สะพานเหล็กโคกขนุน

คำอธิบาย


สะพานเหล็กโคกขนุน(หรือสะพานเหล็กบุญสูง)เป็นเส้นทางที่เชื่อมถนนราษฎร์บำรุงกับซอยโคกขนุน โดยมีความยาว 200 เมตร ดร.ชาตา บุญสูง เล่าว่า ในอดีตคนงานบริษัทเรือขุดแร่บุญสูง(จากฝั่งชุมชนย่านยาว)ต้องมาทำงานยังเรือขุดแร่ดีบุกและโรงเหล็กโคกขนุนด้วยการพายเรือจากท่าย่านยาวมาตามแม่น้ำตะกั่วป่า ซึ่งแม่น้ำสมัยนั้นมีความลึกมาก คุณสุนทร ลิ้มเศรษฐโก (เจ็กสุน) คุณนุกูล ลิ้มเศรษฐโก และคุณนิวัฒน์ อภัยทาน (แป๊ะหยิน)จึงหารือกัน ก่อนตัดสินใจสร้างสะพานนี้ขึ้นด้วยแรงงานของคนงานในเหมืองดีบุกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง

สะพานเหล็กนี้สร้างในปี พ.ศ.2508 โดยใช้ชิ้นส่วนเหล็กปีนังจากเรือขุดแร่ที่ไม่สามารถใช้การได้แล้วของบริษัทเรือขุดแร่บุญสูง ทั้งนี้คุณนุกูลที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมเหมืองแร่จากประเทศออสเตรเลียเป็นผู้ออกแบบและคุณนิวัฒน์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด

เมื่อเวลาผ่านไป ความรุ่งเรืองของแร่ดีบุกค่อยๆลดลง จนในที่สุดกิจการเหมืองแร่ก็ยุติ แต่สะพานเหล็กสะพานนี้ยังคงอยู่นับจากนั้น และกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวริมถนนราษฎร์บำรุงที่หลายคนต้องแวะเวียนมาถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึก



ปกติ เราจะเห็นสะพานที่สร้างให้ชาวบ้านหรือคนในหมู่บ้านเดินข้ามไปมา แล้วมีชื่อเสียง แต่วันนี้กลับเป็นสะพานเหล็กที่สร้างจากคนงานเหมืองแร่เพื่อให้พนักงานมาทำงานสะดวกขึ้น แล้วมีชื่อเสียงแทน ส่วนหน้าตาจะเป็นอย่างไร ไปดูกันดีกว่า
บน – ภาพนี้เป็นสะพานเหล็กที่สร้างข้ามแม่น้ำตะกั่วป่า ทุกอย่างยังคงแข็งแรง(ท่ามกลางความเขียวขจี)แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม (จากภาพ คอสะพานด้านนี้อยู่ฝั่งซอยโคกขนุน ซึ่งเหมืองแร่และโรงเหล็กก็อยู่ด้านนี้ และถึงแม้จะเลิกกิจการไปแล้ว แต่ยังมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าดูแลอยู่)




เราเดินข้ามสะพานเหล็กไปฝั่งถนนราษฎร์บำรุงกัน
ซ้ายบน – เสาตอม่อที่สูงขึ้นมาเพื่อเชื่อมสายเคเบิลจากตลิ่งฝั่งหนึ่งไปตลิ่งอีกฝั่งหนึ่ง
ขวาบน – บรรยากาศบนสะพานเหล็ก
ขวากลาง – หลังจากเดินข้ามสะพานเหล็กมา เราหันไปมองสะพานเหล็กที่เพิ่งข้ามมาอีกครั้ง
ขวาล่าง – มองตรงต่อไป ตัวสะพานเหล็กกำลังพาเราไปยังถนนราษฎร์บำรุงที่อยู่เบื้องหน้าท่ามกลางเขาสูงที่มีแต่ต้นไม้สีเขียว
ซ้ายล่าง – การสัญจรข้ามสะพานมีทั้งเดินเท้าและรถมอเตอร์ไซค์ของชาวบ้านในละแวก
ล่าง – ตอนนี้เราอยู่ริมถนนราษฎร์บำรุงแล้ว นักท่องเที่ยวจะเห็นป้ายชื่อสะพานเหล็กบุญสูง(หรือสะพานเหล็กโคกขนุน)อยู่ไม่ห่างจากสะพานเหล็ก โดยช่วงแดดร่มลมตกจะมีนักท่องเที่ยวมาจอดรถริมถนนราษฎร์บำรุงเพื่อถ่ายรูปคู่กับสะพานเหล็กกัน

TODAY THIS MONTH TOTAL
101 3917 253135
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top