วัดพระธาตุผาเงา

คำอธิบาย


วัดพระธาตุผาเงาเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย เดิมมีชื่อว่า“วัดสบคำ”ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขง แต่ด้วยตลิ่งของแม่น้ำโขงพังทลายจากความรุนแรงของกระแสน้ำ ทำให้พื้นที่ของวัดเดิมถูกพัดลงใต้แม่น้ำโขงเกือบหมดวัด กลุ่มผู้ศรัทธาของวัดจึงทำการย้ายวัดไปอยู่ที่ใหม่ไม่ไกลจากที่เดิม ซึ่งอยู่เยื้องกันคนละฟากถนน มีพื้นที่ทั้งหด 743 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาเล็กๆที่ทอดยาวตั้งแต่บ้านดอกจำปี บ้านดอยจัน และสิ้นสุดที่บ้านสบคำ ในอดีตชาวบ้านเรียกเนินเขาที่วัดพระธาตุผาเงาตั้งอยู่นี้ว่า“ดอยคำ” แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น“ดอยจัน”


ภาพแสงไฟที่ส่องจากด้านล่างขึ้นไปบนพระประธานเก่าที่หักกลางลำตัวและพระพุทธรูปองค์เล็กที่อยู่ใต้พระประธาน แม้ทีมงานจำไม่ได้ว่า เห็นจากที่ไหนในครั้งแรก แต่จำได้ว่า ภาพดูขลังและส่งพลังมาก ความตั้งใจมาเยือนด้วยภาพเพียงภาพเดียว นอกจากสมปรารถนาแล้ว ความน่าสนใจของวัดยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น      
ซ้ายบน – ภาพรวมเบื้องต้นของวัดพระธาตุผาเงาที่นักท่องเที่ยวสามารถเห็นได้ครบ (จากภาพ ซ้ายสุดตรงอักษร w ตัวแรกคือ ศาลาทำบุญและบริจาค ด้านหลังศาลาที่เห็นเป็นก้อนหินใหญ่คือ พระธาตุผาเงา ตรงกลางคือ วิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อผาเงา และทางขวาตรงอักษร com คือ ศาลารอยพระพุทธบาทจำลอง)
- ทีมงานขอเดินเข้าวิหารก่อนเลย
ขวาบน – บรรยากาศในวิหาร ประชาชนต่างมากราบไหว้หลวงพ่อผาเงา
ซ้ายกลางบน – หลวงพ่อผาเงา (จากภาพ ประวัติของหลวงพ่อเผาเงามีดังนี้ วัดพระธาตุผาเงาแต่เดิมคือ วัดสบคำ ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง คณะศรัทธาได้ย้ายวัดสบคำขึ้นมาสร้างในวัดร้างบริเวณเชิงดอยจัน การสร้างวัดใหม่บนเชิงเขา ตอนแรกได้สันนิษฐานว่า บริเวณเนินเขาเล็กๆนี้ต้องเป็นวัดเก่าแน่นอนเพราะพบเห็นซากโบราณวัตถุกลาดเกลื่อนไปทั่ว มีชิ้นใหญ่อยู่หนึ่งชิ้นคือ พระพุทธรูปครึ่งองค์ช่วงล่างหน้าตักกว้าง 4 วา เชื่อกันว่าเป็นพระประธานในวิหารเก่า ซึ่งพื้นที่นี้แต่เดิมเคยเป็นถ้ำ เรียกว่า“ถ้ำผาเงา” แต่ปากถ้ำถูกปิดนานแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 คณะศรัทธาได้เริ่มลงมือแผ้วถางป่ารกชัฏและร้างแห่งนี้ และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2519 นายจันทา พรมมา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะศรัทธาที่บุกเบิกการสร้างวัดได้ฝันว่า มีพระภิกษุผู้เฒ่ารูปร่างสูงใหญ่และผิวดำ มาบอกว่า“ก่อนที่จะยกชิ้นส่วนองค์พระประธานที่เหลือครึ่งองค์ออกไปนั้น ให้ไปนิมนต์พระ 8 รูปมาทำพิธีสวดถอนถอนและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่รักษาพื้นที่นี้ก่อน จากนั้นจึงลงมือบูรณะวัด จะได้พบสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งกว่านี้” วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2519 นายจันทา พรมมา ได้นำความฝันไปเล่าให้คณะศรัทธาฟัง จากนั้นทุกอย่างก็ทำไปตามขั้นตอนความฝัน มีการปรับพื้นที่ ซึ่งเต็มไปด้วยตอไม้ รากไม้ และก้อนหินน้อยใหญ่ งานปรับพื้นที่ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2519 เวลา 14.00 น. เมื่อคณะศรัทธาได้ปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มขุดและยกตอไม้ขนาดใหญ่ออก ทุกคนต่างตื่นเต้นและปีติยินดี เมื่อได้พบว่า ใต้ตอไม้(หรือบริเวณใต้ฐานชุกชีของพระพุทธรูปที่เหลือครึ่งองค์หรือหน้าฐานพระประธานในวิหารปัจจุบัน)มีอิฐโบราณก่อเรียงป้องกันไว้เป็นอย่างดี นายจันทา พรมมา จึงยกอิฐออกมา ก็พบหน้ากาก(แผ่นทึบ)ก่อกั้นไว้ เมื่อเอาหน้ากากออก จึงพบพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงามมาก ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณวัตถุได้วิเคราะห์ว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีอายุระหว่าง 700-1,300 ปี คณะศรัทธาจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า“หลวงพ่อ”ตามพระภิกษุผู้เฒ่าในนิมิต แล้วเอาชื่อพระธาตุผาเงามาต่อท้าย ตั้งชื่อว่า“หลวงพ่อผาเงา”และเปลี่ยนชื่อวัดจาก“วัดสบคำ”เป็น“วัดพระธาตุผาเงา”ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา)
ขวากลาง – ภาพของพระพุทธรูปครึ่งองค์ช่วงล่างหน้าตักกว้าง 4 วาและพระพุทธรูปที่ค้นพบ(หรือหลวงพ่อผาเงา) ในระยะใกล้ ทุกอย่างยังอยู่ในตำแหน่งเดิมและมีการสร้างวิหารครอบทับในภายหลัง (จากภาพ หลวงพ่อผาเงาเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะเชียงแสนสิงห์สาม รัศมีเปลว นั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 40 นิ้ว จากการสันนิษฐาน วัดร้างแห่งนี้น่าจะอยู่ในช่วงรุ่งเรืองสุดขีด อาจเป็นวัดสำคัญและเป็นวัดประจำกรุงเก่า ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระพุทธรูป(หรือหลวงพ่อผาเงา)ที่ค้นพบ ถูกฝังในดินเชิงเขาใต้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่หัก คงต้องการปิดบังซ่อนเร้นเพื่อไม่ให้ถูกโจรกรรมก็เป็นได้)
- ได้เวลาออกจากวิหาร แล้วเดินเลียบข้างวิหารไปพระธาตุผาเงาต่อ
ซ้ายกลางล่าง – พระธาตุผาเงา (จากภาพ พระธาตุผาเงาตั้งอยู่บนหินผาติดเนินเขา เป็นเจดีย์องค์เล็กทรงแปดเหลี่ยม ศิลปะล้านนา ตั้งอยู่บนก้อนหินแกรนิตขนาดใหญ่ สูง 10 เมตร ที่ฐานก้อนหิน(ซึ่งประดิษฐานพระธาตุ)มีหินก้อนใหญ่เอนลาดอยู่ ลักษณะคล้ายเงาของผาหินที่มีพระธาตุตั้งอยู่ นอกจากนี้เงาของผาหินเองก็ให้ร่มเงาดีมาก คณะผู้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2519 จึงตั้งชื่อว่า“พระธาตุผาเงา” อนึ่ง พระธาตุผาเงาไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างในสมัยใด แต่จากพงศาวดารโยนกกล่าวว่า ขุนผาพิงหรือขุนพิง (พระองค์พิง) เจ้าผู้ครองนครโยนกองค์ที่ 23 ช่วงปี พ.ศ.494-512 เป็นผู้สร้างไว้บนก้อนหินใหญ่ที่เชิงเขา ซึ่งเข้าใจว่า หมายถึง พระธาตุผาเงาในวัดนี้ แต่พระธาตุผาเงาชำรุดทรุดโทรมไปมาก คาดว่าน่าจะมีการบูรณะบ้างเพราะพระธาตุองค์นี้ตั้งอยู่ต่ำสุดของดอยจัน จึงง่ายต่อการดูแลรักษา)
ซ้ายล่าง – หินเอนลาดที่อยู่หลังพระพุทธรูปปางนาคปรกเปรียบเสมือนเงาของผาหินจนเป็นที่มาของชื่อ“ผาเงา”
ขวาล่าง – เมื่อเราเดินขึ้นบันไดมา จะมีพื้นที่ให้กราบไหว้พระธาตุผาเงาอยู่




ไปชมพระธาตุผาเงาต่อ
ซ้ายบน – พระธาตุผาเงาในระยะใกล้
- ยังมีสิ่งที่ทีมงานต้องแจกแจงก่อนขึ้นดอย
ขวาบน – หอพระบรมฉายามหาราชพุทธิรังสรรค์
ขวากลางบน – รอยพระพุทธบาทจำลอง (จากภาพ ในปี พ.ศ.2519 หนึ่งในคณะศรัทธาที่แผ้วถางป่าคือ นายนุช คำวัง ได้แผ้วถางป่าบริเวณนี้และพบรอยพระพุทธบาทประทับอยู่บนหินอย่างสวยงาม จึงทำเครื่องหมายไว้ แล้วไปแจ้งให้ชาวบ้านมาดู ปรากฏว่า รอยพระพุทธบาทได้หายไป เหลือเพียงเครื่องหมายที่ทำไว้ ต่อมาเมื่อเริ่มมีการพัฒนาวัดร้างแห่งนี้ขึ้น วัดพระธาตุผาเงาจึงเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ พระพุทธิญามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงาในขณะนั้นคิดว่า เคยมีรอยพระพุทธบาทเป็นนิมิตอยู่แล้ว จึงปรารภกับคณะกรรมการในเรื่องการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง โดยแกะสลักจากเนื้อหินแม่น้ำโขงทดแทนรอยพระพุทธบาทเดิมที่หายไป เมื่อสร้างสำเร็จ จึงนำมาประดิษฐานไว้ในสถานที่ชั่วคราวเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ต่อมามีการสร้างศาลาประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองถาวรขึ้นเพื่อเป็นที่สักการะแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2560)
- เริ่มเดินขึ้นเนินเขาไปดูพระธาตุจอมจันและโบสถ์ก่อน
ซ้ายกลาง – บันไดนาค 295 ขั้น เดินพอได้เหนื่อย
ขวากลางล่าง – พระธาตุจอมจัน (จากภาพ พระธาตุจอมจันเป็นองค์พระธาตุที่เหลือแต่ฐานถึงปากระฆังเท่านั้น ส่วนองค์ระฆังและยอดพังทลายลงหมด องค์พระธาตุตั้งอยู่บนไหล่เขา ทิศเหนือติดกับแม่น้ำคำที่ราบลุ่มเมืองเชียงแสน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับแม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ทิศใต้ติดกับที่ราบลุ่มบ้านโป่งน้อย ปัจจุบันพระธาตุจอมจันได้รับการบูรณะเป็นที่เรียบร้อย)
ซ้ายล่าง – โบสถ์ (จากภาพ โบสถ์สถาปัตยกรรมล้านนา(ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระธาตุจอมจัน)สร้างเมื่อปี พ.ศ.2524)
ขวาล่าง – พระเชียงแสนสิงห์หนึ่งเป็นพระประธานในโบสถ์

 


ต่อไปเตรียมขึ้นยอดดอยเลย
- จากตำแหน่งของโบสถ์และพระธาตุจอมจัน จะไม่มีบันไดนาคแล้ว แต่จะมีถนนคอนกรีตวิ่งขึ้นยอดดอยจันแทน ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจ็ดยอด นักท่องเที่ยวสามารถตั้งต้นจากตีนดอยและขับรถขึ้นดอยแวะชมพระธาตุจอมจันและโบสถ์ระหว่างทางก่อน (โดยไม่ต้องเดินขึ้นบันไดนาค) จากนั้นขับรถขึ้นสู่ยอดดอยจันเพื่อชมพระธาตุเจ็ดยอดต่อ หรือจะเดินขึ้นบันไดนาคชมพระธาตุจอมจันและโบสถ์ก่อน จากนั้นลงมาที่ลานจอดรถด้านล่าง เพื่อขับรถขึ้นยอดดอยทีเดียวเลย หรือถ้าใครฟิตจริงๆ เดินขึ้นบันไดนาคเสร็จ แล้วเดินตามถนนคอนกรีตขึ้นสู่ยอดดอยก็ยังได้)
ซ้ายบน – พระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ (จากภาพ ปี พ.ศ.2524 ได้มีการก่อสร้างองค์พระเจดีย์ขนาดใหญ่ครอบพระธาตุเจ็ดยอดบนยอดดอยจัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเจิมแผ่นศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2524)
ขวาบน – ภายในพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์มีรูปหล่อพระหันหน้าออกไปทั้งสี่ทิศคือ พระเชียงแสนสิงห์หนึ่ง พระสิวลี หลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อทอง
ขวากลางบน – พระธาตุเจ็ดยอด ด้านหลังรูปหล่อพระทั้งสี่ทิศก็คือ ใจกลางของพระบรมธาตุนิมิตเจดีย์และเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจ็ดยอดนั่นเอง (จากภาพ สมัยที่ชาวบ้านอพยพมาตั้งถิ่นฐานเมื่อปี พ.ศ.2485 ยังพบสภาพเดิมเป็นเจดีย์ยอด จึงเรียกขานว่า เจดีย์เจ็ดยอดตามลักษณะเจ็ดยอดที่พบ ล่วงเลยมาในปี พ.ศ.2519 มีการสำรวจโดยคณะศรัทธาที่มาตั้งวัดและแผ้วถางป่าบริเวณเจดีย์เจ็ดยอดบนยอดดอยจัน แล้วพบว่า เจดีย์ชำรุดทรุดโทรมไปมาก ต่อมาเมื่อมีการยกวัดร้างแห่งนี้ขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ปี พ.ศ.2522 คณะกรรมการได้ก่อสร้างพุทธนิมิตเจดีย์ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยการนำของอาจารย์บุญธรรม โพธิแพ่งพุ่ม ที่เดินทางมาจัดสร้างพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ที่ภาคเหนือ คณะกรรมการได้ดูที่ตั้งของเจดีย์เจ็ดยอดเดิม ซึ่งตรงตามวัตถุประสงค์คือ ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงเพื่อสร้างครอบเจดีย์เจ็ดยอดองค์เดิม)
- อนึ่ง แม้ไม่ทราบช่วงเวลาในการสร้างพระธาตุจอมจันและพระธาตุเจ็ดยอด แต่จากพงศาวดารโยนกได้กล่าวว่า ภายหลังจากยุคของขุนผาพิงหรือขุนพิงมาอีกราว 500 ปี ขุนลังได้ขึ้นครองเมืองเชียงแสน พระองค์ชักชวนชาวเมืองให้ช่วยกันสร้างเจดีย์ไว้บนยอดดอยคำ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าดอยจัน เจดีย์ที่ว่านี้หมายถึงพระธาตุจอมจันและพระธาตุเจ็ดยอด เจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้ถูกแดดฝนและลมพัดทำลายมานับพันปีจนเหลือแต่ซากฐานสูงเพียง 5 เมตร
ซ้ายกลาง – ผนังด้านในของพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์มีภาพจิตรกรรมาฝาผนังอยู่ทุกด้าน ซึ่งเป็นประวัติของพระนางจามะเทวีตั้งแต่กำเนิดจนถึงสวรรคต ทีมงานขอยกตัวอย่างหนึ่งภาพมาเป็นข้อมูลดังนี้ พระนางจามะเทวีทรงสละเพศเป็นชีผ้าขาว ณ สำนักอารามจามะเทวี ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีมะโรง พุทธศก 1,236 ทรงสร้างอารามไว้ทั้งหมด 2,500 วัด กุฏิ 10,000 หลัง เช่นที่สุโขทัย ละโว้ สวรรคโลก นครงามฟ้า นครสุวรรณบรรพต นครชุมรุม เรื่อยมาจนถึงนครพิสดาร หิรภุญชัย ระมิงค์ เขลางค์ และแปร
ขวากลางล่าง – มุมอาคารของพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์เป็นพื้นที่ว่างและมีบันไดเดินลงไป โดยมุมนี้เป็นห้องจัดแสดงโบราณวัตถุเมืองเชียงแสน
ซ้ายล่าง – บนยอดดอยจันมีจุดชมวิวให้นักท่องเที่ยวได้เก็บภาพเป็นที่ระลึกด้วย เราจะเห็นเมืองเชียงแสน แม่น้ำโขง แม่น้ำคำ และประเทศลาวอย่างชัดเจน
- ภายในวัดยังมีร้านสินค้ามากมาย ทีมงานขอตัวแนะนำสักเล็กน้อย
ขวาล่าง - จากซุ้มประตูหน้าวัดริมถนนใหญ่เข้ามา ซ้ายมือเลียบกำแพงวัดมีร้านค้าเรียงติดกันอยู่หลายเจ้า ส่วนใหญ่เป็นอาหาร ของกินเล่น และเครื่องดื่ม รวมทั้งซุ้มชากาแฟใกล้พระเจ้าล้านตื้ออีกหนึ่งเจ้า ขณะที่ใต้ต้นไม้อีกด้านมีแผงลอยและรถพ่วงข้างเช่นกัน จุดนี้มีของกินและลอตเตอรี่ และจากซุ้มประตูเลยลานจอดรถไปทางขวายังมีแผงลอยสมุนไพรและร้านคาเฟจำหน่ายชากาแฟ เครื่องดื่ม และของกินเล่นอีกหนึ่งจุด ส่วนบนยอดดอยมีร้านคาเฟตรงจุดชมวิวที่ขายชากาแฟ ของกินเล่น และสินค้าที่ระลึก รวมทั้งรถพ่วงข้างกับแผงลอยที่อยู่บนยอดเขาด้วย (จากภาพ บริเวณนี้เป็นร้านค้าเลียบกำแพงใกล้ประตูทางเข้าวัด)
รายการสินค้า - อาหารมีก๋วยเตี๋ยว(น้ำตก น้ำใส เครื่องใน หมูเปื่อย และเนื้อสด) ข้าวมันไก่ ส้มตำ(เช่น ตำถั่ว ตำแตง ตำถาดไข่เค็ม ตำโคราช ฯลฯ) ลูกชิ้นทอด และไส้กรอกทอด เครื่องดื่มปรุงที่ร้านมีกาแฟสด เอสเพรสโซ
ลาเต้ อเมริกาโน คาปูชิโน ไมโล นมเย็น ช็อกโกแลตซิกเนเจอร์ ชาเขียว ชาเขียวมะนาวโซดา ชาดำเย็น โกโก้ โยเกิร์ตโซดา มะพร้าวนมสด นมสด โอวัลติน เฉาก๊วยนมสดคาราเมล น้ำผึ้งมะนาวโซดา กีวี่โซดา อัญชันมะนาวน้ำผึ้ง เขียวโซดา แคนตาลูปโซดา แดงโซดา ลิ้นจี่โซดา น้ำพันช์ บลูฮาวายโซดา บลูเลมอนโซดา และชาเนสที ผลไม้สดปั่นมีเสาวรส อโวคาโด แอปเปิล มะนาว และมะพร้าว ขนมขบเคี้ยวมี White Castle คอนเน่ ข้าวเกรียบมโนราห์ โลตัส(รสต่างๆคือ ครองแครง บาร์บีคิวเกาหลี และไก่ทอดน้ำปลา) โปเต้ ป๊อกกี้รสชาเขียว แจ๊กซ์(พร้อมซอสมะเขือเทศและซอสพริก) ฮานามิรสฮอตชิลลี่ ปาร์ตี้รสครองแครง เลย์(รสต่างๆคือ มันฝรั่งแท้ โนริสาหร่าย และเอ็กซ์ตราบาร์บีคิว) ซันไบรท์(รสต่างๆคือ รสออริจินอล บาร์บีคิว และดับเบิลฮอตชิลลี่) ทาโร่(รสซูเปอร์แซ่บและรสบาร์บีคิว) คาลบี้รสดั้งเดิม มาม่าคัพ(รสต้มยำกุ้งและรสต้มยำกุ้งน้ำข้น) คนอร์คัพโจ๊ก(รสกุ้งปูอัดและรสหมู) สินค้าอื่นๆมีชาสมุนไพรเจ็ดอย่าง เมล็ดกาแฟอาราบิกา และเมล็ดทานตะวันจากญี่ปุ่น(รสพุทราหวานและรสวอลนัต) เครื่องดื่มในตู้เย็นมีเบอร์ดี้(รสต่างๆคือ Black โรบัสตา และเอสเพรสโซ) โสมอินซัม คาราบาว เอ็มร้อยห้าสิบ ฉลามกระชายดำ ลิโพ พาวเวอร์พลัส แลคตาซอย ดีน่าสูตรงาดำสองเท่า เย็นเย็นสูตรจับเลี้ยง โออิชิ(รสต่างๆคือ ข้าวญี่ปุ่น น้ำผึ้งมะนาว ส้ม องุ่นเคียวโฮ แตงโม และต้นตำรับ) Hi-VitaminCรสมิกซ์เบอร์รี พาวเวอร์พลัส แฟนต้า(น้ำแดงและน้ำเขียว) เอสเพลย์(รสต่างๆคือ เลมอนไลม์ ส้ม กามิกาเซ ครีมโซดา และสตรอว์เบอร์รี) เป๊ปซี่ เซเวนอัพ C-Vittรสทับทิม มิรินด้า(รสกรีนครีม) V-Boost(รสส้มและรสเลมอน) ดัชมิลล์โฟร์อินวัน(รสส้มและรสมิกซ์ฟรุต) ยันฮีวิตามินวอเตอร์ บีทาเก้น วิดอะเดย์ แมนซั่มสูตรคอลลาเจน ยาคูลย์ และน้ำดื่มคริสตัล รวมทั้งไอศกรีมวอลล์และเนสเลย์ เบเกอรี่มีเค้กคัสตาร์ด พุดดิ้งมะพร้าวอ่อน เค้กมะพร้าวอ่อน คุกกี้ พายกรอบ และเค้กโรล ผลไม้อบแห้งและเชื่อมมีฝรั่งหยี บ๊วยรวม มะม่วง แกนสับปะรด พุทรา มะเขือเทศ เชอร์รี่แดง สมอ ลูกชิด ลูกไหน กีวี่ สตรอว์เบอร์รี และลูกพรุน ส่วนสินค้าอุปโภคมีเสื้อผ้าสตรี เสื้อผ้าพื้นเมือง เสื้อชาวเขา ขันโตก ตะกร้าไม้สาน สบู่ ยาหม่อง และสลากกินแบ่ง


TODAY THIS MONTH TOTAL
121 3937 253155
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top