การคมนาคมของสังคมไทยในอดีต นิยมใช้เกวียนเป็นพาหนะเดินทางหรือบรรทุกสัมภาระโดยมีวัวหรือควายลากจูง
สำหรับรถม้าแต่เดิมเป็นที่นิยมของคนชนชั้นสูง เช่น เจ้านายฝ่ายปกครอง พ่อค้า คหบดี รวมทั้งเป็นรถประจำตำแหน่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักด้วย รถม้ารุ่นแรกนำเข้าจากยุโรปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเป็นที่นิยมมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในปี พ.ศ.2458 รถยนต์จากยุโรปเข้ามามีอิทธิพลในกรุงเทพ บรรดาเจ้าขุนมูลนายต่างเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ บทบาทของรถม้าจึงลดน้อยลง ผู้เป็นเจ้าของและผู้ขับขี่รถม้าจึงอพยพจากกรุงเทพไปตามหัวเมืองรอบนอก ได้แก่ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ รวมทั้งลำปาง อีกทั้งเป็นช่วงที่เมืองไทยมีการพัฒนาการคมนาคมครั้งใหญ่ โดยสร้างทางรถไฟสายเหนือจากกรุงเทพสู่เชียงใหม่
การสร้างช่วงแรกเสร็จสิ้นถึงสถานีนครลำปาง ณ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง สถานีรถไฟแห่งนี้เปิดรับขบวนรถไฟโดยสารครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2459 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ช่วงนั้นรถม้าเริ่มเข้าสู่นครลำปางโดยดำริของพระเจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายที่ต้องการนำรถม้ามาใช้ขนส่งในเมือง จึงซื้อรถม้ามาจากกรุงเทพและจ้างแขกเป็นสารถี รถม้าลำปางได้ผ่านยุคสมัยการเปลี่ยนแปลง จากเดิมเพื่อการขนส่งก็กลายเป็น“รถม้าแท็กซี่”สำหรับรับส่งผู้โดยสารเข้าสู่ตัวเมือง ความนิยมใช้รถม้าเป็นไปอย่างกว้างขวาง กิจการรถม้ากลายเป็นอาชีพหนึ่งของชาวลำปางและดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 31 ปี
ในปี พ.ศ.2490 รองอำมาตย์ตรีขุนอุทานคดี บิดาแห่งวงการรถม้าของจังหวัดลำปาง ได้ริเริ่มให้ผู้ประกอบอาชีพรถม้าจัดตั้งเป็นสมาคมกรรมกรล้อเลื่อนจังหวัดลำปางแห่งแรกและได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรกอีกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2495 เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง บุตรของเจ้าบุญวาทย์ วงษ์มานิตได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง (The Lampang Carriage Association) ช่วงปี พ.ศ.2502 ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของผู้ประกอบอาชีพนี้เพราะมีรถม้ามากถึง 185 คันเนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ให้การสนับสนุนและอุปถัมภ์
แต่ปัจจุบัน รถม้ากลายเป็นรถพานักท่องเที่ยวชมเมืองลำปาง ทำให้คนไทยและชาวต่างชาติรู้จักเมืองลำปางมากขึ้น จนมีคำพูดติดปากว่า“ลำปางคือเมืองรถม้า หากใครไม่ได้นั่งรถม้า แสดงว่ายังมาไม่ถึงเมืองลำปาง” ปัจจุบันมีรถม้าในจังหวัดลำปางประมาณ 70-80 คันที่บริการพานักท่องเที่ยวชมเมือง สำหรับงานรำลึกวันประวัติศาสตร์รถไฟ-รถม้าลำปาง จะจัดขึ้นทุกวันที่ 1 เมษายนของทุกปี
เมื่อถามถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลำปาง หลายคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า“รถม้าลำปาง” วันนี้อุตส่าห์มาถึงถิ่น ก็ขอเกาะขอบและลองประสบการณ์นั่งรถม้าสักหน่อย ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น เดี๋ยวนั่งไปเล่าไปให้ฟังพร้อมๆกันเลย
ซ้ายบน – ก่อนอื่นต้องสวัสดีทุกคนด้วยป้าย“รถม้าลำปาง”เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย
ขวาบน – ในจังหวัดลำปางมีคิวรถม้าใหญ่ๆอยู่สองเจ้า แต่ละคิวมีรถม้านับสิบคัน จุดแรกก็คือ“คิวเวียงทอง”ซึ่งจอดอยู่ฝั่งถนนคู่ขนาน เราจะเห็นรถม้ามากมายตามริมฟุตบาทเป็นทางยาว
ซ้ายกลางบน – ม้าที่คิวนี้กำลังก้มหน้าก้มตากินอาหารที่เจ้าของนำมาใส่ไว้ในอ่างยาง
ขวากลาง – จุดใหญ่อีกแห่งคือ“คิวศาลากลางเก่า”หรือ“คิวกรมที่ดิน(ในปัจจุบัน)” คิวนี้มีรถม้าจอดอยู่ข้างฟุตบาทริมถนนใหญ่มากมายเช่นกัน โดยรถม้าจะอยู่ใต้โครงเหล็กที่มีต้นการะเวกเลื้อยคลุมเป็นหลังคา
ซ้ายกลางล่าง – ม้าตัวนี้กำลังกินหญ้า โดยภาชนะใส่อาหารของคิวนี้สร้างเป็นกระบะไม้ให้ม้ายืนกินเลย
ซ้ายล่าง – นอกจากสองคิวใหญ่ที่เห็นแล้ว ยังมีคิวรถม้าลำปางย่อยๆกระจายอยู่ทั่วไปประมาณคิวละ 2-3 คัน ส่วนใหญ่จะจอดใกล้โรงแรม ยกตัวอย่างเช่นคิววัดสวนดอก ซึ่งจะจอดอยู่หน้าวัดใกล้โรงแรมแห่งหนึ่ง ส่วนม้าตัวนี้กำลังกินอาหารที่เจ้าของใส่ไว้ในถัง โดยถังหนึ่งเป็นอาหาร อีกถังเป็นน้ำ
ขวาล่าง – เรามาดูหน้าตารถม้าลำปางสักหนึ่งคันกัน ลักษณะรถม้าเป็นรถเปิดประทุน เบาะหลัง(ที่มีหลังคาคลุมเป็นสัดส่วน)สำหรับที่นั่งลูกค้า ส่วนเบาะหน้าที่มีพรมสีเขียวรองพื้นเป็นของสารถี โดยที่นั่งคนขับมีร่มคันใหญ่กางให้ร่มเงา ทีนี้ถ้าเราสังเกตใต้ที่นั่งสารถีจะมีผ้าสีเขียวอยู่ด้านล่าง ผ้านี้ไว้รองอุจจาระม้า ทำให้ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปตามถนนหนทาง (ในภาพ เราจะเห็นกองอุจจาระม้าด้วย)
เนื้อหายังไม่จบ สารคดีนี้ยังดำเนินต่อไป
ซ้ายบน – เรามาดูบรรยากาศตอนอยู่บนรถม้ากันบ้าง คนขับรถม้าบางคนสวมเสื้อลายสก็อต เสื้อกั๊ก และหมวก เรียกว่าเต็มยศกับชุดฟอร์มคาวบอย สำหรับสารถีบางคนก็มีงานประจำ พอวันเสาร์อาทิตย์ก็มาขับรถม้า แต่ส่วนใหญ่จะขับเป็นอาชีพคือมาเข้าคิวทุกวัน ทั้งนี้เจ้าของม้าทุกคนจะรู้วิธีดูแลและถนอมม้าตนเอง คือถ้าออกจากบ้านแต่เช้า ก็ไม่ควรกลับเย็น เพื่อให้ม้ามีเวลาพักผ่อน ไม่เครียดเกินไป เมื่อถึงบ้านแล้ว ก็จะปลดสายรัดรอบตัวม้า ให้ม้าได้ผ่อนคลาย เดินเหินเป็นอิสระ ส่วนอาหารก็ต้องเพียงพอในแต่ละวัน ทั้งอาหารม้า (หนึ่งถุงมีประมาณ 30 กิโลกรัม) หญ้าสดและหญ้าแห้ง แกลบ (โดยแกลบของม้าจะละเอียดกว่าของหมู) และน้ำ
ขวาบน – และนี่ก็เป็นบรรยากาศรถม้าอีกคัน คนขับส่วนใหญ่จะแต่งชุดไปรเวท อายุก็อยู่ในวัยกลางคนหรือสูงวัยหน่อย แต่ก็มีวัยรุ่นมาขับบ้าง และเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เมื่อกลับมาถึงบ้าน ตามปกติเจ้าของจะอาบน้ำม้าวันละหนึ่งครั้งช่วงเช้า โดยจะเลี้ยงม้าหนึ่งตัวเท่านั้น แต่บางบ้านอาจมีม้ามากกว่าหนึ่งตัวก็ได้เพราะมีสมาชิกในบ้านขับรถม้ามากกว่าหนึ่งคน ส่วนไฮซีซั่นของรถม้าลำปางจะอยู่ช่วงคริสมาสต์ไปจนถึงปีใหม่เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและทัวร์ต่างชาติจะมากเป็นพิเศษ
ซ้ายกลางบน – เราเห็นด้านหน้ารถม้าลำปางไปแล้ว คราวนี้ไปดูด้านหลังของรถม้าลำปางบ้าง
ซ้ายกลางล่าง – ภาพนี้เป็นเกือกม้าที่ติดอยู่กับกีบม้า (รูปทรงเหล็กคล้ายตัวยู) ถ้าช่วงไหนที่ม้าวิ่งบ่อยๆ สองสัปดาห์ก็ต้องเปลี่ยนเกือกใหม่ โดยมีช่างเปลี่ยนเกือกม้าโดยเฉพาะ แต่ถ้าช่วงไหนออกรอบไม่ถี่ ก็อาจเปลี่ยนเดือนละครั้ง
ขวากลาง – และภาพนี้คือตะปูตัวเล็กที่ใช้ยึดเกือกม้ากับเล็บบริเวณกีบม้า ซึ่งเป็นตะปูคนละประเภทกับงานก่อสร้าง (อนึ่ง หลายคนอาจนึกว่าม้าเจ็บหรือเปล่า แต่จริงๆ ช่างจะตอกตะปูเข้าไปเฉพาะเล็บเท้าเท่านั้น ไม่ได้โดนเนื้ออะไร ก็คล้ายกับคนเราตัดเล็บ ก็ไม่ได้เจ็บอะไร ส่วนเล็บเท้าม้าจะงอกออกมาเรื่อยๆเหมือนเล็บคนอยู่แล้ว ทั้งนี้การใส่เกือกม้ายังช่วยลดอาการบาดเจ็บจากสิ่งแปลกปลอมบนพื้นถนนด้วย)
ซ้ายล่าง – ม้าที่นี่มีทั้งม้าแกลบและม้าพันธุ์ผสม ซึ่งที่ผ่านมา เราจะเห็นม้าสีน้ำตาลแดงทั้งนั้น แต่คราวนี้เราไปดูตัวอย่างม้าสีอื่นๆบ้าง เช่น ม้าสีน้ำตาลอ่อนตัวนี้
ขวาล่าง – ตอนนี้ก็ได้เวลาที่รถม้าลำปางพาเรามาส่งที่หมายแล้ว ก็ขออำลาสารคดีรถม้าลำปางด้วยอาชาสีขาวตัวนี้
TODAY | THIS MONTH | TOTAL | |||
216 | 2212 | 279118 |