วนอุทยานแพะเมืองผี

คำอธิบาย


แพะเมืองผีในวนอุทยานแพะเมืองผีตั้งอยู่ระหว่างตำบลทุ่งโฮ้งและตำบลน้ำชำในอำเภอเมืองแพร่ ห่างจากตัวเมืองราว 15 กิโลเมตรบนเส้นทางสายแพร่-ร้องกวาง และจากบริเวณแยกกิโลเมตรที่ 9 เข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็เป็นที่ตั้งของแพะเมืองผีที่มีลำธารเล็กๆไหลผ่าน

ในสมัยโบราณเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวบ้านตำบลทุ่งโฮ้งและตำบลใกล้เคียงให้ความนับถือมากเพราะมีความเป็นมาที่ลึกลับจากคนโบราณที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มียายแก่เข้าป่าไปหาหน่อไม้มาเป็นอาหาร แล้วหลงไปเจอสถานที่แห่งนี้ จากนั้นพบหลุมเงินหลุมทอง จึงเอาเงินทองใส่หาบจนเต็ม แล้วยกใส่บ่าเพื่อจะหาบกลับบ้าน แต่ก็หลงไปหลงมาในป่าแห่งนั้น เพราะเทวดาอารักขาเจ้าถิ่นไม่ให้เอาไป เพียงแต่เอาเงินทองมาอวดให้เห็น ยายแก่หาหนทางเอาหาบกลับบ้านไม่ได้ จึงวางหาบไว้ แล้วจัดแจงตัดไม้มาคาดทำเป็นราว เมื่อถึงบ้าน จึงกลับไปเอาเงินทองตามที่ราวคาดไว้ ครั้นจะเดินออกไปก็ไม่ถึงสักที ยิ่งยกเท้าไปข้างหน้า ก็เหมือนยกถอยหลังกลับเหมือนมีคนมาดึงหาบอยู่ที่ด้านหลังของยายแก่ ยายจึงวางหาบไว้ที่นั่น แล้วรีบไปบอกชาวบ้านให้มาดูหาบเงินทอง ชาวบ้านก็หลั่งไหลไปดูเป็นจำนวนมาก ครั้นไปถึง เงินทองเหล่านั้นกลับหาย พบแต่รอยเท้า จึงสะกดตามรอยเท้าไปจนถึงข้างเสาเมโรและไม่มีรอยปรากฏไปทางอื่นอีกเลย ยายแก่กับชาวบ้านจึงตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า"แพะเมืองผี"

อนึ่ง คำว่า"แพะ"เป็นภาษาพื้นเมืองแปลว่า"ป่าละเมาะ" "เมืองผี"หมายถึง"ความเงียบเหงาวังเวงเหมือนเมืองผี" "เสาเมโร"คือภาษาพื้นเมืองหมายถึง"เสารูปเหมือนปราสาทที่ใช้ครอบศพผู้ตายทางภาคเหนือ"



สำหรับคนต่างถิ่น คำว่า"แพะเมืองผี"ดูจะเป็นชื่อที่แปลกหูอยู่ แล้วพอมาเป็นชื่อของหินทรายรูปทรงประหลาดมากมายซึ่งขึ้นอยู่ในที่เดียวกัน ก็ยิ่งสร้างความฉงนเข้าไปใหญ่ สำหรับแนวกำแพงดินของแพะเมืองผีให้ความรู้สึกใหญ่โต ส่วนเสาดินก็ตั้งสูงเด่นไปเลย
บน – กองหินทรายรูปร่างประหลาดมากมายของ
แพะเมืองผีกำลังรอเราอยู่เบื้องหน้าแล้ว (จากภาพ นักธรณีวิทยาประมาณค่าอายุของดินแห่งนี้ว่า อยู่ในยุค Quaternary หรือเกิดขึ้นประมาณไม่เกิน 2 ล้านปี ซึ่งเป็นยุคค่อนข้างใหม่ ลักษณะของเสาดิน เกิดจากกรวด หิน ดิน และทรายเกาะจับตัวกัน แต่ยังไม่แน่นเข็งเต็มที่ ประกอบด้วยชั้นหินทรายละเอียดและชั้นหินทรายสลับเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีความต้านทานต่อการผุพังไม่เท่ากัน เมื่อน้ำฝนชะซึม ชั้นหินที่มีความต้านทานต่อการผุพังน้อยกว่า ก็จะถูกกัดกร่อนโดยง่าย เหลือชั้นที่มีความต้านทานต่อการผุพังมากกว่า จึงทำหน้าที่เสมือนแผ่นเกราะอยู่ด้านบน ซึ่งน้ำไม่สามารถซะกร่อนได้ง่าย ส่วนที่เหลือด้านล่างจึงเกิดเป็นแท่งเป็นหย่อม มีรูปร่างแตกต่างกันนั่นเอง)



ต่อไปก็เดินชมแท่งหินเสาหินแปลกๆไปพร้อมกัน
ซ้ายบน – แนวกำแพงหินทรายที่แปรสภาพไม่เป็นทรง ดูแล้วแปลกตาดี
ซ้ายกลางบน – บริเวณหินทรายด้านนี้ก่อตัวเป็นหน้าผาแนวยาว
ขวาบน –
หินสามเกลอนี้เป็นเพื่อนร่วมสาบานมานานนับล้านปีแล้ว
ซ้ายกลางล่าง - หน้าผาแถบนี้ถูกกัดกร่อนเป็นชั้นๆประมาณสามชั้น
ซ้ายล่าง – จากฐานด้านล่างกลายเป็นเกลียวแท่งขึ้นไปสู่ยอด
- จากเส้นทางด้านล่าง เราขึ้นไปชมผาด้านบนบ้าง โดยจะมีบันไดให้เดินขึ้นไป บริเวณด้านบนเป็นแนวหน้าผาซึ่งเป็นป่าทั้งหมด ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่มีมากมาย เช่น กระพี้จั่น กรวยป่า เต็ง ค้อนกลอง ฯลฯ
ขวาล่าง – และจุดชมวิวนี้เองที่ทำให้นักท่องเที่ยวทุกคนเห็นภาพเสาหินเป็นแท่งเป็นหย่อม(ที่เราเพิ่งชมกันมา)อยู่เบื้องล่างและมีป่ารอบข้างที่ทอดตัวยาวออกไป


TODAY THIS MONTH TOTAL
25 5173 248538
Copyright : 2018 KarnDernTang.com ขอสงวนลิขสิทธิ์เนื้อหาในเว็บไซต์ตามกฎหมาย ห้ามทำซ้ำหรือคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต

บริษัทรับทำเว็บไซต์ Design By cw.in.th

Scroll To Top