พิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ล้านปีและไดโนเสาร์โนนทัน

คำอธิบาย


พิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ล้านปีและไดโนเสาร์โนนทัน มีประวัติความเป็นมาคือ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เดินทางผ่านมาที่บ้านห้วยเดื่อและเห็นซากดึกดำบรรพ์ของหอยสองฝาที่ชาวบ้านเก็บมาจากไหล่เขาบริเวณเหมืองหินร้าง หอยมีลักษณะสวยงามและน่าจะมีประโยชน์ทางด้านวิชาการโบราณชีววิทยา อาจารย์จึงขอให้ชาวบ้านเก็บซากดึกดำบรรพ์ของหอยสองฝามาขาย ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูในขณะนั้นคือ นายประภา ยุวนันท์ ได้มาดูแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ของหอยสองฝา โดยมีผู้ช่วยอุตสาหกรรมจังหวัด นายประเทือง ปัญโญวัตฒน์เป็นผู้แนะนำ

สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาที่มีหน้าผาสูงประมาณ 50 เมตรและพบซากหอยดึกดำบรรพ์ยุคจูแรสสิก อายุราว 140-150 ล้านปี ลักษณะเป็นหอยกาบอยู่ในสภาพสมบูรณ์จำนวนมากในชั้นหิน บริเวณใกล้เคียงยังพบกระดูกจระเข้โบราณ เศษหินจาไมก้า และแร่ธาตุบางชนิดด้วย นับจากนั้น พิพิธภัณฑ์หอยหิน 150 ล้านปีและไดโนเสาร์โนนทันจึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดหนองบัวลำภู


วินาทีที่เดินผ่านประตูเข้ามา ทีมงานเกือบหลงวันเพราะเผลอคิดว่าวันนี้เป็นวันเด็ก เนื่องจากเด็กเล็กเด็กโตวิ่งซุกซนและส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวไปทั่ว ที่มากไปกว่านั้นก็คือ วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และพ่อแม่ต่างแฮปปี้และขอเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเด็กๆไปด้วย กลายเป็นว่า เป้าหมายที่น่าจะเป็นกลุ่มเด็ก เวลานี้ กำลังเปลี่ยนโมเมนตัมแล้ว
- หลังจากซื้อตั๋วเด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท และชาวต่างชาติ 50 บาท ทุกคนก็ได้สิทธิ์ย้อนเวลากลับไปยังดินแดนยุคร้อยล้านปีก่อน สำหรับพิพิธภัณฑ์หอยหินร้อยห้าสิบล้านปีและไดโนเสาร์โนนทันแบ่งคร่าวๆเป็นสี่โซนคือ ลานไดโนเสาร์กลางแจ้ง อาคารพิพิธภัณฑ์หลังเล็ก อาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหญ่ และลานไดโนเสาร์ใกล้หน้าผา(บริเวณจุดค้นพบหอยหินและไดโนเสาร์) แต่ตอนนี้ทีมงานขอเข้าไปผสมโรงกับเด็กๆก่อน นั่นคือ ลานไดโนเสาร์กลางแจ้ง
บน – ลานกลางแจ้งได้รับความสนใจจากเด็กๆมากเนื่องจากมีไดโนเสาร์ขนาดใหญ่หลายจุดให้ถ่ายรูป บรรยากาศเลยเหมือนจับปูใส่กระด้ง
ซ้ายบน - ไข่ไดโนเสาร์กลายเป็นเป้าหมายสำหรับกลุ่มเด็กที่เข้าไปนั่งในฟองไข่ที่ฟักตัว แล้วยื่นหน้าออกมาจากรอยแตกให้ผู้ปกครองเป็นตากล้อง เพลิดเพลินกันทุกคน
- ถึงเวลาแนะนำไดโนเสาร์สักเล็กน้อย
ขวาบน – “แบรคีโอโซรัส” เป็นไดโนเสาร์กินพืช ลักษณะเด่นคือ บริเวณจมูกบนกระหม่อมมีโหนกยื่นขึ้นมาชัดเจน หางสั้นไม่มีปลายแส้ มีขาหน้าที่ยาวกว่าขาหลัง ทำให้ตัวลาดลงแบบยีราฟ ส่งผลให้ส่วนคอของแบรคิโอซอรัสตั้งชันสูงกว่า ทำให้หาใบไม้บนยอดสูงได้ดี และมีประโยชน์ในการมองเห็นไดโนเสาร์กินเนื้อได้แต่ไกล ลำตัวยาว 30 เมตร สูง 13-15 เมตร และหนัก 78 ตัน
ซ้ายกลาง – “สเตโกซอรัส” เป็นไดโนเสาร์กินพืช ลักษณะเด่นคือ มีแผงกระดูกขนาดใหญ่เรียงเป็นแถวยาวตลอดหลัง(ซึ่งอาจมีไว้เพื่อควบคุมอุณหภูมิหรือดึงดูดเพศตรงข้าม) บริเวณปลายหางชี้ขึ้น มีลักษณะคล้ายแส้อยู่สองคู่เอาไว้ฟาด สมองเล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัว คอสั้นและหัวเล็ก ซึ่งหมายความว่า อาหารของไดโนเสาร์ชนิดนี้คือ พุ่มไม้เตี้ยๆ น้ำหนักประมาณ 2-3 ตัน
ซ้ายล่าง –
“เทอราโนดอน” เป็นสัตว์เลื้อยคลานบินได้ประเภทกินเนื้อ ลักษณะเด่นคือ ไม่มีฟัน แต่มีขากรรไกรที่ยาวและแข็งแรง มีถุงใต้คางสำหรับเก็บปลา มีหงอนยาวบนหัวซึ่งอาจมีไว้เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม เมื่อกางปีกจะมีขนาดยาวกว่า 6 เมตร น้ำหนัก 20-93 กิโลกรัม  นิสัยก้าวร้าวและฉุนเฉียวตลอดเวลา
ขวาล่าง –
“พาราซอโรโลฟัส” เป็นไดโนเสาร์กินพืช ลักษณะเด่นคือ ด้านหลังหัวมีเดือยกระดูกยื่นออกมาเป็นหงอนยาว ทำให้สามารถส่งเสียงสื่อสารระหว่างพวกเดียวกันได้ มีความยาวประมาณ 10-12 เมตร สูงราว 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 2-3 ตัน



ทีมงานขอเล่นซ่อนหากับเด็กๆในอาคารพิพิธภัณฑ์หลังเล็กต่อ
ซ้ายล่าง –
อาคารพิพิธภัณฑ์หลังเล็กจัดแสดงซากหอยหินดึกดำบรรพ์ในยุคจูแรสสิกตอนปลายประมาณ 140-150 ล้านปี ประวัติความเป็นมาคือ บริเวณด้านเหนือของห้วยตะโกและห่างจากบ้านห้วยเดื่อมาทางทิศตะวันตกประมาณ 1.5 กิโลเมตรเคยเป็นเหมืองหินทรายมาก่อน การระเบิดหินทำให้เกิดหน้าผาสูงประมาณ 15 เมตรจากระดับน้ำทะเล 280 เมตร จึงปรากฏซากเปลือกหอยโบราณ ต่อมาเหมืองถูกทิ้งร้างไป ในปี พ.ศ.2537 ชาวบ้านที่เข้าไปเก็บของป่า ได้พบหินที่มีลักษณะคล้ายเปลือกหอยสวยงามและแปลกตาจำนวนมาก จึงขุดขายกัน เมื่อกรมทรัพยากรธรณีเข้าไปสำรวจ ก็พบว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ มีอายุอยู่ในยุคจูแรสซิกตอนปลายราว 140-150 ล้านปี จึงสั่งห้ามขุดหอยหินเพื่อจำหน่ายอีกต่อไป ลักษณะฟอสซิลเป็นหอยกาบคู่ อยู่ในสภาพสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก มีทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ บางตัวมีน้ำหนักครึ่งกิโลกรัม จัดเป็นหอยทะเลชนิดหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า บริเวณสุสานหอยนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน  (จากภาพ นักท่องเที่ยวกำลังเพลิดเพลินกับหอยหินที่จัดแสดงในตู้โชว์)
ขวาล่าง –
หอยกาบคู่เป็นสัตว์ทะเล จัดอยู่ในไฟลัมมอลลัสกาหรือสัตว์จำพวกหอย ประกอบด้วยฝาหอยสองฝาที่มีขนาดฝาเท่ากัน แต่ด้านซ้ายและด้านขวาจะไม่สมมาตรกัน ส่วนใหญ่อาศัยในพื้นทะเลบริเวณทะเลตื้น (จากภาพ ตัวอย่างหอยหินดึกดำบรรพ์ในตู้โชว์)
- จากนั้นรีรีข้าวสารตามหลังเด็กๆไปอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหญ่เลย
กลาง – อาคารนี้จัดแสดงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หลายแขนง นักท่องเที่ยวให้ความสนใจกันทุกคน สำหรับเนื้อหาต่างๆก็มีท่องจักรวาล โลกแหล่งกำเนิดชีวิต อาณาจักรนักล่า มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ และตามรอยนักสำรวจ ทีมงานขอหยิบประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังแล้วกัน
ซ้ายล่าง – สิ่งที่สะกดสายตาคือ ไดโนเสาร์บะเริ่มเทิ่มตัวนี้ นอกจากความใหญ่โตแล้ว ยังขยับและส่งเสียงร้องได้ด้วย เล่นเอาเด็กหลายคนตื่นตาตี่นใจกันไม่หยุด (จากภาพ ไดโนเสาร์ตัวนี้มีชื่อว่า“ไทรันโนซอรัส เร็กซ์” (หรือ”ทีเร็กซ์”) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ในวงศ์ไทรันโนซอริเค มีอายุประมาณ 40-65 ล้านปีมาแล้ว ลักษณะเด่นคือ มีหัวใหญ่ ตัวใหญ่ ขาหน้าเล็กและสั้น มีกรงเล็บแหลมคม ลำตัวยาว 12-13 เมตร สูง 4-6 เมตรจากพื้นถึงสะโพก น้ำหนักประมาณ 16-18 ตัน ฟันของทีเร็กซ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ ยาวถึง 30 เซนติเมตร (รวมรากฟัน) ซึ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาไดโนเสาร์กินเนื้อทั้งหมด ทีเร็กซ์มีญาติร่วมวงศ์เดียวกันหลายสายพันธุ์ เช่น สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส และทาร์โบซอรัส ฯลฯ ชื่อของไทรันโนซอรัส เร็กซ์ มาจาก Tyran แปลว่า“ทรราช” Saurus แปลว่า“สัตว์เลื้อยคลาน” และ Rex แปลว่า“ราชา” รวมความก็หมายถึง“ราชาไดโนเสาร์ทรราช”ซึ่งสื่อถึงความเป็นนักล่าที่ยิ่งใหญ่และโหดเหี้ยมของไดโนเสาร์ชนิดนี้)
ขวากลาง – “เวโลซีแรพเตอร์” ไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นสัตว์กินเนื้อที่ฉลาดและว่องไว (หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตาจากเรื่อง Jurassic Park) ยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ออกล่าเหยื่อเป็นกลุ่มเหมือนหมาป่า อาวุธคือ เล็บเท้าแหลมคมเหมือนใบมีดที่พับเก็บได้และฟันที่คมกริบ มีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 70-83 ล้านปีก่อน พบซากหลายแห่งในเอเชียกลาง เช่น จีน มองโกเลีย รัสเซีย ฯลฯ (จากภาพ ซากเวโลซีแรพเตอร์ชุดนี้พบที่ประเทศมองโกเลีย)
ขวาล่าง – ปี พ.ศ.2543 มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน ต่อมาระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ.2544 ถึงมีนาคม พ.ศ.2545 ผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณีเข้ามาดำเนินการขุดค้นอย่างเป็นระบบ แล้วนำไปตกแต่งประกอบให้เป็นชิ้นส่วนที่สมบูรณ์ที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ในหลุมขุดค้นพบซากกระดูกไดโนเสาร์ประมาณ 80 ชิ้น มีชิ้นสำคัญๆ 8 ชิ้น ประกอบด้วย กระดูกแผ่นอก กระดูกสะโพก กระดูกขาหน้าส่วนบนทั้งซ้ายและขวา กระดูกขาหลังส่วนล่าง กระดูกนิ้ว แกนเล็บ กระดูกซี่โครง และกระดูกหาง ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัยว่าเป็นไดโนเสาร์ชนิดใด แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่า อาจเป็นไดโนเสาร์กินพืชที่ชื่อ“ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” ความยาวประมาณ 15 เมตร มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว (จากภาพ กระดูกขาหน้าส่วนบนทั้งซ้ายและขวา)



เด็กๆใฝ่รู้จริงๆ ถามพ่อแม่กันใหญว่า“ฮู้ว... ดูโน่นสิ พ่อ” "นั่นอะไรอะ แม่”
ซ้ายบน – “นิปปอนโนนาเอีย” (จากภาพ หนึ่งในพันธุ์หอยหินที่ค้นพบ)
ขวาบน - แหล่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์หอยหินอยู่บนไหล่เนินที่ระดับความสูงประมาณ 280 เมตรจากระดับทะเลปานกลางหรือ 15 เมตรจากพื้นดิน (อยู่ใต้ชั้นหินที่พบซากไดโนเสาร์ลงไปประมาณ 2 เมตร บริเวณเชิงเขาด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาภูชัน ซึ่งเป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตระหว่างจังหวัดหนองบัวลำภูกับจังหวัดอุดรธานี) สภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่บริเวณนี้จัดอยู่ในหมวดหินเสาขัวของกลุ่มหินโคราช มีเนื้ออ่อนผุสลายได้ง่าย ประกอบด้วยหินทรายสีเทาแกมเหลืองถึงน้ำตาลแกมเหลืองและแดงอ่อน มักเกิดเป็นชั้นหนาๆโดยมีหินทรายแป้งสีแดงแกมเทาเป็นชั้นบางๆแทรกอยู่ โดยซากหอยหินที่พบอยู่ในชั้นหินกรวดมน ซึ่งวางตัวอยู่บนชั้นหินทรายที่ไม่แสดงชั้นเฉียงระดับ
ซ้ายกลาง – ซากไดโนเสาร์พบอยู่ในชั้นหินบนหน้าผาสูงจากฐานล่างประมาณ 17 เมตร ชั้นหินทรายแป้งในหมวดหินเสาขัว (เหนือชั้นที่พบซากหอยหินประมาณ 2 เมตร) เป็นหินทรายที่แสดงชั้นเฉียงระดับและพบชั้นหินทรายที่มีรอยริ้วคลื่นวางตัวอยู่ด้านล่างของชั้นซากกระดูกไดโนเสาร์ จึงอธิบายได้ว่า เมื่อประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว บริเวณนี้เป็นชายน้ำ เมื่อไดโนเสาร์ตาย กระแสน้ำได้พัดพาเอาตะกอนมาฝังกลบซากอย่างรวดเร็ว ต่อมาแร่ธาตุที่ละลายมากับน้ำใต้ดินค่อยๆแทรกซึมเข้าไปแทนที่เนื้อกระดูกทีละน้อย ทำให้กระดูกแข็งตัวเป็นหิน กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างช้าๆเป็นเวลานับล้านปี (จากภาพ เมื่อพบซากดึกดำบรรพ์ นักโบราณคดีชีววิทยาจะทำการสำรวจ ขุดค้น รวบรวม ก่อนจะเคลื่อนย้ายเพื่ออนุรักษ์และศึกษาวิจัยอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการต่อไป)
- ออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหญ่ แล้วไปลานไดโนเสาร์ใกล้หน้าผา(บริเวณจุดค้นพบหอยหินและไดโนเสาร์)ต่อ โซนนี้มีทางเข้าออกทั้งหมดสองช่องทางและต้องลงบันไดไป ด้านล่างมีต้นไม้ขึ้นมากมายและมีไดโนเสาร์ให้ชมต่อ เส้นทางเดินแถบนี้เป็นป่าเขาและมีต้นไม้ตลอดทาง
ขวากลาง – “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” คำว่า“ภูเวียงโกซอรัส”หมายถึง“สัตว์เลื้อยคลานแห่งภูเวียง” พบเป็นครั้งแรกในโลกที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ส่วนคำว่า“สิรินธรเน”ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากพระองค์สนพระราชหฤทัยในเรื่องบรรพชีวินวิทยา สำหรับไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นไดโนเสาร์กินพืชสกุลและชนิดใหม่ของโลก เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอต(ซึ่งหมายถึง กินพืช คอยาว หางยาว และเดิน 4 ขา)ชนิดแรกที่พบในประเทศไทย ยาวประมาณ 15-20 เมตร มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว
ซ้ายล่าง – “ไทเซอราทอปส์”เป็นไดโนเสาร์กินพืช ลักษณะเด่นคือ รอบคอมีเกราะใหญ่คลุมคอและไหล่ มีจะงอยปากโค้งเหมือนปากนกแก้ว มีเขาสามเขาที่แหลมคม เขาคู่แรกยาวประมาณ 1 เมตร อยู่เหนือตาทั้งสองข้าง ส่วนเขาขนาดสั้นอีกหนึ่งเขาอยู่กลางจมูก น้ำหนัก 6-8 ตัน ตัวยาว 6-10 เมตร
- ออกมาข้างนอกเมื่อไหร่ เด็กๆก็รุมล้อมร้านของเล่น ส่วนผู้ใหญ่ก็เดินซื้อหาของกิน
ขวาล่าง -
ถ้าหันหน้ามองไปประตูทางเข้า ฝั่งซ้ายด้านในของลานจอดรถมีเพิงไม้แนวยาวหนึ่งหลัง ภายในเพิงมีร้านค้าตั้งโต๊ะและซุ้มติดกันหลายเจ้า ขณะเดียวกัน ฝั่งขวาที่ติดกับถนนเข้าลานจอดรถก็มีอาคารปูนหนึ่งชั้นขายสินค้าเช่นกั แต่ฝั่งเพิงไม้มีจำนวนร้านเยอะกว่า สินค้าส่วนใหญ่ของทั้งสองฝั่งเป็นของกินเกือบทั้งหมด
รายการสินค้า - ขนมขบเคี้ยวมีเลย์(
รสเมี่ยงคำครบรสและสแตกซ์รสซาวครีมและหัวหอม) ขนมไก่ย่างพร้อมน้ำจิ้มไก่(รสดั้งเดิมและรสใบเตย) ปาปริก้า ปูไทย(รสพริกไทยดำและรสโนริสาหร่าย) เอฟเอฟ(รสมะเขือเทศและรสพริกหยวก) MallowDipรูปสตอรว์เบอร์รี O-Twin(รสช็อกโกแลตกับนมและรสสตรอว์เบอร์รีกับนม) ไดโนพาร์กรสซีฟู้ด ช็อกโกแบร์โคนรสช็อกโกแลต ChocoBizz และขนมจักรเล็กไส้สับปะรด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปคัพมียำยำ(รสต่างๆคือ หมูสับ ต้มยำกุ้ง และต้มยำกุ้งน้ำข้น) และมาม่า(รสหมูสับและรสเย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ) เครื่องดื่มในตู้เย็นมีโออิชิ(รสต่างๆคือ ข้าวญี่ปุ่น องุ่นเคียวโฮผสมวุ้นมะพร้าว และยาคูลล์ซ่ารสฮันนีเลมอน) สปอนเซอร์(สูตรดั้งเดิมและสูตรแอกทีฟซิงก์) โค้ก เป๊ปซี่ เอ็มร้อยห้าสิบ โสมอินซัม โสมเกาหลีตังกุยจับ คาราบาว แฟนต้า(น้ำแดง น้ำเขียว และน้ำส้ม) สไปรท์ ยันฮีวิตามินวอเตอร์ อิชิตัน(รสฮันนีเลมอนและเย็นเย็นสูตรจับเลี้ยง) แมนซั่ม(สูตรต่างๆคือ คอลลาเจน วิตามินบีรวม แอล-กลูตาไธโอน และไฮไฟเบอร์) ลิโพ C-Vitt(รสเลมอนและรสออเรนจ์) เบอร์ดี้(รสต่างๆคือ เอสเพรสโซ ลาเต้ และโรบัสตา) เนสกาแฟ(รสเอสเพรสโซโรสต์และรสแบล็ก) นมโฟร์โมสต์(รสช็อกโกแลตและรสหวาน) ดีน่าสูตรงาดำสองเท่า ดัชมิลล์โฟร์อินวัน(รสต่างๆคือ องุ่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี และมิกซ์ฟรุต) น้ำผลไม้กาโตะ(รสต่างๆคือ ฟรุตตี้บอมบ์ ลิ้นจี่ ส้ม และองุ่นเคียวโฮ) มิกกุ โอวัลติน ไมโล มินิทเมดพัลพี สแปลชรสส้ม น้ำตาลสดขวดเอโร่ น้ำดื่มคริสตัล และน้ำดื่มสิงห์ ต่อไปเป็นเครื่องดื่มปรุงที่ร้านมีกาแฟเย็น กาแฟโบราณ ชามะนาว ชาเย็น แดงมะนาวโซดา โกโก้ เผือกหอม คาปูชิโน ชาเขียว โอวัลติน ชาดำเย็น นมเย็น แคนตาลูป นมสด น้ำมะพร้าวปั่น และน้ำปั่นชาไข่มุก (น้ำอัดลมใส่แก้วน้ำแข็งก็มีเช่นกัน) ส่วนของกินเล่นมีหมึกย่าง ไข่ปิ้งทรงเครื่อง ไส้กรอกอีสาน เยลลี่มาร์ชเมลโลว์ ผลไม้หั่นชิ้น(เช่น มะม่วง ฝรั่ง แตงโม ฯลฯ) และไอศกรีมกะทิสด นอกจากนี้ยังมีบริการถ่ายรูปที่ระลึกสำหรับครอบครัว หมวดสินค้าอุปโภคที่โดดเด่นคือ ของเล่นเด็กต่างๆดังนี้ เครื่องมือแพทย์ อ่างอาบน้ำทารก แต่งตัวตุ๊กตา เครื่องสำอาง เจ้าหญิง รางรถไฟ ชุดตักไอศกรีม รถโม่ปูน หุ่นยนต์ ปืน เปลเด็ก รถถัง อุลตราแมน Frozen แองกรี้เบิร์ด สไปเดอร์แมน โมเดลเครื่องบิน กีตาร์ คีย์บอร์ด เฮลิคอปเตอร์ รถดับเพลิง เปียโน คิงคอง นินจาเต่า และที่สำคัญคือ ไดโนเสาร์จำลองสารพัดชนิด ส่วนของใช้อื่นๆมีทิชชู่และยาดมโป๊ยเซียน


TODAY THIS MONTH TOTAL
184 4175 253393
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top