เกาะปันหยีเป็นเกาะเล็กๆที่มีบ้านเรือน 300 หลังคาและมีประชากรประมาณ 4,000 คน ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองพังงาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 7 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นเขาหินปูนสูงชะลูดและแวดล้อมด้วยเกาะน้อยใหญ่
ย้อนหลังกลับไปนับร้อยปี บรรพบุรุษของชาวเกาะปันหยีจำนวน 3 ครอบครัวได้อพยพด้วยเรือใบ 3 ลำมาบริเวณนี้เพื่อค้นหาแหล่งทำกินที่ดีกว่าเดิม พวกเขาตกลงกันว่า หากใครพบที่ทำกินก่อน ให้ส่งสัญญาณด้วยการปักธงที่ยอดเขา ในที่สุด ครอบครัว“โต๊ะบาบู”ก็พบเกาะๆหนึ่ง จึงขึ้นไปปักธงไว้ที่ยอดเขา แล้วตั้งชื่อเกาะนั้นว่า“ปันหยี”ที่แปลว่า“ธง”
พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะปันหยีตั้งอยู่ในทะเลอ่าวพังงาและป่าชายเลนอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีหมู่บ้านจำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ "บ้านท่าด่าน"ตั้งอยู่บริเวณน้ำตื้นในอ่าวพังงา "เกาะปันหยี"ตั้งอยู่บริเวณน้ำตื้นในอ่าวพังงา "เกาะไม้ไผ่"ตั้งอยู่บนเกาะและป่าชายเลนอ่าวพังงา และ"เกาะหมากน้อย"ตั้งอยู่บนเกาะในอ่าวพังงา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและประมาณร้อยละ 2 นับถือศาสนาอื่น ที่นี่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น ทำสวนยางพารา สวนมะพร้าว รับราชการ ค้าขายและรับจ้าง ฯลฯ
และด้วยพื้นที่แผ่นดินที่มีไม่มาก ชาวเกาะปันหยีจึงใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งศูนย์กลางหมู่บ้านและศาสนา ส่วนบ้านเรือน ร้านค้า และโรงเรียนจะอยู่กลางน้ำ เดิมทีมีทางเดินเชื่อมถึงกันด้วยสะพานไม้ตามบ้านแต่ละหลัง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสะพานปูนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ในช่วงน้ำขึ้น หมู่บ้านปันหยีจึงแลดูเหมือนหมู่บ้านลอยน้ำ แต่พอน้ำลง จะเห็นได้ว่า บ้านนับร้อยหลังตั้งอยู่บนเสาที่ปักในเลนมาตั้งแต่อดีตแล้ว
ด้านทิศตะวันออกของเกาะปันหยีมีร้านค้าเรียงรายตลอดทางเดิน แต่หากต้องการเห็นชีวิตความเป็นอยู่ ก็ต้องเดินเลยย่านการค้าไปทางทิศตะวันตก เราจะได้เห็นศาลาประชาคม สภากาแฟ ร้านค้า ร้านตัดผม โรงเรียน และมัสยิดที่อยู่คู่ชุมชนกลางทะเลมานานแสนนาน ทั้งนี้ชุมชนชาวมุสลิมบนเกาะปันหยีมีวิถีชีวิตภายใต้บริบทวัฒนธรรมอิสลามและอาชีพประมง การอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่จำกัดจึงทำให้ชุมชนสนิทสนมใกล้ชิดกัน อีกทั้งผูกพันผู้คนทั้งเกาะให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย
นอกจากเกาะปันหยีจะมีจุดชมพระอาทิตยึ้นและตกที่สวยงามไม่แพ้ที่ไหนๆ เกาะปันหยียังเป็นภูมิคุ้มกันให้ลูกหลานปลอดจากอบายมุขอีกเนื่องจากบนเกาะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย และถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากฝั่ง แต่ชาวเกาะปันหยีก็มีไฟฟ้าใช้เป็นของตัวเอง
ตามตำนานกว่า 200 ปีของหมู่บ้านเกาะปันหยีถูกไขกระจ่างโดยอิหม่ามสันติ วารีศรี อดีตกำนันตำบลเกาะปันหยี ซึ่งเรื่องราวความเป็นมาของคนกลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งรกรากบนเกาะปันหยียังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ที่จริงแล้วคือชาวอินโดนีเซียหรือชาวมาเลเซียกันแน่ แต่ในมุมมองของอิหม่ามสันติ วารีศรีได้วิเคราะห์ว่า หากดูจากหลักฐานประจักษ์พยานภายนอกอย่างผิวพรรณและภาษาที่คนสมัยก่อนใช้ มีความเป็นไปได้สูงว่า บรรพบุรุษของชาวเกาะปันหยีน่าจะมาจากประเทศมาเลเซีย ดังจะเห็นได้จากคำว่า“ปันหยี”ซึ่งเป็นภาษามาเลย์ที่แปลว่า“ธง”รูปสามเหลี่ยม(หรือ“เกาะธง”)นั่นเอง
จากอดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 200 ปีแล้ว ชาวเกาะปันหยีก็ยังใช้ชีวิตท่ามกลางสายน้ำนับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาตั้งรกราก และด้วยคนเพียงไม่กี่คนในวันนั้น กลับกลายเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ในวันนี้ ส่วนการดำเนินชีวิตจะเป็นเช่นไร ทีมงานขอพักเรื่องสนามฟุตบอลลอยน้ำ แหล่งช้อปชิม และจุดเช็กอินต่างๆ แต่ไปโฟกัสมุมมองที่ต่างออกไปแทน
บน – ภาพนี้คือหมู่บ้านลอยน้ำบนเกาะปันหยีฝั่งตะวันตก ถ้าใครต้องการเห็นความเป็นอยู่ของผู้คน ฝั่งนี้จะได้อรรถรสมากกว่าฝั่งตะวันออก(ที่มีแต่ของกินและของที่ระลึก)แน่นอน
ซ้ายบน – บ้านเหล่านี้ลอยน้ำได้อย่างไร ตอนนี้คงได้คำตอบแล้ว ก็เพราะมีเสาตอม่อที่ปักลงเลนด้านล่างนั่นเอง (จากภาพ การสร้างบ้านหนึ่งหลังต้องใช้เสานับสิบๆต้นทีเดียว)
ขวาบน – เรามาดูบรรยากาศตามทางบนเกาะปันหยีบ้าง ทางเดินปูนจะเชื่อมถึงกันทุกบ้าน ซึ่งบ้านจะมีหนึ่งชั้นและสองชั้นเท่านั้น แต่หนึ่งชั้นจะมีมากกว่า (จากภาพ ถังขยะวางตามจุดต่างๆของทางเดินเพื่อความสะอาดบนเกาะ)
ซ้ายกลาง – เส้นทางปูนในมุมอื่นของเกาะที่ชาวบ้านใช้สัญจรไปมา
ขวากลาง – ที่นี่คือโรงเรียนเกาะปันหยี อาคารชั้นเดียวสีเขียวคือห้องเรียน ชั้นเรียนมีตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาปีที่สามพร้อมสนามฟุตบอลแบบไม่ลอยน้ำอยู่กลางลานด้วย
ซ้ายล่าง – อาคารหลังนี้คือ ศูนย์จริยธรรมอิสลาม
ขวาล่าง – ใครเจ็บไข้ได้ป่วย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะปันหยียินดีต้อนรับ (แต่ถ้าเป็นเรื่องคลอดบุตร ต้องนั่งเรือขึ้นฝั่งไปตัวเมืองอย่างเดียว)
เดินสำรวจต่อ
ซ้ายบน – บนเกาะปันหยีมีทางเดินปูนทุกหนแห่งก็จริง แต่ทางทิศใต้ของเกาะกลายเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากทางเดินปลายเกาะยังเป็นไม้อยู่ เส้นทางนี้เป็นทางเชื่อมเข้าสู่บ้านแต่ละหลังเหมือนทางเดินปูน และเมื่อเดินต่อไปจนถึงไม้แผ่นสุดท้ายที่ปลายทาง เราจะเห็นทะเลในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาได้เต็มๆตาเลย (จากภาพ แถบนี้มีชาวบ้านเลี้ยงนกกางเขนดงและนกกรงหัวจุกอยู่หลายหลัง)
ขวาบน – บนเกาะปันหยีมีพื้นที่ที่เป็นดินน้อยมาก (ไม่นับตอนน้ำลด แล้วดินเลนโผล่ขึ้นมา) ด้วยเหตุนี้จึงใช้เป็นสุสาน(หรือกูโบร์)ของชาวมุสลิมบนเกาะก่อนสิ่งอื่นใด
ขวากลาง – นอกจากกีฬาฟุตบอล ถึงแม้ไม่มีพื้นที่โล่งกว้างอีก แต่เด็กๆก็มีโอกาสปั่นจักรยานทั่วเกาะได้
- เรื่องราวสถานที่บนเกาะปันหยีเป็นที่น่าพอใจแล้ว คราวนี้เป็นหน้าที่ของปากท้องดีกว่า
ซ้ายกลาง – ร้านสะดวกซื้อฝั่งชุมชนบนเกาะปันหยีเปิดหน้าร้านหลายเจ้า เราขอหยิบยกหนึ่งเจ้ามาพูดคุยกัน ซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคแต่ละร้านก็มีหน้าตาคล้ายกัน เช่นเจ้านี้ที่มีตัวอย่างตามชั้นวางดังนี้ สบู่ ครีมอาบน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แชมพู ครีมนวดผม น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า ผ้าอนามัย แป้งเด็ก แป้งเย็น ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูป นมผงเด็ก ครีมย้อมผม ใยขัด ทิชชู่ ครีมบำรุงผิว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ของเล่นตอกแผง ขนมปังสอดไส้ นมข้นหวาน น้ำดื่ม ลูกอม ไฟแช็ก ผลไม้กระป๋อง ยาสามัญประจำบ้าน ฯลฯ ขณะที่ในตู้แช่ก็มีน้ำอัดลม นมเปรี้ยว น้ำผลไม้ นม เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มมอลต์รสช็อกโกแลต น้ำชาเขียว เครื่องดื่มวิตามิน เครื่องดื่มคอลลาเจน และนมถั่วเหลือง
ขวาล่าง – ส่วนของสดก็เปิดหน้าร้านเช่นกัน ใครอยากทำกับข้าวกับปลาอะไร สบายใจได้เลย ผัดสดร้านนี้มีมะเขือเปราะ มะเขือพวง ขิง มะนาว กะหล่ำปลี ผักกูด ใบเหลียง ผักกาดขาว กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดอ่อน แตงกวา มะเขือเทศ แคร์รอต ข่า มะเขือยาว กะหล่ำดอก หอมใหญ่ ฟักเขียว และหน่อไม้ดอง ขณะที่ด้านล่างมีปลาทูแขก ปลาตะมะ ปลาลัง ปลาสีขน เนื้อปลามงหั่นชิ้น และเนื้อไก่อยู่ในแพ็ก
ซ้ายล่าง – แต่ถ้าใครไม่อยากทำกับข้าว ร้านอาหารตามสั่งสำหรับชาวเกาะปันหยีก็หาไม่ยาก บ้านนี้ยังเปิดพื้นที่ด้านในเป็นที่นั่งกินด้วย ส่วนเมนูที่ออกมาต้อนรับแขกมีผัดพริก ผัดเครื่องแกง ผัดผงกะหรี่ ข้าวคลุกกะปิ ข้าวผัด ผัดก๋วยเตี๋ยว ผัดจายา ลาบ ยำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไข่ดาว โดยมีกุ้ง หมึก ปู ไก่ และเนื้อมาเป็นตัวเลือก
ตอนนี้เราไปดูอาชีพๆหนึ่งที่หลายคนบนเกาะคุ้นเคยดี นั่นคือ รถเข็น(ที่ไปเสริฟของกินถึงมือตามบ้านเรือนนับร้อยหลังคา)
ซ้ายบน – เริ่มที่กับข้าวก่อน เราจะเห็นป้าทำเอง แล้วนำมาเข็นจำหน่าย บนเกาะมีอยู่สองสามคน ส่วนรายการของกินก็เช่น แกงส้มปลากะพง หมึกผัดน้ำดำ ปลากระเบนต้มกะทิ แกงไข่ใส่มะเขือยาว ปลาซาบะแดดเดียว ปลาหางแข็งทอด น้ำพริกตะไคร้ ฯลฯ
ขวาบน – ลุงคนนี้ขายเครื่องดื่มและของกินอันได้แก่ ข้าวเหนียวหน้าสังขยาและหน้าขนุน ข้าวเหนียวถั่วดำ เค้กกล้วยหอม ซาลาเปาไส้สังขยาทอด ขนมจีนน้ำยา รวมทั้งชากาแฟด้านหน้า
ซ้ายกลาง – น้ำแข็งจากในเมืองนั่งเรือข้ามฟากมาขึ้นเกาะ จากนั้นก็เข็นส่งตามบ้านและร้านค้ามากมาย
ซ้ายล่าง – นาทีนี้ขอเปลี่ยนแนวจากรถเข็นเล็กน้อย คนขายนำน้ำมะพร้าวพร้อมเนื้อใส่ถุงอย่างดี แล้วแช่น้ำแข็งเดินถือกระติกขายมะพร้าวน้ำหอมเย็นชื่นใจตามเคหะสถาน
ขวาล่าง – ก็อย่างที่รู้ว่า น้ำพริกกุ้งเสียบเป็นสินค้ายอดนิยมของเกาะ ตั้งแต่เช้าแม่ค้าจึงเข้าครัวเตรียมวัตถุดิบสำหรับวันใหม่ ขบวนการที่เห็นอยู่นี้คือ การทอดกุ้งให้สุก จากนั้นลงเครื่องปรุงเพื่อเพิ่มรสชาติ ก่อนขึ้นแผงจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวต่อไป
คราวนี้มาถึงการดำรงชีพที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ การประมง
บน – ชาวเกาะปันหยีเกิดมา ก็เห็นท้องทะเลเป็นเพื่อนคู่คิดแล้ว หนุ่มคนนี้ออกเรือมาในทะเล เขาแล่นเรือไปยังตำแหน่งขวดพลาสติกที่ลอยตุ๊บป่องอยู่ ขวดเหล่านี้ผูกติดกับอวนไว้ จากนั้นก็บรรจงดึงอวนขึ้นมา ภาพที่เห็นก็คือ ปูม้าตัวแล้วตัวเล่าค่อยๆโผล่ติดอวนมา
ซ้ายบน – อีกหนึ่งอาชีพที่เลี่ยงไม่ได้คือ คนทำเรือ บนเกาะปันหยีมีลุงคนหนึ่งที่สร้างเรือเล็กสำหรับออกทะเลด้วย ลุงทำคนเดียวตั้งแต่ต้นจนเสร็จพร้อมใช้งาน ภาพนี้เป็นช่วงลงกาวตามร่องและรูต่างๆ เมื่อกาวแห้ง ผิวของเนื้อไม้จะเรียบเสมอกัน
ขวาบน – เด็กน้อยออกเรือกับพ่อไปจับปลา จากนั้นกลับฝั่งมาพร้อมปลามากมาย นอกจากปลาทรายที่นำขึ้นมาก่อนหน้า ปลาที่เห็นชุดต่อมานี้ ชาวพังงาเรียกว่า“ปลาราม่า” (ปลาชนิดนี้เหมาะสำหรับทำปลาแห้งหรือทำเป็นเหยื่อของปลากะพง)
ซ้ายล่าง – กระชังสัตว์น้ำเป็นอีกสิ่งที่ชาวบ้านไม่มีพลาด สำหรับกระชังที่นี่มีทั้งปลาเก๋า ปลากะพง และกุ้งมังกรขนาดกลาง
ขวาล่าง – ทีมงานเห็นเรือนแพลอยน้ำด้วย แต่ที่อยากเล่าให้ฟังคือ เจ้าของบ้านหลังนี้รับซื้อสัตว์น้ำต่างๆที่จับมาได้ ชาวเกาะปันหยีไม่ต้องหากุ้งหอยปูปลา แล้วดั้นด้นขึ้นฝั่งไปจำหน่ายด้วยตนเอง พ่อค้าอยู่บนเกาะรอรับซื้อแล้ว เดี๋ยวเขาจัดการส่งท้องตลาดอีกทอดเอง
ล่าง – ทีแรกก็นึกไม่ออกว่าจะร่ำลาด้วยภาพไหน แต่เผอิญเหลือบเห็นแสงทองอร่ามยามเช้าที่สาดแสงไปทั่วเกาะ ขอบอกเลยว่า แสงอรุณที่นี่มีเฉดสีสวยจนต้องร้องว้าวจริงๆ ทีมงานขอนั่งชิลๆมองท้องฟ้าและดูเรือเล็กที่แล่นออกไปจับปูจับปลาก่อน บรรยากาศและทิวทัศน์เอื้อให้สติสตังล่องลอยไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้ แต่ที่รู้ๆก็คือความอิจฉากำลังเกิดขึ้นที่เกาะปันหยีแห่งนี้
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
174 | 1313 | 286177 |