โบราณสถานเมืองเพนียดและวัดทองทั่ว

คำอธิบาย


โบราณสถานเมืองเพนียดเป็นส่วนประกอบของอาคารที่ก่อด้วยศิลาแลง ขนาดประมาณ 40 x 70 เมตร หนาราว 10-11 เมตร สูงประมาณ 1.70 – 4.00 เมตร ภายในเป็นพื้นที่โล่งและมีบันไดทางขึ้นหลักอยู่ด้านทิศเหนือและบันไดทางลงตัวโบราณสถานอยู่ด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก พื้นบนของผนังอาคารด้านทิศเหนือปูด้วยศิลาแลง มีความสูงประมาณ 1.70 เมตร ส่วนพื้นบนของผนังอาคารด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีศิลาแลงปูสูงราว 2.30 เมตรและมีบันไดทางขึ้นสู่ผนังอาคารด้านทิศใต้ ซึ่งสูงราว 4 เมตร

โบราณสถานแห่งนี้ชื่อว่า“เพนียด” เนื่องจากชาวบ้านเข้าใจว่าคือ"เพนียดคล้องช้าง" ต่อมาปี พ.ศ.2533 อาจารย์อุไรวรรณ วัฒนวีระกุล ได้สำรวจทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาแหล่งโบราณคดีวัดทองทั่วและบริเวณใกล้เคียง หลังจากทำการศึกษาแล้ว จึงได้ข้อสันนิษฐานว่า โบราณสถานเมืองเพนียด น่าจะเป็น“บาราย”หรือ”สระน้ำ” ต่อมา ปี พ.ศ.2542 มีการขุดตรวจสอบ และปี พ.ศ.2544-2545 ก็มีการขุดแต่งอีกครั้งและพบว่า ขอบของอาคารมีความสูงไม่เท่ากัน โดยมีทางขึ้นอยู่ที่กึ่งกลางฐานด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นด้านที่มีระดับต่ำที่สุดราว 1.70 เมตรเศษ และมีทางลงสระอยู่ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ซึ่งมีพื้นที่สูงราว 2.30 เมตร ส่วนด้านทิศใต้เป็นด้านที่สูงที่สุด โดยมีพื้นที่ด้านบนของขอบอาคารสูงจากผิวดินราว 4 เมตร เดิมมีหลังคามุงกระเบื้องแบบกาบกล้วย จากการขุดตรวจเพื่อดูการทับถมของดินพบว่า มีเศษศิลาแลงที่ได้จากการสกัดตกแต่งอยู่ใกล้ขอบด้านในเป็นจำนวนมาก

พื้นที่ส่วนกลางของโบราณสถานแห่งนี้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 8 x 23 เมตร มีร่องรอยการแช่ขังของน้ำ ห่างจากตัวโบราณสถานแห่งนี้ไปทางทิศใต้ประมาณ 30 เมตร ยังมีอาคารลักษณะเดียวกันอีก และระหว่างอาคารทั้งสองไปทางทิศตะวันตกอีกราว 60 เมตรมีกลุ่มโบราณสถาน ซึ่งอยู่ในบ้านของนางผาด เจริญนิยม ลักษณะเป็นคันดินแนวศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละประมาณ 40 เมตร ตรงกลางมีเนินดินปกคลุมแนวศิลาแลงซึ่งสูงเพียงระดับผิวดิน ลักษณะอาคารทั้งสามหลังเข้าข่ายอาคารแบบปราสาทในศิลปะขอม ซึ่งประกอบไปด้วยตัวอาคารขนาดเล็กที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ และล้อมรอบด้วยระเบียงคดหรือกำแพงแก้ว ห่างออกไปทางทิศตะวันออกมีบารายหรือสระน้ำ แต่เมื่อพิจารณาหลักฐานที่พบ เชื่อว่า มีความแตกต่างจากบารายทั่วไป เนื่องจากบริเวณขอบของอาคารหนาราว 12 เมตร ซึ่งน่าจะมีหลังคามุง จึงสันนิษฐานว่า บริเวณนี้น่าจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

การกำหนดอายุของอาคารหลังนี้ ในเบื้องต้นดูจากเศษภาชนะดินเผา ลักษณะคล้ายภาชนะจากแหล่งเตาบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งพบจากการขุดตรวจ แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า สร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีการใช้ต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 15 – 17 (ราว พ.ศ.1400 – 1800)

อนึ่ง ช่วงก่อนหน้านี้ราวพุทธศตวรรษที่ 14 เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1345-1393) เสด็จมาจากชวาและเข้ามากอบกู้เอกราชจากบรรพบุรุษของพระองค์ (ผู้รู้กล่าวว่า ทรงเป็นทายาทของเจนละ ซึ่งอพยพไปเป็นตัวจำนำอยู่บนเกาะชวา) ทรงรวมอาณาจักรขอมโบราณ 2 แห่งที่เรียกว่า อาณาจักรเจนละบกและอาณาจักรเจนละน้ำเข้าไว้ด้วยกัน เรียกว่า"อาณาจักรกัมพูชา" สันนิษฐานว่า อำนาจเดิมของอาณาจักรเจนละคงเหลืออยู่บ้าง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมือง ทรงย้ายเมืองหลวง 4 ครั้ง และทรงสถาปนาลัทธิเคารพบูชาเทวราช อันเป็นการยกย่องพระเจ้าแผ่นดินเสมอเทวดา เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว จะเสด็จไปยังสวรรค์รวมกับเทวดาที่ทรงปรารถนาไว้ ลัทธิการเคารพบูชาเทวราชนี้มีการปฏิบัติสืบเนื่องต่อมา โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีการเขียนจารึกเพนียด 1 กษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่งคือ พระเจ้ายโสวรมันที่ 1 (พ.ศ.1432-1443) ผู้สถาปนาเมืองพระนครเมืองแรก คือเมืองโสธรปุระ มีศูนย์กลางอยู่ที่เขาพนมบาแคง ตามคำแนะนำของพระอาจารย์พระอัญวามะศิวะ โดยย้ายจากเมืองหริหราลัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรับความเจริญของเมืองได้ และย้ายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือริมทะเลสาบใหญ่ สูงกว่าเมืองหริหราลัย 28 เมตรและห่างจากชายฝั่งทะเลสาบราว 7 กม. (ซึ่งเดิมอาจอยู่ไกลกว่านี้) เมื่อขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้สร้างความเป็นปึกแผ่น ทำให้สามารถรวบรวมนักรบ นักปกครองและช่างได้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบเขมรอันอุดมสมบูรณ์ มีผู้วิเคราะห์ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยให้คนรุ่นหลังมีทรัพยากรเพียงพอที่จะสร้างงานสถาปัตยกรรมอันมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในยุคต่อมา

จารึกที่พบที่โบราณสถานเมืองเพนียดมีข้อความเหมือนกับจารึกที่อื่นๆอีก 11 หลัก ซึ่งพบที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ นครจำปาศักดิ์ ตะโบงขนุน บาพนม บันทายมาส และมาสัก เนื้อหาเป็นเรื่องของการจัดระเบียบ พระองค์ไม่เพียงแต่สร้างมหานครอันยิ่งใหญ่ไว้เป็นรากฐานแสดงถึงพระราชอำนาจของพระองค์เท่านั้น แต่ยังจัดระบบสังคมและสร้างวินัยให้ประชาชนปฏิบัติ โดยทรงออกระเบียบต่างๆไว้มากมาย มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ประชาชน นักพรต นักบวชปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ศาสตราจารย์ต้วน ลี่ เชิง จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เมื่อครั้งมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติชี้ว่า เมืองเพนียดในสมัยนั้นได้รับอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณ จีนเรียกว่า เจิง ลี ฟู อนึ่ง โบราณสถานเมืองเพนียตแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถานประเภทเทวสถาน ซึ่งนับถือพระศิวะหรือพระวิษณุดังปรากฏในจารึกในเมืองเพนียดหรือเมืองกาไว ซึ่งแต่เดิมมีแนวกำแพงเมืองกว้างราว 1 กิโลเมตรและยาวราว 2.5 กิโลเมตร จัดเป็นเมืองโบราณที่มีรูปแบบคล้ายเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลของวัฒธรรมขอมยุคโบราณ



ก่อนที่ทีมงานจะมาโบราณสถานแห่งนี้ แม้รับรู้ข้อมูลมาบ้างเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ยังไม่เข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยหลายอย่าง เช่น เมืองเพนียดเป็นสถานที่แบบไหน พระนางกาไวคือใคร แล้ววัดทองทั่วเกี่ยวข้องอย่างไร หลายคำถามวิ่งวนไปมาขณะที่เรากำลังมุ่งหน้าสู่ดินแดนแห่งคำตอบ
- ทีมงานขอเท้าความไปจุดกำเนิดก่อน นั่นคือ โบราณสถานเมืองเพนียด
ซ้ายบน – โบราณสถานเมืองเพนียด (จากภาพ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 โดยระบุว่า มีสิ่งสำคัญคือ กำแพงก่อสร้างศิลาแลง ด้านกว้าง 16 เมตร ด้านยาว 26 เมตร และสูง 3 เมตร สันนิษฐานว่า เดิมเป็นที่ตั้งเมืองจันทบุรียุคแรกที่มีอายุไม่น้อยกว่า 1000 ปี การสำรวจเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2499 ได้ความว่า โบราณสถานเมืองเพนียดเป็นกำแพงก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ในกำแพงเป็นดิน กว้างด้านละ 17 เมตร ยาวด้านละ 57 เมตร และหนา 3 เมตรเท่ากันทุกด้าน กำแพงด้านตะวันออกถูกทำลายไปหมด เหลือแต่ดินสูงเป็นเค้าอยู่อีก 3 ด้าน แต่ก็ถูกทำลายไปมากเช่นกัน โดยเหลือสูงเพียง 1-3 เมตร ด้านนอกกำแพงพอกด้วยดินหนาประมาณ 3 ถึง 8 เมตร โบราณสถานเมืองเพนียดมี 2 แห่ง อีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างไป 30 เมตร (ปัจจุบันคือ สวนมังคุด) แต่หลังนี้ถูกทำลายโดยการรื้นขนเอากำแพงศิลาแลงไปจนหมด เหลือให้เห็นเป็นมูลดินสูงเป็นแนวอยู่ (จากภาพ บริเวณนี้เป็นมุมแรกของโบราณสถานเมืองเพนียดที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นก่อน ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตก)
ขวาบน – โบราณสถานเมืองเพนียดน่าจะเป็นเมืองเดียวกับที่นาย มองสิเออร์ เอยโมเมอร์เขียนไว้ในหนังสือ แคมโบช เมื่อปี พ.ศ.2444 ว่า มีบาทหลวงคนหนึ่งได้พบศิลาจารึกอักษรสันสกฤตบริเวณเขาสระบาป มีข้อความว่า จังหวัดจันทบุรีตั้งมา 1,000 กว่าปีแล้ว เวลานั้นเรียกว่า จันทราบุรี ผู้สร้างเมืองชื่อ หาง หรือ แหง บริเวณฐานศิลาแลงด้านในคูเพนียด (เรียกตามชื่อของชาวบ้าน) พบว่า ชั้นดินเดิมก่อนที่โบราณสถานเมืองเพนียดจะถูกทิ้งร้าง มีการถมอัดลูกรังเป็นแนวขอบโดยรอบ ห่างจากฐานราว 2 เมตร และลึกลงไปเป็นชั้นทรายละเอียด ซึ่งเป็นชั้นที่อยู่ในระดับน้ำใต้ดิน จากแนวลูกรังถมอัดเข้าไปที่กลางคูเพนียด ซึ่งเป็นชั้นดินที่มีจุดประสีเหลืองและน้ำตาล แสดงให้เห็นว่า มีการแช่ขังของน้ำและในบางพื้นที่ระหว่างชั้นดินที่เปลี่ยนแปลงทั้งสองจะมีแนวศิลาแลงวางกั้นเป็นเครื่องแสดงขอบเขต แต่หลงเหลืออยู่ไม่มาก จากการขุดค้น ยังพบบันไดขึ้นลงและชั้นดินที่แสดงว่ามีน้ำแช่ขังอยู่ พอจะบอกได้ว่า ด้านในโบราณสถานเมืองเพนียดเคยเป็นที่กักเก็บน้ำ แต่คงจะไม่เต็มทั้งพื้นที่ โดยอาจใช้แนวศิลาแลงกั้นขอบเขตของพื้นที่บริเวณที่เป็นสระน้ำกับบริเวณขอบซึ่งห่างจากแนวฐานด้านในเข้าไปราว 2 เมตรโดยรอบ แม้ระหว่างการขุดค้น บางวันที่ฝนตกหนัก น้ำจะท่วมขังเป็นเวลานานอยู่บริเวณส่วนกลางคูเพนียด และจากหลักฐานตามคำบอกเล่าและการศึกษาแผนผังทำโดยนาย ลูเน เดลา จองกิเยร์ วิศวกรชาวฝรั่งเศส ที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2450 พบว่า โบราณสถานเมืองเพนียดทางทิศใต้ยังมีอยู่ครบ จึงพอจะกล่าวได้ว่า โบราณสถานเมืองเพนียดเป็นสระน้ำแฝดเพราะมีอาคารหลังคาคลุมที่ขอบสระด้านทิศใต้ และอาจมีมากกว่านี้ที่บริเวณทางเชื่อมและด้านทิศใต้ หากมีการขุดค้นเพิ่ม ตามแผนผังพบกว่า ด้านทิศตะวันตกปรากฏซากอาคารโบราณคล้ายระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบอาคาร แต่ถูกรื้อทำลายไปมาก เหลือฐานเพียงเล็กน้อย ทำให้สันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานเมืองเพนียดคงใช้เป็นที่ชำระล้างร่างกายและเป็นที่พักเพราะมีลักษณะเป็นศาลาเปลื้องเครื่อง ก่อนจะเข้าไปประกอบศาสนกิจในอาคารด้านทิศตะวันตก ซึ่งน่าจะเป็นอาคารศาสนสถานประธาน (จากภาพ มุมนี้คือ ทิศตะวันออก)
ขวากลางบน – บันไดหินศาลาแลงที่เดินลงสู่โบราณสถานเมืองเพนียด ลักษณะบันไดจะแคบและสั้น เวลาเดินลง จึงวางเท้าลงแบบปกติไม่ได้ แต่จะหันเท้าเอียงข้าง แล้วเดินลงแทน
ซ้ายกลาง – แนวหินศิลาแลงดั้งเดิมทางทิศใต้ที่ยังหลงเหลืออยู่และเป็นแนวที่สูงสุดในปัจจุบัน
ขวากลางล่าง – ศาลของพระนางกาไว (จากภาพ ประวัติของพระนางกาไวตามตำนานเมืองเพนียดมีดังนี้ กษัตริย์ผู้ครองนครโบราณพระนามว่า พระเจ้าพรหมทัต มีมเหสีชื่อ พระนางจงพิพัฒน์ พระองค์มีพระโอรส 2 องค์คือ เจ้าชายบริพงษ์และเจ้าชายวงษ์สุริยมาศ ต่อมาพระนางจงพิพัฒน์สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงอภิเษกกับมเหสีองค์ใหม่ชื่อว่า พระนางกาไว ซึ่งมีใบหน้าที่งดงาม พระนางได้ทำเสน่ห์ให้พระเจ้าพรหมทัตหลงใหลจนกลายเป็นที่โปรดปราน เมื่อพระนางตั้งครรภ์ พระนางได้ขอสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตก็พลั้งปากให้ไป เมื่อพระนางประสูติพระโอรส ชื่อว่า พระไวยทัต พระนางกาไวได้ทูลขอพระราชสมบัติให้แก่พระไวยทัต พระเจ้าพรหมทัตก็ยินยอมยกให้และยังทูลขอให้ส่งพระโอรสของมเหสีองค์เดิมทั้งสององค์ออกไปสร้างเมืองในท้องที่กันดารทางทิศเหนือติดกับประเทศกัมพูชา พระองค์ก็ตามใจ แท้ที่จริงพระนางประสงค์ให้พระโอรสของตนเองได้ครองราชย์ในเมืองเพนียด ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรณคต พระนางกาไวจึงสถาปนาพระโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์และให้นางเป็นผู้สำเร็จราชการเพราะพระโอรสยังทรงพระเยาว์ ดังนั้นนครนี้จึงเรียกติดปากว่า นครหรือเมืองกาไว ต่อมาพระเจ้าบริพงษ์และพระเจ้าวงษ์สุริยมาศทราบเรื่องพระบิดาสวรรคตและพระนางกาไวครองเมือง จึงยกกองทัพมาตีเพื่อชิงเมืองคืน แต่สู้กองกำลังของพระนางกาไวไม่ได้ จึงถอยทัพและไปขอกำลังจากกษัตริย์ขอมให้มาช่วยแก้แค้น โดยสัญญาว่า จะแบ่งเมืองให้ กษัตริย์ขอมจึงส่งทัพมาช่วย เมื่อกองทัพทั้งสองสู้รบกัน ฝ่ายพระไวยทัตสู้ไม่ได้ ก็ถอยทัพกลับและถูกตีแตก ในที่สุด พระไวยทัตถูกฟันคอสิ้นพระชนม์บนหลังช้างในพื้นที่สู้รบ
- ห่างจากโบราณสถานเมืองเพนียดไป 300 เมตรก็คือ วัดทองทั่ว วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดเพนียด ส่วนคำว่า“ทองทั่ว” มีเนื้อหาต่อเนื่องจากพระนางกาไวดังนี้ เมื่อพระนางรู้ข่าวว่า พระไวยทัตสิ้นพระชนม์และฝ่ายในเมืองไม่สามารถต้านทานข้าศึกได้ พระนางกาไวจึงขนทรัพย์สมบัติบรรทุกหลังช้างหนีออกนอกเมืองเพนียดทางทิศใต้ ครั้นจวนตัวหนีไม่ทัน ก็เอาเพชรพลอยและทองออกมาหว่านด้านท้ายขบวนเพื่อล่อทหารข้าศึกให้เก็บ ส่วนพระนางก็หนีลงเรือไปทางทิศใต้ บริเวณที่พระนางกาไวหว่านเพชรพลอยและทอง จึงชื่อว่า“ทองทั่ว”ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดทองทั่วในปัจจุบัน
ซ้ายล่าง – โบถส์หลังใหม่
ขวาล่าง – บรรยากาศภายในโบสถ์หลังใหม่




มาเพิ่มเติมรายละเอียดของวัดทองทั่วกันดีกว่า
ซ้ายบน – อุโบสถหลังเก่า (จากภาพ กรมการศาสนาออกหนังสือรับรองสภาพของวัดว่า วัดแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2310 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2318 ซึ่งอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี และศิลปะโครงสร้างเดิมก็เป็นที่นิยมในสมัยอยุธยา แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงต่อเติมไป เท่าที่ทราบตามประวัติเจ้าอาวาสทุกรูปที่เคยปกครองวัด แต่ละรูปมีการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถทุกครั้ง ศิลปะเดิมก็เลือนหายไป ศิลปะใหม่ก็ถูกสร้างไปตามยุคสมัย จนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และเมื่อปี พ.ศ.2543 เจ้าอาวาสพระครูสุวัตถิ์ธรรมวิจิตรก็บูรณะหลังคา ทาสี เปลี่ยนหน้าบัน (หน้าบันที่เคยมีรูปเขียนก็หายไป) ไม้เครื่องบนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นบางตัว และกระเบื้องมุงหลังคาก็นำกระเบื้องเก่าไปทำแบบใหม่ให้เหมือนของเดิม แต่บางส่วนยังคงอนุรักษ์ไว้
ขวาบน – หลวงพ่อทองหรือพระพุทธสุวรรณพันธุ์สวลีมงคลประดิษฐ์ ซึ่งเป็นพระประธานที่ประดิษฐานในอุโบสถและเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่กับอุโบสถหลังนี้ (จากภาพ ตามหลักฐานที่สร้างวัดในระหว่างปี พ.ศ.2310 ถึง พ.ศ.2318 ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่า สร้างในปี พ.ศ.ใด แต่ต้องอยู่ระหว่าง 8 ปีนี้ เพราะต้องสร้างอุโบสถให้แสร็จก่อน ถึงจะขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้)
ซ้ายกลาง – ใบเสมาของวัดทองทั่วเป็นใบเสมาแบบคู่รอบอุโบสถทั้งหมด 8 ทิศ สันนิษฐานว่า พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงธนบุรีต้องมีศรัทธาในการสร้างหรือมีพระประสงค์ให้สร้างหรือบูรณะ แล้วขอพระราชทานเป็นพระอารามหลวง ถึงจะตั้งใบเสมาคู่ได้ ลักษณะใบเสมาที่เห็น จัดอยู่ในสมัยนิยมอยุธยา มีรูปเทวดาถือดอกบัว 2 ดอก แยกออกเป็นซ้ายและขวา ผู้รู้บางท่านบอกว่าเป็นศิลปะศรีวิชัย แต่บางท่านก็บอกว่า ในสมัยอยุธยาก็มีศิลปะแบบนี้ที่อาจทำเลียนแบบก็ได้
ขวากลาง – บริเวณรอบนอกกำแพงแก้วมีเจดีย์อีกสององค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นทรงลังกา
- โบราณสถานเมืองเพนียดมีซากปรักหักพังและข้าวของกระจายอยู่ทั่วไป เช่น อิฐโบราณ ศิลาแลง เศษถ้วยชาม ฯลฯ โบราณวัตถุที่ขุดพบเป็นหินทรายแกะสลักลวดลายต่างๆ หลายชิ้นนำไปเก็บที่วัดทองทั่ว แต่บางชิ้นก็นำไปไว้ที่อื่น เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ตอนนี้ทีมงานขอพาไปชมพิพิธภัณฑ์ของวัดทองทั่วที่จัดแสดงโบราณวัตถุเหล่านี้กัน
ขวาล่าง –
เมื่อเดินเข้ามา บริเวณจัดแสดงเนื้อหาโบราณสถานเมืองเพนียดจะอยู่ซ้ายมือ
ซ้ายล่าง – โบราณสถานเมืองเพนียดตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขาสระบาปทางด้านทิศตะวันตก อาณาเขตครอบคลุมหมู่บ้านเพนียดและหมู่บ้านสระบาป โดยมีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 1,000 เมตรและยาวประมาณ 2,000 เมตร แนวกำแพงเมืองโบราณและคูน้ำเกือบทั้งหมดในปัจจุบันถูกเกลี่ยลงจนไม่สามารถสังเกตได้ เท่าที่หลงเหลืออยู่เป็นแนวคันดินด้านทิศใต้ของเมือง มีความสูงราว 3 เมตร มีความยาวราว 100 เมตร ส่วนแนวกำแพงเมืองด้านทิศเหนือเดิมถูกถนนสุขุมวิทตัดผ่านบางส่วน สภาพพื้นที่เป็นที่ลาดไปสู่ที่ราบลุ่มริมลำน้ำจันทบุรี โดยมีคลองนารายณ์และคลองสระบาปไหลมาจากเขาสระบาปลงไปเชื่อมกับแม่น้ำจันทบุรี เส้นทางน้ำเหล่านี้คงเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในอดีต อีกทั้งยังสร้างความอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูก ทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมในการตั้งชุมชนซึ่งน่าจะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โดยสันนิษฐานจากขนาดของเมืองและโบราณวัตถุที่ค้นพบจำนวนมากและหลายยุคสมัย (จากภาพ แผนที่โดยสังเขปแสดงให้เห็นถึงเมืองเพนียดในอดีต)




และต่อไปนี้คือตัวอย่างโบราณวัตถุที่ค้นพบในโบราณสถานเมืองเพนียด
ซ้ายบน - ชิ้นส่วนทับหลังศิลปะแบบถาลาบริวัตรนี้มีอายุประมาณ 1,400 ปี ซึ่งถือว่า เป็นศิลปะเขมรโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย ทำจากหินทรายแกะสลักเป็นภาพนูนต่ำ ลวดลายบนทับหลังเป็นตัวมังกร รูปร่างอ้วนเตี้ย มีหางเป็นลายก้านขด ตัวมังกรกำลังอ้าปากคายท่อนพวงมาลัยที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งออกมา บนวงโค้งมีวงกลมรูปไข่ ภายในทำเป็นรูปครุฑหน้ามนุษย์หันหน้าตรง มือทั้งสองข้างถืองูหรือนาคอยู่ ซึ่งลวดลายดังกล่าวคล้ายคลึงกับศิลปะแบบคุปตะของอินเดีย (จากภาพ ทับหลังศิลปะแบบถาลาบริวัตรนี้ค้นพบทั้งหมด 3 ชิ้น)
ขวาบน – จารึกอักษรปัลลวะจำนวนสองหน้าสองบรรทัด จารึกนี้เป็นหินทรายสีเขียนปนเทาในลักษณะแตกหักชำรุด กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12
ซ้ายกลาง – ชิ้นส่วนรูปเคารพ (เทวรูป)
ขวากลาง – ชิ้นส่วนเศียรรูปเคารพ (เทวรูป) กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18
ซ้ายล่าง – เครื่องบดยา
ขวาล่าง – เสาประดับกรอบประตู เป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมแบบปราสาท กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18



 

พิพิธภัณฑ์ของวัดทองทั่วมีข้อมูลมากมายให้เราเดินชมกันเพลินๆ
ซ้ายบน – ศิลาทรายสลัก ซี่งเป็นองค์ประกอบปราสาทขอมเมืองเพนียด
ขวาบน – ชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน
ซ้ายกลาง – พระนารายณ์โลหะ 4 กร เป็นโลหะสำริดและเป็นศิลปะแบบนครวัด กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17
- ภาพรวมของโบราณวัตถุจากโบราณสถานเมืองเพนียดคงพอได้แนวทางบ้างแล้ว แต่ขวามือของพิพิธภัณฑ์ยังมีข้าวของจากวัดทองทั่วเองที่นำมาจัดแสดงเช่นกัน เราไปชมตัวอย่างสักเล็กน้อย
ขวากลางบน – บรรยากาศทางขวาในอาคาร
ซ้ายล่าง – ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำปิดทอง เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ มีชั้นวางหนังสือ 2 ชั้น รูปที่ใช้เขียนบานประตูเป็นรูปเทวดาทั้งสองบาน เปรียบเสมือนผู้รักษา ด้านข้างทั้งสองเป็นลายกนกเปลวเพลิง แต่เป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และสัตว์ป่าหิมพานต์ โดยฝีมือช่างชั้นครูในสมัยกรุงธนบุรี มีอายุราว 200 กว่าปี ส่วนบานประตูหนึ่งบานได้หายไป
ขวากลางล่าง – หีบเก็บรักษาคัมภีร์เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู มีลักษณะสอบลงปากกว้าง มีฐานตั้งในตัว ประกอบด้วยแผ่นไม้ที่แกะสลักทั้งใบ โดยแกะสลักเป็นลายกนก ใบวัลย์ ดอกพุดตาล รูปสัตว์ และลายเทพพนม โดยฝีมือช่างสมัยอยุธยา มีอายุราว 300 ปี สำหรับฝาปิดด้านบนหายไปและฐานด้านล่างถูกปลวกกัดกินทั้งหมด
- หาอะไรรองท้องกันดีกว่า
ขวาล่าง - บริเวณด้านนอกวัดทองทั่ว(ฝั่งโรงเรียนวัดทองทั่ว)จะมีถนนเล็กๆของหมู่บ้านอยู่หนึ่งสาย ฝั่งตรงข้ามจะเป็นเพิงยาวเลียบถนนหนึ่งหลังที่จำหน่ายของกินติดกันเป็นล็อกๆอยู่ในเพิง สินค้าทั้งหมดเป็นของกินและเครื่องดื่ม
รายการสินค้า - ของกินมีดังนี้ ไก่ทอด ข้าวสวย แคบหมู หอยจ๊อทอด ไก่ย่าง ส้มตำ ปูอัดทอด ไส้กรอกทอด เกี๊ยวทอด ลูกชิ้นทอด ช็อกโกแลต คาปูชิโน โกโก้ ลาเต้ ชาเขียว นมสด มะพร้าวปั่นนมสด กาแฟมะพร้าวอ่อน ชาเขียวมะพร้าวอ่อน ชาเขียวมัจฉะ แคนตาลูปนมสด เผือกหอมนมสด โอเลี้ยง แดงโซดามะนาว เขียวโซดามะนาว ช็อกโกแลต ชาเย็น นมเย็น ชานมไข่มุก แคนตาลูปไข่มุก นมสด บ๊วยโซดา ชาดำเย็น ตำปู ตำปลาร้า ตำปูปลาร้า และตำไทย

TODAY THIS MONTH TOTAL
249 5397 248762
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top