วัดอรัญญวิเวก (บ้านข่า)

คำอธิบาย


วัดอรัญญวิเวก(บ้านข่า)ก่อตั้งจากความร่วมมือร่วมใจของชาวตำบลบ้านข่าและพระอาจารย์บุญสงค์  โสปาโกในปี พ.ศ.2483 โดยวัดนี้สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2530

สำหรับอาคารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ตื้อ เกิดจากศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ตื้อ อจลธมโมร่วมใจกันสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์พิพิธภัณฑ์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2539 โดยเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้าง ส่วนชั้นบนมีการจัดแสดงอัฐบริขารและตั้งหุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ตื้ออยู่

และเนื่องด้วยชาวตำบลบ้านข่าสืบเชื้อสายมาจากลาว การบิณฑบาตของวัดแห่งนี้จึงปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน กล่าวคือ พระจะบิณฑบาตไปตามเส้นทางที่กำหนด ไม่เดินไปตามบ้านเรือนเพื่อให้ผู้คนออกมาใส่บาตรที่หน้าบ้าน



วัดสร้างชื่อในอำเภอศรีสงครามก็คือ วัดอรัญญวิเวก (บ้านข่า) ทีมงานเลยไม่พลาดเดินทางจากตัวเมืองกว่า 19 กิโลเมตรเพื่อมาเก็บข้อมูลที่บ้านข่า ระหว่างทางเห็นท้องนาเป็นเพื่อนตลอดทางมากกว่าบ้านเรือนผู้คน เลยรู้สึกสบายตาอย่างบอกไม่ถูก พอมาถึงวัด บรรยากาศพลอยทำให้เราสงบจิตสงบใจไปด้วย
ซ้ายบน – ปากทางเข้าวัดมีป้ายวัดอยู่ทางซ้าย ขณะที่เลยอักษร com ไปทางขวาก็คืออาคารพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ตื้อ ส่วนเหนืออักษร tan ขึ้นไปก็คือเจดีย์วัด สำหรับอุโบสถและศาลาการเปรียญจะอยู่เลยเจดีย์วัดไปด้านหลัง
- ทีมงานขอเริ่มที่เนื้อหาของอุโบสถเป็นอันดับแรก
ขวาบน – อุโบสถเป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น สร้างเมื่อปี พ.ศ.2516 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2530 (จากภาพ ขวามือจะเห็นประตูเข้าโถงอุโบสถชั้นล่าง ส่วนชั้นสองก็มีบันไดขึ้นไปเช่นกัน)
ซ้ายกลางบน – โถงชั้นล่างและพระประธาน
ซ้ายกลางล่าง – ภาพบางส่วนบริเวณชั้นสอง
ขวากลาง – ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2498
ซ้ายล่าง – เมื่อเราขึ้นบันไดมาชั้นบน บรรยากาศเป็นพื้นไม้ โดยมีพระประธานให้กราบไหว้ ส่วนทางขวาคืออาสนะ
ขวาล่าง – เจดีย์ของวัด

 



เราไปทำความรู้จักกับอาคาร
พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ตื้อ อจลธมโมกันต่อ
ซ้ายบน – อาคารพิพิธภัณฑ์มีทั้งหมดสองชั้น (จากภาพ บริเวณนี้คือด้านหน้า)
ขวาบน – ด้านหลังอาคาร
ซ้ายกลางบน – ชั้นล่างจะเป็นโถงโล่ง
ขวากลาง – บรรยากาศชั้นสองเมื่อเราเดินบันไดขึ้นมา
- ทีมงานมีสามตำแหน่งของชั้นสองที่อยากกล่าวถึงดังนี้
ซ้ายกลางล่าง – รูปเหมือนของพระทั้งห้ารูปมีดังนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หลวงปู่มั่น หลวงพ่อเกษม เขมโก หลวงปู่ตื้อ และพระอาจารย์ไท ฐานุตโม
ซ้ายล่าง – ตู้โชว์อัฐบริขารบางส่วนของหลวงปู่ตื้อ เช่น ขันอาบน้ำ พัด ไม้เท้า กาน้ำ แส้หางม้า กระโถน หนังสือคัมภีร์มูลกัจจายน์ ฯลฯ (นอกจากนี้ยังมีตู้โชว์เหรียญรุ่นต่างๆของหลวงปู่ตื้อด้วย)
ขวาล่าง – หุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่ตื้อในบุษบก ซึ่งทุกคนสามารถกราบไหว้หลวงปู่ตื้อได้ สำหรับประวัติคร่าวๆของหลวงปู่ตื้อมีดังนี้ ท่านเป็นบุตรของ นายปาและนางปัตต์ ปาลิปัตต์ เกิดวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2431 ณ.ตำบลบ้านข่า ครอบครัวของหลวงปู่มีความใกล้ชิดกับวัดมานาน ท่านจึงได้รับการปลูกฝังเรื่องการบวชเรียนมาตั้งแต่เล็กและได้รับบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่ง หลวงปู่อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ.2452 ที่อำเภอท่าอุเทนโดยมีพระอาจารย์คานเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วกลับไปจำพรรษาที่วัดบ้านเกิดเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยขั้นต้น ในยุคนั้นการศึกษาธรรมะที่สุดยอดเรียกว่า“เรียนสนธิ เรียนนาม มูลกัจจายน์” ซึ่งก็คือการหัดอ่านเขียนภาษาบาลีนั่นเอง โดยท่านต้องเดินเท้ากว่า 50 กิโลเมตรไปวัดโพธิ์ชัย(ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียง) และภายใน 4 ปี ท่านก็จบหลักสูตร จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่วัดโพธิสมภรณ์ ท่านได้ปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานที่วัดแห่งนี้ แล้วรู้สึกถูกโฉลกกับการปฏิบัติกรรมฐานอย่างมากเพราะเล็งเห็นว่าเป็นการเดินทางสายตรงต่อการบรรลุธรรมอย่างแท้จริง หลังจากนั้นจึงออกธุดงค์ไปประเทศลาวเพราะเป็นที่ที่พระธุดงค์ไปกันมาก หลวงปู่ตื้อเป็นสหธรรมิกที่รักใคร่กับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระทั้งสองรูปพบกันครั้งแรกที่ป่าภูพาน จึงมีโอกาสสนทนาธรรมกัน แม้บุคลิกภายนอกของพระทั้งสองจะดูแตกต่าง กล่าวคือหลวงปู่ตื้อมีอุปนิสัยพูดเก่งและโผงผาง ส่วนหลวงปู่แหวนไม่ค่อยพูด แต่พระทั้งสองรูปก็เข้ากันได้ดี โดยส่วนตัว หลวงปู่ตื้อปรารถนาจะพบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตเพราะได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับปฏิปทาและจริยาวัตรสายกรรมฐานอันแรงกล้ามานาน จึงเดินธุดงค์เพื่อไปกราบพระอาจารย์มั่นและพำนักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่กับพระอาจารย์มั่น หลังจากบวชอยู่ฝ่ายมหานิกายมา 19 พรรษา ไม่นานหลวงปู่ตื้อก็ได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุตตอนอายุ 37 ปีโดยมีพระอุบาลี คุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท)เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากทำการญัตติเป็นพระธรรมยุตแล้ว ท่านจึงมีข้อวัตปฎิบัติเด็ดขาดและเอาจริงเอาจัง หลวงปู่ตื้อออกเดินกรรมฐานตามพระอาจารย์มั่นไปยังถ้ำต่างๆในเชียงใหม่พร้อมกับสานุศิษย์และได้รับความไว้ใจในการปฏิบัติกรรมฐานจนกลายเป็นลูกศิษย์เอก พระอาจารย์มั่นพำนักที่ภาคเหนือนานถึง 12 ปี โดยมีหลวงปู่ตื้อตามไปทุกแห่ง หลวงปู่ตื้อบำเพ็ญกรรมฐานสร้างบารมีที่ภาคเหนือ โดยสร้างวัดป่ากรรมฐานขึ้น เช่น วัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม วัดป่าสามัคคีธรรม(หรือวัดป่าอาจารย์ตื้อ) อำเภอแม่แตง ฯลฯ จนปี พ.ศ.2482 พระอาจารย์มั่นต้องกลับอีสานเพื่อไปเผยแพร่และอบรมกรรมฐานแก่สานุศิษย์ แต่หลวงปู่ตื้อยังพำนักทางภาคเหนือต่อเพราะชอบอากาศทางภาคเหนือ หลังจากออกพรรษาปี พ.ศ.2514 ลูกหลานและชาวนครพนมก็พร้อมใจไปกราบนิมนต์หลวงปู่ตื้อให้กลับไปจำพรรษายังนครพนมถิ่นกำเนิดของท่านตลอดไป หลวงปู่จึงรับนิมนต์และแสดงธรรมอยู่ไม่ขาด ช่วงนี้หลวงปู่ตื้อสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 1 องค์และนำเงินที่เหลือไปสร้างโบสถ์ต่อ ท่านอยู่ที่นี่ได้เพียง 4 ปีก็มรณภาพเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2517 สิริรวมอายุได้ 86 ปี 5 เดือน 16 วัน

TODAY THIS MONTH TOTAL
117 4108 253326
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top