น้ำตกบกกราย

คำอธิบาย


น้ำตกบกกรายอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งระยะ-นาสัก ครอบคลุมพื้นที่รอยต่อ 2 จังหวัดคือ จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร โดยมีความสูง 11 ชั้นและมีน้ำไหลตลอดปี แต่ในฤดูฝนจะมีน้ำหลาก สำหรับน้ำตกชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 5 มีทางเดินคอนกรีตที่เชื่อมถึงกัน นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสธรรมชาติได้ด้วยตนเอง แต่ชั้นที่ 6 ขึ้นไปจนถึงชั้นที่ 11 จะเป็นทางธรรมชาติ เส้นทางรกและไม่ชัดเจน ใช้เวลาเดินทางไปกลับประมาณ 7-8 ชั่วโมง

อนึ่ง น้ำตก“บกกราย”ตั้งตามชื่อหมู่บ้าน โดย“บก”หมายถึงพื้นดินที่งอกเป็นแหลมตามริมคลอง ส่วน“กราย”หมายถึงพื้นดินที่เป็นหาดยาวตามริมคลอง



น้ำตกบกกรายได้รับความนิยมจากชาวระนอง โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่น้ำไม่หลากและแรงเกิน แต่ก็ยังมีน้ำไหลให้ชุ่มฉ่ำ ประชาชนเลยมาพักผ่อนจนขบวนรถยาวเป็นหางว่าวไปไกลนับกิโลเมตร และจากปากทางถนนเพชรเกษม เราต้องเดินทางอีก 9 กิโลเมตรจึงจะถึงน้ำตกบกกราย แต่วันนี้เรามาชมความแรงแบบเต็มเวอร์ชั่นกัน
ซ้ายบน – เส้นทางเข้าน้ำตกต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยป้ายชื่อน้ำตกบกกรายอยู่ทางขวามือ
ขวาบน – เมื่อมาถึงน้ำตกชั้นที่หนึ่ง(ซึ่งเป็นชั้นที่ได้รับความนิยมมาก) สายน้ำวันนี้ไหลลงเต็มหน้าผาเป็นแผงสีขาวอย่างงดงาม (จากภาพ เด็กวัยรุ่นขณะนี้ได้แต่เลียบๆเคียงๆอยู่ด้านข้างเนื่องจากปริมาณน้ำซัดเอาเรื่องทีเดียว)
ซ้ายกลาง – ภาพนี้ทำให้เราเห็นเส้นทางของน้ำตกจากด้านบนลงสู่ด้านล่างแบบเต็มตา
ขวากลางบน – ทีมงานขอเข้าไปเก็บภาพน้ำมุมใกล้ที่สาดมาแบบไม่ลืมหูลืมตา เสียงน้ำกระหึ่มโลกทีเดียว
ขวากลางล่าง – จากน้ำตกชั้นแรก จุดนี้ก็คือเส้นทางที่น้ำกำลังไหลเป็นลำธารต่อไป
ซ้ายล่าง – ตอนนี้ขึ้นมาน้ำตกชั้นที่สองบ้าง น้ำตกมุมนี้ไหลแรงเช่นกัน
ขวาล่าง – น้ำตกไหลเป็นช่วงสั้นๆสู่ชั้นที่หนึ่งต่อทันทีเนื่องจากไม่มีแอ่งและธารน้ำ และด้วยน้ำที่เชี่ยว ทีมงานเลยขอชมสายน้ำอยู่บนฝั่งแล้วกัน



 

เดินกันต่อ
บน – เมื่อขึ้นมาน้ำตกชั้นที่สาม ต้องบอกเลยว่า มุมนี้สงบและโรแมนติกที่สุดในบรรดาทุกชั้น แอ่งน้ำมีขนาดกว้าง ชั้นน้ำตกก็ไม่ได้สูงชันอะไร บรรยากาศโดยรวมครบเครื่องสำหรับการเล่นน้ำ แต่ถ้าน้ำเยอะ แอ่งบางจุดอาจลึกเล็กน้อย
กลาง – ขณะที่น้ำตกชั้นที่สี่ก็มีลักษณะใกล้เคียงกับชั้นที่สาม แต่แอ่งน้ำชั้นนี้เล็กกว่า ส่วนต้นไม้โดยรอบจะหนาตามากขึ้น
ซ้าย – แล้วก็มาถึงน้ำตกชั้นบนสุดซึ่งก็คือชั้นที่ห้า ชั้นนี้ลดหลั่นเป็นขั้นลงมาได้สวยกว่าทุกชั้น แต่ก็หนาแน่นด้วยต้นไม้มากกว่าทุกชั้นเช่นกัน
ขวาบน – เส้นทางของน้ำตกชั้นที่ห้ากำลังไหลสู่ชั้นเบื้องล่าง
ขวาล่าง – ตบท้ายด้วยภาพบันไดคอนกรีตที่พานักท่องเที่ยวไปสู่น้ำตกแต่ละชั้นจนถึงชั้นที่ห้า (หลังจากนั้นทางเดินชั้นต่อไปจนถึงชั้นที่สิบเอ็ดจะเป็นทางดินธรรมชาติ ซึ่งรกไปด้วยรากไม้ เถาวัลย์ และต้นไม้ใหญ่ มีทั้งเส้นทางตรงและเอียงชันตามไหล่เขา รวมทั้งลื่นในหน้าฝน ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้เวลาไปกลับหลายชั่วโมง)

TODAY THIS MONTH TOTAL
151 3600 252818
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top