วัดทุ่งสะเดา (ธาตุก่องข้าวน้อย)

คำอธิบาย


วัดทุ่งสะเดามีประวัติการสร้างเจดีย์ที่สัมพันธ์กับนิทานพื้นบ้านเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ที่เล่ากันในพื้นถิ่นอีสานว่า ลูกชายคนหนึ่งกำลังทำนาอยู่และได้ฆ่าแม่ของตนเองเพราะความหิวและความโกรธที่แม่นำข้าวมาส่งช้าและน้อยเกินไป แต่เมื่อความหิวและความโกรธคลายลง ข้าวที่แม่นำมาส่ง(ที่ทีแรกคิดว่ามีปริมาณน้อยนั้น)ยังเหลืออยู่ เลยเกิดความรู้สึกผิดที่ได้กระทำบาปต่อแม่ จึงสร้างเจดีย์ขึ้น ณ บริเวณที่แม่เสียชีวิตเพื่อเป็นการไถ่โทษ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกเจดีย์(ที่วัดทุ่งสะเดา)องค์นี้ว่า“ธาตุลูกฆ่าแม่”(หรือธาตุก่องข้าวน้อย) นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ยังใช้เล่าประกอบประวัติธาตุตาดทอง(หรือที่เรียกกันว่า“ธาตุก่องข้าวน้อย”)ด้วย

โบราณสถานสำคัญในวัดทุ่งสะเดาประกอบด้วยเจดีย์ก่ออิฐถือปูนจำนวน 2 องค์(ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน) องค์แรกเหลือเพียงฐานบางส่วน ส่วนองค์ที่สองมีสภาพสมบูรณ์ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานแท่นบูชาของเจดีย์องค์แรกยื่นเข้าไปใต้ฐานเจดีย์องค์ที่สอง อันเป็นหลักฐานว่า เจดีย์องค์ที่เหลือเพียงฐานนั้นได้สร้างก่อน หลังจากพังทลายลง จึงสร้างเจดีย์องค์ที่สองทับลงบนส่วนฐานของเจดีย์องค์แรก นอกจากนี้ในปี พ.ศ.2525 ชาวบ้านยังขุดพบโบราณวัตถุในไหจำนวน 4 ใบใต้ฐานเจดีย์องค์ที่สองด้วย โดยมีพระพุทธรูปไม้ปางสมาธิ พระพิมพ์ เศษกระดูก กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดทุ่งสะเดา

ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์นั้น เป็นทรงบัวเหลี่ยมในผังแปดเหลี่ยมตามศิลปะพื้นถิ่นอีสาน กำหนดอายุในพุทธศตวรรษที่ 23 มีส่วนฐานเป็นชั้นหน้ากระดานขนาดเล็กเรียงลดหลั่น(เพื่อรับฐานบัว)และมีชั้นคล้ายบัวหงายขนาดใหญ่ ถัดขึ้นมาเป็นบัวแปดเหลี่ยมรับกับปลียอดและฉัตร อันเป็นลักษณะเจดีย์ที่นิยมสร้างในเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทร์เช่นกัน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2479 โดยเจดีย์องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์(องค์ลูก)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.2555 ขณะที่เจดีย์องค์ที่เหลือเพียงส่วนฐาน(องค์แม่)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.2537



ห่างจากธาตุตาดทองราวสองกิโลเมตรยังมีวัดอีกแห่งที่มีเรื่องราวของก่องข้าวน้อยฆ่าแม่เช่นกัน ชาวบ้านบอกว่า ธาตุที่วัดทุ่งสะเดาแห่งนี้น่าจะเป็นธาตุก่องข้าวน้อย ตอนนี้ทีมงานเลยสวมบทบาทเป็นนักสืบจิ๋วโคนันสะกดรอยไปวัดทุ่งสะเดาทันที
บน – มาชมธาตุองค์แรกกันก่อน หลังจากพังทลายลงมา ตอนนี้ธาตุองค์นี้ก็เหลือเพียงฐานแท่นบูชา (จากภาพ เมื่อมองถึงความน่าจะเป็น ธาตุ ณ วัดทุ่งสะเดามีความเป็นไปได้ที่มนุษย์เพียงคนเดียวจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นการไถ่โทษความผิดที่ได้กระทำลงไปมากกว่าธาตุตาดทองที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมซับซ้อนและมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์เพียงคนเดียวจะทำได้)

 

 

ตามไปดูกันต่อ
ซ้ายบน – บรรยากาศบริเวณธาตุลูกฆ่าแม่(หรือธาตุก่องข้าวน้อย)ที่วัดทุ่งสะเดา (จากภาพ ทางขวาเป็นจุดวางธูปเทียน ตรงกลางเป็นเจดีย์องค์แรก ส่วนทางซ้ายเป็นเจดีย์องค์ที่สอง)
ซ้ายกลางบน – เรามาชมฐานแท่นบูชาที่หลงเหลือจากการพังทลายของเจดีย์องค์แรกอีกมุมกัน
ขวาบน – ก็อย่างที่บอกไว้ว่า การขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ฐานแท่นบูชาของเจดีย์องค์แรกยื่นเข้าไปใต้เจดีย์องค์ที่สอง ไหนๆก็มาถึงเนื้อหาตรงนี้แล้ว เรามาเข้าสู่เจดีย์สีขาวองค์ที่สอง(ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์)ดีกว่า ลักษณะธาตุเป็นแบบลาว(หรือล้านช้าง)จากฝีมือช่างพื้นถิ่น เจดีย์มีขนาดเล็กเป็นทรงแปดเลี่ยม ประกอบด้วยฐานเอวขัน กล่าวคือเป็นฐานบัวเตี้ยๆที่ตกแต่งเป็นบัวคว่ำบัวหงาย ส่วนตรงกลางเป็นหน้ากระดานที่คอดเล็ก เหนือขึ้นไปตกแต่งเป็นบัวหงาย(หรือบัวปากระฆัง)เพื่อรองรับองค์ระฆังที่ตกแต่งแบบทรงสูงชะลูดจนถึงส่วนยอด เจดีย์แบบนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากธาตุสี่เหลี่ยมแบบลาว(หรือล้านช้าง)ที่พบเห็นหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนมากสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23-24 หรือประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว
- จากธาตุลูกและธาตุแม่ เราไปดูสถานที่น่าสนใจอื่นๆในวัดบ้าง
ซ้ายกลางล่าง – อุโบสถของวัดทุ่งสะเดา
ขวากลาง – ซ้ายคือหอระฆัง ส่วนขวาคือมณฑป
ซ้ายล่าง – พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่หน้าศาลาการเปรียญ
ขวาล่าง – และที่สำคัญคือ รูปปั้นจำลองเหตุการณ์นิทานพื้นบ้านก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ โดยเป็นฉากที่ลูกชายกำลังหยิบท่อนไม้ฟาดแม่ที่กำลังยกมือไหว้อยู่

TODAY THIS MONTH TOTAL
102 3725 252943
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top