ถ้ำเขาวง

คำอธิบาย


ถ้ำเขาวงอยู่ในอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง สภาพทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนหลายลูกที่ล้อมกันเป็นวงกลม ทำให้เกิดทิวทัศน์คล้ายหุบเขาและมีป่าอยู่ตรงกลาง พื้นที่ทั้งหมดมีราว 2,750 ไร่ ในหุบเขานี้มีโพรงถ้ำกระจัดกระจายอยู่มากมายและมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม ด้วยลักษณะภูเขาหลายลูกที่รายล้อมกันเป็นวงกลมแบบนี้จึงเรียกว่า“เขาวงกต”

การเที่ยวชมถ้ำมีทั้งหมดสามโซน รายชื่อถ้ำหลักๆในแต่ละโซนมีดังนี้ โซนที่หนึ่งมีถ้ำละคร ถ้ำสามมิตร ถ้ำมังกร ถ้ำสิงโตใหญ่ ถ้ำสิงโตน้อย ถ้ำฟองน้ำ และถ้ำเต่า โซนที่สองอยู่ไม่ไกลจากโซนที่หนึ่งและสามารถเดินเชื่อมผ่านทางถ้ำมังกร รายชื่อถ้ำมีถ้ำช้างและถ้ำเพชร ส่วนโซนที่สามต้องเดินขึ้นเขาเพื่อข้ามภูเขาเป็นระยะทางไกล สำหรับโซนที่สามมีถ้ำโรงบ่อน ถ้ำบังเอิญ ถ้ำชุมแสง ถ้ำปลา ถ้ำเจ็ดชั้น และถ้ำธารลอด(หรือถ้ำลอด)


ปัจจุบันมีช้างป่าเข้ามาอาศัยอยู่ในป่าของโซนที่สองและโซนที่สามมากมาย ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว ดังนั้นโซนสองและโซนสามจึงไม่เปิดให้ท่องเที่ยว ส่วนโซนที่หนึ่งเที่ยวได้ทุกถ้ำ และทุกโพรงถ้ำของโซนที่หนึ่งก็เดินสบาย ยกเว้นถ้ำเต่าที่ต้องมอมแมมเนื่องจากเราต้องคลานบนดิน
- ก่อนจะเที่ยวถ้ำ ทีมงานต้องขอแจ้งดังนี้ การเที่ยวถ้ำเขาวง ถ้าเป็นหน้าฝน นอกจากโซนสองและสามไม่สามารถเที่ยวได้อยู่แล้ว โซนที่หนึ่งก็ไม่สามารถเที่ยวได้เช่นกันเพราะมีน้ำท่วมขังในถ้ำ ซึ่งระดับน้ำแต่ละจุดก็ไม่เท่ากัน แต่ถ้าไม่ใช่หน้าฝน ก็เที่ยวได้ปกติ ส่วนถ้ำเต่ายังมีปัญหาอีกเล็กน้อยคือ ถ้าไม่ใช่หน้าฝน แต่ถ้ำนี้มักมีน้ำแฉะแบบพอเปียกค้างอยู่ตามพื้นถ้ำเวลาคลาน ทำให้ส่วนใหญ่จะยกเว้นเที่ยวถ้ำเต่าไป
- หลังจากรับรู้เรื่องราวเบื้องต้นแล้ว ให้ทุกคนเกาะไหล่ทีมงานเข้าถ้ำได้เลย ตอนนี้ขอไล่ลำดับตามความเป็นจริงของเส้นทางแล้วกัน เริ่มจากถ้ำละครที่อยู่ใกล้ตัวก่อน
ซ้ายบน – ในบรรดาทุกถ้ำของโซนหนึ่ง ถ้ำละครมีโถงถ้ำที่สูงใหญ่ที่สุด
ขวาบน – ผนังถ้ำสูงตระหง่านมีผลงานของหินย้อยตลอดทาง
ซ้ายล่าง – บนเพดานถ้ำมีรอยแต้มสีเหลืองกระจายไปทั่วจากฝีมือของค้างคาวที่เกาะอยู่เป็นเวลานาน เลยทิ้งคราบแบบนี้เอาไว้
ขวาล่าง – ซอกนี้คือที่มาของชื่อถ้ำ เพราะในอดีตมีน้ำหยดติ๋งๆบริเวณนี้ ทำให้เสียงหยดน้ำดังก้องอยู่ในถ้ำ ชาวบ้านที่อยู่ด้านนอกเมื่อได้ยินเสียงหยดน้ำในถ้ำ ฟังแล้วคล้ายเสียงคนพูดคุยเหมือนในละคร แต่ปัจจุบันไม่มีหยดน้ำนี้แล้ว
- จากนั้นก็เดินออกจากถ้ำละคร ตอนนี้เข้าสู่หุบเขาที่มีภูเขาล้อมรอบแทน กลางหุบเขาเป็นป่าทั้งหมด นักท่องเที่ยวต้องเดินป่าระยะสั้นๆ จากนั้นเมื่อเจอถ้ำต่อไป ก็เข้าถ้ำ พอออกปากถ้ำอีกด้าน ก็เดินป่าระยะสั้นๆ แล้วก็เข้าถ้ำต่อ แล้วก็ออกปากถ้ำอีกด้าน แล้วก็เดินป่าต่อ วนไปวนมาอยู่อย่างนี้จนถึงถ้ำสุดท้าย ส่วนถ้ำต่อไปคือถ้ำสามมิตร
ล่าง – ในถ้ำสามมิตรมีจุดเด่นอยู่หนึ่งอย่างคือ ช่วงกลางถ้ำมีอุโมงค์ให้มุดเข้าไป แต่เพดานถ้ำช่วงนี้เปล่งประกายมากเมื่อกระทบกับแสง สาเหตุเกิดจากน้ำหยดสุดท้ายที่เกาะอยู่บนเพดานถ้ำ น้ำเหล่านี้ซึมผ่านรอยแตกจากยอดเขาลงมา ตอนนี้ระยิบระยับไปทั่วนภาจริงๆ



ยังอยู่ในถ้ำสามมิตร
ซ้ายบน – ผนังหินแถบนี้ย้อยลงมาอยู่กลางอากาศข้างผนังถ้ำ แต่ยังไม่ติดพื้น
ขวาบน – ถ้ำนี้มีรากไม้ที่ชอนไชตามรอยแยกของภูเขาลงมามากมาย
- ออกจากถ้ำสามมิตร แล้วเข้าถ้ำมังกรต่อ จุดประสงค์หลักของถ้ำมังกรคือ การปีนบันไดข้ามถ้ำเพื่อเดินเชื่อมไปยังป่าของถ้ำโซนที่สอง และถึงแม้เราไม่ได้ไปก็จริง แต่หน้าถ้ำก็มีภาพให้เก็บเล็กๆน้อยๆ
ซ้ายกลาง – ทีมงานเข้าถ้ำมังกร แล้วหันกลับไปมองปากถ้ำ
ขวากลาง – เพดานบริเวณปากถ้ำมังกร
- ออกจากถ้ำมังกร แล้วเข้าถ้ำสิงโตใหญ่
ขวาล่าง – ทางเดินช่วงแรกในถ้ำ
ซ้ายล่าง – บรรยากาศในถ้ำที่นักท่องเที่ยวต้องก้มศีรษะเข้าไป



เดินบ้าง ก้มบ้าง ดูหินงอกหินย้อยบ้าง สนุกสนานดี
ซ้ายบน – รูปร่างแปลกตาของผนังถ้ำระหว่างทางเดิน
- จากถ้ำสิงโตใหญ่ ได้เวลาของถ้ำสิงโตน้อยแล้ว
ขวาบน – หน้าตาของผนังถ้ำสิงโตน้อย
ขวากลาง – หินงอกหินย้อยหลากหลายรูปแบบ
ซ้ายล่าง – นักท่องเที่ยวต้องเดินหลบตัวไปมาตามสรีระของผนังหิน
ขวาล่าง – ถ้ำสิงโตน้อยมีหินงอกหินย้อยพร่างพรูมาไม่หยุด



ออกจากถ้ำสิงโตน้อย เราเข้าถ้ำฟองน้ำเลย
ซ้ายบน – บรรยากาศในถ้ำ
ขวาบน – ที่มาของชื่อถ้ำฟองน้ำมาจากผนังถ้ำที่เหมือนมีฟองน้ำมากมายผุดออกมาจากผิวหิน
- ถ้ำฟองน้ำก็สัมฤทธิ์ไปอีกหนึ่ง ตอนนี้เตรียมเปรอะเปื้อนกับถ้ำเต่า ณ บัดนี้
ซ้ายล่าง – เส้นทางในถ้ำเต่าต้องปีนบ้าง เกาะบ้าง ทรงตัวบ้าง เอี้ยวตัวบ้าง ทางเดินตรงๆมีไม่มาก เป็นถ้ำเดียวที่ต้องแอดเวนเจอร์
ขวากลาง – จากทางเดินเมื่อสักครู่ เราตัดฉับมาที่ไฮไลต์เลย ที่มาของชื่อถ้ำก็เพราะนักท่องเที่ยวต้องคลานเหมือนเต่านั่นเอง เนื่องจากเพดานถ้ำบางช่วงเตี้ยมาก ส่วนพื้นถ้ำเป็นดินสีดำแบบผงละเอียดเหมือนแป้ง
ขวาล่าง – แขนและขาทำหน้าที่คลานต้วมเตี้ยมไปเรื่อยๆ (จากภาพ โดยปกติ ถ้าไม่ใช่หน้าฝน ถ้ำเต่าก็ยังมีน้ำขังแบบแฉะๆหมาดๆตามพื้นดินที่เราคลาน แต่วันที่ทีมงานมา ถือว่าโชคดีที่ดินในถ้ำแห้งสนิท ไม่อย่างนั้นคงต้องเลอะแน่ ถ้าคิดจะคลานไป ทุกอย่างต้องวัดดวงก่อนเข้าถ้ำ)



คลานกันต่อ
ซ้ายบน – จากการคลานก่อนหน้านี้ เพดานถ้ำช่วงต่อมาเริ่มสูงขึ้น เราเลยเปลี่ยนเป็นก้มเดินได้ สำหรับช่วงไฮไลต์ของถ้ำเต่ามีลักษณะเป็นอุโมงค์เล็กๆและเตี้ยตลอดทาง รวมระยะทางของอุโมงค์ตั้งแต่คลานและก้มเดินรวมกันก็ประมาณ 100 กว่าเมตร)
ขวาบน – ช่วงสุดท้ายก่อนออกจากถ้ำเต่า เราจะมาโผล่ตรงช่องด้านล่างทางขวาของภาพ (จากภาพ ให้ทุกคนสังเกตเสาหินกลางภาพ จากนั้นมองลงมาที่ฐานเสาใกล้พื้น เราจะเห็นรอยเปียกของน้ำที่เคยท่วมตอนหน้าฝนอยู่ นั่นเป็นสาเหตุว่า หน้าฝนเที่ยวไม่ได้ เพราะไม่งั้น ระหว่างคลานใต้เพดานเตี้ย เราอาจได้คลานไปสำลักน้ำไปแน่)
- ทีมงานขอเล่าปรากฏการณ์ในถ้ำเต่าสักสองเรื่อง
ซ้ายกลางบน – ผนังในถ้ำเต่าบางช่วงมีลวดลายและสีของหินที่น่ามองดี
ซ้ายกลางล่าง – ช่วงที่คลานอยู่นั้น บางจุดของเพดานถ้ำมีหยดของน้ำยางเหนียวๆจากต้นไม้บนเขาที่ค่อยๆซึมตามรอยแยกหินลงมาด้วย
- เรื่องถ้ำ คงไม่มีอะไรค้างคาใจแล้ว แต่ยังเหลืออีกหนึ่งหมวดที่ต้องบอกเพิ่ม นั่นคือ ป่ากลางหุบเขาที่เวลาเราออกจากถ้ำ แล้วต้องเดินป่าระยะสั้นๆแบบวนไปวนมารอบภูเขา
ขวาล่าง – สภาพป่ากลางหุบเขาที่มีเขาหินปูนโอบล้อมให้อยู่ในใจกลาง
ซ้ายล่าง – ทางเดินบางช่วงก็มีท่อนไม้มาขวาง

 


เดินอยู่ในป่าต่อ
ซ้ายบน – เถาวัลย์และไม้รอเลื้อยมีอยู่ตลอด
ขวาบน – มุมยอดนิยมกลางหุบเขาก็คือ รอยแยกของกำแพงหินบริเวณนี้ หลายคนมายืนแชะรูปคู่กัน
- การดำรงชีวิตหลายอย่างในถ้ำเขาวงก็ไม่อาจละเลยได้ ถึงเวลาแบ่งปันความรู้แล้ว
ซ้ายกลางบน – ต้นสีฟัน
ซ้ายกลางล่าง – กลิ้งกลางดง
ขวากลาง – ดอกโศก (จากภาพ ถ้าใครมาถูกฤดูกาล ป่ากลางหุบเขาจะมีแต่ดอกโศกบานสะพรั่งไปทั่ว)
ซ้ายล่าง – แมงมุมแส้
ขวาล่าง – กบบ๋อง


TODAY THIS MONTH TOTAL
163 1302 286166
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top