ตลาดสังขละบุรี

คำอธิบาย


(สามารถคลิกอ่านคำอธิบายของกินของใช้ได้ที่"คำอธิบาย")

พื้นที่ของตลาดสังขละบุรีมีสามส่วนด้วยกันคือ อาคารหลังใหญ่ อาคารหลังเล็ก และทางเดินระหว่างอาคารทั้งสอง โดยอาคารตลาดสดนี้รายล้อมด้วยถนนสามด้านคือ ด้านหน้าติดกับถนนเทศบาล 1 ด้านข้าง(ทางซ้าย)ติดกับถนนเทศบาล 5 และด้านหลังติดกับถนนเทศบาล 2 ยกเว้นด้านข้าง(ทางขวา)จะเป็นทางเดินและติดกับบ้านเรือนผู้คน สำหรับอาคารทั้งสองเป็นโครงสร้างไม้หลังคากระเบื้อง

เริ่มต้นรายละเอียดที่อาคารหลังใหญ่ก่อน ภายในเป็นแผงปูนทั้งหมด ขณะที่ช่องทางเดินมีแนวลึก 3 ช่องและแนวขวาง 10 ช่อง โดยทางเดินแนวขวางแบ่งเป็นทางแนวขวางที่เชื่อม(ทั้งสามช่องทางเดินแนวลึก)กลางอาคาร 1 ช่อง ทางเดินย่อยระหว่างแผงปูนให้คนขายเข้าออกแผง 8 ช่อง และทางเดินระหว่างแผงหน้าตลาดอีก 1 ช่อง ซึ่งทางเดินแนวลึกมีแผงปูนขนาบซ้ายขวาตลอด ถ้ามองจากหน้าตลาดเข้าไป ทางเข้าอาคารจะมีสามช่องทางเดินแนวลึกจนไปออกด้านหลังตลาดทุกช่อง ทีนี้ช่วงหน้าตลาดใต้หลังคากันสาดที่ยื่นออกมาจากตัวอาคาร แผงปูนสองแถวแรกจะเรียงเป็นแนวขวางซ้อนกันสองแถวทั้งสามช่องทางเดินแนวลึกก่อน(ซึ่งช่องว่างแนวขวางระหว่างแผงปูนสองแถวแรกนี้มีลักษณะแคบ จึงเป็นตำแหน่งยืนขายของ ไม่ใช่ทางเดิน) จนเมื่อเดินผ่านแผงปูนสองแถวแรกไป จึงเป็นทางเดินแนวขวางหน้าตลาด จากนั้นแผงปูนหลังจากนี้จึงเรียงเป็นแนวลึกตลอดทางแทน

เรามาเข้าช่องทางเดินที่หนึ่งจากด้านซ้ายที่หน้าตลาดกัน ซึ่งด้านซ้ายของทางเดินเป็นแผงเดี่ยวริมอาคาร ส่วนด้านขวาเป็นแผงที่หันหลังชนกับแผงทางซ้ายของช่องทางเดินที่สอง โดยข้าวของในช่องทางเดินนี้มีกับข้าวไทย อาหารตามสั่ง อาหารพม่า เครื่องดื่ม ของแห้ง ขนมพม่า ขนมจีนมอญ หมากพม่า กับข้าวพม่า ดอกไม้ไหว้พระ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิวจากพม่า และของกินเล่นไทยและพม่า

สำหรับช่องทางเดินที่สองก็เป็นแผงหันหลังชนกันทั้งสองฝั่ง ของที่ขายมีของกินยามเช้า ของทอด ผักสด ดอกไม้ไหว้พระ ขนมไทย อาหารทั่วไป ปลาทูนึ่ง อาหารพม่า ขนมปัง ของหมักดอง ขนมพม่า ของชำ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิวจากพม่า ผลไม้กระป๋อง ของกินเล่นไทยและพม่า ของปิ้งย่าง ของป่า ขนมไทย เครื่องดื่มแช่เย็น หมากพม่า ชากาแฟ และพืชไร่

ขณะที่ช่องทางเดินที่สามเป็นโซนที่คึกคักสุดในบรรดาทุกช่องเนื่องจากมีคนขายของเต็มทุกพื้นที่ โดยแผงปูนด้านซ้ายเป็นแผงหันหลังชนกันกับแผงทางขวาของช่องทางเดินที่สอง ส่วนแผงปูนด้านขวาริมอาคารเป็นแผงเดี่ยว สินค้าที่โดดเด่นคือเนื้อหมู ที่เหลือได้แก่ ผลไม้ อาหารแช่เย็น เนื้อวัว ผักสด น้ำกะทิ ของแห้ง สัตว์น้ำจืด ของหมักดอง เส้นขนมจีน เนื้อไก่ ปลาทูนึ่ง สัตว์ทะเล เครื่องแกง ไข่ไก่ และพืชไร่

ขณะที่ด้านข้างอาคารฝั่งติดถนนเทศบาล 5 มีแผงอาหารพร้อมที่นั่งหน้าร้านทุกเจ้าบนฟุตบาท โดยขายอาหารตามสั่งเป็นหลัก และยังมีโต๊ะพับขายของกินริมฟุตบาทอีกด้วย ทั้งนี้นอกจากอาหารตามสั่งแล้ว แผงลอยอื่นๆก็มีสัตว์ทะเล ของกินยามเช้า เครื่องดื่ม อาหารอีสาน และของปิ้งย่าง ขณะที่ด้านหลังอาคารฝั่งติดถนนเทศบาล 2 มีที่นั่งกินบนฟุตบาทริมอาคารเช่นกัน ซึ่งเราสามารถสั่งอาหาร กับข้าว และเครื่องดื่มจากแผงปูนช่องทางเดินที่หนึ่งและสองบริเวณท้ายอาคารมานั่งกินได้ ริมฟุตบาทด้านนี้ยังมีรถเข็น โต๊ะพับ รถพ่วงข้างด้วย ส่วนของที่ขายมีของกินเล่น ขนมไทย ของปิ้งย่าง และของกินยามเช้า

คราวนี้เราขยับมาทางเดินระหว่างอาคารตลาดหลังใหญ่และอาคารตลาดหลังเล็กต่อ ถ้าเข้าจากถนนเทศบาล 1 แผงลอยขายของจะอยู่ตรงกลางตลอดแนว แล้วปล่อยให้มีทางเดินจับจ่ายอยู่สองด้าน โดยแผงตรงกลางเป็นแบบหันหลังชนกันและหันหน้าแผงไปทางเดินฝั่งตนเอง สำหรับแผงมุมนี้มีทั้งขาโต๊ะแผงลอย ลังโฟม ตะกร้า และโต๊ะพับ โดยมีร่มตลาดนัดกางควบคู่ด้วย ส่วนแผงปูนข้างอาคารหลังใหญ่ที่หันเข้าทางเดินระหว่างอาคารไม่เน้นขายของเพราะส่วนมากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากด้านหลังแผงฝั่งขวาของช่องทางเดินที่สามในอาคารหลังใหญ่ ขณะที่ด้านข้างอาคารหลังเล็กกลับหนาแน่นตลอดแนวเนื่องจากเป็นห้องแถวโครงเหล็กกั้นเป็นล็อกๆและหันหน้าร้านเข้าทางเดินระหว่างอาคาร แต่ถ้าขยับไปเรื่อยๆ ห้องแถวช่วงหลังที่ใกล้ถนนเทศบาล 2 จะกลายเป็นโต๊ะไม้เรียงติดกันเป็นล็อกๆแทน

สำหรับแผงลอยกลางทางเดินมีสินค้ามากมาย เริ่มตั้งแต่ขนมไทย ผักสด สัตว์ทะเล ขนมจีนน้ำยามอญพร้อมที่นั่ง ขนมพม่า ผักพื้นบ้าน พืชไร่ ผลไม้ อาหารมอญพร้อมที่นั่ง ของหมักดอง ของปิ้งย่าง ดอกไม้ไหว้พระ สัตว์น้ำจืด ไปจนถึงเครื่องแต่งกาย ส่วนห้องแถวข้างอาคารหลังเล็กแต่ละห้องก็มีของแห้ง ของชำ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแผลผิว(ไทยกับพม่า) เครื่องเทศ ไข่ไก่ ของแห้งพม่า อาหารทะเลแห้ง ของใช้ในบ้าน และเครื่องดื่มชง ขณะที่แผงโต๊ะไม้ด้านท้ายเป็นสัตว์น้ำจืดล้วนๆ แต่ก็มีผักสดวางปะปนบ้าง (ทั้งนี้ถ้าเป็นช่วงบ่าย โซนโต๊ะไม้จะเปลี่ยนเป็นขายผักสด พืชไร่ทั้งหมด) สำหรับด้านข้างอาคารหลังใหญ่ค่อนไปฝั่งถนนเทศบาล 2 จะมีแผงปูนสัตว์น้ำจืดกับถาดวางขนมไทยที่ชาวบ้านทำมาขายด้วย

เรามาตบท้ายที่อาคารหลังเล็กกัน ถ้ามองจากถนนเทศบาล 1 เข้าไป จะมีห้องแถวเป็นล็อกๆอยู่ด้านหน้า โดยสินค้าที่ขายก็มีเสื้อผ้าชายหญิง ของกินเล่นพม่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแล้วผิวพม่า รองเท้า เครื่องครัว เสื้อผ้ากะเหรี่ยง ของแห้ง และของชำ ส่วนภายในมีทางเดินแนวลึกจากด้านหน้า 1 ช่องและทางเดินแนวขวางกลางอาคารอีก 1 ช่อง ทีนี้เมื่อเดินตามทางแนวลึกเข้ามา ช่วงครึ่งแรกของอาคารไม่มีล็อกขายของทั้งสองฝั่งเนื่องจากด้านซ้ายก็คือด้านหลังของห้องแถวที่หันหน้าล็อกไปทางเดินระหว่างอาคาร ขณะที่ด้านขวาคือด้านหลังของห้องแถวอีกด้านที่หันหน้าล็อกไปข้างอาคารอีกฝั่งนั่นเอง (แต่ปัจจุบัน ช่องทางเดินช่วงครึ่งแรกนี้ปิดไปแล้ว)

จนเมื่อมาเจอทางเดินแนวขวางกลางอาคาร ถึงเริ่มมีสินค้าขาย โดยตั้งแต่มุมนี้ไปถึงด้านหลังก็มีเครื่องสำอาง ของกินเล่น ของใช้ในบ้าน ของเล่นเด็ก งานบริการ พระเครื่อง กระเป๋า เครื่องครัว ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลผิวพม่า กีฬา เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้ากะเหรี่ยง ของชำ เครื่องประดับ ของแห้ง และรองเท้า สำหรับล็อกห้องแถวที่หันไปทางถนนเทศบาล 2 ขายเสื้อผ้า ของเล่นเด็ก รวมทั้งเสื้อกาญจนบุรีด้วย

ส่วนห้องแถวข้างอาคารฝั่งขวามีทั้งเปิดล็อกขายและเป็นที่เก็บสินค้า ซึ่งสินค้าที่ขายก็ได้แก่ เสื้อผ้าชายหญิง เครื่องนอน เครื่องแต่งกาย และเสื้อผ้าเด็ก



หน้าหนาวที่นี่หมอกหนาเหมือนภาคเหนือไม่มีผิด แถมอากาศเย็นจนต้องใส่เสื้อคลุมอีก ส่วนใครมาหาเสบียงตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง หมูเห็ดเป็ดไก่ ผักสดผลไม้ และกับข้าวกับปลาพร้อมมอบความโอชะแล้ว ณ ตลาดสังขละบุรีแห่งนี้ ความหลากหลายของเชื้อชาติทำให้เราเห็นทางเลือกของการจับจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย
- เริ่มจากอาคารตลาดหลังใหญ่ก่อน
ซ้ายบน – ภาพด้านหน้าอาคารตลาดหลังใหญ่(ที่ติดกับถนนเทศบาล 1)
ขวาบน – บรรยากาศของช่องทางเดินที่หนึ่ง
- เดี๋ยวเราเข้าไปชมข้าวของในช่องทางเดินนี้กัน
ซ้ายกลางบน – เริ่มต้นด้วยแผงนี้ ลูกค้ากำลังนั่งกินเพลินเลย รายการอาหารก็มีขนมจีนน้ำยาปลา ยำข้าวซอย ยำขนมจีน น้ำเต้าทอด และถั่วงอกทอด
ขวากลางบน – ข้าวราดแกงเจ้านี้ คนขายเน้นรสชาติบ้านๆ ส่วนใครอยากนั่งกินหรือใส่ถุงกลับไปก็ได้หมด ตัวอย่างสำรับก็เช่น เปรี้ยวหวานไก่ ผัดผักรวม ยำกุนเชียง พะแนงหมู บวบผัดไข่ ต้มจืดมะระ ปลาดุกทอดกรอบ ต้มยำ ผัดเผ็ดหมูป่า ฯลฯ
ซ้ายกลางล่าง – บนแผงปูนนี้จำหน่ายของกินของใช้จากประเทศเมียนมาร์เกือบทั้งนั้น เช่น ขนมตุ้บตั้บ ถั่วตัด ลูกอม แป้งทานาคา แป้งทานาคา กระดาษมวนยาเส้น กาแฟ ถั่วแปหล่อ แครกเกอร์ ฯลฯ ส่วนสินค้าไทยก็เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไฟแช็ก ธูปเทียน ซองจดหมาย แป้งทาตัว ฯลฯ
ขวากลางล่าง – พ่อค้าหนุ่มกำลังทำหมากพม่าอยู่ มีชาวพม่าแวะเวียนมาซื้อตลอด
- จากนั้นเข้าสู่ช่องทางเดินที่สองกัน
ซ้ายล่าง – บรรยากาศของช่องทางเดินที่สอง
ขวาล่าง – แม่ค้าร้านนี้มีต้มเลือดหมูและโจ๊กหมูมาให้เลือก



ต่อเนื่องกับช่องทางเดินที่สอง
ซ้ายบน – แผงหน้าตลาดตรงทางเข้าช่องทางเดินที่สองมีหมูปิ้ง ปีกไก่ปิ้ง ไส้กรอกทอด ลูกชิ้นทอด เนื้อไก่ปิ้ง หอยจ๊อทอด ตับไก่ปิ้ง รวมทั้งถั่วต้ม
ซ้ายกลางบน – แม่ค้าสาวมีข้าวผัด(ไข่ดาว) ผัดเส้นหมี่ และผัดหมี่เหลือง (ใครอยากนั่งกินหน้าร้าน ก็ตามอัธยาศัยเลย)
ขวาบน – บริเวณสี่แยกกลางอาคารมีขนมนานาชนิดมาฝากกัน เริ่มจากเมาะลองจอ เซพี ฮาลาวา โดนัทมอญ ซาโมซ่า และข้าวต้มมัด ขณะเดียวกัน สาววัยรุ่นเจ้าของร้านกำลังยืนทอดแป้งเบโม่อยู่ ส่วนมุมไกลออกไปคือวุ้นสี ขนมเทียน และโรตีกรอบ
ซ้ายกลางล่าง – เช้ามืดแบบนี้ เครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้คือ น้ำเต้าหู้ ส่วนเครื่องเคียงไล่เรียงกันมาตั้งแต่ลูกเดือย เม็ดแมงลัก เฉาก๊วย ถั่วเขียวซีก เม็ดสาคูใหญ่ และงาดำ
ขวากลาง – บนแผงนี้จำหน่ายหน่อไม้ดอง หน่อไม้ต้ม และผักกาดดอง
- เข้าสู่ช่องทางเดินที่สาม ซึ่งถือว่าคึกคักกว่าใครเพื่อนเนื่องจากของสดอัดแน่นเต็มพิกัด
ซ้ายล่าง – บรรยากาศของผู้คนที่กำลังจับจ่ายสินค้า
ขวาล่าง – เริ่มกันที่เนื้อหมูซึ่งมีหลายร้าน บนแผงนี้โดดเด่นที่ขาหมู ที่เหลือยังมีหมูติดมัน หมูแดง หมูสามชั้น หมูบด และตับหมู




มื้อเย็นจะหุงหาอะไรดี ไปทัศนากันต่อ
ซ้ายบน – ยังวนเวียนกับเขียงหมูอีกสักเจ้า เครื่องในส่วนต่างๆตามถาดร้านนี้เริ่มจากไส้อ่อน ไส้ตัน หลอดลม ลำไส้ใหญ่ เพดานปาก หางหมู นมหมู ไปจนถึงลิ้นหมู รวมทั้งหมูบด หนังหมู ขาหมูผ่าซีก เนื้อแดง เนื้อซี่โครง และเลือดหมูด้วย
ซ้ายกลาง – แผงต่อไปก็คือ เนื้อวัวและเครื่องในวัวล้วนๆ
ขวาบน – สำหรับเนื้อไก่ก็มีหลายร้าน อย่างเช่นร้านนี้ที่มีไก่เป็นตัว ครึ่งตัว น่องไก่ อกไก่ เนื้อสัน ตีนไก่ โครงไก่ ตับไก่ พวงไข่อ่อน และเลือดไก่ ส่วนใครอยากได้แบบสีขมิ้นหรือไม่สีขมิ้น ตอนนี้แยกโซนไว้เรียบร้อย
ขวากลาง – ขณะที่แม่ค้าแผงนี้กำลังแล่เนื้อปลาสวาย ปลาที่กระจายตัวอยู่บนแผงยังมีปลาทับทิม ปลานิล ปลากด ปลาดุก ปลายี่สกเทศ ปลากา และปลาจาระเม็ดน้ำจืด
ซ้ายล่าง – ตอนนี้มาถึงผักในตลาดบ้าง สำหรับแผงหัวมุมมีรายการดังนี้ กะหล่ำดอก มะเขือเชอร์รี่ มะเขือสีดา ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี กะหล่ำปลี มะนาว แคร์รอต ขึ้นช่าย คะน้า ผักกาดขาว ถั่วลันเตา พริกหวาน พริกหยวก เห็ดหอมสด เห็ดออรินจิ เห็ดนางฟ้า ข่า พริกไทย ขิงซอย กะหล่ำม่วง แตงร้าน ฟักเขียว โหระพา และผักชีฝรั่ง
ขวาล่าง – ลุงและป้านำลูกชิ้นปลา เต้าหู้หลอด เต้าหู้ขาว ไส้กรอกรมควัน ลูกชิ้นเอ็นไก่ แหนม และหมูยอมาช่วยเพิ่มรสชาติ




ขอเดินในช่องทางเดินที่สามอีกหน่อย
ซ้ายบน – พ่อค้าแผงนี้มีหมวดความแซ่บของเครื่องแกงมาเสริมความจัดจ้านอันได้แก่ แกงคั่ว แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด และแกงส้ม นอกจากนี้ยังมีเครื่องลาบ น้ำพริกตาแดง ไตปลา และกะปิกุ้ง ส่วนด้านหลังมีเครื่องคั้นน้ำกะทิพร้อมเสริฟด้วย ลูกค้าอยากสั่งอะไรก็บอกคนขายไปเลย
ซ้ายกลาง – แผงไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่เยี่ยวม้า และไข่เค็ม
ขวาบน – อำลาตลาดหลังใหญ่ด้วยแผงผลไม้หน้าอาคารทางเข้าช่องที่สาม ผลไม้มุมนี้มีมะพร้าว มะม่วงมัน มะม่วงสุก ชมพู่ สาลี่น้ำผึ้ง สาลี่ก้านยาว แอปเปิลแดง องุ่นแดง องุ่นไข่ปลา ส้มจี๊ด ส้มแมนดาริน ส้มเขียวหวาน รวมทั้งน้ำผึ้งขวดและลำไยกระป๋อง ส่วนที่หลุดเฟรมไปก็มีแตงโม พุทรา และสับปะรด
- ได้เวลาเดินทางสู่ลานระหว่างอาคารแล้ว
กลาง – บรรยากาศของลานระหว่างอาคาร พ่อค้าแม่ค้ากำลังพัลวนพันตูกับการยื่นของทอนเงิน ส่วนคนเดินตลาดก็ครึกครื้นทั้งสองฟาก (จากภาพ ลานนี้มีอยู่สองช่องทางเดินคือซ้ายและขวา ส่วนแผงลอยจะอยู่ตรงกลาง โดยเป็นสองแถวหันหลังชนกัน แต่ละแถวหันหน้าแผงเข้าช่องทางเดินตนเอง สำหรับซ้ายสุดคืออาคารตลาดหลังเล็ก ขณะที่ขวาสุดคืออาคารตลาดหลังใหญ่(ที่เราเพิ่งเดินออกมา) ซึ่งฝั่งอาคารหลังเล็กมีล็อกสินค้าที่หันหน้าร้านเข้าช่องทางเดินครบทุกล็อก ส่วนฝั่งขวามีน้อย)
- ตอนนี้ทีมงานยืนอยู่ด้านหลังตลาด แล้วมองเข้าไปในลาน แต่ถ้าอ่านตามบทเกริ่นนำ ทีมงานเล่าจากด้านหน้าเข้ามา ดังนั้นช่องทางเดินขวามือที่เห็นตอนนี้ก็คือ ช่องทางเดินซ้ายมือตามบทเกริ่นนำ(ที่ทีมงานจะเริ่มเล่าก่อน) หรือพูดง่ายๆก็คือ อธิบายช่องทางเดินที่ติดกับอาคารตลาดหลังใหญ่ต่อ หลังจากเดินออกมานั่นเอง
ซ้ายล่าง – บริเวณลานมีแผงผักเยอะมาก เรามาชมหนึ่งเจ้าของฝั่งนี้กัน เริ่มกันตั้งแต่คะน้า กะเพรา โหระพา พริกหยวก ใบบัวบก ขิง ข่า กระชาย หอมใหญ่ ใบมะกรูด ผลมะกรูด มะเขือเปราะ แคร์รอต และพริกชี้ฟ้า
ขวาล่าง – ข้าวเหนียวดำนึ่งร้อนๆในซึ้งนี้ แม่ค้านำมาจากประเทศเมียนมาร์เอง คนขายรับประกันว่าไม่มีสารเคมีใดๆเพราะปลูกแบบธรรมชาติ




ถ้าอยากรู้ว่าช่องทางเดินนี้มีอะไรอีก เกาะติดอย่าให้คลาดสายตา
ซ้ายบน – ช่วงกลางลานมีช่องทางเดินที่เชื่อมระหว่างสองฟากของทางเดินด้วย ซึ่งตอนนี้ทีมงานยืนอยู่ฝั่งช่องทางเดินที่หนึ่ง แล้วมองไปช่องทางเดินฝั่งที่ติดกับอาคารหลังเล็ก เราจะเห็นแผงจำหน่ายอาหารทะเลอยู่ ซึ่งทั้งหมดมีหอยเชลล์ หอยลาย ปูม้า หอยนางรม หนวดหมึกยักษ์ ปลาทูปากจิ้งจก ปลาสีกุน ปลาลัง ปลากะพงขาว ปลาซาบะ และปลาหางแข็ง(ที่อยู่มุมไกลสุด) ส่วนที่ไม่ใช่อาหารทะเลมีลูกชิ้นปลาและปูนา
ขวาบน - มีชาวบ้านตรงแผงอาคารตลาดหลังใหญ่ทำขนมใส่ไส้ ข้าวต้มมัด และข้าวหลามมาจำหน่ายด้วยตัวเอง
ขวากลาง – ตบท้ายช่องทางเดินนี้กับดอกไม้ยามเช้า เวลานี้ดอกเบญจมาศและดอกเยอบีร่าเปล่งประกายแบบสุดๆ ส่วนที่หลบฉากอยู่มีกล้วยไม้ แกลดิโอลัส คัตเตอร์ขาว และกุหลาบ
- จากนั้นไปช่องทางเดินอีกฟากทันที ล็อกสินค้าในอาคารหลังเล็กแถบนี้เฉิดฉายด้วยของแห้งของชำมาก แถมเรียงกันเป็นตับอีก ทีมงานขอสำรวจสักสองเจ้า
ซ้ายล่าง – เริ่มที่ล็อกนี้ก่อน เดินผ่านหน้าร้านก็แทบตาลายแล้ว ตัวอย่างของกินก็มีมันฝรั่ง ผงชูรส หอมใหญ่ กระเทียม น้ำปลา ผงปรุงรส ครีมเทียม เต้าเจี้ยว น้ำส้มสายชู น้ำมันพืช ซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาว ถั่วปากอ้า กาแฟปรุงสำเร็จ พริกป่น น้ำกระเทียมดอง ชาพม่า โอวัลติน ถั่วแปหล่อ มะนาวขวด หมี่เหลืองพม่า ซอสเย็นตาโฟ ถั่วดำ น้ำมันปาล์ม ขนมปังปี๊บ และชาผงปรุงสำเร็จ ขณะที่ของใช้ก็เช่น น้ำยาล้างจาน แป้งทานา ไฟแช็ก ถุงหิ้ว สบู่ ยาสีฟัน ชุดสังฆทาน ฯลฯ
ขวาล่าง – ไปต่อกันอีกล็อกหนึ่ง ข้าวแห้งของชำยังคงคับคั่งเหมือนเคย ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างกันนัก สำหรับแผงนี้มีกุ้งแห้ง ปลาแห้ง ถั่วลิสง เส้นหมี่ ถั่วเขียว น้ำจิ้มไก่ ของกินจากพม่า(เช่น ขนมไข่ ถั่วตัด ขนมตุ้บตั้บ หมี่เหลือง ลูกอม ฯลฯ) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผงชูรส นมถั่วเหลือง มะขามเปียก กาแฟปรุงสำเร็จ ไข่ไก่ กระเทียม ไข่เค็ม โอวัลติน หอมแดง โปรตีนเกษตร น้ำอัดลม ฯลฯ ส่วนของใช้ก็เช่น เชือกฟาง ไฟแช็ก แชมพู ครีมนวด น้ำยาล้างจาน กระดาษมวนยาเส้น น้ำยารีดผ้าเรียบ ผงซักฟอก ฯลฯ




เส้นทางเดินฝั่งติดอาคารหลังเล็กยังไม่เสร็จสิ้น
ซ้ายบน – ด้านนี้ก็มีผักมาให้เลือกอีกมาก เริ่มจากคะน้า ผักบุ้งไทย กะเพรา โหระพา ผักบุ้งจีน ต้นหอม ผักชี พริกขี้หนู แตงกวาใหญ่ มะระขี้นก บวบเหลี่ยม ผักชีฝรั่ง ขิง ตะไคร้ ข่า ถั่วพู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะระ หน่อไม้ดอง ข้าวโพดอ่อน กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดขาว มะกอก ไปจนถึงมะนาว
ขวาบน – แม่ค้ากำลังขอดเกล็ดปลานิลอยู่ ส่วนบนแผงยังมีปลาตะเพียนขาว ปลาจาระเม็ดน้ำจืด และปลายี่สกเทศ
ซ้ายกลางบน – ใครอยากกินขนมจีนน้ำยาหยวก ข้าวซอย หรือก๋วยเตี๋ยว ก็มาร้านนี้ได้
ขวากลางบน – ถึงเวลาตบท้ายโซนนี้กัน ตอนนี้มีชาวบ้านนำหัวไช้เท้าดองทรงเครื่องมานั่งยองๆจำหน่าย
ซ้ายกลางล่าง – ภาพของอาคารตลาดหลังเล็กที่มองจากด้านหลัง(หรือฝั่งถนนเทศบาล 2)เข้าไป เดี๋ยวเราก้าวเท้าไปด้านในเลย
ขวากลางล่าง – ภายในมีหนึ่งช่องทางเดินตรงแบบนี้ เราจะเห็นล็อกสินค้าซ้ายขวาตลอดทาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผงเสื้อผ้า
ซ้ายล่าง – ล็อกนี้มีผ้าถุงหลายสีสัน ชุดชาวมอญ เสื้อชาวเขา รวมทั้งเสื้อผ้าสตรี
ขวาล่าง – ส่วนล็อกนี้เน้นเครื่องใช้พลาสติก เริ่มตั้งแต่ตะกร้า กะละมัง ถังน้ำ ทับเบิลแวร์ ลังพลาสติก ฝาชี กระติกน้ำ กล่องใส่ของ ขัน กระปุก เก้าอี้เตี้ย ชั้นวางในห้องน้ำ ถาด ถังขยะ กล่องทิชชู่ ไปจนถึงกรวยกรองน้ำพลาสติก ส่วนสินค้าอื่นๆที่พ่วงมาก็เช่น ใยขัด ผ้ากันเปื้อน กิ๊บหนีบผ้า ฝอยสแตนเลส ลูกตะกร้อ ที่โกยขยะ ผ้าเช็ดเท้า กระเป๋าคาดเอว ฯลฯ



 

ขอกล่าวถึงในอาคารอีกหนึ่งประเด็น
ซ้ายบน – ป้าคนนี้บริการเย็บผ้าถุงอยู่
- จากในอาคาร เราออกไปชมรอบๆอาคารตลาดหลังเล็กบ้าง
ขวาบน – ร้านนี้อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนเทศบาล 1 ซึ่งยังคงเป็นเสื้อผ้าเช่นเคย ทั้งเสื้อผ้าชาวเขา เสื้อผ้าเด็กดอย และผ้าถุงสีสันต่างๆ
ซ้ายกลาง – บริเวณข้างอาคารก็มีล็อกสินค้า(ที่เปิดหน้าร้านไปตรงทางเดินข้างอาคาร)อยู่หลายแผง ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าบุรุษ ประเภทเสื้อก็มีดังนี้ เชิ้ตแขนสั้นและแขนยาว เสื้อยืด เสื้อโปโล และกางเกงขาสั้นขายาว รวมทั้งเสื้อเด็กและผ้านวม
- อาคารหลังเล็กก็พอได้น้ำได้เนื้อแล้ว ต่อไปเป็นข้าวของรอบข้างอาคารหลังใหญ่ตรงถนนเทศบาล 2 และถนนเทศบาล 5 บ้าง
ขวากลางบน – ล็อกอาหารตามสั่งเรียงรายติดกันเป็นทิวแถวพร้อมที่นั่งเสร็จสรรพ นอกจากนี้ยังมีร้านข้าวแกงและร้านเครื่องดื่มด้วย
ซ้ายล่าง – แม่ค้าทำซาลาเปาและปาท่องโก๋ตั้งแต่เช้ามืด
ขวากลางล่าง - รถพ่วงข้างคันนี้ คนหนึ่งทอดแซนด์วิชอยู่ด้านหลัง อีกคนคีบรสชาติที่ลูกค้าเลือกใส่ถุงอยู่ด้านหน้า
ขวาล่าง – ไปตบท้ายอากาศเย็นๆตอนรุ่งอรุณด้วยทะเลเผากัน ตัวเลือกก็มีหอยแมลงภู่ หอยหวาน หมึก กุ้ง และหอยแครง (ตอนนี้คนขายกำลังก่อไฟอยู่) 

TODAY THIS MONTH TOTAL
179 3024 252242
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top