิ้งร้างอยู่เป็นเวลานาน ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2456 มีชาวจีนเข้าไปถางพงหญ้าทำสวนผักในบริเวณวัดและขุดองค์พระปรางค์ แล้วพบแก้วแหวนเงินทองสมัยโบราณเป็นจำนวนมาก จนข่าวกรุแตกกระจายไปทั่ว เรื่องราวนี้ทราบถึงคณะกรรมการเมือง พระยาสุนทรบุรี (อี้ กรรณสูต) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองสุพรรณบุรีในขณะนั้น พระยาสุนทรบุรีเห็นว่า หากปล่อยทิ้ง จะสร้างความเสียหายต่อสมบัติของชาติ จึงได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสนพระทัยทางโบราณคดีและกำลังค้นหาที่ตั้งของเจดีย์ยุทธหัตถีในเขตเมืองสุพรรณบุรีอยู่พอดี จึงทรงเป็นประธานเปิดกรุพระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2456 พระผงสุพรรณนับเป็นพระเครื่องที่มีชื่อ ซึ่งบรรจุอยู่ในชุด“เบญจภาคี” โดยมีทั้งเนื้อดินและเนื้อชินที่เรียกว่า“พระผงสุพรรณยอดโถ” แต่สาเหตุที่เรียก“ผงสุพรรณ”ก็เนื่องจากการค้นพบจารึกลานทอง ซึ่งกล่าวถึงการสร้างพระผงสุพรรณจากผงว่านเกสรดอกไม้อันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้รับการเรียกขานว่า“ผงสุพรรณ”เรื่อยมา สำหรับพระพิมพ์ต่างๆที่พบในปรางค์ประธานของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุประกอบด้วยพระพิมพ์ผงสุพรรณเนื้อดิน ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 3 พิมพ์คือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม พร้อมพระพิมพ์มเหศวรเนื้อชินเงิน พระพิมพ์สุพรรณยอดโถเนื้อชินเงิน พระขุนแผน พระสุพรรณหลังพระ พระปทุมมาศ และพิมพ์เนื้อดินและเนื้อเงินต่างๆอีกหลายพิมพ์ ตามประวัติจากจารึกแผ่นลานทองศุภมัสดุ 1265 กล่าวว่า มีพระฤาษี 4 ตนเป็นผู้สร้าง โดยมีพระฤาษีภรตมุณรี(พ่อแก่)เป็นประธาน และมี 1.พระฤาษีพิลาลัย 2.พระฤาษีตาไฟ 3.พระฤาษีตาวัว และ 4.พระฤาษีภุชงค์ รวมทั้งพระฤาษีอีก 11 ตนเป็นผู้ร่วมสร้างและมีพระมหาเภรปิยะทัสสะสีศรีสาลีบุตรเป็นองค์ประธานพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำถวายแก่พระยาศรีธรรมาโศกราชสำหรับบรรจุในพระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพื่อบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยอัญเชิญเทพยดามาช่วยกันทำพิธีปลุกเสกด้วยมนต์คาถาครบ 3 เดือน
- เรื่องราวของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุก็ลุล่วงด้วยดี แต่ภายในวัดและนอกวัดยังมีข้าวของจำหน่ายอยู่หลายเจ้า
ซ้ายล่าง -
ภายในวัดจะมีรถเข็นและแผงลอยแวะเวียนเข้ามาจำหน่ายสินค้าต่างๆบริเวณวิหารพระผงสุพรรณและบริเวณถนนทางเข้าวัด ขณะที่หน้าวัดคือ ถนนสมภารคง เมื่อข้ามถนนสองเลนนี้ไป จะเป็นเพิงยาวเลียบถนนอยู่ริมฟุตบาท ภายในเพิงแบ่งเป็นล็อกของร้านค้าติดๆกัน บางเจ้าก็มีที่นั่งกินอยู่ในเพิงด้วย (จากภาพ จุดนี้เป็นร้านค้าใต้เพิงฝั่งถนนตรงข้ามกับวัด)
รายการสินค้า - เริ่มจากในวัดมี
เครป(พร้อมเครื่องดังนี้ พริกเผา ซีเรียล แยมสตรอว์เบอร์รี แยมบลูเบอร์รี ชีสยืด โอวัลติน ไข่ไก่ สาหร่าย ไก่หยอง หมูหยอง ไส้กรอก และนูเทลลา) น้ำกระเจี๊ยบ น้ำตาลสด ไอศกรีมไผ่ทอง รวมทั้งสลากกินแบ่ง ส่วนของกินด้านนอกฝั่งตรงข้ามวัดมีก๊วยจั๊บ กะเพราหมูกรอบ หมูแดดเดียว เครื่องใน) กะเพรารวมมิตรทะเล(กุ้งและหมึก) คะน้าหมูกรอบ ข้าวผัด(หมู กุ้ง ทะเล) ผัดไทย(ใส่หรือไม่ใส่กุ้งสด) ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว สุกี้น้ำและแห้ง ไก่ย่าง แกงอ่อม ต้มแซ่บ ลาบ ไส้ย่าง ตำไทย ตำปู ตำปูปลาร้า ตำปูไทย ตำแตง ตำถั่ว ตำมะม่วง ตำซั่ว ตำหน่อไม้ ตำไข่เค็ม ตำข้าวโพด ตำหอยดอง ตำข้าวโพดบวกไข่เค็ม ลูกชิ้นทอด โครงไก่ทอด ไส้กรอกทอด กล้วยทอด และข้าวเกรียบปากหม้อ(ไส้หวาน ไส้เค็ม และไส้ผัก) เครื่องดื่มต่างๆมีกาแฟเย็น ชาดำเย็น โกโก้ โอวัลติน เผือกหอม แดงโซดา เขียวโซดา ชาเย็น นมเย็น ชาไข่มุก ชาเขียว และชานม ส่วนน้ำผลไม้ปั่นและคั้นมีมะพร้าว ส้ม มะนาว และมะพร้าวปั่นนมสด รวมทั้งมะพร้าวถอดเสื้อ ของกินเล่นตอกแผงมีเชอร์รี่แดง พุทราเชื่อม ท็อฟฟี่นม บ๊วยเค็ม และปลากรอบ นอกจากนี้ยังมีของเล่นตอกแผงคือ ลูกแก้ว ไฟฉาย ปืน ตุ๊กตา สติกเกอร์ และไฟเย็น


TODAY THIS MONTH TOTAL
18 5166 248531
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top