สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง

คำอธิบาย


สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่องเกิดจากการที่พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) ได้ธุดงค์จาริกมายังที่พักสงฆ์ถ้ำปากเปียงระยะหนึ่ง ต่อมาท่านได้สอบถามชาวบ้านว่ามีที่พักอื่นพอปลีกวิเวกอีกหรือไม่ ก็ได้ความว่า มีหลืบเงาหินชนกันลักษณะเป็นถ้ำเล็กๆ มีทางเข้าออกทะลุถึงกันพอใช้เป็นที่พักอาศัยได้ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่พักสำหรับดักสัตว์และเป็นเส้นทางเดินป่าของนายพราน ในขณะนั้นยังมีสัตว์ป่าดุร้ายอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เสือ หมี หมูป่า งู ฯลฯ ท่านจึงชวนนายติ๊บ อุลัย ชาวบ้านถ้ำมาสำรวจ ซึ่งท่านก็พอใจ แม้จะอยู่บนที่สูงประมาณ 200 เมตรก็ตาม แต่ก็สบายใจเพราะปราศจากสิ่งรบกวนและเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ท่านจึงขอชาวบ้านอาศัยบริเวณนี้ ชาวบ้านต่างพากันยินดี เนื่องจากท่านเป็นพระธุดงค์กรรมฐานศิษย์หลวงปู่มั่น(ซึ่งหลวงปู่มั่นก็เคยมาภาวนาและเผยแพร่การปฏิบัติธรรมในเขตนี้มาก่อน) อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ที่มีกิริยามารยาทงดงาม อัธยาศัยเยือกเย็น พร้อมทั้งมีศีลจาริยาวัตรที่น่าเลื่อมใส ชาวบ้านจึงไม่ขัดข้อง พร้อมทั้งอุปัฏฐากทำที่พัก ใส่บาตร และสร้างทางเดินขึ้นเบื้องต้นแก่ท่าน หลังจากนั้นของทุกปีในฤดูแล้ง ท่านจะมาบำเพ็ญภาวนาที่พักสงฆ์แห่งนี้เป็นประจำ ครั้งละประมาณ 2 เดือน

จนกระทั่งปี พ.ศ.2510 หลังจากหมดวาระในการเป็นเจ้าอาวาสวัดสันติธรรมในอำเภอเมืองเชียงใหม่แล้ว ท่านจึงมาจำพรรษาที่ถ้ำผาปล่อง โดยมีคณะศิษย์มาศึกษาและอุปัฎฐากโดยตลอด จากการที่ท่านมีกิจวัตรแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันเช้าเย็นอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติธรรมจิตตภาวนาตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้รู้จักรักษาศีลมีธรรมและครองตนให้ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา จึงเริ่มมีพุทธศาสนิกชนมาศึกษาปฏิบัติทธรรมมากขึ้น สถานที่เริ่มไม่เพียงพอ ดังนั้น คณะผู้ศรัทธาจึงร่วมกันสร้างเสนาสนะ กุฎิ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ห้องน้ำ บ่อรับน้ำจากลำธาร การเดินท่อมายังที่พัก แทงก์น้ำดื่มน้ำใช้ขนาดใหญ่ ตลอดจนทางเดินขึ้นลงถาวรและถนนจากถ้ำเชียงดาวมาสู่สำนักสงฆ์ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ทุกอย่างเกิดจากความร่วมมือของประชาชนและหน่วยราชการต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกในการเผยแพร่พุทธศาสนา จนถึงการสร้างบันไดคอนกรีต 530 ขั้นขึ้น ซึ่งทำสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2518 ส่วนครั้งหลังสุดมีการรื้อถอนและสร้างใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีราวจับและร่องระบายน้ำ โดยมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และคุณหญิงเป็นประธานนำกฐินของหน่วยกรป.กลางมาถวายเพื่อเป็นปัจจัยในการสร้างครั้งนี้ สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ปักเสาไฟฟ้าแรงสูงและพาดสายไฟเข้ามายังสำนักสงฆ์เมื่อปี พ.ศ.2525 ส่วนองค์การโทรศัพท์ก็เดินสายจากตัวอำเภอมาให้บริการเช่นกัน

บั้นปลายชีวิตของหลวงปู่สิม ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เจ้าคุณราชชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระจากตำแหน่งเดิม“พระครูสัตติวรญาณ”เป็น“พระญาณสิทธาจารย์”เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 ระยะการจำพรรษาของหลวงปู่สิมตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 มีพระภิกษุและสามเณรอยู่จำพรรษา 4-30 รูปมาโดยตลอดท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2535 หลวงปู่สิมจำพรรษาที่สำนักสงฆ์แห่งนี้เป็นเวลา 24 ปีมาตลอด ซึ่งภายหลังท่านยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณสูงสุดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง

หลังจากนั้นคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้แต่งตั้งพระมหาทองอินทร์ กุสลจิตโต (พระครูสัตยาธิคุณในขณะนั้น ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น“พระนทีสีพิศาลคุณ” ปัจจุบันท่านได้มรณภาพแล้ว) เจ้าอาวาสวัดสันติธรรมเป็นหัวหน้าผู้ปกครองสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง จนถึงปี พ.ศ.2541 จึงแต่งตั้งให้พระเมธา สุเมโธ (พระครูโสภณ กิตยาภรณ์) เป็นหัวหน้าผู้ปกครองสำนักสงฆ์มาถึงปัจจุบัน



สำนักสงฆ์แห่งนี้อยู่ใจกลางธรรมชาติบนเขาที่มีแต่ต้นไม้ปกคลุม แถมมีสายหมอกงามๆยามเช้าอีก ด้วยมลภาวะของสังคมและความวุ่นวายของคนเมือง การหลีกหนีสิ่งก่อกวนเพียงชั่วครู่ แล้วได้สงบจิตสงบใจกับสถานที่แห่งนี้สักพัก ก็เหมือนเป็นการชาร์จความนิ่งให้ตัวเองได้เยอะทีเดียว
ซ้ายบน – ปากทางเข้าสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง
ขวาบน – บันไดพญานาคสู่สำนักสงฆ์ด้านบน
ซ้ายกลาง – บันไดทั้งหมด 530 ขั้น ค่อยๆเดินขึ้นไป
ขวากลาง – กลางทางมีศาลาให้นั่งพักผ่อนด้วย
ขวาล่าง – ทางเดินบางช่วงเป็นพื้นราบ เสร็จแล้วก็เดินขึ้นบันไดผ่านช่องแคบของก้อนหินต่อ
ล่าง – ระหว่างเดินขึ้น เมื่อมองไปทางซ้าย เราจะเห็นพระเจดีย์โดดเด่นกลางภูเขาที่มีแต่ต้นไม้หนาทึบและมีสายหมอกลอยอยู่ตลอด (จากภาพ แต่เดิมพื้นที่ของสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่องเป็นป่าใหญ่รกชัฏหลังดอยเชียงดาว ด้วยเหตุนี้จึงมีพระวิปัสสนากรรมฐานนิยมใช้สถานที่แห่งนี้ในการปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ครั้นอดีต เช่น หลวงปู่มั่น ก็เคยอาศัยถ้ำเล็กๆหน้าถ้ำเชียงดาวในการปฏิบัติธรรม รวมทั้งหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล ฯลฯ ต่างก็เคยมาบำเพ็ญธรรมบริเวณนี้ และยังมีครูบารศรีวิชัยที่มาสร้างวิหารใกล้ถ้ำเชียงดาวอีกด้วย จนกระทั่งปี พ.ศ.2521 พื้นที่บริเวณนี้จึงประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)




เดินทางกันต่อ
ซ้ายบน – จากบันไดเดินขึ้น คราวนี้ก็เป็นบันไดเดินลงเขาอีกครั้งเพื่อไปยังตำแหน่งที่พระภิกษุสองรูป(มุมไกล)กำลังเดินมา จุดนั้นคือสะพานข้ามลำธาร(ที่อยู่ทางซ้าย)
ขวาบน – ตอนนี้ทีมงานเดินข้ามสะพานแล้ว เราจะเห็นเส้นทางของลำธารไหลลงจากดอย ซึ่งในช่วงหน้าฝนจะมีน้ำไหล แต่ตอนนี้เข้าหน้าแล้ง
ซ้ายกลางบน – บันไดช่วงนี้เป็นทางขึ้นสู่สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่องอย่างเป็นทางการ
ขวากลาง – ถ้าอ่านจากเนื้อหาเกริ่นนำ หลวงปู่สิมได้ความจากชาวบ้านว่า มีหลืบเงาหินที่ชนกันเข้ามาจนมีลักษณะคล้ายถ้ำเล็กๆ จุดนั้นก็คือบริเวณนี้นั่นเอง ซึ่งทำหน้าที่เสมือนวิหารของสำนักสงฆ์ ปัจจุบันมีการสร้างหลังคาขนาดใหญ่คลุมไว้ พุทธศาสนิกชนต่างก็มาสั่งสมาธิและสวดมนต์หน้าพระพุทธรูปบริเวณนี้ (จากภาพ เราจะเห็นซอกหลืบเข้าไปด้านหลัง ถ้าเดินไป ก็คือกุฏิของหลวงปู่สิม เดี๋ยวอีกสักพัก ทีมงานจะพาชม)
ซ้ายล่าง – ตอนนี้ขอหันมาทางซ้ายของถ้ำก่อน พระพุทธรูปประดิษฐานเป็นชั้นๆอย่างงดงาม และถัดไปยังมีบันไดพญานาคอีก
ขวาล่าง – บันไดพญานาคนี้เป็นทางขึ้นสู่พระเจดีย์(ที่ตอนเราเดินมา แล้วเห็นจากมุมไกล)




ชวนทุกคนมาขึ้นบันไดสู่พระเจดีย์กัน
ซ้ายบน – ทางเดินรอบพระเจดีย์ (จากภาพ ตรงอักษร nde คือจุดที่เราเดินขึ้นมา)
ขวาบน – พระเจดีย์ในระยะใกล้เมื่อมองจากบันไดขึ้นลงอีกทางหนึ่ง (จากภาพ พระเจดีย์นี้คือ พิพิธภัณฑ์ที่คณะศิษยานุศิษย์และศรัทธาสาธุชนพร้อมใจกันสร้างในวโรกาสที่หลวงปู่สิมมีอายุครบ 80 พรรษาในปี พ.ศ.2532 เพื่อเป็นศาสนนุสรณ์ ตลอดจนใช้เป็นพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของหลวงปู่ในภายหลัง สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2535 พระเจดีย์นี้ได้รับนามเจดีย์จากสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหารว่า“เจดีย์พุทธาจารานุสรณ์”)
ซ้ายกลางบน – ภายในพระเจดีย์
ซ้ายกลางล่าง – อัฐบริขารต่างๆของหลวงปู่สิม เช่น กระติกน้ำ ไฟฉาย กล่องใส่ยา ถ้วย กระโถน ขัน ช้อนส้อม กาน้ำ ฯลฯ
ซ้ายล่าง – เมื่อเรามองธรรมชาติรอบๆพระเจดีย์ ทุกอย่างมีแต่สีเขียวชอุ่ม
- จากนั้นเดินกลับลงมา
ขวาล่าง – จุดนี้เป็นหลืบเงาหินซึ่งทีมงานเดินเข้ามา แล้วหันกลับไปมองบรรยากาศของซอกหลืบ

 



ทุกอย่างมีแต่ความสงบ
ซ้ายบน – เมื่อเดินเข้ามา(จากประตูทางซ้ายของภาพ) เราจะพบกุฏิของหลวงปู่สิม ขณะนี้ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนต่างก็มากราบไหว้หลวงปู่สิม บางคนนั่งสมาธิหน้ากุฏินี้ (จากภาพ ด้านหลังกระจกในกุฏิมีหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่สิม ภาพถ่ายของหลวงปู่สิมขณะมีชีวิตอยู่และตอนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่สิม รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่มั่น)
ขวาบน – เราขยับเข้ามาชมใกล้ๆกัน
ซ้ายกลางบน – ด้านหน้าของกุฏิหลวงปู่สิม
ขวากลางบน – เมื่อเรากลับออกมาจากหลืบเงาหิน บริเวณนี้ก็คือ หน้าถ้ำที่มองจากด้านใน
ซ้ายกลางล่าง – สำหรับตัวอย่างสถานที่ในสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง ทีมงานขอเก็บภาพโรงครัวมาฝาก
ซ้ายล่าง – ช่วงปากทางก่อนขึ้นบันไดสู่สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง เราจะเห็นมณฑปพุทธาจารานุสรณ์ที่สร้างเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระญาณสิทธาจารย์(หรือหลวงปู่สิม)
ขวาล่าง – รูปเหมือนของหลวงปู่สิมในมณฑป สำหรับประวัติคร่าวๆของหลวงปู่สิม ท่านมีนามเดิมว่า สิม วงศ์เข็มมา เกิดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 ที่บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ นายสาน มารดาชื่อ นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา มีพี่น้อง 10 คน ท่านเป็นคนที่ 5 สิ่งที่บันดาลใจให้หลวงปู่อยากออกบวชคือ ความสะดุ้งกลัวต่อความตาย ท่านเล่าว่า ตั้งแต่เด็ก เมื่อเห็นหรือได้ข่าวคนตาย ก็จะสะดุ้งทุกครั้ง กลัวว่า เราจะตายเสียก่อนที่จะได้ออกบวช”(หรือ“มรณ เม ภวิสสติ”) ซึ่งหลวงปู่ก็ใช้อุบายธรรมข้อนี้กับลูกศิษย์ลูกหาอยู่เป็นประจำเวลาเทศน์เพื่อเป็นการเตือนภัยจากพญามัจจุราชให้ทุกคนตื่นตัวอยู่เสมอ ท่านขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดมหานิกายเมื่อปี พ.ศ.2469 โดยมีพระอาจารย์สีทองเป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาคณะกองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์สิงห์ ขนตยาคโม และท่านพระมหาปิ่น ปญญาพโล ได้เดินธุดงค์มาเผยแพร่ธรรมแก่ประชาชน สามเณรสิมได้มีโอกาสไปฟังธรรมและเฝ้าสังเกตข้อวัตรปฏิบัติพระอาจารย์ทั้งสาม จึงเกิดความเลื่อมใสและถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น โดยขอญัตติใหม่มาเป็นธรรมยุติกนิกาย เมื่อสามเณรสิมอายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดศรีจันทราวาส อำเภอเมืองขอนแก่น และได้รับฉายาว่า“พุทธาจาโร” โดยมีพระอาจารย์สิงห์เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ไปจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าบ้านเหล่างา) ซึ่งอยู่ในเขตป่าช้า (บริเวณโรงพยาบาลขอนแก่นในปัจจุบัน) ท่านได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า“โสสังนิ กังคะ” คือไปเยี่ยมป่าช้าเป็นธุดงควัตรและได้ปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์สิงห์ ในปี พ.ศ.2479 ท่านได้ติดตามสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพ มาศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย ทำให้หลวงปู่สิมมีความรู้แตกฉานมากขึ้น ปี พ.ศ.2480 ท่านเดินทางธุดงค์กลับบ้านบัวเพื่อโปรดญาติโยมตามคำอาราธนา ในที่สุดได้สร้างวัดป่าธรรมยุติกนิกายแห่งแรกขึ้นที่บ้านบัวคือ วัดสันติสังฆาราม จากนั้นหลวงปู่สิมได้จาริกธุดงค์ไปในหลายสถานที่ของเชียงใหม่ ตอนที่ท่านอยู่ที่เชียงใหม่ สานุศิษย์ได้สร้างวัดสันติธรรมถวายแด่หลวงปู่สิมและท่านก็จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ แต่โดยส่วนตัว ท่านชอบแสวงหาความสงบของป่าเขาและโพรงถ้ำ ปี พ.ศ.2503 มีพระลูกศิษย์ไปพบถ้ำปากเปียงที่อำเภอเชียงดาว หลวงปู่จึงย้ายไปบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำปากเปียงบ่อยครั้ง ต่อมามีชาวบ้านนำทางท่านไปพบถ้ำซึ่งเป็นซอกอยู่บนเขาตามคำปรารภของหลวงปู่ที่ว่า“กิเลสจะได้เข้าถึงยาก” ซึ่งก็คือ“ถ้ำผาปล่อง”นั่นเอง ช่วงชีวิตของหลวงปู่สิม ท่านเป็นคนเข้มแข็ง พูดจริงทำจริง และไม่มากโวหาร ในคืนวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2535 พระเณรและอุบาสกอุบาสิกาพร้อมใจกันเจริญพระพุทธมนต์ฉลองสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ที่ถ้ำผาปล่อง จากนั้นหลวงปู่ได้พาญาติโยมนั่งภาวนา หลังจากนั่งภาวนาเสร็จ ท่านก็นั่งพักในถ้ำต่ออีก 20 นาทีจนถึงสี่ทุ่ม จากนั้นจึงกลับเข้ากุฏิและมรณภาพลงประมาณตีสาม สิริรวมของอายุหลวงปู่คือ 82 ปี 9 เดือน 12 วัน (อายุพรรษา 63 พรรษา)

TODAY THIS MONTH TOTAL
149 5297 248662
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top