กลุ่มโบราณสถานสระมรกต

คำอธิบาย


กลุ่มโบราณสถานสระมรกตเป็นกลุ่มโบราณสถานที่สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐาน สามารถแบ่งตามอายุได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มโบราณสถานในสมัยทวารวดี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14  ได้แก่ รอยพระพุทธบาทคู่ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารและเนินพระเจดีย์ และกลุ่มโบราณสถานในสมัยเขมรโบราณที่สร้างซ้อนทับของเดิม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 แผนผังของอาคารเชื่อมต่อกันตามแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก ประกอบด้วยสระมรกต ทางเดิน โคปุระ ปราสาทประธาน บรรณาลัย อาคารขนาดเล็ก บ่อน้ำ และวิหารศิลาแลง



ในตอนแรกที่ทีมงานมาถึงโบราณสถานแห่งนี้ ก็ยังไม่รู้ว่า ตำแหน่งของสระมรกตอยู่ตรงไหน เห็นแต่ลานหญ้าที่มีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจายก่อน แต่ด้านหลังฐานหินศิลาแลงเห็นมีคนยืนล้อมอยู่ ก็เลยเข้าใจว่า มุมนั้นคือ สระมรกตหรือเปล่า แต่ดูแล้ว คล้ายบ่อมากกว่า เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ ทีมงานเลยถึงบางอ้อ
บน – มุมนี้แทนคำโปรยที่ทีมงานสงสัยเรื่องสระมรกตเมื่อสักครู่ นักท่องเที่ยวจะเห็นมุมนี้เหมือนกันเมื่อเดินเข้ามา ฐานหินศิลาแลงด้านหน้านี้คือ อโรคยาศาลา ส่วนตำแหน่งที่ผู้คนเดินเข้าไป(แต่ยังโดนฐานหินศิลาแลงบังอยู่)คือ บ่อน้ำ และด้านหลังบ่อน้ำที่เป็นอาคารหลังคาสีขาวคือ วิหารที่มีรอยพระพุทธบาทคู่
- เรามาเริ่มจากอโรคยาศาลาก่อน
ซ้ายบน – ฐานหินศิลาแลงนี้คือ อโรคยาศาลา หรือกลุ่มศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร อาคารนี้สันนิษฐานว่า เป็นอโรคยาศาลาหรือศาสนสถานในโรงพยาบาล ประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย กำแพงล้อมรอบและมีโคปุระ(หรือทางเข้า) ซึ่งเป็นศิลปะสมัยบายนในพุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานสำคัญที่พบ เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา เครื่องประกอบคานหามที่จัดอยู่ในสมัยบายน และจารึกบนคันฉ่องสำริดที่กล่าวถึงชื่อเมืองคือ อวัธยปุระ โดยระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1730 (จากภาพ มุมนี้มองจากทิศตะวันออก)
ขวาบน – อโรคยาศาลาทางทิศตะวันตก
- ต่อไปเป็นบ่อน้ำ
ซ้ายกลาง – บ่อน้ำนี้มีฉนวนทางเดินที่เชื่อมมาจากอโรคยาศาลา ลักษณะเป็นบ่อทรงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 เมตร ลึกราว 10 เมตร ขอบบ่อกรุด้วยศิลาแลง น่าจะเป็นบ่อน้ำที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมของกษัตริย์ (จากภาพ นักท่องเที่ยวต่างยืนล้อมรอบบ่อน้ำเพื่อรอตักน้ำจากในบ่อ)
ขวาล่าง – เรามาชมการตักน้ำใกล้ๆกัน บริเวณหน้าบ่อจะมีถังน้ำผูกเชือกติดอยู่ หลายคนจะเตรียมถังใส่น้ำพลาสติก แกลลอน หรือขวดมาจากบ้าน จากนั้นก็หย่อนถังน้ำลงบ่อเพื่อให้น้ำเอ่อท่วมเต็มถัง แล้วดึงเชือกให้ถังน้ำขึ้นมา จากนั้นเทน้ำใส่ภาชนะที่เตรียมมา แล้วนำน้ำกลับไป เนื่องจากประชาชนต่างเชื่อว่า เป็นน้ำมงคล ส่วนน้ำในบ่อยอมรับว่า ใสและสะอาดมาก ไม่มีฝุ่นหรือเศษผงใดๆเลย (จากภาพ น้ำในบ่อมีอยู่ตลอดปี ไม่เคยเหือดแห้งไปไหน)
- เข้าสู่วิหารที่อยู่ติดๆกับบ่อน้ำ
ซ้ายล่าง – วิหารนี้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทคู่ อาคารนี้ก่อด้วยอิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องกาบกล้วย ประดับหลังคาด้วยบราลีและกระเบื้องเชิงชาย โดยรอบวิหารมีเสานางจรัลปักแสดงขอบเขตและมีลานประทักษิณปูด้วยศิลาแลงโดยรอบ (จากภาพ ปัจจุบันมีการสร้างอาคารหลังคาสีขาวคลุมวิหารไว้ ภายในอาคารมีผ้าสีเหลืองห่มรอบรอยพระพุทธบาทคู่และมีเบาะรองนั่งรอบรอยพระพุทธบาทคู่เพื่อให้นักท่องเที่ยวนั่งชม)

 


ได้เวลาชมรอยพระพุทธบาทคู่กัน
ซ้ายบน – รอยพระพุทธบาทคู่ที่ขุดพบบริเวณโบราณสถานสระมรกตเมื่อปี พ.ศ.2529 นี้เป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย รอยพระพุทธบาทคู่นี้สลักลงไปในพื้นศิลาแลงธรรมชาติ ลักษณะเหมือนรอยเท้ามนุษย์ นิ้วเท้ายาวไม่เท่ากันและไม่เรียงเสมอกัน รอบรอยพระพุทธบาทสลักเป็นวงกลมล้อมรอบ ที่กลางพระบาทแต่ละฝั่งสลักเป็นรูปธรรมจักร ระหว่างพระบาทแกะเซาะเป็นรูปกากบาท มีหลุมกลมอยู่ตรงกลาง สันนิษฐานว่ามีไว้สำหรับปักเสาฉัตรหรือเสาเพลิงรองรับเครื่องหมายตรีรัตน์หรือธรรมจักร รอยพระพุทธบาทคู่นี้สันนิษฐานว่า มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นบริโภคเจดีย์สมมติตามคติลังกา เพื่อแสดงว่า พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่มา ณ ดินแดนแห่งนี้แล้ว
ขวาบน – เห็นภาพพระพุทธบาทคู่พร้อมคำอธิบายไปแล้ว หลายคนอาจยังงุนงงกับร่องรอยบนศิลาแลงที่เห็น ทีมงานขอเพิ่มตัวช่วยอีกครั้งด้วยภาพนี้
- จากวิหาร ให้ทุกคนเดินไปทางทิศตะวันออก ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก
กลางบน – เนินพระเจดีย์เป็นเนินดินขนาดประมาณ 22 x 42 เมตร สูงจากพื้นปัจจุบันประมาณ 1.6 เมตร อยู่ห่างจากอโรคยาศาลาไปทางทิศตะวันออกประมาณ 70 เมตร เนินดินบริเวณนี้พบร่องรอยสิ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ โบราณวัตถุที่พบคือ ชิ้นส่วนกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาประเภทกาบกล้วยและชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน
- จากเนินพระเจดีย์ ให้เดินไปทางทิศตะวันออกต่อ
กลางล่าง – สระมรกตเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีขนาดกว้าง 115 เมตร ยาว 214 เมตร และลึก 3.50 เมตร เกิดจากการตัดหินศิลาแลงนำไปก่อสร้างศาสนสถาน ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นอโรคยาศาลาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 อ่างเก็บน้ำนี้เรียกว่า บาราย มักมีแผนผังตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของศาสนสถาน ซึ่งเป็นแผนผังตามสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร หินศิลาแลงจากบารายที่นำไปสร้างอโรคยาศาลานี้ เชื่อว่า สร้างทับซ้อนรอยพระพุทธบาทคู่สมัยทวารวดี ซึ่งสร้างมาก่อนตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14
- นอกจากกลุ่มโบราณสถานสระมรกตแล้ว บริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของวัดสระมรกตด้วย
ซ้ายล่าง – โบสถ์หินอ่อนของวัดสระมรกต
- ไปดูของกินของใช้สักหน่อย
ขวาล่าง - บริเวณลานจอดรถก่อนประตูทางเดินเข้า เราจะพบร้านค้าเรียงติดกันเป็นแถวเดียวอยู่ฝั่งตรงข้ามประตูเข้าโบราณสถาน ลักษณะร้านค้าเป็นบ้านหลังเล็กที่สร้างห่างกันไม่มาก ในหนึ่งหลังมีหนึ่งร้าน ส่วนฝั่งเดียวกับประตูทางเข้าก็มีแผงลอยอีกสองร้าน ร้านหนึ่งเป็นเต็นต์พับ ส่วนอีกร้านขายสินค้าอยู่ใต้ร่มตลาดนัด
รายการสินค้า - เริ่มจากอาหารมีข้าวไข่เจียว ข้าวกะเพรา ข้าวผัด ส้มตำปู ส้มตำปลาร้า ส้มตำไทย ข้าวเหนียว ไก่ย่าง และหมูปิ้ง เครื่องดื่มใส่แก้วมีโกโก้ ชาเย็น โอเลี้ยง บ๊วย ชาดำเย็น น้ำแดงมะนาว น้ำแดงโซดา โอวัลติน โค้ก เป๊ปซี่ แฟนต้า(น้ำแดงและน้ำเขียว) และนมเย็น ผักสดผลไม้มีกล้วยน้ำว้า มะละกอ มันเทศ มะเขือเปราะม่วง ฟักเขียว ดอกแค ฟักทอง ผักบุ้งนา คะน้า ผักหวาน ขมิ้น
หน่อไม้ดอง ผักชีฝรั่ง และกล้วยไข่ ของแห้งของชำมีผักกาดดองกระป๋อง กุ้งแห้ง ปลากระป๋อง ไข่ไก่ ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า น้ำผึ้งเดือนห้าขวด ดอกกระเจี๊ยบ(แบบสดและแบบแห้ง) มะตูมแห้ง ดอกอัญชันแห้ง มันเลือดนก มาม่าซอง และไวไวซอง ของกินเล่นอื่นๆมีไข่ครก ขนมครก แซนด์วิช ขนมเปี๊ยะ ข้าวเกรียบ มะม่วงกวน ป๊อปคอร์น ถั่วตัด ถั่วทอดเม็ด ขนมจักรเล็กไส้สับปะรด พุทราเชื่อม และถั่วทอดแผ่น เครื่องดื่มในตู้เย็นมีดัชมิลล์โฟร์อินวัน(รสต่างๆคือ มิกซ์ฟรุต ส้ม สตรอว์เบอร์รี และองุ่น) ดีน่า(สูตรงาดำสองเท่าและสูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น) โยเกิรต์ดัชชี่(รสผลไม้รวมและรสสตรอว์เบอร์รี) ดัชมิลล์ซีเล็กเต็ด เบอร์ดี้โรบัสตา ลิโพ คาราบาว โสมเกาหลีตังกุยจับ โสมพลัส นมโฟร์โมสต์รสช็อกโกแลต นมไทยเดนมาร์กรสหวาน บีทาเก้น แลคตาซอยสูตรออริจินอล โออิชิ(รสต่างๆคือ องุ่นเคียวโฮผสมวุ้นมะพร้าว น้ำผึ้งมะนาว ข้าวญี่ปุ่น และดั้งเดิม) น้ำผลไม้กาโตะ(รสส้มและรสองุ่น) แมนซั่ม(สูตรกลูตา-ไธโอนและสูตรคอลลาเจน) ไวตามิลค์ขวดรสออริจินอล เอสเพลย์รสส้ม สไปรท์ แฟนต้าน้ำส้ม(สูตรไม่มีน้ำตาล) แฟนต้า(น้ำแดงและน้ำเขียว) เป๊ปซี่ โค้ก น้ำดื่มคริสตัล และน้ำดื่มเอพลัส รวมทั้งไอศกรีมวอลล์ในตู้แช่ ถัดมาเป็นขนมขบเคี้ยวดังนี้ เลย์(รสโนริสาหร่ายและรสมันฝรั่งแท้) คอนเน่ ทาโร่รสเข้มข้น เอลเซ่สอดไส้ครีมกลิ่นกล้วยหอม ปาร์ตี้รสคาราเมล ทวิสโก้ โก๋แก่รสกะทิ โตโร่รสคาราเมล เบงเบง โอริโอ ข้าวโพดอบกรอบตรานมแท่ง ดับเบิลมินต์รสบลูเบอร์รีมินต์ เถ้าแก่น้อย และสแน็กแจ็กรสดั้งเดิม ของใช้ส่วนตัวและใช้ในบ้านมีสบู่(ยี่ห้อดังนี้ นกแก้ว ลักซ์ และแคร์) คอลเกต ดาร์ลี่ ซันซิล(สีต่างๆคือ ส้ม เขียว และชมพู) แป้งเย็นโพรเทรกซ์ ซันไลซ์ Comfort เทนโซพลาส ทิฟฟี่ แปรงสีฟัน ไฟแช็ก ธูป และทิชชู่ สำหรับข้าวของอื่นๆมีตุ๊กตาเซรามิก ไม้กวาด พัดสาน หมวกแฟชั่น ชะลอม ไม้กวาดทางมะพร้าว พรมเช็ดเท้า เขียง กระด้ง งอบ และกระจาด

TODAY THIS MONTH TOTAL
21 4238 253456
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top