วังยะหริ่ง

คำอธิบาย


วังยะหริ่งเป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ทาสีม่วงดอกผักตบสลับสีขาวสูง 2 ชั้นในแบบเรือนไทยทรงโปร่งผสมมลายู ชวา ยุโรป และเนื่องจากสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ซึ่งเห็นได้จากบันไดโค้งบริเวณหน้าบ้านสไตล์ยุโรป ช่องระบายอากาศไม้ที่ฉลุเป็นลายคลื่นน้ำและประตูไม้ที่ฉลุเป็นลายพรรณพฤกษา รวมทั้งบานช่องแสงประดับด้วยกระจกสามสีนำเข้าจากต่างประเทศ

สำหรับห้องโถงหน้าอาคารชั้นล่างเป็นห้องรับแขก ขณะที่ชั้นบนเป็นห้องนั่งเล่นแต่ปัจจุบันก็เป็นห้องรับแขกเช่นกัน ส่วนลานเปิดโล่งถัดจากห้องรับแขกชั้นล่างเข้าไปเป็นสวนหย่อมกลางบ้าน โดยอาคารข้างสวนหย่อมบริเวณชั้นหนึ่งและชั้นสองของทั้งสองฝั่งแบ่งเป็นห้องต่างๆ ชั้นล่างมีห้องกินข้าว ห้องดูทีวี ห้องเลี้ยงเด็ก ชั้นบนเป็นห้องพักผ่อนของเจ้าเมืองและบุตรธิดา ส่วนด้านหลังเป็นห้องครัว

วังยะหริ่งสร้างประมาณปี พ.ศ.2438 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรคราม เจ้าเมืองยะหริ่งคนที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของพระยาพิบูลเสนานุกิจพิชิตเชษฐภักดี เจ้าเมืองยะหริ่งคนที่ 2 ส่วนเจ้าเมืองคนแรกคือ ท่านนิยูโซะ (หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า“โต๊ะกี”)

ในอดีตเมืองยะหริ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นประเทศราชที่คอยส่งเครื่องราชบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองให้แก่ไทย 3 ปีต่อ 1 ครั้ง และในกรณีที่มีข้าศึกยกทัพมาตีไทย เมืองประเทศราชก็ต้องส่งทหารไปช่วยรบด้วย การปกครองดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองปัตตานีและไทยค่อนข้างห่างเหิน เนื่องด้วยความห่างไกลของราชธานีไทยประการแรก อีกประการหนึ่งคือ เมืองปัตตานีมีความเข้มแข็งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่งผลให้เจ้าเมืองต่างๆคิดแยกตัวเสมอ ไทยต้องส่งกำลังมาปราบอยู่หลายครั้ง จนนำไปสู่การใช้นโยบายแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง ดังมีข้อความในการประชุมพงศาวดารที่ว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระยาสงขลา(หรือ“เถี้ยนจ๋อง”)ออกไปแยกเมืองปัตตานีเป็น 7 หัวเมืองคือ เมืองปัตตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองหนองจิก เมืองรามันห์ เมืองระแงะและเมืองยะลา ซึ่งการลดทอนอำนาจเมืองปัตตานีส่งผลให้เมืองยะหริ่งมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทยทันที โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองและขึ้นตรงต่อเมืองสงขลาแทนเมืองราชธานี

สำหรับต้นตระกูลการสืบเชื้อสายภายในวังยะหริ่ง เริ่มจากท่านนิยูโซะ(หรือ“โต๊ะกียูโซะ”)ซึ่งเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งคนแรก ตามประวัติเล่ากันว่า เมื่อเกิดกบฏที่เมืองปัตตานี ท่านนิยูโซะมีอายุเพียง 6 ขวบ ได้เข้าไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กในค่ายทหารไทยที่มาตั้งฐานเพื่อปราบกบฏ แล้วรู้สึกติดอกติดใจถึงกับว่า เมื่อกองทัพไทยกลับกรุงเทพ ก็แอบตามมาด้วย ซึ่งเข้าใจว่าคงมีนายทหารไทยท่านหนึ่งรับอุปถัมภ์เลี้ยงดูและให้การศึกษาจนเข้ารับราชการอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวเมืองปักษ์ใต้เกิดความวุ่นวาย และมีการสืบทราบว่า ท่านนิยูโซะมีเชื้อสายของเจ้าเมืองปัตตานี ทางส่วนกลางจึงแต่งตั้งให้เป็น“เจ้าเมืองยะหริ่ง”เพื่อมาปกครองเมือง โดยท่านได้พยายามจัดระเบียบการปกครองให้สอดคล้องตามพระราชกำหนดกฎหมายไทย ไม่อิงตามคัมภีร์อัลกรุอาน เช่น คดีความที่ต้องตัดสินหรือปรับสินไหม เป็นเหตุให้เมืองปัตตานีและเมืองรามันห์เอาแบบอย่าง จนยึดถือปฏิบัติสืบกันมา

ท่านนิยูโซะมีบุตรธิดารวม 7 คน ปัจจุบันกูโบร์(หรือ“ที่ฝั่งศพ”)ของท่านนิยูโซะอยู่ที่ตำบลตันหยงลูโละ (บริเวณฝั่งตรงข้ามมัสยิดกรือเซะ) เจ้าเมืองยะหริ่งคนต่อมาคือ ท่านนิเมาะ บุตรคนที่ 2 ของท่านนิยูโซะ ได้รับพระราชทินนามเป็น“พระยาพิบูลเสนานุกิจพิชิตเชษฐภักดี”ซึ่งเป็นต้นตระกูล“อับดุลบุตร” ท่านมีบุตรธิดารวม 14 คน เมื่อพระยาพิบูลเสนานุกิจถึงแก่กรรม บุตรคนที่ 2 ของพระยาพิบูลเสนานุกิจชื่อ ท่านนิโวะ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองยะหริ่งคนต่อมา มีราชทินนามว่า“พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรคราม”ซึ่งเป็นผู้สร้างวังยะหริ่งหลังนี้

พระยาพิพิธเสนามาตย์มีบุตรธิดาทั้งหมด 6 คน ภายหลังมีการปฏิรูปเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ทำให้การปกครองแบบหัวเมืองสิ้นสุดลง ตำแหน่งเจ้าเมืองยะหริ่งที่สืบทอดกันมาก็ต้องสิ้นสุดลงด้วย หลังจากมีการปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ทางส่วนกลางได้ส่งข้าหลวงเทศาภิบาลมาบริหารราชการแทนเจ้าเมือง แต่ในวังยะหริ่งยังคงสืบทอดอำนาจทางการเมืองดังเดิม ช่วงที่พระยาพิพิธภักดี(บุตรคนโตของพระยาพิพิธเสนามาตย์)ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ต่อมาท่านก็ลาออก แล้วเข้าสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี ผลปรากฏว่าท่านได้รับเลือกรวม 4 สมัยด้วยกัน พระยาพิพิธภักดีมีบุตรธิดาทั้งหมด 6 คน ภายหลังท่านล้มป่วยเป็นอัมพาต จึงให้นายบันเทิง อับดุลบุตร (ตวนกูบราเฮม) บุตรคนที่ 4 ของพระยาพิพิธเสนามาตย์ เข้าสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตน พระยาพิพิธภักดีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2512 ส่วนนายบันเทิง อับดุลบุตรได้เป็นผู้แทนราษฎรอีกหลายสมัยและมีบุตรธิดารวม 7 คน

อาจกล่าวได้ว่า ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่เชื้อสายเจ้าเมืองยะหริ่งยังคงสืบทอดอำนาจทางการเมืองอยู่ กล่าวคือ นายวัยโรจน์ พิพิธภักดี (ตวนกูนูรดิน) บุตรคนที่ 3 ของพระยาพิพิธภักดีและนายทวีศักดิ์ อับดุลบุตร (ตวนกูโซะ) บุตรคนที่ 2 ของนายบันเทิง อับดุลบุตร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายสมัย นั่นแสดงให้เห็นว่า วังยะหริ่งที่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองยะหริ่ง ก็ยังคงเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน วังยะหริ่งได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เว้นแต่หลังคาทรงปั้นหยาที่คงรูปแบบดั้งเดิมไว้ สำหรับทายาทที่พำนักในวังมีสองครอบครัวคือ คุณหญิงวุจจิรา เด่นอุดม (ตวนกูซาบิดะห์) และนางวัฒนาวิไล อับดุลบุตร (ตวนกูอาซีซะห์) ทั้งสองเป็นธิดาคนที่ 5 และ 6 ของพระยาพิพิธภักดีตามลำดับ อนึ่ง ถ้าใครต้องการชมวังยะหริ่ง ต้องทำจดหมายขออนุญาตมาที่วังยะหริ่งก่อนเพื่อเปิดวังให้เยี่ยมชมเป็นกรณีไป



วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนอดีตไปยังเรือนไทยหลังหนึ่งที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมเรื่องราวทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น และจากวันนั้นถึงวันนี้นับร้อยปีมาแล้ว ผู้ที่สืบเชื้อสายยังคงพำนักอยู่ในเคหะสถานแห่งนี้ ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่เปลี่ยนแปลง
บน – จากรั้วบ้านเข้ามา บรรยากาศภายในดูสะอาดตาและเรียบร้อย (อาคารทางขวา ที่ชั้นล่างมีห้องทำละหมาดด้วย) แต่เป้าหมายของเราคือบ้านที่อยู่เบื้องหน้า
ซ้ายบน – เมี่อเดินเข้ามาใกล้ๆ จุดนี้เป็นทางเข้าจากหน้าบ้านเพื่อไปห้องรับแขกชั้นหนึ่ง
ขวาบน – แต่คราวนี้เราเดินไปด้านข้างบริเวณหน้าบ้านก่อน ประตูด้านข้างที่เห็นก็เป็นทางเข้าสู่ห้องรับแขกชั้นหนึ่งอีกทาง ส่วนบันไดโค้งสไตล์ยุโรปนี้เป็นทางขึ้นสู่ชั้นสอง เราขอเริ่มสำรวจชั้นสองก่อนแล้วกัน
ซ้ายกลาง – หลังจากเดินขึ้นบันไดโค้งมา เราจะเห็นช่องระบายอากาศไม้และประตูฉลุเป็นลวดลายพฤกษาสวยงาม
ขวากลาง – เมื่อผ่านประตูเข้ามา แล้วมองไปทางซ้ายทันที บริเวณนี้เป็นมุมนั่งเล่น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นห้องรับแขกเช่นเดียวกับชั้นล่าง ด้านบนหน้าต่างมีบานช่องแสง(ซึ่งเป็นกระจกสามสีนำเข้าจากต่างประเทศ)
ซ้ายล่าง – แต่ถ้าเราหันไปทางขวา ก็มีโต๊ะกลมที่เป็นมุมนั่งเล่นและรับแขก
ขวาล่าง – พ้นจากโต๊ะกลมไป ก็เป็นหน้าต่างที่เราสามารถมองเห็นลานสวนหย่อมกลางบ้านชั้นล่างได้


 

จากชั้นสองเมื่อสักครู่ คราวนี้มาสำรวจห้องรับแขกชั้นล่างกันบ้าง โดยลงบันไดโค้งมาอีกครั้ง แล้วเข้าจากประตูด้านหน้า
ซ้ายบน – บริเวณชานหน้าบ้านมีโต๊ะเก้าอี้ต้อนรับแขกเหรื่อด้วย
ขวาบน – เมื่อเดินเข้ามาในบ้าน เราจะเห็นโต๊ะรับแขกเล็กๆอยู่ด้านใน
ซ้ายกลางบน – มุมนี้เป็นโต๊ะรับแขกแบบทางการอีกหนึ่งจุด ซึ่งสามารถนั่งรับประทานข้าวได้ (ถ้ามองย้อนกลับไป ประตูที่เห็นก็คือเส้นทางที่เราเข้าจากชานหน้าบ้านมานั่นเอง)
ขวากลาง – มุมโต๊ะรับแขกอีกด้านหนึ่ง โดยรอบมีรูปถ่ายเชื้อพระวงศ์ตั้งแต่อดีตติดอยู่มากมาย (จากภาพ พ้นจากประตูนี้ไปก็เป็นลานสวนหย่อมแล้ว)
ซ้ายกลางล่าง – จากนั้นเราเดินผ่านประตูเพื่อไปลานกลางบ้านต่อ บริเวณนี้เป็นสวนหย่อมขนาดย่อม ฝั่งตรงข้ามสามารถเดินไปยังห้องพักทายาทที่ยังพำนักอยู่ได้ (ซึ่งไม่อนุญาตให้ขึ้นไป)
ซ้ายล่าง – จากลานสวนหย่อมกลางบ้าน เรามองย้อนกลับไปเส้นทางที่ผ่านมาอีกครั้ง ประตูชั้นล่างสองบานที่เปิดอยู่ก็คือห้องรับแขกนั่นเอง ส่วนหน้าต่างชั้นสองก็คือ ห้องรับแขกชั้นบนที่เราเดินขึ้นบันไดโค้งไปตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว
ขวาล่าง – และจากหน้าต่างชั้นสอง เราสามารถเห็นบรรยากาศสวนหย่อมกลางบ้านชัดเจนขึ้น ทุกอย่างทั้งภายในและภายนอกยังคงอนุรักษ์ให้สวยงามดังเดิม (จากภาพ ห้องทางซ้ายและขวาบริเวณชั้นหนึ่งและชั้นสองมีทายาทพำนักอาศัยอยู่)

TODAY THIS MONTH TOTAL
124 2969 252187
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top