วัดภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร)

คำอธิบาย


พระอาจารย์จวนเกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2463 ในตระกูล“นรมาส” ณ บ้านเหล่ามันแกว ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้อง 7 คน บิดาชื่อ"สา" มารดาชื่อ"แหวะ" นามสกุลเดิมคือ"วงศ์จันทร์" โดยบรรพบุรุษมาจากเมืองเวียงจันทร์ ท่านจบชั้นประถม 6 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของตำบลและสอบได้ที่ 1 มาตลอด จากนั้น เมื่ออายุ 18 ปีก็เข้ารับราชการกรมทางหลวงแผ่นดิน ทำงานอยู่ 4 ปีก็ลาออกเพื่อเตรียมอุปสมบท เนื่องจากมีอุปนิสัยใฝ่ทางธรรมมาตั้งแต่เด็ก ท่านเล่าเสมอว่า ไม่ชอบฆ่าสัตว์หรือคิดลักเล็กขโมยน้อย

ครั้งหนึ่งตอนอายุ 14 ถึง 15 ปี ท่านพบพระธุดงค์ที่มาปักกลดใกล้บ้านและเกิดความเลื่อมใสอยากบวช พระธุดงค์จึงมอบหนังสือ“ไตรสรณาคมน์”ของพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโมแห่งวัดป่าสละวันให้ ท่านลองปฏิบัติตามหนังสือ โดยเริ่มจากสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิบริกรรม“พุธโธ” ปรากฏว่า“จิตรวม” สามารถแยกจิตกับกายได้ เวทนาไม่ปรากฏเลย ต่อมาได้รับหนังสือ“จตุราลักษณ์”ของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มาอ่านเพิ่มสติปัญญาในช่วงทำงาน เมื่ออ่านถึง“มรณานุสติ” ท่านบังเกิดความสังเวชใจที่ว่า“คนเราเกิดมา ถ้าไม่ประกอบความดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตและไม่มีโอกาสได้รับความสุขต่อไปในชาติหน้าอีก” ทำให้ท่านศรัทธาในพระพุทธศาสนาเพิ่มพูนขึ้น

เมื่ออายุ 20 ปีจึงสละทรัพย์สินทั้งหมดที่เก็บสะสมระหว่างทำงานกรมทางหลวงเพื่อเป็นเจ้าภาพสร้างมหากฐิน สร้างพระประธาน รวมทั้งสร้างห้องสุขาในวัดแต่เพียงผู้เดียวจนเงินหมด พออายุ 21 ปี ท่านอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ วัดเจริญจิต และได้รับฉายา“จวน กัลยาณธัมโม” จากนั้นก็สอบนักธรรมตรีได้ ระหว่างบวช ท่านปรารถนาจะธุดงค์ตามรอยพระธุดงค์กรรมฐานที่เคยกราบเมื่อครั้งยังเด็ก จึงขอญัตติจากท่านพระอุปัชฌาย์และลาสิกขาเป็นฆราวาสก่อน แล้วแสวงหาพระอาจารย์ธรรมยุตกัมมัฏฐาน จนได้อุปสมบทเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2486 ณ วัดป่าสำราญนิเวศน์ โดยมีพระครูทัศนวิสุทธ(มหาดุสิต เทวิโร)เป็นพระอุปัชฌาย์ และเนื่องจากบวชท่านเป็นองค์แรก จึงให้ฉายา“กุลเชฎโฐ”ซึ่งแปลว่า“พี่ใหญ่ของตระกูล” เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้รับคำสั่งให้ท่องปาฏิโมกข์และเจ็ดตำนานให้เสร็จใน 1 เดือน ซึ่งท่านก็ท่องตามที่พระอาจารย์กำหนดได้

ช่วงพรรษาแรกๆ ท่านเร่งทำความเพียรอย่างหนัก ทั้งเดินจงกลมและนั่งภาวนา ฉันน้อย อดอาหาร 4 วันสลับกับอดนอน 4 คืนบ้าง อดอาหาร 8 วันสลับกับอดนอน 8 คืนบ้าง และออกบิณฑบาตมาเลี้ยงโยมมารดาที่มาบวชเป็นชีเพื่อสนองคุณ ต่อมาได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะมหาเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่านประหลาดใจที่รูปร่างและกริยาท่าทางมิได้แตกต่างจากนิมิตขณะที่นั่งภาวนาเลย จึงถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นและจำพรรษาอยู่ด้วยกัน ท่านมีโอกาสปฏิบัติพระวินัยอย่างเคร่งครัดกับพระอาจารย์มั่นตลอดฤดูแล้งช่วงปี พ.ศ.2489 ณ วัดป่าบ้านหนองผือ จนกระทั่งพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า ได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้ว ได้ความเป็นธรรมว่า“กาเยนะ วาจายะ วะเจตวิสุทธิยา” กล่าวคือ ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม หลังจากออกพรรษา ท่านก็กราบลาพระอาจารย์มั่น แล้วธุดงค์ไปตามเทือกเขาห่างไกลชุมชนทางภาคเหนือ โดยอยู่เชียงใหม่ 2 พรรษา จากนั้นเดินเท้า 7 วัน 7 คืนจากอำเภอแม่สายไปเชียงตุง ระหว่างนี้ ท่านมักประสบภัยจากมาตุคามขณะบำเพ็ญภาวนา แต่ก็ใช้ขันติและอุบายหลบหลีกได้ทุกครั้ง สามารถครองพรหมจรรย์มาได้ตลอด

ภายหลังท่านกลับมาหาพระอาจารย์มั่นและบำเพ็ญภาวนาอยู่แต่ภาคอีสานนับจากนั้น สถานที่ที่ท่านจำพรรษาส่วนใหญ่เป็นที่เปลี่ยว เช่น ถ้ำบนเขา เงื้อมผา ดอยสูง โดยที่สุดท้ายคือภูทอกในปี พ.ศ.2512 ซึ่งเป็นภูเขาสูง รกชัฏ มีสัตว์นานาชนิด ท่านจำพรรษาบริเวณตีนเขากับท่านพระครูสิริธรรมวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดสามัคคีอุปถัมภ์ อำเภอบึงกาฬ เบื้องต้นภูทอกยังไม่มีที่เก็บน้ำ ต้องอาศัยฝนที่ค้างตามแอ่งหิน อาหารก็บิณฑบาตจากชาวบ้านนาคำแคน ซึ่งอพยพมาอยู่ใหม่ประมาณ 10 หลังคาเรือน การบิณฑบาตก็ตามมีตามเกิด พอหน้าแล้ง ท่านขอให้ชาวบ้านช่วยสร้างทำนบกั้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้และขึ้นมาปลูกกระตอบชั่วคราวบนโขดหินชั้นสอง

กลางปี 2512 ท่านชักชวนชาวบ้านสร้างบันไดขึ้นเขาชั้น 5 และชั้น 6 ทำอยู่ประมาณ 2 เดือน 10 วัน จึงแล้วเสร็จ ในพรรษาแรก พระเณรเจ็บไข้กันมาก บางองค์ก็บอกว่าเทวดาภูเขามาหลอกหลอน ไล่ให้หนีไปเพราะมาแย่งที่วิมานของพวกเขา ต่อมาท่านนิมิตว่า มีเทวดามาหาท่านและบอกว่า“ขอน้อมถวายภูเขาลูกนี้ให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรับไว้รักษา พวกข้าพเจ้าจะลงไปอยู่ข้างล่าง” และให้ท่านประกาศแก่มนุษย์ที่มาเที่ยวภูเขาลูกนี้ว่า“ขออย่ากล่าวคำหยาบ อย่าส่งเสียงดังอึกทึก อย่าถ่มน้ำลายลงไปข้างล่าง อย่าได้ขว้างหรือทิ้งเศษขยะไว้บนเขา”

จากนั้นในปี 2513 ประชาชนฝั่งลาวชื่อนาย บุญที ได้มีศรัทธามาสร้างพระประธานที่ถ้ำวิหารพระชั้น 5 ต่อมาก็มีศรัทธาจากที่ต่างๆมาสร้างโรงฉันและศาลาบริเวณชั้น 5 ท่านพยายามก่อสร้างทุกอย่างให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ เช่น ศาลาก็อาศัยผนังถ้ำเป็นผนัง นอกจากนี้ยังขุดบ่อน้ำอีกหลายแห่ง ระหว่างปี พ.ศ.2513 ถึง 2514 ได้สร้างสะพานรอบเขาชั้น 5 และปี 2516 ได้ปรับปรุงสะพานชั้น 5 อีกครั้ง ต่อมาปี พ.ศ.2517 ก็สร้างสะพานรอบเขาชั้น 6 และทำสะพานที่ชั้น 4 ครึ่งเขา นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ก็มีคณะญาติโยมเดินทางมามากขึ้น มอบทั้งกำลังทรัพย์และกำลังกาย จนเริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ อนึ่ง ท่านชอบเทศนาบ่มจิตใจให้อยู่ในศีลธรรม เพิ่มสติปัญญา และนำคำสอนของพระบรมศาสดามาอบรมลูกศิษย์อยู่เสมอ และด้วยความเมตตาของท่าน ป่าดงพงพีหลายแห่งที่ท่านเคยธุดงค์ไป ปัจจุบันก็มีความเจริญขึ้นมาก เช่น วัดป่าศิลาอาสน์ (ดงหม้อทอง) วัดถ้ำจันทร์ (ดงศรีชมพู) วัดป่าถ้ำบูชา (ภูวัว) วัดป่าภูสิงห์น้อย (ภูกิ่ว) วัดป่าเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) เป็นต้น

กระทั่งวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2523 พระอาจารย์จวนได้ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตก ถึงแก่มรณภาพที่จังหวัดปทุมธานี สิริอายุได้ 59 ปี 9 เดือน (พรรษาที่ 37)



ภูทอกเป็นภูเขาที่เคยอยู่ในพื้นที่กันดารกลางป่าพงไพร จวบจนที่ผู้คนเข้ามาอาศัยโดยรอบและถนนหนทางเริ่มสร้าง ความเจริญจึงทำให้วัดภูทอกค่อยๆเป็นที่รู้จักจนมีชื่อเสียงในที่สุด นอกจากความศรัทธาที่มีต่อวัดแล้ว บันไดไม้ที่สร้างขึ้นภูทอกจนถึงยอดเขาก็เป็นที่กล่าวถึงเช่นกัน
ซ้ายบน – ปากทางเข้าวัดภูทอกพร้อมป้ายชื่อวัดกำลังต้อนรับพุทธศาสนิกชนทุกคน
- ก่อนขึ้นภูทอก เราเดินทัศนาด้านล่างสักเล็กน้อย
ขวาบน – องค์เจดีย์นี้คือ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่จวนกุลเชฏโฐ มีความสูง 30 เมตร สัณฐานเป็นรูป 8 เหลี่ยมทรงกรวย ส่วนล่างเป็นฐานประดับหินแกรนิตสีดำและภาพปั้นประติมากรรมดินเผาด่านเกวียน ซึ่งลายปั้นนี้ก็คือ ประวัติย่อของท่าน ชั้นนี้หมายถึง“ทาน ศีล ภาวนา” ส่วนกลางประดับด้วยโมเสกแก้วสีชมพูอมแดง โดยเป็นสีเดียวกับสีหินของภูทอก มีทั้งหมด 8 ชั้น ซึ่งแทนสัญลักษณ์ของมรรค 8 ขณะที่ส่วนยอดเป็นโมเสกแก้วเช่นกัน เปรียบได้กับการหลุดพ้นหรือนิพพานนั่นเอง
ซ้ายกลางบน – บรรยากาศภายในวัด ถ้ามุ่งหน้าตรงไปยังทางขึ้นภูทอก จะมีถ้ำชัยมงคลอยู่ทางซ้ายมือด้วย
- จากนั้นก็เข้าสู่ไฮไลต์ของพุทธาวาสแห่งนี้นั่นคือ ทางเดินขึ้นภูทอก ถ้าทุกคนยืดแข้งยืดขาพร้อมแล้ว ก็สูดหายใจ แล้วตามขึ้นมาเลย
ซ้ายกลางล่าง – หลังจากเดินผ่านประตูขึ้นภูทอก เส้นทางชั้นแรกจะเป็นหินธรรมชาติไปตลอดจนถึงบันไดไม้
ซ้ายล่าง – จากทางเดินหินชั้นหนึ่ง ตอนนี้ทุกคนก็มาถึงบันไดไม้เพื่อเตรียมขึ้นภูทอกเสียที
ขวาล่าง – เดินตามขั้นบันไดไม้มาเรื่อยๆ ตอนนี้เรากำลังอยู่บริเวณชั้นสอง หนทางยังอีกยาวไกล



เดินขึ้นภูทอกกันต่อ
ซ้ายบน – จากบริเวณชั้นสอง ลองหันหลังกลับไปมองบันไดไม้ที่เดินขึ้นมาอีกครั้ง
ขวาบน – จุดนี้คือชั้นสาม ซึ่งเป็นทางแยก บันไดไม้ทั้งสองฝั่งจะพาทุกคนขึ้นสู่ชั้นห้าเหมือนกัน (จากภาพ ซ้ายมือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นห้าเลย เส้นทางนี้ชันน้อยกว่า ส่วนทางขวา เมื่อไปถึงจุดๆหนึ่ง จะมีบันไดแยกอีกครั้ง ณ จุดแยกนั้น ทางหนึ่งไปชั้นห้าต่อ ซึ่งทางค่อนข้างชัน ส่วนอีกทางไปชั้นสี่)
ซ้ายกลาง – เรามาชมตัวอย่างบันไดทางซ้ายคร่าวๆสักเล็กน้อย ระหว่างทาง ถ้าทุกคนเลือกฝั่งซ้าย จะพบกุฏิของพระสงฆ์ซึ่งมีสะพานไม้เชื่อมข้ามไป
ขวากลาง – ตอนนี้กลับไปขึ้นบันไดทางขวาให้ครบองค์ประชุม เมื่อขึ้นบันไดขวามือมา เส้นทางจะเปลี่ยนเป็นทางหินธรรมชาติเหมือนชั้นหนึ่งอยู่ช่วงหนึ่ง
ขวาล่าง – จากบันไดหิน ตอนนี้เรายืนบนบันไดไม้ที่จะพาทุกคนไปชั้นห้าแล้ว นาทีนี้ถ้ามองย้อนลงไป จุดนี้จะมีทางแยกอย่างที่เคยเกริ่นไว้ บันไดแยกอีกฝั่งที่เห็นด้านล่างก็คือ เส้นทางไปทางเดินไม้ริมผาภูทอกชั้นสี่ ส่วนบันไดฝั่งที่ทีมงานเลือกเดินขึ้นมา เป็นทางต่อเนื่องสู่ชั้นห้าทันที
ซ้ายล่าง – บันไดไม้ก่อนถึงชั้นห้าจะเริ่มชันขึ้น (จากภาพ เราจะเห็นส่วนหนึ่งของศาลาสีอิฐอยู่ด้านบน ซึ่งก็คือถ้ำพระวิหารที่ชั้นห้า อีกไม่ช้าก็ถึงแล้ว)



เหนื่อยก็พัก เมื่อยก็หยุด อย่าท้อ
ซ้ายบน – จุดนี้เป็นบันไดไม้ช่วงท้ายก่อนถึงชั้นห้า ทางจะชันและค่อนข้างดิ่งอย่างที่เห็น การก้าวเท้าใหัมั่นและจับราวให้เหมาะจำเป็นอย่างยิ่งยวด (จากภาพ ตอนนี้ทีมงานยืนอยู่บนชั้นห้าแล้ว)
- จากทางแยกไปชั้นห้ากับชั้นสี่เมื่อสักครู่ เราขึ้นบันไดไปทางเดินริมผาชั้นสี่บ้าง
ขวาบน – บรรยากาศทางเดินริมผาของชั้นสี่
ขวากลาง – ทางเดินริมผาอีกมุมหนึ่ง สำหรับชั้นสี่จะเป็นทางช่วงสั้นเพราะมีเส้นทางปิดด้วย แต่จะมีบันไดขึ้นสู่ทางเดินไม้ชั้นห้าให้
- คราวนี้ยังเหลือบันไดแยกไปทางซ้ายตรงชั้นสาม(ที่ยังไม่ได้พูดถึง) ไปสำรวจเส้นทางต่อ
ขวาล่าง – เมื่อขึ้นมา บริเวณนี้มีลานที่มีเก้าอี้ให้นั่งพัก (ซึ่งเปรียบเสมือนชั้นสี่ฟากนี้ไปในตัว) ส่วนทางขวาที่เห็นคือ บันไดไม้ขึ้นตรงสู่ชั้นห้าเลย แต่ถ้าไม่ขึ้น แล้วเดินตรงไป เมื่อเลี้ยวขวาที่หัวโค้ง จะมีบันไดไม้ต่อ
ซ้ายล่าง – ตอนนี้เรามาชมบันไดไม้ขึ้นสู่ชั้นห้าก่อน ซึ่งเป็นทางขึ้นตลอด (จากภาพ ถ้าลองสังเกตด้านบน เราต้องลอดถ้ำซอกหินด้วย)



พิชิตภูทอกให้ได้
ซ้ายบน – ถ้ามองไปที่บันไดมุมไกลในภาพนี้ ตรงนั้นคือเราเดินไปทางหัวมุมจากลานเมื่อสักครู่ขึ้นมา จากนั้นก็เป็นทางหินธรรมชาติ ซึ่งทางหินนี้ เมื่อเดินตรงมาจุดที่ทีมงานยืนอยู่ ทางจะไปเชื่อมกับช่วงกลางของบันไดขึ้นชั้นห้านั่นเอง
ขวาบน – ตรงจุดที่เชื่อมกันทั้งสองเส้นทางจะอยู่ในถ้ำซอกหิน จากนั้นเส้นทางจะรวบเหลือทางเดียว แล้วเป็นบันไดขึ้นสู่ชั้นห้า
- ชั้นแห่งการรอคอยก็มาถึง
ซ้ายกลาง – ตำแหน่งนี้เป็นมุมมหาชนสำหรับผู้ที่มาเยือนชั้นห้าต้องเห็นเหมือนกัน (จากภาพ บันไดมุมไกลที่อยู่ใกล้อักษร com คือทางเดินริมผารอบภูทอกชั้นสี่ ส่วนบันไดที่ชายหญิงสองคนกำลังเดินขึ้นมา ถ้าสองคนนี้เดินมาถึงจุดพักตรงอักษร kar แล้วมุ่งหน้าขึ้นบันไดไปทางซ้ายต่อ บันไดทางนั้นก็คือ ภาพ“ซ้ายบน”ของภาพชุดก่อนหน้าที่เป็นทางดิ่งและชันช่วงท้ายก่อนถึงชั้นห้านั่นเอง และท้ายสุด ราวไม้ซ้ายมือใกล้ภาพจนไกลออกไปเรื่อยๆ ก็คือทางเดินริมผารอบภูทอกชั้นห้า)
ขวากลาง - บริเวณนี้คือศาลาขนาดใหญ่ในถ้ำพระวิหาร มีทั้งพระพุทธรูปและพระโบราณ หลายคนเข้ามากราบไหว้พร้อมถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึก
ขวาล่าง – บริเวณชั้นห้ามีก้อนหินใหญ่ที่ตั้งสูงห่างจากภูทอกออกมาไม่ไกล บนหินลูกนี้เป็นที่ตั้งของพุทธวิหารซึ่งสร้างเป็นซุ้มหลังคาอยู่ โดยมีทางหินธรรมชาติยื่นจากภูทอก จากนั้นจึงเป็นสะพานไม้เชื่อมไปฝั่งพุทธวิหารอย่างที่พระสงฆ์ในรูปกำลังเดินข้ามมา
ซ้ายล่าง – ภายในพุทธวิหารมีรูปหล่อพระอาจารย์จวนให้กราบไหว้อยู่



ชั้นห้ายังมีรายละเอียดอีก
ซ้ายบน – จากบริเวณพุทธวิหาร ถ้ามองกลับไปยังภูทอก เราสามารถเห็นยอดภูทอกได้ทั้งลูก รวมทั้งทางเดินไม้รอบภูทอกทั้งชั้นห้า ชั้นหก และยอดเขาชั้นเจ็ดที่ปกคลุมด้วยป่า (จากภาพ ถ้าลองสังเกตเหนือตัวอักษร g ขึ้นไป จะเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่งกำลังยืนอยู่บนชะง่อนผาของชั้นหก)
ขวาบน – คราวนี้มาชมทางเดินไม้ริมผารอบภูทอกที่ชั้นห้าบ้าง ทางเดินจะตอกยึดและยื่นออกจากผนังภูทอกอย่างที่เห็น
ซ้ายกลาง – เดินชมทางเดินส่วนต่างๆที่เหลือสักเล็กน้อย
ขวากลาง – ทางเดินไม้บางช่วงอาจเปียกเนื่องจากน้ำที่ขังบนเขาไหลลงมา ดังนั้นอาจลื่นได้ จึงควรมีสติในทุกฝีก้าว
- จากชั้นห้า คราวนี้ขึ้นบันไดไม้ไปชั้นหกต่อ
ขวาล่าง – ตำแหน่งนี้ก็คือบริเวณที่พระสงฆ์ยืนบนชะง่อนผาเมื่อสักครู่ มุมนี้ทำให้เราเห็นพุทธวิหารจากมุมสูงในระยะใกล้ได้ชัดเจน (แต่ควรใช้ความระมัดระวังด้วย การยืนในตำแหน่งปลอดภัยเป็นเรื่องดีที่สุด)
ซ้ายล่าง – ที่ชั้นหกมีถ้ำพญานาคอยู่ ซึ่งมีความเชื่อว่า บริเวณนี้เป็นปากทางเข้าถ้ำพญานาค หลายคนต่างมากราบไหว้กัน (จริงๆระหว่างทางยังมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยตามทางเดินชั้นห้าและชั้นหกอีก เช่น ถ้ำฤาษี ถ้ำผึ้ง ฯลฯ)



คราวนี้เป็นหน้าที่ของทางเดินริมผาชั้นหกบ้าง
ซ้ายบน – บรรยากาศทางเดินริมหน้าผาชั้นหก
ขวาบน – เดินไป ก็สัมผัสความงดงามของป่าเขาด้านล่างพร้อมผาหินที่ตั้งตระหง่านขนานข้างกายเราตลอดทาง
ซ้ายกลาง – เส้นทางบางช่วงก็เลี้ยวซิกแซกไปมาแบบนี้
ซ้ายล่าง – ขณะที่บางช่วงก็โดนผนังหินเอียงองศาออกมา ทำให้ตัวเราต้องเดินเบี่ยงไปทางหน้าผา
- ชมชั้นหกเสร็จแล้ว ในที่สุดก็ขึ้นมาบนยอดเขาที่ชั้นเจ็ด
ขวาล่าง – ทางเดินชั้นเจ็ดเป็นทางดินและหินธรรมชาติ ไม่มีทางเดินไม้หรือสะพานไม้ใดๆ (จากภาพ เรากำลังเดินอยู่ในป่าชั้นเจ็ด)

 

 


มาถึงบทสรุปชั้นสูงสุด
ซ้ายบน – บางช่วงในป่าจะรกๆ เศษใบไม้ใบหญ้าทับถมมากมาย
ขวาบน – นอกจากทางเดินในป่า ยังมีทางเดินริมหน้าผาอีก ซึ่งต้องมีสติเนื่องจากไม่มีรั้วใดๆมากั้น ตลอดเส้นทางคือหน้าผาอย่างเดียว
ซ้ายกลาง – บางช่วงมีต้นไม้เลื้อยพาดออกไปนอกหน้าผามาขวาง
ขวาล่าง – บรรยากาศทางเดินริมหน้าผามีต้นไม้เตี้ยขึ้นปกคลุมระหว่างทาง
ซ้ายล่าง – ทางกลับช่วงสุดท้ายต้องเกาะต้นไม้และใช้เท้ายันรากลงเขาเนื่องจากทางค่อนข้างชัน
ล่าง – ที่ผ่านมา เราเดินบนภูทอกโดยไม่เห็นวิวจากด้านบนเลย ภาพส่งท้ายนี้เลยขอเป็นธรรมชาติกลางป่าเขาเบื้องล่าง โดยมีภูทอกใหญ่อยู่ทางขวา ซึ่งภูนี้ห่างจากภูทอกน้อย(หรือภูทอกที่เราขึ้นมา)ไม่ไกล และมุมนี้ก็คือวิวจากทางเดินไม้ชั้นหก ซึ่งชั้นนี้เก็บภาพทิวทัศน์ได้สวยที่สุดแล้ว 

TODAY THIS MONTH TOTAL
183 4174 253392
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top