วัดคูหาภิมุข

คำอธิบาย


วัดคูหาภิมุข เดิมชื่อ“วัดหน้าถ้ำ”แต่เปลี่ยนเป็น“วัดคูหาภิมุข”ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายคงทอง เพชรกล้าร่วมกับชาวบ้านสร้างวัดนี้ขึ้นบริเวณริมเขาถ้ำพระนอนเมื่อปี พ.ศ.2380 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เหตุที่เรียก“เขาถ้ำพระนอน”เนื่องจากบนภูเขามีถ้ำซึ่งบริเวณผนังถ้ำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์นั่นเอง

ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 และจากการปฏิบัติงาน กรมศิลปากรสำรวจพบร่องรอยทางโบราณคดีที่แสดงถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์บนเขาถ้ำพระนอนด้วย ตัวอย่างสิ่งของก็มีเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สถูปสำริดจากอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 14-15 พระพิมพ์สมัยศรีวิชัย พระพุทธไสยาสน์ที่สันนิษฐานว่าสร้างร่วมสมัยกับภาพจิตรกรรมที่ถ้ำศิลป์ในอำเภอเมืองยะลา(ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดคูหาภิมุข)

ในปี พ.ศ.2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ป.ป.ร.ไว้ ณ ผาหินภายในวัด จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ เสด็จมาในพิธียกช่อฟ้าของอุโบสถเมื่อปี พ.ศ.2518

สำหรับสิ่งสำคัญภายในวัดคูหาภิมุข ได้แก่

1. พระพุทธไสยาสน์หรือ“พ่อท่านบรรทม” สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.1300 สมัยอาณาจักรศรีวิชัยเรืองอำนาจไปพร้อมกับการสร้างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และน่าจะสร้างร่วมสมัยกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำศิลป์ด้วย เชื่อกันว่า เดิมเป็นปางนารายณ์บรรทมสินธุ์เพราะมีพญานาคแผ่พังพานทอดตัวอยู่เหนือพระเศียร แต่มีการดัดแปลงเป็นพระพุทธไสยาสน์ราวพุทธศตวรรษที่ 22 หรือช่วงอยุธยาตอนต้น พระพุทธไสยาสน์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นองค์ที่บูรณะครอบทับองค์เดิมซึ่งมีลักษณะเป็นดินดิบและใช้ไม้ไผ่เป็นโครง ความยาวจากพระเกศถึงพระบาทวัดได้ 81 ฟุต 1 นิ้ว ภายในถ้ำพระนอนมีลักษณะคล้ายห้องโถงใหญ่ที่ดัดแปลงมาเป็นศาสนสถานและมีปล่องเพดานที่แสงสามารถส่องลอดเข้ามาบริเวณถ้ำได้ อีกทั้งยังมีหินย้อยที่สวยงามด้วย

2. อุโบสถหลังเก่า สร้างในสมัยพระครูธรรมขันธ์(เพ็ชรฐิตว์โส)เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สองราวปี พ.ศ.2405-2418 ตั้งอยู่บนเนินเขาตรงทางขึ้นถ้ำพระนอน ปัจจุบันอุโบสถหลังนี้ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบในวัดคูหาภิมุข มีชื่อเป็นทางการว่า"หอวัฒนธรรมศรีวิชัย” สภาพทั่วไปเป็นผังรูปสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน มีกำแพงแก้วล้อมรอบ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันเขียนเป็นรูปช้างเอราวัณ

3. พระพิมพ์และโบราณวัตถุภายในถ้ำพระนอน หลักฐานทางโบราณคดีแสดงถึงการรับอิทธิพลทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรมจากวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา เช่น สถูปสำริด ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจนำมาจากอินเดีย มีอายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 14 จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 15 พระพุทธรูปสำริดประทับยืนตริภังค์ที่มีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 14 จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 15 พระพิมพ์ดินดิบและพระพิมพ์ดินเผามีลักษณะเป็นพระพิมพ์ในศาสนาพุทธแบบมหายาน

4. ยักษ์วัดถ้ำ ผู้คนต่างศรัทธาว่าเป็นยักษ์ศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลโชคลาภ ปกป้องคุ้มครอง และอำนวยความสุขสมหวังนานัปการ

วัดคูหาภิมุขสร้างขึ้นภายหลังค้นพบพระพุทธไสยาสน์แล้ว โดยใช้เนื้อที่ชายธงตรงเชิงเขากว้าง 20 วา ยาว 80 วา ระยะแรกเป็นสำนักสงฆ์ แต่ต่อมาได้รับที่ดินจากผู้มีจิตศรัทธาบริเวณใกล้เคียง จึงขยายเป็นวัดที่ใหญ่ขึ้น สมัยก่อนทางราชการเคยใช้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่จัดพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเป็นประจำ

นอกจากถ้ำที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์แล้ว ยังมีถ้ำมืดอีกแห่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของถ้ำพระนอน ภายในมีทางเดินคดเคี้ยวไปตามภูเขา ใช้เวลาเดินประมาณ 4 ถึง 5 ชั่วโมง ส่วนบันไดนาคที่เดินขึ้นถ้ำพระนอนได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2537 ขณะที่พื้นในถ้ำพระนอนและอาคารอุโบสถหลังเก่าได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2556

บริเวณรอบวัดคูหาภิมุขปกคลุมด้วยต้นไม้เขียวขจี มีลิงวิ่งไปมา หน้าวัดมีซุ้มของกิน เมื่อเดินข้ามสะพาน“สองแสน”มา ซ้ายมือของบันไดนาคยังมีวิหารท้าวกุเวรอีก

อนึ่ง พระพุทธไสยาสน์ถือว่าเป็นปูชนียสถาน 1 ใน 3 ที่สำคัญของชาวใต้นับจากพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและพระธาตุไชยาที่สุราษฎร์ธานี


วันนี้เรามาไหว้พระและขอพรพร้อมเรียนรู้ประวัติวัดหน้าถ้ำ(หรือวัดคูหาภิมุข)ไปพร้อมๆกัน บรรยากาศร่มรื่นและเงียบสงบดี รวมทั้งลิงน้อยที่วิ่งมาทักทายนักท่องเที่ยวด้วย ใครอยากทำบุญอะไรเพิ่มเติม ก็แล้วแต่กำลังทรัพย์เลย ส่วนในถ้ำด้านบน ต้องยอมรับเลยว่า พระพุทธรูปมากมายที่ประดิษฐานอยู่ สร้างมนต์เสน่ห์ให้ถ้ำได้มาก
บน – เดินข้ามสะพานสองแสนมา ก็เจอบรรยากาศร่มรื่นของต้นไม้และภูเขาทันที (จากภาพ อาคารหลังคาเขียวทางซ้ายมีจุดไหว้พระอยู่ภายใน ส่วนโต๊ะด้านหน้ามีดอกไม้ธูปเทียนจำหน่ายพร้อม กลางภาพเป็นบันไดพญานาคขึ้นสู่ถ้ำด้านบนต่อไป ส่วนชั้นสองที่เราเห็นทางขวาเป็นอุโบสถ ขณะที่หลังคากระเบื้องสีดินเผา(หรือกระเบื้องเกล็ดปลา)คือศาลา (จากภาพ ข้างอาคารหลังคาเขียวยังมีวิหารท้าวกุเวรและพระนอน“พ่อท่านบรรทม”องค์จำลองอยู่ใต้ต้นโพธิ์ด้วย)
– จากนั้นเราขึ้นบันไดพญานาคที่เห็นอยู่กลางภาพสู่ชั้นสองกัน
ซ้ายบน – เมื่อขึ้นมาชั้นสอง ทางขวาเป็นศาลา(ซึ่งมีโต๊ะจำหน่ายวัตถุมงคลด้วย) ส่วนบันไดเบื้องหน้าคือบันไดพญานาคขึ้นสู่ชั้นต่อไป (จากภาพ บันไดพญานาคที่ขึ้นสู่ชั้นต่อไปสามารถเห็นยักษ์วัดถ้ำอยู่ไม่ไกลด้วย)
ขวาบน - ตอนนี้ทีมงานขึ้นบันไดต่อ แต่ลองหันกลับมามองชั้นสอง เราจะเห็นศาลา(หลังคากระเบื้องเกล็ดปลา)ชัดขึ้น ถัดออกไปคืออุโบสถ ซึ่งดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์(ศรีวิชัย)จัดแสดงวัตถุโบราณที่ค้นพบในวัดคูหาภิมุข แต่วันที่ทีมงานไป วัตถุโบราณถูกนำไปที่กรมศิลปากรเพื่อบูรณะส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม ประตูอุโบสถจึงไม่เปิดให้บริการใดๆ (จากภาพ ซ้ายมือด้านล่างวัด จะเห็นละหานวัดหรือสระแก้ว ซึ่งเป็นลำน้ำตามธรรมชาติด้วย)
ซ้ายล่าง – เมื่อขึ้นมา เราก็พบยักษ์วัดถ้ำยืนเด่นตระหง่าน หลายคนเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และมาขอพรจากท่าน
ขวากลาง – ระหว่างทางมีมุมไหว้พระ(ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากยักษ์วัดถ้ำ)
ขวาล่าง – ขณะขึ้นบันไดพญานาคสู่ถ้ำด้านบน ทีมงานลองหันไปมองยักษ์วัดถ้ำอีกครั้ง


เดินขึ้นสู่ชั้นถ้ำเลย
บน –
ก่อนจะเข้าประตูถ้ำพระนอน ขวามือมีกลุ่มพระพุทธรูปเรียงเป็นระเบียบเลียบผนังถ้ำทั้งหมด 12 องค์
ซ้ายบน – ตอนนี้ทุกคนจะเห็นประตูเข้าสู่ถ้ำพระนอนเบื้องหน้าแล้ว เดี๋ยวทีมงานขอพาทุกคนเข้าไปเลย
ขวา - เมื่อพ้นประตูถ้ำเข้ามา บรรยากาศแรกที่เห็นก็เป็นภาพนี้ วันนี้มีชาวบ้านในละแวกมาสักการะพ่อท่านบรรทมด้วย
ซ้ายล่าง – พอเข้าถ้ำมา ลองหันกลับไปมองประตูเข้าถ้ำ จะเห็นพระพุทธรูปเรียงรายอยู่ด้านในประตูทั้งสองฟาก
ล่าง – ห้องโถงเบื้องหน้าเงียบสงบและมีแสงธรรมชาติจากปล่องถ้ำ ทำให้โถงถ้ำดูสว่าง



เดินชมความงดงามของธรรมชาติและพุทธศาสนากันต่อ

บน – คราวนี้เราเดินเข้าด้านใน แล้วมองย้อนกลับไปในมุมกว้างบ้าง องค์พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดต่างกันประดิษฐานอยู่ทั่วบริเวณ เป็นภาพที่สะกดและละสายตาไม่ได้เลย
กลาง - จากประตูเข้าถ้ำพระนอน แล้วมองไปทางขวาของโถงถ้ำ เราจะพบพระพุทธรูปปางไสยาสน์หรือพระนอน(หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า“พ่อท่านบรรทม”)ประดิษฐานเลียบผนังถ้ำด้านใน ตามหลักฐาน พระนอนนิกายหินยานองค์ปัจจุบันสร้างครอบทับองค์เดิมที่เป็นนิกายมหายานไว้ (จากภาพ องค์พระนอนมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับวัยรุ่นหญิงเสื้อเขียวด้านล่างที่กำลังนมัสการอยู่)
ซ้าย – เรามาดูพระพักตร์ใกล้ๆกัน เหนือพระเศียรมีพญานาคแผ่พังพานอย่างที่เคยกล่าวไว้ (จากภาพ พระสงฆ์กำลังสวดมนต์อยู่)
ขวาบน – กลุ่มพระพุทธรูปที่ประดิษฐานบริเวณผนังใต้ปล่องถ้ำ
- บริเวณหน้าวัดมีซุ้มจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการเช่นกัน
ขวาล่าง -
บริเวณหน้าวัดใกล้กับลานจอดรถมีซุ้มศาลาสร้างๆใกล้ๆกันหลายหลัง แต่ละหลังจำหน่ายของกินเล่นและเครื่องดื่มมากมาย นักท่องเที่ยวสามารถแวะซื้อหาได้
รายการสินค้า - ของกินมีอาหารตามสั่ง เช่น ข้าวผัด กะเพรา ผัดพริกแกง ข้าวไข่เจียว ฯลฯ ยำมาม่า ยำผลไม้ ยำมะม่วง กล้วยทอด ลูกชิ้นปิ้ง มาม่าซอง ฯลฯ ส่วนของกินเล่นอื่นๆก็เช่น เลย์(รสโนริสาหร่ายและรสมันฝรั่งแท้) ปาปริก้า เกาลัดก่อหยวน ลูกอม ฯลฯ เครื่องดื่มปรุงที่ร้านมีกาแฟเย็น ชาเย็น ชาดำเย็น ชาเขียว โอวัลติน คาปูชิโนปั่น เผือกปั่น นมสดปั่น และมะนาวปั่น เครื่องดื่มในตู้เย็นมีเอ็มร้อยห้าสิบ
สปอนเซอร์ กระทิงแดง ลิโพ โค้ก สไปรท์ แฟนต้า(น้ำแดง น้ำส้ม น้ำเขียว) เป๊ปซี่ โอวัลติน โออิชิ(รสต่างๆคือ น้ำผึ้งมะนาว ต้นตำรับ และข้าวญี่ปุ่น) น้ำดีโด้รสส้ม น้ำดื่มสิงห์ และน้ำดื่มท้องถิ่น รวมทั้งมะพร้าวเป็นลูก ส่วนของใช้มีทิชชู่และของเล่นตอกแผงสำหรับเด็ก

TODAY THIS MONTH TOTAL
78 3701 252919
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top