กาดวิถีชุมชนคูบัว

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

กาดวิถีชุมชนคูบัวจัดขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ในพื้นที่ของวัดโขลงสุวรรณคีรี โดยวันศุกร์จะเริ่มตอนบ่ายเป็นต้นไปจนถึงสองทุ่ม แต่วันเสาร์และอาทิตย์จะเริ่มตั้งแต่เก้าโมงเช้าเป็นต้นไปจนถึงสองทุ่ม

ภายในงานมีผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านในตำบลคูบัวไม่ว่าจะเป็นของกินของใช้ มุมขันโตกไท-ยวนบนเสื่อ(หรือเสื่อโตก)ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถนำอาหารที่ซื้อจากงานมาจับจองที่นั่งกินบนเสื่อได้เลย และการแสดงพื้นบ้านบนเวที

บรรยากาศในกาดวิถีชุมชนคูบัวถึงแม้จะอยู่ภาคกลาง แต่กลับมีกลิ่นอายความเป็นล้านนาเนื่องจากชาวคูบัวครั้งหนึ่งเคยอยู่ที่อำเภอเชียงแสน ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ วัฒนธรรมต่างๆจึงสืบสานมาถึงปัจจุบัน

สำหรับเส้นทางเดินในกาดวิถีชุมชนคูบัวจะแบ่งเป็น 3 ช่วงด้วยกัน (โดยแผงสินค้าทั้งหมดเป็นซุ้มเรือนไม้มุงจากตลอดสองข้างทาง)

ช่วงที่ 1 เมื่อเดินจากประตูหน้าวัดเข้ามา นักท่องเที่ยวจะเห็นร่มกางประดับริมผนัง(ต้อนรับนักท่องเที่ยว)มากมาย กลายเป็นมุมถ่ายรูปที่ระลึกไปโดยปริยาย จากนั้นเมื่อเดินพ้นซุ้มประตูเข้าสู่งานแล้ว เส้นทางจะเป็นทางตรงระยะสั้นไม่กี่ก้าว ก่อนจะเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางตรง ซึ่งเส้นทางนี้ถือว่ามีระยะยาวที่สุด ระหว่างทางของทางสายตรงจะมีช่องเลี้ยวขวาเพื่อไปโซนเสื่อโตกและเวทีการแสดงด้วย ขณะเดียวกันกลางทางเดินสายตรงนี้ยังมีเก้าอี้ให้นั่งพักอีก เมื่อมาสุดทางตรง ทางจะบังคับให้เลี้ยวขวาเป็นระยะสั้นๆเพื่อไปบรรจบกับสามแยกเข้าสู่โซนที่ 2 ต่อ

ซึ่งสามแยกนี้ ถ้าเลี้ยวขวาไป ก็มีซุ้มเรือนไม้ทั้งสองฟากก่อน จากนั้นจึงเป็นลานเสื่อโตก (เราจึงมาลานนั่งกินได้ทั้งหมดสองช่องทางเดินนั่นเอง) แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายจากสามแยกแทน เส้นทางนี้จะตรงขึ้นไป สองข้างทางเป็นซุ้มเรือนไม้เช่นเคย จากนั้นทางตรงจะมุ่งสู่ประตูเข้าออกข้างวัด

แต่ถ้าไม่เดินออกประตูวัด แล้วเลี้ยวขวาเลียบกำแพงวัด เส้นทางนี้ก็คือ ช่วงที่ 3 ซึ่งแผงลอยจะมีเฉพาะฝั่งซ้ายเลียบกำแพงเท่านั้น ส่วนปลายทางของช่วงที่ 3 จะมีลานโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกินอีกจุดด้วย

สำหรับสินค้าแต่ละช่วงมีดังนี้

ช่วงที่ 1 มีเครื่องประดับสตรี ของกินเล่น อาหารอีสาน ของปิ้งย่าง ขนมของชาวจีน ผลไม้แช่อิ่มและเชื่อมแห้ง น้ำผลไม้คั้นและปั่น เครื่องดื่มสมุนไพร ผักสด ขนมไทย ของทอด ของหมักดอง ขนมจีนน้ำยา อาหารทั่วไป ของแห้ง ต้นไม้ประดับ เบเกอรี่ ไข่ เสื่อผ้าพื้นเมือง ของใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์ทำจากไม้ ของเล่นเด็ก เครื่องดื่มแช่เย็น ไอศกรีม ผลไม้ กับข้าว ชากาแฟ และก๋วยเตี๋ยว

สำหรับช่วงที่ 2 มีผลไม้ อาหารทั่วไป ของยำ เครื่องดื่ม อาหารอีสาน เสื้อผ้าพื้นเมือง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ผักสด ผักท้องถิ่น ขนมไทย ของใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์จากผ้า สมุนไพร ไอศกรีม เสื้อผ้าพื้นเมือง สินค้าโอทอป ของหมักดอง ของต้ม ของทอด และสินค้าแฟนซี

และช่วงที่ 3 ก็มีอาหารอีสาน ขนมไทย อาหารทั่วไป เสื้อผ้าพื้นเมือง ก๋วยเตี๋ยว ของใช้ส่วนตัว ของใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์จากผ้า ชากาแฟ เครื่องดื่ม ผลไม้ อาหารตามสั่ง สมุนไพร และของกินเล่น

อนึ่ง ก่อนเข้าซุ้มประตูกาดวิถีชุมชนคูบัวจะมีซุ้มสินค้าเล็กๆด้านหน้าอีกหนึ่งจุดด้วย ซึ่งสินค้าแถบนี้มีของเล่นเด็ก ผลิตภัณฑ์จากไม้ อุปกรณ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เครื่องประดับสตรี ของใช้ส่วนตัว น้ำผึ้ง ของตกแต่ง ของเล่นพื้นบ้าน ของขบเคี้ยว เครื่องดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เสื้อผ้าสูงวัย ผลิตภัณฑ์ซักล้าง และผลิตภัณฑ์สุขภัณฑ์


ตอนที่ทีมงานมาถึง แค่ได้ยินชื่อ“กาด”กับเสน่ห์เมืองเหนือที่ครุกรุ่นอยู่ ก็อดสงสัยไม่ได้ จนเมื่อทราบความเป็นมาของชุมชนคูบัวที่อพยพมาจากเชียงแสนเมื่อ 400 ปีก่อน ทุกอย่างเลยประจักษ์ทันที ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวยังเห็นโบราณสถานหมายเลข 18 ของเมืองโบราณคูบัวในวัดโขลงสุวรรณคีรีเป็นแลนด์มาร์กอีกด้วย
ซ้ายบน – บริเวณซุ้มประตูไม้ไผ่ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยร่มบ่อสร้างและต้นตุง แค่กำแพงร่มหลากสีสันพร้อมแคร่ไม้ไผ่ก็กลายเป็นจุดเช็กอินสำหรับถ่ายรูปอัพโซเชียลสบายๆแล้ว
- เดี๋ยวเข้าไปชมบรรยากาศข้างในดีกว่า ตอนนี้ขอเปิดฉากด้วยช่วงที่หนึ่งก่อน ซึ่งของกินถือเป็นไฮไลต์เลย
ขวาบน – เราจะเห็นซุ้มเรือนไม้อยู่ทั้งสองข้างทาง แต่ละซุ้มมีสินค้าแตกต่างกันไป ส่วนผู้คนก็จับจ่ายกันเพลินอุรา แต่ถ้าใครเมื่อย ตรงกลางทางเดินมีเก้าอี้ให้นั่งพักกายด้วย
ซ้ายกลางบน – ป้าร้านนี้มีเมนูอาคารคาวมาให้ลิ้มรสไม่น้อยทีเดียว เริ่มจากต้มปลาทู แกงส้ม แกงหัวตาล หมูทอด แกงเลียงกุ้งสด พะแนงไก่ แกงขี้เหล็ก ไปจนถึงลาบหมู
ขวากลางบน – ผัดไทยร้านนี้ขายดีจริงๆ เห็นปรุงจนฉุดไม่อยู่แล้ว นอกจากมีภาชนะรองด้วยใบตองธรรมดา ร้านนี้ยังมีกระทงหัวปลีอีก (จากภาพ กระทงหัวปลีจะอยู่ใต้อักษรคำว่า www)
ซ้ายกลางล่าง – แผงของลุงซุ้มนี้คือ ก๋วยเตี๋ยวเรือ
ขวากลางล่าง – ใครที่อยากกินขนมจีน ป้าร้านนี้มีน้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริก และแกงเขียวหวานมาให้เลือก
ซ้ายล่าง – ร้านนี้อยู่ใกล้สามแยกและเป็นหนึ่งในไม่กี่ร้านที่ไม่เป็นซุ้มเรือนไม้เหมือนใครเขา ส่วนของกินมีมากมายดังนี้ ปลาส้ม(ที่มีปลานิล ปลาตะเพียน และปลาจีน) ปลาร้า(ที่มีปลาสร้อยและปลากระดี่) กุ้งจ่อม หอยดอง ขิงดอง ไช้โป้ว และปลาร้าบอง
ขวาล่าง – ป้าๆน้าๆแผงนี้มีไก่ย่าง ไก่ปิ้ง ตับไก่ปิ้ง และตูดไก่ปิ้ง เลือกตามไซส์ที่ต้องการได้




เดินไปชิมไป ฟังเสียงสะล้อซอซึงกันไป
ซ้ายบน – พี่ร้านนี้จำหน่ายของกินเล่นหลายอย่างอันได้แก่ กล้วยม้วน ขนมปังกรอบเนยน้ำตาลโรยงา ฝอยทองกรอบ เมี่ยงกรอบ ขนมชั้น และขนมเปี๊ยะใบเตย(ไส้ถั่วผสมไข่เค็ม)กับขนมเปี๊ยะดั้งเดิม(ไส้ถั่วผสมไข่เค็มเช่นกัน)
ขวาบน – ป้าร้านนี้มีขนมไทยๆมาฝากคือ ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย และขนมเทียน
ซ้ายกลางบน – แม่ค้าเจ้านี้แบ่งสินค้าออกเป็นสองหมวดคือ ไส้กรอกทอด ไก่ทอด ไข่นกกระทาครก และเฟรนช์ฟรายด์ ส่วนอีกหมวดเป็นน้ำอัดลม น้ำดื่ม น้ำชาเขียว น้ำเก๊กฮวย น้ำอัญชันมะนาว และน้ำน้ำผึ้งมะนาว
ขวากลางบน – สำหรับผลไม้คั้นสด ซุ้มนี้มีส้มกับทับทิมมาช่วยดับร้อน
ซ้ายกลางล่าง – ใครกำลังมองหาน้ำสมุนไพร มุมนี้มีน้ำอ้อยดำบรรจุขวดแช่เย็นเป็นทางเลือก (จากภาพ อ้อยดำจะมีรสชาติจืด)
ขวากลางล่าง – ผ้าตีนจกถือเป็นสินค้าขึ้นชื่อของชาวคูบัว ทำมาจากผ้าฝ้าย ใครสนใจเอาไปทำเป็นผ้าถุงหรือตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าแบบไหน ก็แวะมาได้ ตัวเลือกมีหลายร้านแน่นอน
- ช่วงที่หนึ่งพอเห็นภาพแล้ว เราเดินผ่านสามแยกเข้าช่วงที่สองต่อ
ซ้ายล่าง – นักท่องเที่ยวกำลังเดินช้อปอยู่พอดี ส่วนซ้ายขวาเป็นซุ้มเรือนไม้เหมือนเดิม
ขวาล่าง – ไปดูผักสดไว้ทำกับข้าวดีกว่า ทั้งหมดมีผักบุ้งจีน หัวไช้เท้า ผักกวางตุ้ง ต้นหอม บวบเหลี่ยม มะระ ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะสีม่วง ฟักทอง มะเขือยาว ถั่วพู ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย กระเจี๊ยบเขียว แตงกวา มะเขือเปราะ มะเขือพวง ถั่วลันเตา มะเขือเทศ มะนาว กะหล่ำดอก เห็ดหูหนู พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือเทศราชินี ฟักเขียว พริกไทยดำ ตะลิงปลิง และมะเขือไข่เต่า



 

ถึงกาดนี้กินพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก แต่ก็มีสินค้าให้จับจ่ายเพลินไม่เบา
ซ้ายบน – พี่ร้านนี้เรียงผลไม้บนแผงไว้หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่กล้วยหอม สละสุมาลี ฝรั่งกิมจู ลูกพลับ มะม่วงแก้วขมิ้น มะม่วงเขียวเสวย แคนตาลูป ส้มโอขาวใหญ่ แอปเปิลแดง และแอปเปิลเขียว
ขวาบน – น้องผู้หญิงในซุ้มมีข้าวทอดยำแหนม ยำไข่เยี่ยวม้า ยำแหนมสด ยำมะม่วงปูจืด ยำข้าวโพด ยำหมูย่าง ยำเส้นแก้ว และยำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ซ้ายกลางบน – แม่ค้าเปิดซึ้งให้ดูกันจะๆ เพราะนี่คือก๋วยเตี๋ยวหลอด
ขวากลางบน – ไอศกรีมใส่กะลามะพร้าวสำหรับคนที่อยากได้อะไรหวานๆเย็นๆ ส่วนด้านหน้ายังมีน้ำมะพร้าวต่อยอดความชื่นใจด้วย
ซ้ายกลางล่าง – ผ้าตีนจกยังคงขึ้นชื่ออยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ว่าเราเดินไปทางไหน ก็เจอทางนั้นแน่ ใครชอบลายไหนของร้านไหน ก็ปรี่เข้าไปเลย
- จากช่วงที่สอง ทีมงานเดินเลียบกำแพงวัดเข้าสู่ช่วงที่สามทันที
ขวากลางล่าง – เมนูเอกของร้านนี้คือ ส้มตำและซุปหน่อไม้ นอกจากนั้น หน้าแผงยังมีหมึกกะตอยหวาน หมึกบด หอยแมลงภู่หวาน หมึกหวาน ปลาหวาน และหอยเสียบมาเสริมทัพ
ซ้ายล่าง – มาถึงร้านนี้กับอาหารตามสั่ง ตัวอย่างสำรับก็มีข้าวผัด ผัดทะเลรวมมิตร กะเพราหมูและไก่ กะเพราทะเล ผัดซีอิ๊วหมูหมัก ผัดซีอิ๊วทะเล และราดหน้าหมูหมัก
ขวาล่าง – และอาหารที่นักท่องเที่ยวซื้อจากกาดแห่งนี้สามารถจับจองที่นั่งกินขันโตกไทย-ยวนได้แบบไม่มีค่าบริการ ใครชอบมุมไหนก็หย่อนตัวลงมุมนั้นไป เรายังเห็นการฟ้อนรำและการแสดงจากกลุ่มเยาวชน แม่บ้าน และผู้สูงอายุในบรรยากาศแดดร่มลมตกบนเวทีตอนนี้ด้วย นาทีนี้หลายคนได้แต่ม่วนใจ๋









TODAY THIS MONTH TOTAL
81 2926 252144
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top