ไม้กลายเป็นหิน

คำอธิบาย


ไม้กลายเป็นหินเกิดจากต้นไม้ถูกทับถมโดยชั้นตะกอนอย่างรวดเร็ว อาจมีสาเหตุจากดินถล่มหรือการสะสมตัวของตะกอนธารน้ำ โดยแร่ที่ละลายมากับน้ำ(ในรูปสารละลาย)จะเข้าไปแทนที่และตกผลึกอยู่ในช่องว่างของเนื้อไม้(ก่อนที่เนื้อไม้จะผุสลาย) ทำให้ลายไม้ยังคงรักษาสภาพไว้ได้ ซึ่งแร่ส่วนใหญ่ที่เข้ามาแทนที่ได้แก่ ซิลิกาออกไซด์ เหล็กออกไซด์ คาร์บอเนต ฟอสเฟต ฟลูออไรด์ เป็นต้น

จากการสำรวจฟอสซิลของซากไม้กลายเป็นหิน
ในอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัยทั้งเจ็ดต้น แต่ละต้น(ที่ค้นพบ)มีอายุราว 120,000 ปี ส่วนสาเหตุที่ทำให้ไม้กลายเป็นหินนั้นมาจากแผ่นดินทางภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อประมาณ 120,000 ปีก่อนอยู่ภายใต้ภูมิอากาศเขตร้อนที่มีฝนตกชุกและมีสภาพป่าไม้เป็นแบบป่าฝนเขตร้อน มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือต้นทองบึ้ง(ที่ขึ้นสูงเสียดฟ้า)และมักพบหนาแน่นอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำปิงโบราณ แต่เกิดลมมรสุมครั้งใหญ่ที่โค่นต้นทองบึ้งและต้นไม้อื่นๆล้มลงสู่แม่น้ำ จากนั้นแพไม้ซุงเหล่านี้ได้ลอยมาเกยตื้นอยู่กลางแม่น้ำในเขตอำเภอบ้านตากและถูกฝังกลบโดยตะกอนแม่น้ำ ขณะเดียวกันยังมีกระแสน้ำพัดพาตะกอนเก่าออกไปและนำตะกอนใหม่เข้ามาแทนที่อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ 20,000 – 30,000 ปีก่อน แม่น้ำปิงได้เปลี่ยนทิศทางการไหลเนื่องจากการยกตัวของแผ่นดิน เกิดเป็นตะพักแม่น้ำที่ปรากฏไม้กลายเป็นหินที่มีอายุราว 120,000 ปี(ฝังอยู่ในชั้นตะกอน)ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ส่วนต้นทองบึ้งได้สูญพันธุ์จากพื้นที่แห่งนี้ไปเนื่องจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบันยังพบต้นทองบึ้งในป่าฝนเขตร้อนทางใต้สุดของไทย ไปจนถึงมาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย



ไม้กลายเป็นหินเคยสร้างความฉงนให้ทีมงานตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน ไหนๆผ่านมาอำเภอบ้านตาก ก็ขอแวะชมสักหน่อย โดยเลี้ยวเข้าทางแยกอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัยจากถนนพหลโยธิน(ตรงข้ามกับโรงพยาบาลบ้านตาก)ได้เลย จากนั้นผ่านป่าไม้เต็งรังเข้าไปอีกสองกิโลเมตรครึ่ง ก็เจอจุดชมไม้กลายเป็นหินแล้ว
- ขอเริ่มต้นจากไม้กลายเป็นหินห้าต้นแรกที่ด้านใน(จากทั้งหมดเจ็ดต้น)ก่อน
ซ้ายบน – ภาพนี้เป็นทางเดินเข้าชมไม้กลายเป็นหินต้นแรก แต่ระหว่างทาง มีต้นไม้สองข้างทางให้เราศึกษาด้วย ตัวอย่างที่ขอเล่าสู่กันฟังก็มีต้นมะม่วงหัวแมงวัน ต้นตาลเหลือง ต้นแดง ต้นมะกอกเกลื้อน ต้นมะนาวผี ต้นรกฟ้า ต้นกระพื้จั่น ต้นตะโกพนม ต้นเต็ง และต้นกระบก
- ความรู้รอบตัวเล็กน้อยก่อนเดินชมไม้กลายเป็นหินทั้งเจ็ดต้น การจำแนกพันธุ์ไม้โบราณ เราสามารถดูได้จากเซลล์เนื้อไม้ในส่วนที่เป็นเซลล์เนื้อเยื่อและเซลล์ลำเลียง โดยพิจารณารูปร่างเซลล์ครบในลักษณะสามมิติ แล้วนำลักษณะเซลล์ที่พบเปรียบเทียบกับลักษณะเซลล์ของพันธุ์ไม้กลายเป็นหินที่เคยมีการศึกษามาก่อนแล้วในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเปรียบเทียบกับพันธุ์ไม้ในปัจจุบันด้วย ผลจากการศึกษาไม้กลายเป็นหินในอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัยทั้งเจ็ดต้นพบว่า ต้นที่หนึ่ง สาม สี่ หก และเจ็ด เทียบเคียงได้กับต้นทองบึ้ง ขณะที่ต้นที่สองและห้า เทียบเคียงได้กับต้นมะค่าโมง ที่สำคัญ ไม้กลายเป็นหินหรือฟอสซิลจากซากไม้ทั้งเจ็ดต้นมีอายุกว่า 120,000 ปี (ดึกดำบรรพ์จริงๆ)
ขวาบน – และนี่คือไม้กลายเป็นหินต้นที่หนึ่ง ต้นนี้คือต้นทองบึ้ง ซึ่งถือว่าสมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาทุกต้นที่จัดแสดง ความโตเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย 1.80 เมตรและมีความยาว 72.22 เมตร มีโครงอาคารเหล็กขนาดใหญ่คลุมพื้นที่ไว้ทั้งหมด นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมจากรอบรั้วทั้งสี่ด้านได้
ซ้ายกลางบน – บางส่วนของลำต้นไม้กลายเป็นหิน ลักษณะเนื้อไม้ยังสมบูรณ์อยู่มาก แม้ผ่านเวลามาเนิ่นนาน
ซ้ายกลางล่าง – เนื้อไม้ส่วนนี้ก็ยังสมบูรณ์เช่นกัน ต้นนี้จัดว่ายาวสุดๆ
ขวากลาง - บริเวณอาคารหลักแรกนี้มีโต๊ะแสดงตัวอย่างไม้กลายเป็นหินให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสของจริงด้วย จะได้รู้ว่า ท่อนไม้ที่เห็นเหล่านี้คือหินดีๆนี่เอง
ซ้ายล่าง - หลังจากชมไม้กลายเป็นหินต้นที่หนึ่งแล้ว ก็เดินตามทางต่อ ทางเดินไม้ช่วงนี้มีต้นไม้สองข้างทางให้เราได้ศึกษาเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องต้นไม้ ตัวอย่างต้นไม้โซนนี้ก็มีต้นรัง ต้นปรงป่า ต้นกระทุ่มเนิน ต้นน้ำใจใคร่ ต้นสะเดาช้าง ต้นพลองเหมือด ต้นปอแก่นเทา ต้นผักอีนูน ต้นมะเม่า ต้นรักใหญ่ ต้นกุ๊กแก่นเทา ต้นคำมอกน้อย ต้นสมอไทย และต้นกะเจียน
ขวาล่าง - บนทางเดินไม้ยังมีโต๊ะจัดแสดงก้อนหินที่พบในอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัยอีก หินทั้งหมดก็มีหินควอร์ตไซต์ หินควอร์ต หินไรโอไลต์ หินทรายแดง หินดินดานเนื้อซิลิกา หินกรวดมน และหินไนส์



ตอนนี้ขอทำตัวเป็นครูพาเด็กนักเรียนมาทัศนศึกษานอกสถานที่ชั่วคราว
ซ้ายบน - เส้นทางนี้นำเรามาสู่ไม้กลายเป็นหินต้นที่สามหรือต้นทองบึ้งต้นที่สอง สำหรับต้นนี้มีการสร้างเพิงคลุมไม้กลายเป็นหินเอาไว้
ขวาบน – ไม้กลายเป็นหินต้นที่สามนี้มีความยาว 32.4 เมตรและกว้าง 2.1 เมตร
ซ้ายกลางบน – จากภาพ เราจะเห็นว่าไม้กลายเป็นหินต้นนี้แตกเป็นท่อนๆขณะที่ต้นแรกยังมีความสมบูรณ์ของลำต้นอยู่ เหตุผลก็เนื่องจากต้นทองบึ้งต้นแรกมีชั้นหน้าดินหนามากกว่าสามเมตรปิดทับอยู่ ทำให้ชั้นหน้าดินเคลื่อนตัวยาก ดังนั้นแรงกระทำต่อซากไม้จึงมีน้อย ซากไม้กลายเป็นหินจึงไม่แตกหักไปไหน ขณะที่ไม้กลายเป็นหินต้นนี้แตกหักเป็นท่อนๆแต่ยังเรียงตัวเป็นต้นไม้อยู่ก็เพราะต้นทองบึ้งต้นนี้มีชั้นหน้าดิน(ที่ปิดทับ)หนาน้อยกว่าสองเมตร หน้าดิน(ที่สัมผัสกับซากไม้กลายเป็นหิน)ทรุดตัวและเคลื่อนที่ได้ง่าย ทำให้เกิดแรงเค้นจากการเคลื่อนตัวของชั้นดินที่กระทำกับไม้กลายเป็นหิน ซากไม้เลยเกิดการแตกหักเป็นท่อนๆ
ขวากลางบน - จากนั้นจะมีทางแยกเป็นสองเส้นทาง เราเลือกเดินไปดูไม้กลายเป็นหินต้นที่สองก่อน ซึ่งอยู่ติดหน้าอุทยานแห่งชาติเลย ระหว่างทางเรายังเจอต้นมะค่าแต้และต้นเต็งหนามด้วย
ซ้ายกลางบน – เพิงไม้นี้คือไม้กลายเป็นหินต้นที่สอง
ขวากลางล่าง – ไม้กลายเป็นหินต้นนี้คือต้นมะค่าโมง มีความยาว 31.3 เมตรและกว้าง 0.5 เมตร
ซ้ายล่าง – จากที่ได้แจ้งแล้วว่า ไม้กลายเป็นหินกลายเป็นท่อนๆแบบนี้ก็เพราะมีชั้นหน้าดินที่บาง
ขวาล่าง – หลังจากสำรวจไม้กลายเป็นหินต้นที่สองเสร็จ เราเดินย้อนกลับไปทางเดิม แล้วเลี้ยวไปทางแยกอีกทางเพื่อไปดูไม้กลายเป็นหินต้นที่สี่ต่อ บรรยากาศระหว่างทางเป็นป่าเต็งรังเหมือนเดิม ทีมงานพบต้นกว้าว ต้นคำรอก ต้นแครกฟ้า และต้นปอเต่าไห้ 




เดินชมให้ทั่วเพื่อข้อมูลที่สมบูรณ์
ซ้ายบน – ต่อไปเป็นเพิงของซากไม้กลายเป็นหินต้นที่สี่
ขวาบน - ต้นทองบึ้งต้นนี้แตกหักเป็นท่อนๆเช่นกัน ต้นนี้ยาว 44.2 เมตรและกว้าง 1.4 เมตร
ซ้ายกลางบน – สีไม้และลายไม้ยังมีให้เห็นอยู่ ธรรมชาติดูแลตัวเองอย่างดี (จากภาพ ไม้กลายเป็นหินที่แตกท่อนนี้ใหญ่เป็นพิเศษ)
– จากไม้กลายเป็นหินต้นที่สี่ เราเดินจากป่าเต็งรังออกมา แล้วข้ามถนนเข้าอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัยเพื่อเดินเข้าป่าอีกด้านไปชมไม้กลายเป็นหินต้นที่ห้า
ซ้ายกลางล่าง – และนี่ก็คือเพิงไม้กลายเป็นหินต้นที่ห้า
ขวาล่าง – ต้นนี้คือต้นมะค่าโมงต้นที่สอง มีความยาว 22.2 เมตรและกว้าง 1.2 เมตร
ซ้ายล่าง – ซากไม้แตกหักเป็นท่อนๆ




ตอนนี้เหลืออีกสองต้น ไม้กลายเป็นหินต้นที่หกและเจ็ดอยู่ใกล้ปากทางเข้าอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัยจากถนนพหลโยธินด้านหน้าเลย เราต้องย้อนกลับไปด้านหน้าอีกครั้ง (ซึ่งต้นที่หกและเจ็ดห่างจากถนนพหลโยธินประมาณ 700 เมตร ใครไม่มีรถ สามารถเดินเข้าไปชมสองต้นนี้ได้อยู่) สำหรับเส้นทางเข้าต้นที่หก จะเป็นถนนคอนกรีต
ซ้ายบน – อาคารที่สร้างคลุมไม้กลายเป็นหินต้นที่หก
ขวาบน – ต้นนี้คือต้นทองบึ้งต้นที่สี่ มีความยาว 34.5 เมตรและกว้าง 1.55 เมตร
ซ้ายกลาง – สภาพของไม้กลายเป็นหินต้นนี้ยังสมบูรณ์เหมือนต้นทองบึ้งต้นแรก ก็เนื่องจากหน้าชั้นดินหนาอย่างที่เคยบอกไว้
- จากนั้นเราไปปิดท้ายกับไม้กลายเป็นหินต้นที่เจ็ดกัน เส้นทางจากต้นที่หกไปต้นที่เจ็ดเป็นทางธรรมชาติ ซึ่งประเภทพันธุ์ไม้จะใกล้เคียงกับด้านในที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว
ขวากลางบน – อาคารที่สร้างคลุมไม้กลายเป็นหินต้นที่เจ็ด
ซ้ายล่าง – ต้นนี้คือต้นทองบึ้งต้นที่ห้า มีความยาว 38.7 เมตรและกว้าง 1.5 เมตร
ขวากลางล่าง – ซากไม้ยังคงสภาพสมบูรณ์เหมือนต้นที่หนึ่งและหก
- ใครมาเที่ยวชมไม้กลายเป็นหินเสร็จ ก็แวะซื้อของต่อได้เลย
ขวาล่าง –
บริเวณหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย(ที่เป็นจุดชมไม้กลายเป็นหินห้าต้นแรก)จะมีเพิงขายสินค้าอยู่ประมาณสามร้าน
รายการสินค้า - เครื่องดื่มในตู้เย็นมีไวตามิลค์(รสต่างๆคือ ออริจินอล สูตรงาดำและข้าวสีนิล และสูตรดับเบิลช็อกโก) แฟนต้า(น้ำส้ม น้ำแดง น้ำเขียว) สไปรท์ โค้ก เป๊ปซี่ สแปลชรสส้ม น้ำดื่มสิงห์ เอ็มร้อยห้าสิบ ลิโพ เบอร์ดี้โรบัสตา เนสกาแฟเอสเพรสโซโรสต์ สปอนเซอร์ โออิชิ(รสองุ่นเคียวโฮผสมวุ้นมะพร้าวและรสน้ำผึ้งมะนาว) อิชิตันแฮปปี้(รสต่างๆคือ ส้มคาลาแมนซี ทรอปิคอลพันช์ และทับทิม) เย็นเย็นสูตรเก๊กฮวยขาวผสมน้ำผึ้ง รวมทั้งไอศกรีมเนสต์เล ขนมขบเคี้ยวมีเทสโต้รสบาร์บีคิว ซีมอนรสช็อกโกแลต และโรลเลอร์โคสเตอร์รสชีสต้นตำรับ ผลไม้หั่นชิ้นมีมะม่วงมัน แตงโม และฝรั่ง ส่วนสินค้าอุปโภคมีถุงเท้า ผ้าพันคอ พวงกุญแจ ย่าม
แมสก์ และครกหินแกรนิต
- เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย การที่เราเห็นต้นทองบึ้งและต้นมะค่าโมงกลายเป็นหินทั้งเจ็ดต้นนี้ นั่นบ่งบอกให้รู้ว่า ในอดีต ภูมิอากาศแถบนี้เป็นป่าแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุก สภาพป่าเป็นป่าดงดิบเหมือนภาคใต้ของไทยกับมาเลเซีย

TODAY THIS MONTH TOTAL
137 4128 253346
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top