วัดหน่อพุทธางกูร

คำอธิบาย


วัดหน่อพุทธางกูรสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ชาวบ้านเล่าลือต่อกันมาว่า ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ เมื่อคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ.2369 ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้และสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นในบริเวณที่มีฐานอุโบสถเก่าอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถสืบหาอายุได้ว่า สำนักสงฆ์นี้สร้างขึ้นเมื่อใด ต่อมาขุนพระพิมุขข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สร้างเป็นวัดขึ้นและให้ชื่อว่า“วัดมะขามหน่อ” จนกระทั่งในสมัยพระครูสุวรรณวรคุณ(หรือหลวงพ่อคำ)เป็นเจ้าอาวาส จึงเปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็น”วัดหน่อพุทธางกูร”

สิ่งที่โดดเด่นของวัดก็คือ อุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุนับร้อยปี



ขณะที่ทีมงานนั่งรอคะน้าหมูกรอบที่ร้านอาหารตามสั่งแห่งหนึ่ง ป้าที่เป็นแฟนคนทำกับข้าวเข้ามาบอกว่า “ถ้าคุณชอบถ่ายรูป เดี๋ยวลองไปวัดหน่อดูสิ อยู่แค่นี้เอง แล้วไปที่โบสถ์หลังเก่านะ เขามีภาพโบราณในโบสถ์ด้วยแหละ คุณต้องชอบแน่” และเมื่อทีมงานมาถึงวัด ภาพจิตรกรรมฝาผนังสุดงดงามชิ้นนี้ก็ไม่ผิดหวังอย่างที่ป้าพูดจริงๆ
บน – ถึงแม้จิตรกรรมฝาผนังจะมีอายุนับร้อยปีแล้ว แต่หลายส่วนยังอยู่ในสภาพดี ผนังทั้งสี่ด้านเป็นการระบายสีแบบเรียบด้วยสีสันสดใส แล้วตัดเส้น โดยเป็นภาพสองมิติที่มีเนื้อหาเป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา ทั้งทศชาติชาดก พุทธประวัติ เทพยดา และเรื่องราวในไตรภูมิ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (จากภาพ ผู้เขียนภาพบนผนังเหล่านี้คือ นายคำ สำหรับประวัติของนายคำ เป็นชาวเวียงจันทน์และเป็นช่างเขียน นายคำถูกกวาดต้อนมาในสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ โดยมีพี่น้อง 3 คน แต่พลัดพรากจากกันเมื่อตอนเดินทางเข้ามาเมืองไทย ตัวนายคำเข้ามากรุงเทพในฐานะที่เคยเป็นช่างเขียนมาก่อน ระหว่างอยู่ในกรุงเทพ นายคำจึงถูกเกณฑ์ให้มาเขียนภาพที่วัดสุทัศน์ หลังจากเขียนเสร็จ นายคำพยายามตามหาพี่น้องที่มาจากเวียงจันทน์และสืบทราบว่า พี่น้องของตนมาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จึงติดตามมาและพบอยู่ที่ตำบลพิหารแดง ขณะนั้นชาวบ้านวัดมะขามหน่อได้บูรณะอุโบสถเสร็จพอดี แล้วจะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังต่อ นายคำจึงรับอาสาเขียนให้และให้นายเทศ ซึ่งเป็นลูกเขยมาช่วยเขียนภาพอีกคน เมื่อเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรเสร็จ นายคำยังได้เขียนภาพที่อุโบสถในวัดประตูสารต่อด้วย)



 

ได้เวลาเดินชมจิตรกรรมบนฝาผนังในอุโบสถแล้ว
ซ้ายบน – ภาพจิตรกรรมด้านข้างแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนบนของผนังแบ่งเป็นสี่ชั้น ชั้นบนสุด(ที่เป็นพื้นสีขาวแบบเลือนลาง)คือภาพคนธรรพ์และวิทยาธร ส่วนสามชั้นล่างเป็นภาพเทพชุมนุมถือดอกไม้มุ่งหน้าไปบูชาพระประธานและพระเจดีย์จุฬามณีซึ่งอยู่ด้านหลังพระประธาน ส่วนด้านล่างเป็นการเล่าเรื่องทศชาติชาดกและพุทธประวัติ ภาพจิตรกรรมนี้จะใช้ฉากหลังสีเข้มเพื่อหนุนให้ตัวภาพเด่นขึ้น ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การแยกภาพแต่ละเรื่องออกจากกันใช้พุ่มไม้และภูเขาเป็นการแยกภาพ ซึ่งเป็นลักษณะการใช้เส้นสินเทาแบ่งภาพออกจากกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย (จากภาพ บานหน้าต่างก็ทาชาดเขียนสีรูปเทพพนมยืนอยู่บนแท่นด้วย)
ขวาบน – ภาพจิตรกรรมฝาผนังทางขวาของอุโบสถที่อยู่ข้างพระประธานเป็นเรื่องทศชาติชาดก โดยเริ่มตั้งแต่เตมียชาดกไปจนถึงพรหมนารทชาดก เนื่องจากพื้นที่ในการเขียนภาพมีน้อย ช่างจึงเขียนภาพชาดกแต่ละเรื่องเฉพาะฉากสำคัญๆ 2-3 ฉาก ตัวอย่างเช่นภาพนี้เป็นตอนมหาชนกชาดก ก็เขียนภาพตอนพระมหาชนกเดินทางค้าขายทางทะเล แต่เรือเกิดอับปาง นางมณีเมขลามาพบและช่วยพระมหาชนกขึ้นจากมหาสมุทร
ขวากลางบน – พระประธานในอุโบสถ (จากภาพ จิตรกรรมบนผนังด้านหลังพระประธาน ส่วนบนเป็นภาพพระเจดีย์จุฬามณีที่มีหมู่เทพยดา นางฟ้า และบริวารทั้งหลายมาเฝ้าบูชา ส่วนล่างเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ โดยเริ่มตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จทอดพระเนตรพระราชบุตรและพระราชเทวี เสด็จออกมหาวิเนษกรมณ์ ทรงตัดพระเมาลี แล้วภาพจิตรกรรมก็ลบเลือนไป จากนั้นก็ปรากฏภาพในตอนนางสุชาดามาถวายข้าวมธุปายาส โดยภาพจิตรกรรมมาจบลงที่ตอนพระมหาบุรุษทรงลอยถาดทอง)
- อนึ่ง จิตรกรรมฝาผนังที่วัดหน่อพุทธางกูรเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันไปตลอด โดยเริ่มตั้งแต่ทศชาติชาดกคือ ตอนที่พระโพธิสัตว์ทรงเสวยพระชาติต่างๆก่อนที่พระองค์จะมาจุติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วต่อด้วยภาพพุทธประวัติซึ่งเป็นเรื่องของมหาบุรุษ ก่อนที่จะตรัสรู้จนถึงตอนใกล้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสันนิษฐานว่า ช่างเขียนภาพคงสร้างความต่อเนื่องให้พระประธานในอุโบสถแทนพระพุทธองค์ตอนที่ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว และภาพด้านบนที่เป็นภาพเทพยดา คนธรรพ์ และวิทยาธรต่างๆมาบูชาพระเจดีย์จุฬามณี ก็เป็นเรื่องราวหลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพานแล้ว
ซ้ายกลาง - สถาปัตยกรรมของอุโบสถเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนขนาด 3 ห้อง ด้านหน้าโบสถ์มีมุขยื่นออกมาและมีเสารองรับอยู่ 4 ต้น หน้าบันและส่วนประดับต่างๆเป็นไม้จำหลักงดงามมาก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาปลายมน ฐานอาคารแอ่นโค้งเป็นรูปท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า เดิมวัดมะขามหน่ออาจเป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาชาวบ้านบริเวณวัดมะขามหน่อได้บูรณะใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ขวากลาง – โบสถ์หลังใหม่ของวัดหน่อพุทธางกูร
ซ้ายล่าง – บรรยากาศภายในโบสถ์หลังใหม่
ขวาล่าง – อนุสรณ์หลวงพ่อคำ จนทโชโต (พระครูสุวรรณวรคุณ) เจ้าอาวาสวัดหน่อพุทธางกูร สำหรับประวัติของหลวงพ่อคำ นามเดิมชื่อ คำ แซ่ตัน บิดาชื่อ จีนฮั้ว มารดาชื่อ จันทร์ เกิดวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2430 เวลาประมาณ 19:19 น. ท่านจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาด้วยความเชี่ยวชาญแตกฉาน มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และช่วยประกอบกิจการของบิดามารดา เมื่ออายุ 16 ปี ได้รับความอนุเคราะห์จากพระอาจารย์คำตาให้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2445 ณ วัดหน่อพุทธางกูรและอยู่จำพรรษาที่วัดหน่อพุทธางกูร 1 พรรษา จากนั้นไปศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดภาวนาภิรตาราม 1 ปี เมื่ออายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดมะนาว โดยมีพระครูวิญญานุโยค วัดอู่ทอง เป็นพระอุปัชฌาย์ และจำพรรษาอยู่ที่วัดมะนาว 1 พรรษา จากนั้นย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งขณะนั้นมีพระอธิการบุญมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้รับคำแนะนำอบรมสั่งสอนจนมีความรู้แตกฉานในหลักพระธรรมวินัยและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามจนได้รับเกียรติให้เป็นผู้รับภารกิจทางพุทธศาสนาสืบต่อมาจนสิ้นอายุขัย นับพรรษาได้ทั้งหมด 62 พรรษา หลวงพ่อคำมรณภาพเมื่อวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 สิริรวมอายุ 83 ปี


TODAY THIS MONTH TOTAL
49 4040 253258
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top