แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

คำอธิบาย


ประวัตความเป็นมาเริ่มต้นจากในปี พ.ศ.2500 นายบรรลุ มนตรีพิทักษ์ แพทย์ประจำอำเภอบ้านเชียงขุดหลุมเพื่อสร้างห้องน้ำบริเวณบ้านใกล้กับวัดโพธิ์ศรีใน แล้วพบภาชนะดินเผาตกแต่งลายเขียนสีสภาพสมบูรณ์ 3 ใบ จึงนำไปมอบให้นายพรมมี ศรีสุนาครัว ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเชียง (ประชาเชียงเชิด) นายพรมมีได้เก็บรักษาไว้ที่ห้องพักครูใหญ่ จากนั้นจึงเริ่มรวบรวมโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาที่พบในหมู่บ้านและจัดแสดงให้ผู้มาเยี่ยมได้ชม

ต่อมาปี พ.ศ.2503 นายเจริญ พลเตชา หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 7 ขอนแก่น ทำการสำรวจบ้านพันนา อำเภอสว่างแดนดิน ก็พบโบราณวัตถุประเภทเศษภาชนะดินเผาลายเขียนสี เมื่อเดินทางต่อมาถึงบ้านเชียง ได้สอบถามถึงภาชนะดินเผาลักษณะเดียวกัน นายพรมมี ศรีสุนาครัวจึงมอบภาชนะดินเผาลายเขียนสี(ที่รวบรวมไว้)ให้นายเจริญไปส่วนหนึ่งเพื่อให้กรมศิลปากรนำไปศึกษา แต่ยังไม่มีการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากขณะนั้นการศึกษาเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่สนใจนัก

ปี พ.ศ.2509 นายสตีเฟน ยัง นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจากประเทศสหรัฐอเมริกาเดินทางมาศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานที่บ้านเชียงเพื่อเป็นข้อมูลในการทำวิทยานิพนธ์ ระหว่างเดินสำรวจในหมู่บ้าน ได้สะดุดรากต้นนุ่นหกล้มลงพื้นและสังเกตเห็นเศษภาชนะดินเผาลายเขียนสีจำนวนมากอยู่ตามผิวดิน จึงเก็บตัวอย่างมาให้ศาสตราจารย์พิเศษชิน อยู่ดี ภัณฑารักษ์ของกรมศิลปากรตรวจสอบ ซึ่งศาสตราจารย์พิเศษชินสันนิษฐานว่า เป็นโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยโลหะ ทั้งไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย จึงมีความเห็นว่า ควรมีการขุดค้นเพื่อศึกษาต่อไป

ในปี พ.ศ.2510 กรมศิลปากรเริ่มดำเนินการด้านโบราณคดีที่บ้านเชียงเป็นครั้งแรก โดยการขุดทดสอบ มีนายวิทยา อินทโกศัยเป็นผู้ดำเนินการและนำตัวอย่างเศษภาชนะดินเผาที่ได้จากการขุดค้นไปตรวจสอบหาอายุด้วยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ค่าอายุ 7,000 – 5,000 ปี ทำให้บ้านเชียงเป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ ภาชนะดินเผาลายเขียนสีบ้านเชียงจึงเริ่มเป็นที่ต้องการของนักสะสมโบราณวัตถุนับแต่นั้น

จากนั้นในปี พ.ศ.2515 กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงเป็นครั้งที่ 2 เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างละเอียด มีนายนิคม สุทธิรักษ์ นายพจน์ เกื้อกูล และนายวิพากษ์ ศรทัตต์เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมทั้งศาสตราจารย์พิเศษชิน อยู่ดี ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา กาญจนาคม เข้าร่วมศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี ครั้งนี้ได้พบโบราณวัตถุประเภทเครื่องใช้สำริดจำนวนมาก ทำให้บ้านเชียงเริ่มเป็นที่สนใจในฐานะแหล่งโบราณคดีสมัยสำริดที่สำคัญและในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้น เนื่องจากขณะนั้นภาวะการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมีความรุนแรงมาก อันอาจทำความเสียหายต่อหลักฐานทางโบราณคดี รัฐบาลจึงร่างประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 189 ห้ามขุดค้น เคลื่อนย้าย หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนโบราณวัตถุในบริเวณบ้านเชียงและพื้นที่ใกล้เคียง ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2515 นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งกลุ่มทำงานวางแผนรักษาโบราณวัตถุในท้องที่จังหวัดอุดรธานีและจัดตั้งโครงการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง ซึ่งดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ บ้านธาตุ บ้านอ้อมแก้ว เป็นต้น

ช่วงปี พ.ศ.2516 กรมศิลปากรทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงอย่างต่อเนื่องตามโครงการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง โดยมีนายพจน์ เกื้อกูลและนางสาวพัชรี โกมลฐิติเป็นผู้ดำเนินการระหว่างนั้นมีการประสานงานไปยังสถาบันการศึกษาในต่างประเทศเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการในการขุดค้นและศึกษาวิจัยแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ปี พ.ศ.2517 กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ก่อตั้งโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเริ่มดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง 2 ครั้งในปี พ.ศ.2517 และ 2518 โดยมีนายพิสิฐ เจริญวงศ์ เป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายไทย และดร.เชสเตอร์ กอร์แมนเป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายสหรัฐอเมริกา การดำเนินงานครั้งนี้เป็นการขุดค้นที่ใช้เทคนิคการปฏิบัติงานทางโบราณคดีแบบใหม่ มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาจากนานาชาติเข้าร่วมขุดค้นในลักษณะสหวิทยการ หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ มีการส่งไปศึกษาวิจัยยังสถาบันในต่างประเทศหลายแห่ง

ในปี พ.ศ.2518 กรมศิลปากรจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีให้ประชาชนได้เข้าชม

ปี พ.ศ.2521 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดนิทรรศการพิเศษเรื่อง“โบราณคดีที่บ้านเชียง” เป็นกิจกรรมเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ปี พ.ศ.2523 กรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ดำเนินการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนบนเพื่อศึกษาถึงขอบเขตการแพร่กระจายของวัฒนธรรมบ้านเชียงตามโครงการโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีดร.อำพัน กิจงามและดร.ชาร์ลส ไฮแอมเป็นผู้อำนวยการขุดค้น





ทีมงานขอพาทุกคนเจาะเวลาหาอดีตไปกับวัฒนธรรมของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภาชนะดินเผา โครงกระดูก โลหะ เครื่องประดับ และเครื่องมือต่างๆ ทุกอย่างยังอยู่ในสภาพดีจนน่าทึ่ง แม้จะผ่านมาหลายพันปีแล้วก็ตาม การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียงครั้งนี้ยังช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์สมัยก่อนมากขึ้นด้วย
บน – หลังจากชำระค่าธรรมเนียมคนไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท ตอนนี้ทีมงานก็อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงเรียบร้อย (จากภาพ อาคารกัลยาณิวัฒนาเป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรและมีทั้งหมดสองชั้น)
- สำหรับลำดับชั้นทางวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของบ้านเชียงแบ่งเป็น 3 สมัยหลักๆตามลักษณะประเพณีการฝังศพและรูปแบบภาชนะดินเผาที่ฝังรวมกับโครงกระดูกคนในหลุมฝังศพคือ 1.บ้านเชียงสมัยต้น เริ่มตั้งแต่เมื่อราว 3,000 ปีย้อนไปถึง 5,600 ปี 2.บ้านเชียงสมัยกลาง เริ่มตั้งแต่เมื่อราว 2,300 ปีย้อนไปถึง 3,000 ปี และ 3.บ้านเชียงสมัยปลาย เริ่มตั้งแต่เมื่อราว 1,800 ปีย้อนไปถึง 2,300 ปี
กลาง – เริ่มที่ชั้นหนึ่งห้องแรก โซนนี้แบ่งเป็นสองส่วนคือ 1.การกระจายตัวของวัฒนธรรมบ้านเชียงมากกว่า 127 แหล่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 2.มรดกโลก
ซ้ายบน – ตู้โชว์นี้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ ณ แหล่งโบราณคดีบ้านนาดี จังหวัดอุดรธานี และแหล่งโบราณคดีบ้านโคก จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีภาชนะดินเผาประดับด้วยเส้นนูน ภาชนะดินเผาลายเขียนสี ภาชนะดินเผาเคลือบสีนวล ตุ๊กตาควายดินเผา ชิ้นส่วนแม่พิมพ์หินทราย สร้อยคอเขี้ยวสุนัข เครื่องมือกระดูกสัตว์ และหินดุ
ขวาบน – ภาชนะลายเขียนสีทั้งหมดนี้เป็นภาชนะดินเผาสมัยปลาย
ซ้ายล่าง – ตู้นี้เป็นเพียงตู้เดียวที่มีความโดดเด่นเรื่องความเก่าแก่เนื่องจากเป็นภาชนะดินเผาสมัยต้น โดยภาชนะทั้งหมดมีภาชนะดินเผาลายเชือกทาบประดับด้วยเส้นนูน ภาชนะดินเผาสีดำ ภาชนะดินเผาปากผายลายขูดขีดเขียนลายสีแดง ภาชนะดินเผาทรงกระบอกที่ปากและเชิงมีรูสำหรับร้อย(ประดับด้วยเส้นนูน) ภาชนะดินเผาปากผายลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาปากผายลายสีดำลายเชือกทาบและลายขูดขีด ตุ๊กตาเป็ดดินเผาสีดำมีลายขูดขีดและลายเชือกทราบประดับด้วยเส้นนูน ภาชนะดินเผาปากผายสีนวลลายเชือกทาบมีลายขูดขีด และพาน
ขวาล่าง – เครื่องประดับสำริดมีลูกกระพรวน ห่วงคอ(ทำจากสำริดที่มีส่วนผสมของดีบุกสูง) กำไล กระดิ่ง และปล้องแขน


ยังอยู่ในห้องแรกอยู่
ซ้ายบน – ลูกกลิ้งดินเผาและตราประทับดินเผา
- เดินต่อไป เราจะพบห้องเชื่อมขนาดเล็กของโซนแรก
ขวาบน – ห้องนี้จัดแสดงภาชนะดินเผาสมัยปลายทั้งหมด
ขวากลางบน – ภาชนะดินเผาเขียนสีแดงบนผิวสีนวล
- จากนั้นก็เข้าสู่โซนการค้นพบยุคสำริดที่สาบสูญไป โดยการจัดแสดงส่วนนี้ปรับปรุงมาจากชุดนิทรรศการเคลื่อนที่ ซึ่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้จัดทำขึ้นและนำไปแสดงในประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ โดยมีการนำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัตศาสตร์ที่ค้นพบในแถบเอเชียอาคเนย์ จนกระทั่งมีการค้นพบยุคสำริดของวัฒนธรรมบ้านเชียง
ซ้ายกลาง – บรรยากาศในห้องนี้
ขวากลางล่าง – ทารกที่ฝังไว้ในภาชนะดินเผาเกือบทั้งหมดมีอายุเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งไม่ทราบว่า ทารกเหล่านี้ตายจากการคลอดหรือตายเพราะมีการฆ่าเด็กทิ้งที่บ้านเชียง อย่างไรก็ตาม ภาชนะดินเผาที่ใช้ฝังศพเด็กเหล่านี้เป็นภาชนะที่มีลวดลายแบบสมัยต้นคือ ลายเชือกทาบ ลายขูดขีด และลายแบบปั้นติด ซึ่งหลังจากสมัยแรกแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีการฝังศพเด็กในภาชนะดินเผาอีก แต่การทำศพเด็กที่บ้านเชียงถือเป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่ปฎิบัติกันเป็นพิเศษของวัฒนธรรมบ้านเชียง (จากภาพ ทางซ้ายเป็นไหบรรจุศพเด็กและถ้วยสมัยต้นราว 4,000 ย้อนไปถึง 5,000 ปี ขณะที่ไหบรรจุศพเด็กทางขวาก็อยู่ในสมัยต้นเช่นกัน คือราว 3,500 ย้อนไปถึง 4,000 ปี)
ซ้ายล่าง – ชีวิตความเป็นอยู่ของคนบ้านเชียงในสมัยกลาง เมื่อศึกษาจากโครงกระดูกตามหลุมต่างๆ จะเห็นว่า คนสมัยนี้มีพิธีฝังศพแบบใหม่คือ ทุบภาชนะดินเผางดงามขนาดใหญ่ที่มีเนื้อบางไว้เหนือศพ แสดงว่า ชุมชนที่มั่งคั่งนี้ตั้งใจละทิ้งสิ่งของที่ทำขึ้นจากแรงงานจำนวนมาก สันนิษฐานว่า คนบ้านเชียงรู้จักการเลี้ยงควายไว้ไถนาและทำนาปลูกข้าวแล้ว นอกจากนี้ยังพบการใช้เหล็กในสมัยนี้ด้วย โดยวัตถุต่างๆที่ค้นพบจากหลุมฝังศพที่ 40 มีทั้งหมด 4 อย่าง (จากภาพ โบราณวัตถุจากหลุมฝังศพที่ 40 อยู่ในสมัยกลาง วัตถุต่างๆที่ขุดค้นพบมีดังนี้ 1.ภาชนะดินเผาก้นแหลมสีขาวทรงสูงมีไหล่เป็นสันหักมุมสองใบ 2.ภาชนะลายขูดขีดเขียนสีสองใบ 3.รูปปั้นสัตว์ดินเผา(วางอยู่ข้างตัวหนึ่งชิ้น) และ 4.กำไลสำริดและชิ้นส่วนของกำไลหิน(ที่ข้อมือ)สองวง)
ขวาล่าง – เบ้าหลอมโลหะทำด้วยดินเผา



ยังอยู่ในห้องเดิม
ซ้ายบน – โครงกระดูกที่ค้นพบที่บ้านเชียงทุกอายุสมัยมักสวมกำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า ในสมัยแรกจะเป็นห่วงกลมเท่านั้น แต่ต่อมาในสมัยกลางจะมีแบบต่างๆมากมายและบางครั้งมีการทำเป็นชุดด้วย จากการขุดค้นไม่เคยพบแม่พิมพ์กำไลข้อมือเลย (และเพื่อเป็นการเรียนรู้ถึงวิธีการผลิตในสมัยโบราณ นักวิทยาศาสตร์จะนำเครื่องมือและเครื่องใช้โลหะมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆติดลงบนแผ่นพลาสติกขัดผิวหน้าตัวอย่างโลหะนั้น แล้วนำไปตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์และถ่ายภาพเพื่อบันทึกเป็นหลักฐาน โดยมีดร.โรเบิร์ต เมดดินและดร.ทามารา สเตซ แห่งมหาวิทยาลับเพนซิลเวเนียเป็นผู้ควบคุมการวิเคราะห์) จึงสันนิษฐานได้ว่า ยุคสำริดในบ้านเชียงคงใช้วิธีการหล่อโดยใช้หุ่นขี้ผึ้ง (จากภาพ เครื่องประดับโบราณแถวบนและแถวกลางเป็นกำไลข้อมือสมัยต้น ขณะที่แถวล่างเป็นกำไลข้อมือ(แบบชุด)ที่หาได้ยากในสมัยกลางและปลาย)
ขวาบน – โบราณวัตถุเหล่านี้พบจากถ้ำผาจัน ซึ่งมีอายุย้อนกลับไปราว 7,000 ปี โดยมีขวานผึ่งหิน เครื่องมือแกนหิน เครื่องมือหิน และสะเก็ดหิน
ขวากลางบน – ควายเป็นสัตว์ที่ปรากฏในสมัยปลาย มีขนาดและกระดูกเล็กกว่าควายป่า แต่ใกล้เคียงกับความเลี้ยงในปัจจุบัน นอกจากนี้ กระดูกนิ้วเท้าข้อที่ 3 ของควายยังมีสันงอกขึ้นมา ซึ่งอาจเกิดจากแรงกดในการลากของหนัก(เช่น คันไถ)คล้ายกับกระดูกควายเลี้ยงที่ใช้แรงงานในปัจจุบัน
- จากห้องจัดแสดงเมื่อสักครู่ เราเดินเข้าสู่ห้องถัดไปของโซนสอง
ซ้ายกลางล่าง – บรรยากาศของห้องจัดแสดง
ซ้ายล่าง – ภาชนะดินเผาก้นแหลมมีไหล่เป็นสันหักมุม
ขวาล่าง – ทัพพีสำริด กำไลหิน กำไลสำริด กำไลงากับกระดูกแขน ลูกปัด และลูกกลิ้งดินเผา




อยู่ในโซนสองเหมือนเดิม
ซ้ายบน – คนบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีการฝังศพพร้อมสิ่งของต่างๆเพื่ออุทิศให้กับผู้ตาย ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย สิ่งของที่พบในหลุมศพ ได้แก่ ภาชนะดินเผา อาหาร เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ ทั้งนี้ประเภทและปริมาณสิ่งของที่แตกต่างกันในแต่ละศพ อาจแสดงถึงสถานะทางสังคมของผู้ตาย นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณสิ่งของที่อุทิศให้กับศพในสมัยปลายเพิ่มมากขึ้นกว่าสมัยต้น รวมทั้งแบบแผนการจัดวางภาชนะดินเผาลงในหลุมศพแต่ละสมัยก็มีความแตกต่างด้วย (จากภาพ หลุมศพหมายเลข 033 พบในหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน ซึ่งเป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่ เพศหญิงอายุประเมินเมื่อตาย 35 ปี (บวกลบไม่เกิน 5 ปี) ฝังท่านอนหงายเหยียดยาวตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการนำภาชนะลายเขียนสีแดงบนผิวสีนวลอย่างน้อย 6 ใบมาทุบให้แตก แล้วใช้ชิ้นส่วนเรียงรองใต้ศพและพบลูกกลิ้งดินเผา กะโหลกหมู และกระดูกขาหมูวางอยู่ร่วมกับศพ)
- จากนั้น เราเข้าสู่โซนถัดไปกับวัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์
ขวาบน – ห้องจัดแสดงนี้แบ่งเป็นซุ้มจำลองความเป็นอยู่ของชาวบ้านเชียงต่างๆในอดีต
ซ้ายกลาง – เครื่องประดับสำริดที่มีลวดลายสวยงาม ได้มาจากการหล่อแบบขับขี้ผึ้ง ใช้สำหรับชิ้นงานที่มีรูปทรงซับซ้อนและลวดลายมาก วิธีนี้ยังนิยมใช้หล่อโลหะมาจนถึงปัจจุบัน การหล่อด้วยวิธีนี้เริ่มจากทำแม่พิมพ์โดยใช้ดินเหนียวปั้นเป็นแกนในเพื่อประหยัดเนื้อโลหะ แล้วนำขี้ผึ้งมาหุ้มทับ จากนั้นปั้นตกแต่งเป็นรูปร่างและลวดลายตามต้องการ แล้วนำดินเหนียวมาพอกทับขี้ผึ้งโดยทำช่องสำหรับเทสำริดไว้ นำแม่พิมพ์ไปเผาไฟให้ขี้ผึ้งละลายไหลออกจากพิมพ์จนหมด แล้วเทสำริดหลอมเหลวลงไปแทนที่ ทิ้งไว้ให้เย็น ทุบแม่พิมพ์ออก จะได้ชิ้นงานที่มีลักษณะเหมือนขี้ผึ้งที่ปั้นไว้ จากนั้นตกแต่งเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อย แล้วขัดเงาด้วยไม้เนื้อแข็งหรือหินกรวดแม่น้ำ ซึ่งสำริดที่หล่อด้วยวิธีนี้ ส่วนใหญ่มีการผสมตะกั่วเพื่อให้มีความเหลว สามารถไหลเข้าไปในส่วนต่างๆของแม่พิมพ์ได้ทั่วถึง
ขวากลางบน – ในการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง พบตะกรันจากการตีเหล็กซึ่งเป็นหลักฐานแสดงถึงการนำเหล็กมาตีขึ้นรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ การตีเหล็กเริ่มจากนำก้อนเหล็กที่ถลุงแล้ว ซึ่งยังเป็นเหล็กอ่อนมาเผาให้ร้อนแดง แล้วตีในขณะที่ยังร้อนเพื่อให้ก้อนเหล็กค่อยๆเปลี่ยนรูปทรง การเผาและการตีต้องทำซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง เมื่อตีเหล็กได้รูปร่างเป็นเครื่องมือตามต้องการแล้ว ก็เผาเครื่องมือเหล็กนั้นซ้ำไปซ้ำมาให้ร้อนแดงอีก แล้วชุบในน้ำเย็นทันที เครื่องมือเหล็กกล้าที่ได้จึงมีความแข็งแกร่งและใช้งานได้ดี
ซ้ายล่าง – หลักฐานกระดูกสัตว์ป่าจำนวนมากที่พบจากการขุดค้น สันนิษฐานได้ว่า คนบ้านเชียงในอดีตใช้ทรัพยากรจากสภาพแวดล้อมป่าโปร่งและทุ่งหญ้า(ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด)เพื่อการดำรงชีวิต มีการล่าสัตว์เป็นอาหารควบคู่กับการเพาะปลูกข้าว การล่าสัตว์อาจใช้วิธีการต่างๆ อาทิ การล้อมจับ การดักยิงด้วยธนูหรือหน้าไม้ การทำกับดัก เป็นต้น โดยพบเครื่องมือบางชนิดที่สามารถใช้ล่าสัตว์ได้ เช่น ใบหอก ขวาน หัวลูกศร ลูกกระสุนดินเผา ฯลฯ
ขวากลางล่าง – เมื่อปั้นขึ้นรูปภาชนะแล้ว หากมีการตกแต่งผิวเป็นลายขูดขีด ลายเชือกทาบ หรือลายกดประทับ ต้องทำในขณะที่เนื้อดินยังไม่แห้ง จากนั้นนำภาชนะไปผึ่งให้แห้งสนิทก่อนเผา สันนิษฐานว่า คนบ้านเชียงในอดีตอาจใช้วิธีเผาภาชนะกลางแจ้ง ซึ่งเป็นกรรมวิธีดั้งเดิมที่ยังปรากฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปัจจุบัน เริ่มจากใช้ไม้ไผ่เรียงเป็นฐานวางภาชนะ แล้วใช้ฟางเป็นเชื้อเพลิง โดยจุดไฟจากใต้ฐาน จากนั้นสุมฟางคลุมภาชนะทั้งหมด ซึ่งจะต้องคอยสุมฟางไปเรื่อยๆให้ไฟลุกไหม้เผาภาชนะอย่างทั่วถึงจนกว่าเนื้อดินจะสุก ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
ขวาล่าง – แวดินเผาที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นหลักฐานแสดงถึงวิทยาการในการนำเส้นใยธรรมชาติของพืชมาตีเกลียวด้วยการใช้ไม้ปั่นด้าย ซึ่งเป็นวิธีที่คนพื้นเมืองหลายชาติพันธุ์ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยใช้แวเป็นอุปกรณ์สวมกับไม้ปั่นด้ายเพื่อถ่วงน้ำหนัก การปั่นด้ายด้วยวิธีนี้เริ่มจากดึงเส้นใยออกจากกลุ่มพร้อมกับบิดเป็นเกลียวจนกลายเป็นเส้นด้าย เมื่อได้เส้นด้ายเพิ่มขึ้นช่วงหนึ่ง จึงพันเก็บไว้กับไม้ จากนั้นจึงปั่นเส้นด้าต่อและพันเก็บสลับกันไปจนกระทั่งหมดกลุ่มเส้นด้าย




ยังอยู่ในโซนเดิม
ซ้ายบน – คนบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์อาจรู้จักเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารตั้งแต่สมัยต้น โดยพบกระดูกสัตว์บางชนิดที่มีความแตกต่างจากสัตว์ป่า เช่น กระดูกวัวและหมูที่มีขนาดเล็กกว่ากระดูกวัวป่าและหมูป่า กระดูกไก่และสุนัขซึ่งเป็นสายพันธุ์ไก่ป่าและสุนัขป่า แต่มีขนาดเท่ากับกระดูกไก่และสุนัขเลี้ยงทั่วไปในปัจจุบัน (จากภาพ ในการขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในพบโครงกระดูกสุนัข ซึ่งกระดูกสุนัขส่วนใหญ่มักพบเป็นชิ้นส่วนเช่นเดียวกับสัตว์อื่นๆ แสดงว่าสุนัขก็ถูกใช้เป็นอาหารเช่นกัน)
ขวาบน – ลักษณะของเหงือกอักเสบที่พบคือ รากฟันโผล่พ้นเหงือกขึ้นมา คอฟันสึก เนื่องจากเชื้อโรคทำลายกระดูกเบ้าฟันและเนื้อเยื่อเหงือก ทำให้เหงือกร่นลงและสร้างเนื้อเยื่อมาเติม ทั้งยังพบว่าโครงกระดูก(ที่ปรากฏอาการเหงือกร่น)มักมีฟันผุปรากฎด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการทำความสะอาดฟันไม่ถูกวิธี (จากภาพ ชิ้นส่วนนี้เป็นฟันล่างด้านซ้ายของวัยรุ่นสมัยต้นจากโครงกระดูกหมายเลข 084 อายุประเมินเมื่อตายคือ 15 ปี (บวกลบ 6 เดือน) พบในหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน)
- จากโซนวิถีชีวิตยุคก่อนประวัติศาสตร์ เราเตรียมตัวเข้าสู่โซนโบราณวัตถุจากการขุดค้นพบทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน
ซ้ายกลางบน – ห้องนี้เป็นทางเดินสายตรงและมีตู้โชว์วัตถุโบราณขนาบทั้งสองข้าง ซึ่งจัดแสดงตามลำดับอายุสมัย
ขวากลาง – ภาชนะดินเผาเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน
ซ้ายกลางล่าง – การใช้ไม้ตีและหินดุขึ้นรูปภาชนะดินเผาในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกับกรรมวิธีการผลิตภาชนะดินเผาในสมัยโบราณได้เช่นกัน เนื่องจากหลักฐานพบเครื่องมือดินเผารูปร่างคล้ายเห็ดและรอยที่ตีบนภาชนะซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้กันอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกวันนี้ จึงสันนิษฐานว่า คนบ้านเชียงในอดีตอาจใช้วิธีปั้นรูปภาชนะดินเผาด้วยมือเป็นเส้นยาว จากนั้นนำมาขดซ้อนเป็นวง แล้วใช้มือรีดให้ติดกันหรือปั้นดินให้เป็นแท่งทรงกระบอกกลวง จากนั้นนำมาตีแต่งให้เป็นรูปทรงโดยใช้หินดุรองด้านในและใช้ไม้ตีด้านนอกเพื่อให้ตัวภาชนะโป่งออกเป็นทรงกลมและประสานปิดก้นภาชนะได้ สำหรับภาชนะใหญ่บางใบอาจใช้วิธีขึ้นรูปเป็นส่วนๆ แล้วนำมาต่อกัน (จากภาพ หินดุ)
ซ้ายล่าง – ลูกปัดแก้ว
- ตอนนี้ห้องจัดแสดงชั้นล่างก็เดินจนครบถ้วนแล้ว ต่อไปก็ขึ้นบันไดสู่ชั้นสองของโซนถัดไป
ขวาล่าง – โซนต่อมาแบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน(ซึ่งมีสองชั้น)คือ 1.การปฏิบัติงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง โดยการจำลองการทำงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง (จากภาพ อยู่ชั้นสองที่ทีมงานยืนอยู่) และ 2.หลุมขุดค้นทางโบราณคดี (จากภาพ มองลงไปชั้นล่าง)




สำรวจส่วนที่สองก่อน
ซ้ายบน – ห้องชั้นล่างมีการจำลองหลุมขุดค้นและการปฏิบัติงานทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน เช่น การถ่ายภาพ การจดบันทึกหลักฐาน ฯลฯ ซึ่งผู้ชมสามารถเดินเข้าไปชมหลุมจำลองอย่างใกล้ชิดจากชั้นล่างก่อนขึ้นมาชั้นสองก็ได้
ขวาบน –
การขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงระหว่างปี พ.ศ.2517 – 2518 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาจากนานาชาติร่วมปฏิบัติงานในลักษณะสหวิทยาการ และชาวบ้านเชียงส่วนหนึ่งได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิด คณะทำงานใช้บ้านของชาวบ้านเป็นที่พักอาศัยและเก็บโบราณวัตถุ นอกจากนี้ยังใช้เป็นห้องเรียนทางโบราณคดีในพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาบรรยายทางวิชาการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ร่วมปฏิบัติงาน ซึ่งจัดขึ้นวันเว้นวันตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน (จากภาพ ห้องจำลองการเก็บภาชนะดินเผาและโบราณวัตถุที่ขุดพบ รวมทั้งเครื่องมือในการขุดค้นหลุมฝังศพ)
ซ้ายกลางบน – ห้องจำลองการเก็บเศษภาชนะดินเผาที่พบในแต่ละชั้น เก็บใส่ถุงแยกตามชั้นที่พบ
ซ้ายกลางล่าง – โต๊ะจำลองการทำงานของคณะปฏิบัติงานทางโบราณคดี
ขวากลาง – ภาพบนคือ หลุมขุดค้นปี พ.ศ.2518 ส่วนภาพล่างคือ การปฏิบัติการของนักโบราณคดีในหลุมขุดค้น
- และเราก็มาถึงโซนสุดท้ายของชั้นสองในอาคารกัลยาณิวัฒนา โดยโซนนี้แบ่งเป็นสองส่วนดังนี้
ซ้ายล่าง – บรรยากาศของห้องจัดแสดงในส่วนแรกมีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินงานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง นักท่องเที่ยวสามารถรับรู้ประวัติความเป็นมาและรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้อย่างครบถ้วน
ขวาล่าง – กระดาษจดบันทึกที่นายสตีเฟน ยังเขียนบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ การปกครอง ความคิดของชาวบ้านที่บ้านเชียง รวมทั้งการพบภาชนะโบราณ กะโหลกศีรษะ และสร้อยคอ




เข้าสู่ส่วนที่สองของโซนสุดท้าย
ซ้ายบน – บรรยากาศของห้องจัดแสดงในส่วนที่สองมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับบ้านเชียง ซึ่งเป็นเรื่องราวเมื่อครั้งสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2515 (จากภาพ จากภาพนิทรรศการระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรหลุมขุดที่วัดโพธิ์ศรีใน ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถามเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับสิ่งที่ขุดพบเจออย่างสนพระราชหฤทัย)
- จากนี้ก็ได้เวลาออกจากอาคารกัลยาณิวัฒนา แล้วเดินทางไปวัดโพธิ์ศรีในซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 500 เมตร
ขวาบน - วัดโพธิ์ศรีในเป็นพื้นที่ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของบ้านเชียง นับตั้งแต่การขุดค้นในปี พ.ศ.2515 โดยพบหลุมศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์พร้อมสิ่งของที่อุทิศฝังรวมกันมากมาย กรมศิลปากรได้อนุรักษ์และคงหลุมขุดค้นไว้ให้ประชาชนได้เข้าชมในลักษณะพิพิธภัณฑ์สถานกลางแจ้งและทำการขุดค้นเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงขยายหลุมขุดค้นเดิม รวมทั้งสร้างอาคารถาวรคลุมหลุมเมื่อปี พ.ศ.2535 ต่อมาได้เกิดอุทกภัยขึ้นในปี พ.ศ.2541 หลุมขุดค้นที่เปิดแสดงไว้ได้รับความเสียหาย น้ำซึมเข้าไปในหลุมอย่างต่อเนื่องจนเป็นอันตรายกับโบราณวัตถุ กรมศิลปากรจึงดำเนินการขุดค้นอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2546 เพื่อเก็บโบราณวัตถุขึ้นมาอนุรักษ์ และทำการจำลองหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในขึ้นมาใหม่ในลักษณะเดิม ส่วนโบราณวัตถุที่ผ่านการอนุรักษ์แล้ว ได้นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง (จากภาพ อาคารถาวรคลุมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน)
ซ้ายกลาง – บรรยากาศภายในอาคารถาวรคลุมหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง
ขวากลาง – หลุมขุดค้นด้านที่หนึ่ง
ขวาล่าง
ภาพเหตุการณ์จริงของหลุมขุดค้นบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน
- เรื่องราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็สัมฤทธิ์ผลด้วยดี ได้เวลาเตรียมสะตุ้งสตางค์แล้ว
ขวาล่าง – ร้านค้าต่างๆมีสองโซนด้วยกัน โซนแรกเป็นบ้านเรือนริมถนนตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงและยาวตลอดแนวถนน โซนนี้เปิดหน้าร้านอยู่หลายหลัง จำหน่ายทั้งสินค้าที่ระลึก ของกินเล่น อาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ ส่วนอีกโซนอยู่ข้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง แถบนี้เป็นอาคารหนึ่งชั้นยาวเป็นหนึ่งแถว ทางซ้ายมีหนึ่งแถว ทางขวามีหนึ่งแถว ตรงกลางเป็นทางเดิน ทั้งสองแถวจะแบ่งเป็นล็อกๆอยู่ด้านใน แต่ละล็อกต่างก็เปิดหน้าร้านหันเข้าทางเดินและวางสินค้าทั้งหน้าร้านและในร้าน ข้าวของโซนนี้มีแต่เสื้อผ้าและสินค้าที่ระลึก (จากภาพ บริเวณนี้คือโซนที่สอง)

รายการสินค้า - สินค้าอุปโภคมีภาชนะดินเผา(แบบที่ระลึกและแบบใช้งานได้จริง)ซึ่งมีไห แจกัน กระปุกออมสิน หม้อ และกระถางต้นไม้ สินค้าอื่นๆมีเสื้อที่ระลึกบ้านเชียง เสื้อผ้าพื้นเมือง เสื้อผ้าสตรี ผ้าถุงสำเร็จรูป เสื้อเด็ก เสื้อคนแก่ ของที่ระลึกต่างๆ(เช่น สุ่มไก่ ป้ายบอกทาง ช้าง ไก่ ตุ๊กตา ที่คั่นหนังสือ ฯลฯ) โหวด แคน ตะกร้า ย่าม แหวน เข็มกลัด กระเป๋าถือ กล่องไม้ หมอนขิด ครกสาก กระติบ ช้อนส้อมไม้ นกหวีด ตุ๊กตาลิงแขนยาว พิณ ที่เป่าฟองสบู่ ผ้าขาวม้า ดาบไม้ พวงกุญแจ ทัพพีไม้ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ โคมไฟกะลา จักจั่นของเล่น อุปกรณ์ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ริชแบนด์ กระบวย ปลอกหมอน หมวกแฟชั่น ไม้เกาหลัง และกล้องส่องทางไกล หมวดอาหารมีข้าวผัด(กุ้งหมูไก่) คะน้าหมูกรอบ ผัดกะเพรา(หมูไก่ซีฟู้ด) ผัดซีอิ๊ว(หมูไก่ซีฟู้ด) ราดหน้า(หมูไก่ซีฟู้ด) สุกี้(หมูไก่ซีฟู้ด) ผัดไทย(หมูไก่ซีฟู้ด) แกงจืด(หมูไก่ซีฟู้ด) ยำไข่ดาว ยำวุ้นเส้น (หมูไก่)ทอดกระเทียมพริกไทย ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ แกงเขียวหวาน พะแนง(หมูไก่) ข่าไก่ มัสมั่น(หมูไก่) ผัดผักรวม ไก่ผัดเม็ดมะม่วง ไข่เจียวหมูสับ (ไก่หมู)มะนาว (กุ้งหมึก) ชุบแป้งทอด ผัดเปรี้ยวหวาน(หมูไก่ซีฟู้ด) ผัดพริกเผา(หมูไก่ซีฟู้ด) ก๋วยเตี๋ยว(น้ำใสหรือน้ำตก หมี่เหลือง ลูกชิ้นหมู หรือเนื้อ หมี่ขาว เส้นเล็ก เปื่อย เอ็น หรือเกาเหลา) ต้มแซ่บ ก้อยขม และตำต่างๆเช่น ตำปูม้า ตำกุ้งสด ตำไทย ตำปูปลาร้า ตำมาม่า ตำป่า ตำข้าวโพด ตำซั่ว ฯลฯ เครื่องดื่มปรุงที่ร้านมีกาแฟ โอวัลติน ชาเนสที บ๊วยมะนาว ชาดำเย็น ชาเขียว ชาเย็น นมคาราเมล นมเย็น น้ำผึ้งมะนาว แดงโซดา เขียวโซดา น้ำผลไม้สดปั่น และน้ำผลไม้ติ่งฟง เครื่องดื่มในตู้เย็นมีเบียร์ช้าง เย็นเย็น โออิชิ สปาย ลีโอ แฟนต้า โค้ก สไปรท์ เป๊ปซี่ ดีน่า บีทาเก้น น้ำผลไม้มาลี ไวตามิลค์ โอวัลติน เบอร์ดี้ เนสกาแฟ ดัชมิลล์โฟร์อินวัน ลิโพ เอ็มร้อยห้าสิบ กระทิงแดง โสมเกาหลีตังกุยจับ คาราบาว สปอนเซอร์ น้ำผลไม้กาโตะ C-Vitt เมจิกฟาร์ม นมตราหมี สแปลช เพียวริคุ นมโฟร์โมสต์ แมนซั่ม คาลพิสแลคโตะ น้ำดื่มสิงห์ น้ำดื่มเนสเลย์ รวมทั้งไอศกรีมเนสเลย์ในตู้แช่ ขนมขบเคี้ยวมีปาปริก้า เลย์ แจ๊กส์ ทวิสโก้ โดโซะ ทิวลี่ เอลเซ่ เวเฟอร์เซี่ยงไฮ้ ยูโร่เค้ก แครกเกอร์เมจิก เบงเบง ดิวเบอร์รี TIME ป๊อกกี้ PRETZ โคอะลามาร์ช โคลลอน ช็อกโก้พาย ข้าวเกรียบ และเยลลี่ฮีโร่บอยส์ สินค้าอื่นๆคร่าวๆมีปลากระป๋อง แป้งทาตัว น้ำยาปรับผ้านุ่ม ซีอิ๊วขาว ผงซักฟอก แปรงสีฟัน ไข่ไก่ น้ำปลา น้ำยารีดผ้าเรียบ นมข้นจืด เต้าเจี้ยว น้ำมันพืช แก้วพลาสติก ฯลฯ


TODAY THIS MONTH TOTAL
234 4451 253669
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top