สวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย

คำอธิบาย


สวนพฤกษ์ศาสตร์ทุ่งค่าย แต่เดิมเป็นสวนรุกขชาติทุ่งค่ายอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทุ่งค่าย ต่อมาได้ยกฐานะเป็นสวนพฤกษศาสตร์เมื่อปีพ.ศ.2536 เพื่ออนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ไม้ประจำถิ่น รวมทั้งเป็นแหล่งวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ระดับมาตรฐานของภาคใต้ โดยครอบคลุมเนื้อที่ 2,600 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีเนินเขาเตี้ยๆสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 15-40 เมตร อีกทั้งยังเป็นต้นน้ำของลำห้วยเล็กๆด้วย

สำหรับป่าไม้ที่นี่เป็นป่าดิบชื้น ป่าพรุ และทุ่งหญ้ากระจายอยู่เล็กน้อย ขณะที่สัตว์ป่าที่พบก็เช่น พญากระรอกดำ ไก่ป่า กระจง นก บ่าง งู ฯลฯ

การสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ช่วงแรกเป็นพื้นคดชกริช(หรืออิฐตัวหนอน)ท่ามกลางต้นไม้รายล้อมไปทั่วบริเวณ ตัวอย่างพันธุ์ไม้ตลอดสองข้างทางก็มีต้นเคี่ยม มะไฟกา ยางมันหมู เทพธาโร หม้อข้าวหม้อแกงลิง ส้านใหญ่ ก่อหมู เฉียงพร้านางแอ สะท้อนรอก ระกำ เถาสะบ้าช้าง ปาล์มชะวา ขันทองพยาบาท แคยอดดำ ทุ้งฟ้า กริมเขา จั๋งไทย พลับพลา เมา เลือดแรด พญาสัตบรรณ แซะ ดำตะโก พะยอม นมหวา ฯลฯ

หลังจากผ่านเส้นทางช่วงแรกมาประมาณ 700 เมตรแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาซึมซับบรรยากาศมุมสูง นั่นคือ สะพานเรือนยอดไม้ ซึ่งเป็นไฮไลต์ของที่นี่ จุดประสงค์ของสะพานดังกล่าวก็เพื่อเรียนรู้กิจกรรมและศึกษาชีวภาพบริเวณยอดไม้ เช่น การสังเคราะห์แสง การสืบต่อพันธุ์ ฯลฯ รวมทั้งพฤติกรรมของสัตว์ปีก

บริเวณสะพานเรือนยอดไม้ประกอบด้วยหอคอย 6 หอและสะพานแขวน(ต่างระดับที่เชื่อมระหว่างหอคอย)อีก 5 สะพาน โดยสร้างในปี 2546 และเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมกราคม พ.ศ.2547 มีความยาว 175 เมตร

ถ้าเริ่มขึ้นบันไดจากหอคอยที่หนึ่ง สะพานแขวนของยอดหอคอยแรกจะมีความสูงที่ 10 เมตร เมื่อข้ามสะพานมาฝั่งหอคอยที่สอง ก็ขึ้นบันไดสู่ยอดหอคอยที่สองต่อ สะพานแขวนของหอคอยนี้มีความสูง 15 เมตร หลังจากข้ามสะพานมาแล้ว ก็เป็นหอคอยที่สาม เมื่อเดินขึ้นบันไดต่อจนถึงยอดหอคอยที่สาม จะเจอสะพานแขวนชั้นสูงสุดที่ระดับ 18 เมตร ซึ่งสามารถเห็นเรือนยอดไม้ได้ เมื่อข้ามสะพานมาฝั่งยอดหอคอยที่สี่ ก็ลงบันไดเพื่อข้ามสะพานแขวนสูง 15 เมตรไปยอดหอคอยที่ห้าต่อ แล้วลงบันไดเพื่อข้ามสะพานแขวนสูง 10 เมตรไปยอดหอคอยที่หก ก่อนลงบันไดสู่พื้นดินเบื้องล่าง (หรือจะสลับขึ้นจากหอคอยที่หกกลับไปหอคอยที่หนึ่งก็ได้)

แต่ถ้าใครไม่เดินขึ้นสะพานเรือนยอดไม้ ยังมีทางดินเลียบฐานหอคอยที่หนึ่งจนถึงฐานหอคอยที่หกอยู่ด้านล่างด้วย

และจากหอคอยที่หกนี้ ทางดินยังยาวต่อเนื่องไปอีก 200 เมตรเพื่อเชื่อมกับทางคอนกรีตศึกษาธรรมชาติป่าพรุ(ที่มีระยะทางเดินประมาณ 1,200 เมตร) บริเวณนี้สามารถเห็นวิวัฒนาการและการปรับตัวของธรรมชาติในป่าพรุได้ชัดเจน

อนึ่ง ที่มาของคำว่า“ทุ่งค่าย”อาจหมายถึงไม้ในวงศ์เตยชนิดหนึ่ง



เคยอ่านเจอข้อมูลสะพานเรือนยอดไม้ของสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายมาบ้าง คราวนี้อยู่จังหวัดตรังแล้ว ก็ขอเป็นตัวแทนพาชมพันธุ์ไม้ในป่าดิบชื้นและป่าพรุ รวมทั้งไฮไลต์สูง 18 เมตรที่หลายคนตั้งใจมาชมธรรมชาติบนสะพานแขวนกัน เพราะได้ทั้งความสนุกและความรู้ ส่วนหน้าตาความสูงจะเป็นเช่นไร ขอให้ลืมโรคกลัวความสูงไปก่อน
ซ้ายบน – ป้ายทางเข้าสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายจากริมถนนใหญ่
ขวาบน – ทางเดินศึกษาธรรมชาติช่วงแรกเป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม้ขึ้นสูงตลอด ถึงแม้ในวันที่แสงแดดจ้า ต้นไม้เหล่านี้ก็เป็นฉนวนกันความร้อนให้เราได้ โดยโซนนี้จะเห็นต้นกะแซะและต้นพะยอมขึ้นอยู่
ซ้ายกลางบน – ตลอดทางซ้ายขวามีต้นไม้ขึ้นมากมาย ตัวอย่างพันธุ์ไม้เด่นๆแถบนี้ก็มีต้นก่อหมูและต้นเคี่ยม
ซ้ายกลางล่าง – บรรยากาศด้านขวาย่านนี้โปร่งและมีแสงส่องทั่วบริเวณ
ขวากลาง – หลายคนมักหยุดยืนดูระหว่างทางเพราะที่เห็นเลื้อยอยู่นี้คือต้นเถาสะบ้าช้าง
ซ้ายล่าง – ทางเดินช่วงนี้รายล้อมด้วยต้นปาล์มชวา ขณะที่ต้นไม้ใหญ่รอบข้างก็เช่น ต้นคอแล้ง ต้นสะท้อนรอก ฯลฯ
ขวาล่าง – บางจุดก็ทำเป็นไหล่ทางยื่นเข้าไป บริเวณนี้มีต้นเลือดแรดขึ้นคละด้วย



พ้นทางเดินศึกษาธรรมชาติช่วงแรกไป คราวนี้ก็มาถึงไฮไลต์แล้ว
ซ้ายบน – เบื้องหน้าคือจุดเริ่มต้นของสะพานเรือนยอดไม้ ฐานนี้เป็นหอคอยแรกกับความสูงของสะพานแขวนระดับเบาะๆ 10 เมตร ว่าแล้วก็เดินขึ้นบันไดตามมาเลย
ขวาบน – ภาพนี้คือทางเดินเหล็กช่วงแรก สะพานแขวนจะยาวสู่หอคอยที่สองแบบนี้
ซ้ายกลาง – แต่ระหว่างเดินบนสะพานแขวน ขอเหลือบมองสะพานแขวนระดับ 15 เมตรด้านบนสักแป๊บ (มุมนี้ดูเท่ดี)
ซ้ายล่าง – ตอนนี้ขึ้นมาถึงสะพานแขวนระดับ 15 เมตรแล้ว เรากำลังเดินข้ามสะพานไปหอคอยที่สามด้านหน้าต่อ
ขวาล่าง – ไหนๆก็มาใกล้ๆ ขอยืนดูหอคอยที่สามชัดๆก่อนขึ้นบันไดสู่ชั้นสูงสุด




ใครกลัวความสูง อนุญาตให้หรี่ตาดูภาพเซ็ตต่อไปนี้
ซ้ายบน – และก่อนจะขึ้นสู่ความสูงระดับ 18 เมตร เราแหงนหน้ามองสะพานด้านบนเพื่อชิมลางสักครู่ (สูงระฟ้าสู้เรือนยอดไม้ในป่าฝนได้สบาย)
ขวาบน – หลังจากขึ้นหอคอยที่สามมา ลองหันกลับไปมองหอคอยที่สองใหม่ ตอนนี้โดนยอดไม้โอบรอบทิศทางเรียบร้อย
ขวากลางบน – แล้วก็ได้เวลาเดินชมเรือนยอดไม้ที่ระดับความสูง 18 เมตร (จากภาพ ต้องบอกก่อนว่า สะพานแขวนเหล่านี้โคลงโคลงตามน้ำหนักการเดินได้เล็กน้อย แต่ทุกอย่างปลอดภัย)
ซ้ายล่าง – ขณะอยู่กลางสะพาน หันไปมองหอคอยที่เพิ่งเดินออกมาอีกครั้ง ดูตระหง่านดี
ขวากลางล่าง – ภาพนี้ทำให้เราเห็นวิวสะพานที่ทอดยาวอยู่ทางขวา ตอนนี้ทุกคนสูงทัดเทียมยอดไม้แล้ว (จากภาพ สะพานเรือนยอดไม้สร้างขึ้นก็เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพเนื่องจากในป่าฝนเขตร้อน ต้นไม้จะขึ้นสูงมาก ทำให้ยากต่อการวิจัยเรือนยอดไม้หรือหลังคาป่าฝน นอกจากทางเดินลอยฟ้า ในบางสถานที่เราอาจเคยเห็นบันไดไต่ขึ้นต้นไม้แทน)
ขวาล่าง – และถ้ายืนอยู่กลางสะพานชมวิว เราจะเห็นทิวทัศน์เรือนยอดไม้ที่ระดับความสูง 18 เมตรแบบนี้ (ต้นไม้ในป่าช่างสูงเสียจริง)

 



จากป่าดิบชื้น เรายังเหลือป่าพรุให้เดินอีก
ซ้ายบน – อย่างที่เกริ่นตั้งแต่ต้น นอกจากสะพานเรือนยอดไม้แล้ว ด้านล่างยังมีทางธรรมชาติเลียบหอคอยทั้งหกหอด้วย เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไป ก็จะเห็นสะพานแขวนจากด้านล่างแบบนี้
ขวาบน – และจากทางดินเมื่อสักครู่ เราก็มาถึงทางเดินปูนลัดเลาะชมธรรมชาติของป่าพรุต่อ บางช่วงก็เป็นต้นไม้ใหญ่ตลอดทาง
ขวากลาง – ขณะที่บางช่วงก็เป็นต้นไม้ทึบทั้งสองข้าง
ซ้ายกลาง – สภาพแวดล้อมของป่าพรุเป็นต้นไม้รกๆทั่วบริเวณ
ซ้ายล่าง – ผิวดินในป่าพรุมักชื้นแฉะและมีแอ่งน้ำ
ขวาล่าง –
พืชเด่นๆที่ทีมงานเห็นระหว่างเดินในป่าพรุก็คือ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง

TODAY THIS MONTH TOTAL
211 4428 253646
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top