วนอุทยานโกสัมพี

คำอธิบาย


วนอุทยานโกสัมพีเป็นป่าดิบแล้ง ซึ่งมีทั้งป่าบุ่งและป่าทาม เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดปี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชีที่มี“หนองบุ่ง”หรือ“บึง” ส่วน“ทาม”หมายถึงพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ป่าบุ่งและป่าทามมีระบบนิเวศและพืชพรรณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีผลไม้และแมลงนานาชนิด ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นถิ่นที่อยู่ของลิงแสมและสิ่งมีชีวิตต่างๆ วนอุทยานโกสัมพีอยู่ในระดับความสูงปานกลางจากน้ำทะเล (100 เมตรจนถึง 800 เมตร) มีน้ำฝนเฉลี่ย 1000 ถึง 2000 มิลลิเมตรต่อปี ช่วงความแห้งแล้งมีระยะประมาณ 3-4 เดือน มีดินค่อนข้างลึก สามารถกักเก็บน้ำได้ดีพอสมควร จนทำให้พันธุ์ไม้บางชนิดสามารถคงใบอยู่ได้ตลอดหน้าแล้งและไม่มีไฟป่าเข้ามารบกวน ดินในป่าดิบแล้งมักเป็นดินเหนียวปนทราย ซึ่งเป็นดินเนื้อหยาบ

วนอุทยานโกสัมพีอยู่ในเขตเทศบาลตำบลหัวขวาง ใกล้หมู่บ้านคุ้มกลาง บ้านคุ้มสังข์ และบ้านคุ้มใต้ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ ไม้พื้นล่าง และไม้ที่ทนต่อการแช่ขังของน้ำ จึงมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบ และเนื่องจากป่าแห่งนี้เป็นป่าสาธารณะ จึงอนุญาตให้ชาวบ้านใกล้เคียงเข้ามาใช้ประโชน์ในป่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเห็ดเพื่อนำไปเป็นอาหาร การเก็บฟืน หรือการเก็บสมุนไพรบางชนิดที่ไม่กระทบต่อระบบนิเวศในป่า แต่บางกรณีก็ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลด้วย วนอุทยานโกสัมพีจึงเป็นแหล่งอาหารประจำวันจนเปรียบเสมือน“ตู้กับข้าว”ของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำชี

พื้นที่แห่งนี้มีพันธุ์ไม้ขึ้นหนาแน่นและมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก แต่เนื่องจากไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง อำเภอโกสุมพิสัยจึงเสนอไปยังกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เข้ามาดูแล ต่อมากรมป่าไม้โดยกรมอุทยานแห่งชาติจึงทำการสำรวจและจัดตั้งพื้นที่ให้เป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยใช้ชื่อว่า“วนอุทยานโกสัมพี”เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสำหรับการศึกษาและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป


จุดเด่นของวนอุทยานโกสัมพี นอกจากมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่คู่ขนานริมแม่น้ำชีแล้ว ยังมีลิงแสมขนสีทองวิ่งเกาะแกะห้อยโหนโจนทะยานปะปนกับฝูงลิงแสมขนสีเทาที่เราคุ้นตาอีก ส่วนใครอยากมาศึกษาธรรมชาติ ที่นี่ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้ดีเช่นกัน
บน – ปากทางเข้าวนอุทยานโกสัมพีมีรูปลิงมาประดับให้รู้ไปเลยว่า ทุกคนเตรียมตัวรับคำสวัสดีจากสัตว์เหล่านี้ในไม่ช้า ส่วนต้นไม้ในวนอุทยานก็เยอะจริงๆ แค่ทางเข้าก็ให้ร่มเงาหนาทึบแล้ว
ซ้ายบน – จากปากทาง เส้นทางเดินเท้าเป็นถนนคอนกรีตตลอดทาง โดยมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นทั้งสองข้าง ส่วนนักท่องเที่ยวคนไหนขับรถมา ก็ขับเข้าวนอุทยานผ่านเส้นทางนี้ได้เลย
ขวาบน – ขวามือมีต้นก้ามปู(หรือต้นจามจุรี)ขนาดใหญ่หลายต้นเลียบริมแม่น้ำชี (ซึ่งแม่น้ำชีบริเวณนี้มีชื่อเรียกว่า“แก่งตาด” เพราะยามแล้ง น้ำในแม่น้ำจะลดจนเห็นแก่งหินโผล่พ้นน้ำเป็นบริเวณกว้าง เราสามารถเดินลงไปเล่นได้ แต่ฤดูน้ำหลากและเชี่ยวแบบนี้ หมดสิทธิ์)
ซ้ายล่าง – นอกจากทางเดินคอนกรีตปกติ ยังมีสะพานแขวนข้ามหนองบุ่งในวนอุทยานด้วย
ขวาล่าง – ลิงแสมมากมายนับร้อยๆตัวอยู่คู่วนอุทยานโกสัมพีมาตั้งแต่ครั้นดึกดำบรรพ์ ชาวบ้านทุกคนในละแวก เกิดมาก็รู้จักมักจี่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะมีอนุสาวรีย์เชิดชูเจ้าลิงน้อย



 

เดี๋ยวเราไปดูเส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้าง
ซ้ายบน – นอกจากถนนคอนกรีต ทางเดินศึกษาธรรมชาติก็มี เส้นทางนี้มีระยะทางราว 400 เมตร เดินไปเรื่อยๆ ชมบรรยากาศไปชิลๆ
ขวาบน – ใบไม้ใบหญ้าหล่นแห้งเต็มพื้น
ขวากลาง – สัตว์ต่างๆอาศัยในวนอุทยานโกสัมพีได้ก็เพราะความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ ตัวอย่างของพันธุ์ไม้สองข้างทางก็เช่น กล้วยน้อย ตีนตั่ง หวาย มะเดื่อ ผีผ่วน ตีนจำ มะเม่า ก้ามปู ตะโก พลับ มะค่าแต้ หูลิง มะดัน ยางนา คัดเค้า มะคำป่า หว้า ข่อย กระเบาลิง ฯลฯ
- ทีเด็ดของวนอุทยานโกสัมพีคือ ลิงแสมขนสีทอง ซึ่งเป็นลิงพันธุ์หายากแล้ว ในเมืองไทยพบอยู่ที่วนอุทยานแห่งนี้ที่เดียว โดยรูปร่างทั่วไปคล้ายกับลิงแสมขนสีเทาทุกประการ จุดต่างก็คือ มีขนสีทอง เป็นเงาคล้ายเส้นไหม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของลิงพันธุ์นี้ เราไปชมกันดีกว่า
ซ้ายกลาง – ลิงแสมขนสีทองตัวนี้ยังรุ่นๆอยู่
ขวาล่าง – ขณะที่ลิงแสมขนสีทองบนบัลลังก์ตัวนี้ดูมีวุฒิภาวะพอตัว สงสัยเป็นจ่าฝูงแหงๆ (จากภาพ หางยาวเฟื้อยเลย)
- ลูกเด็กเล็กแดงและผู้ใหญ่ต่างให้อาหารลิงอย่างลั้ลลาเพราะเนื่องจากทางเข้าด้านในมีร้านค้ามาเปิดขายสินค้า
ซ้ายล่าง – ด้านในวนอุทยานโกสัมพีใกล้กับประตูทางเข้ามีรถเข็นคันหนึ่งนำสินค้ามาจำหน่าย นักท่องเที่ยวเลยไม่วายให้อาหารลิงกัน หลายคนหยิบมือถือถ่ายรูปลิงเป็นที่ระลึก แต่ลิงแสมขนสีเทา(ที่เราเห็นทั่วไป)ดูจะปราดเปรียวในการแย่งชิงอาหารมากกว่าลิงขนสีทอง
รายการสินค้า - อาหารลิงก็มีข้าวเกรียบ กล้วย และถั่ว ส่วนขนมขบเคี้ยวมีเอฟเอฟรสมะเขือเทศ ไดโนพาร์กรสซีฟุ้ด และรวยเพื่อน

TODAY THIS MONTH TOTAL
26 4017 253235
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top